ตั้งหัวข้อไว้เรียกกระแส แต่จากการทดสอบใช้งานแล้วผมคิดแบบนั้นจริงๆ กับเจ้า Nokia CR-200 ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ยึดโทรศัพท์บนรถยนต์พร้อมการชาร์จแบบไร้สายและ NFC
ก่อนหน้านี้ผมเคยใช้งานแท่นยึดโทรศัพท์ของโนเกียอยู่รุ่นนึงที่คุณพ่อได้แถมมากับโทรศัพท์ นั่นคือเจ้า CR-115 ครับ ดังนั้นการรีวิวนี้หลายๆ ส่วนจะเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง CR-115 กับ CR-200 ครับ โดยตอนที่ใช้ CR-115 นั้นผมก็ประทับใจกับมันมาก เนื่องจากออกแบบมาได้ดีมากจริงๆ ตัวยึดสุญญากาศนิ่มและเกาะกับกระจกได้ดีมาก ตัวยึดโทรศัพท์เองก็ยึดได้แน่นหนา ปลดออกได้ง่าย ไม่หน่วงช้าจนเกินไป และไม่มีอาการหน้าจอสั่นเวลาขับรถด้วย แต่พอผมเปลี่ยนโทรศัพท์จาก 7 Mozart มาเป็น Lumia 920 ก็จำเป็นต้องเลิกใช้ไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากเจ้า CR-115 นี้ไม่สามารถกางได้กว้างพอที่จะยึด Lumia 920 เข้าไป จึงต้องปลดประจำการมันไปอย่างน่าเสียดาย
คำเตือน - ภาพเยอะมากนะครับ การเชื่อมต่อเครือข่ายใครจำกัดปริมาณควรระมัดระวังด้วย
หมายเหตุ - ภาพทุกภาพสามารถกดเพื่อดูภาพขนาดเต็มได้ เผื่อภาพในข่าวมีรายละเอียดไม่พอให้จับผิด
เนื่องจากบทความนี้ยาวมากๆ ถ้าต้องการอ่านส่วนไหนให้ใช้การค้นหาเพื่อข้ามไปเรื่องที่ต้องการอ่านโดยเฉพาะจะสะดวกกว่า โดยบทความนี้จะมีหัวเรื่องตามนี้ครับ
อุปกรณ์ที่ถูกปลดระวาง CR-115
ด้วยความที่ผมติดใจ CR-115 ค่อนข้างมาก พอรู้ว่าจะได้มีโอกาสจับทายาทของ CR-115 อย่าง CR-200 ก็แอบตื่นเต้นเล็กน้อย ว่านอกจากส่วนของการชาร์จไร้สายและ NFC ที่เพิ่มเข้ามาแล้ว ส่วนที่ทำหน้าที่เป็น "แท่นยึดโทรศัพท์บนรถยนต์" จะพัฒนาขึ้นบ้างรึเปล่า เปิดกล่องมาเจออุปกรณ์เยอะแยะไปหมดครับ ขอไล่เท่าที่จำได้แล้วกัน
พอได้จับตัวแท่นยึดของจริงถึงกับแปลกใจครับ ส่วนของสุญญากาศที่รุ่นพี่ที่ผมเพิ่งกล่าวไปว่าดีมาก เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบที่ผมไม่เคยเจอมาก่อน คือใช้วัสดุที่นิ่มกว่าเดิมมากๆ แล้วฉาบด้วยอะไรสักอย่างที่ให้ความรู้สึก "หนึบ" มาที่ผิวสัมผัส น่าจะเพื่อให้มันสามารถแนบลงไปกับพื้นผิวได้มากที่สุด ผลที่ได้จากการเปลี่ยนครั้งนี้คือทำให้มันยึดได้กับวัสดุเกือบทุกชนิดที่มีผิวค่อนข้างเรียบและอากาศไม่สามารถผ่านได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นผิวเรียบหรือผิวหยาบ จากการทดสอบกับประตูไม้ พื้นลามิเนต หรือแม้แต่คอนโซลหน้ารถส่วนที่โค้งไม่มากนัก มันสามารถเกาะได้แน่นมากอย่างไม่มีที่ติ จนผมสงสัยว่าเค้าให้แผ่นรองยึดมาด้วยทำไมเลยทีเดียว (สงสัยให้มาปิดกันฝุ่นเวลาไม่ใช้)
เห็นหนึบๆ แบบนี้ตอนแรกก็กังวลเรื่องฝุ่นอยู่เหมือนกันครับ เพราะมันเช็ดไม่ได้ แต่พอเอาไปล้างน้ำ เอานิ้วลูบๆ ก็สามารถล้างฝุ่นออกไปได้อย่างง่ายดาย โดยที่ตัวเคลือบหนึบๆ นี่ยังคงอยู่ดีเหมือนเดิมไม่หลุดลอกไปด้วย หมดกังวลไปหนึ่งเรื่องครับ
ส่วนของวิธีการยึด เป็นธรรมดาที่ระบบยึดสุญญากาศที่ต้องการแรงยึดสูงจะมีกลไกเพื่อเพิ่มแรงยึด ซึ่ง CR-115 นั้นซ่อนไว้อย่างสวยงามและใช้การหมุนฝาครอบฐานเพื่อสั่งงานกลไกนั้น ในส่วนของ CR-200 นั้นถือว่ายังคงทำได้สวยงามเช่นเคย ด้วยการทำให้ก้านโยก (ตามลูกศรชี้ในภาพ) ที่ทำหน้าที่สั่งงานกลไกนั้นพับเรียบไปกับฝาครอบฐานอย่างแนบเนียนในขณะใช้งาน
ด้วยความที่มันยึดพื้นผิวได้ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้สามารถติดตั้งได้หลายแบบ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่ายึดกระจกตามแบบทั่วไป
ย้ายมาติดบนคอนโซลหน้ารถ เพิ่มพื้นที่การมองเห็นและให้ยกมือไปกดได้ง่ายขึ้น
ติดตรงกลาง ให้คนนั่งข้างๆ ช่วยกดช่วยดูช่วยบอกให้ (คำเตือน ระวังทะเลาะกันนะครับ)
หรือจะเล่นท่ายากแบบนี้ แต่จะทำให้เสียบสายชาร์จไม่ได้นะ
*คำเตือน - อันตรายนะครับ แม้ผมจะค่อนข้างเชื่อว่าแท่นยึดสามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี แต่อาจเกิดเหตุการณ์โทรศัพท์หรือแท่นยึดหล่นในขณะขับขี่ได้ ไม่แนะนำให้ทำ
เล่ากันมายาวนาน จบเรื่องการยึดแท่นยึดเข้ากับพื้นผิวแล้วครับ มาต่อกันที่การยึดโทรศัพท์เข้ากับแท่นยึดบ้าง ขณะที่ CR-115 ใช้การยึดจับโทรศัพท์แบบประกบสองข้าง ทางโนเกียได้เลือกที่จะเพิ่มก้านยึดแบบตายตัวด้านล่างให้กับ CR-200 คิดว่าคงเป็นเพราะโทรศัพท์สมัยนี้เครื่องใหญ่ขึ้น น้ำหนักมากขึ้น การมีก้านรองด้านล่างแบบนี้น่าจะช่วยรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี
กางได้กว้างสุดขนาดนี้ครับ
ใส่ Lumia 920 แล้วยังเหลือที่เพียบ พอหนีบเข้ามาก็แน่นหนาดี
ด้านข้าง
ด้านหลัง
จะยึดอุปกรณ์ลูกผสมอย่าง Lumia 1520 ก็ทำได้แบบพอดี คือมันพอดีจริงๆ ครับ กางจนสุด ใช้แรงดันมันเข้าไปหน่อยเนื่องจากระยะยางสำหรับยึดฝั่งซ้ายไปฝั่งขวานั้นแคบกว่าโทรศัพท์ เสร็จแล้วแล้วก็หนีบเข้ามาได้อีกนิดนึง ใส่หรือถอดเคสมาตรฐานก็ไม่ต่างกันเนื่องจากเคสไม่ได้หุ้มบริเวณขอบด้านข้างเครื่อง แต่ถ้าเป็นเคสอื่นๆ คงต้องแล้วแต่กรณี
กรณีต้องการเสียบสายชาร์จ ไม่ว่าจะเนื่องจากต้องการเสียบเองหรืออุปกรณ์ที่นำมายึดไม่รองรับการชาร์จแบบไร้สายด้วยมาตรฐาน Qi ก็ตาม หากอุปกรณ์นั้นที่มีช่องเสียบชาร์จอยู่ตรงกลางของด้านล่าง ตัวแท่นยึดก็มีการเว้นช่องให้พอเสียบสายชาร์จทั่วๆ ไปได้ครับ ถ้าต่างจากนั้นก็ต้องทดลองกันอีกที
การปลดออก ใช้การกดปุ่มปลดล็อกที่อยู่ทางด้านบน ซึ่งทำได้ถนัดด้วยมือข้างเดียวอย่างรวดเร็ว
การปรับมุมก้ม-เงย ทำได้ค่อนข้างกว้าง ตรงนี้ข้อต่อยังคงใช้เป็นหัวบอลเหมือนกับ CR-115 และยังคงทำได้ยอดเยี่ยมเหมือนเคย โทรศัพท์ไม่มีการสั่นแม้จะขับอยู่บนเส้นทางที่ไม่ดีนักก็ตาม
หนึ่งในสิ่งที่ผมเบื่อมากในการใช้แท่นยึดโทรศัพท์บนรถคือการเสียบสายชาร์จ เนื่องจากต้องมาคอยเล็งสายชาร์จให้ตรงกับช่องก่อนจะบรรจงเสียบเข้าไป พอเอาโทรศัพท์ไปยึดกับแท่นยึดก็ทำให้สายชาร์จเกะกะระรานอีก พอเวลาจะลงจากรถก็ต้องมาถอดสายเก็บอีก การที่แท่นยึดรองรับระบบชาร์จไร้สายจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้มาก เนื่องจากเราไม่ต้องเสียบ/ถอดสายกับตัวโทรศัพท์อีก และการที่สายจะเสียบจากปลั๊กมาที่แท่นชาร์จตลอดเวลาทำให้เราสามารถเดินและยึดสายไฟให้เป็นระเบียบไว้ได้
โนเกียเองก็ผลักดันเรื่องการชาร์จไร้สายพอสมควร ดังที่จะเห็นได้จากการพยายามใส่เข้ามาในโทรศัพท์ระดับเรือธงหลายๆ รุ่น และทำเคสเสริมที่รองรับการชาร์จไร้สายให้อีกหลายรุ่นเช่นกัน แต่เนื่องจากการชาร์จแบบไร้สายนั้นมีการส่งพลังงานออกมาจากระบบ จึงถูกจำกัดระดับพลังงานสูงสุดที่จะปล่อยออกมาได้เอาไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ทำให้ไม่สามารถส่งพลังงานได้ระดับเดียวกับการชาร์จด้วยสาย ผมจึงได้บันทึกสถิติในการชาร์จมาด้วย โดยในส่วนนี้ทั้งหมดจะบันทึกจากการชาร์จ Lumia 920 นะครับ
ก่อนเริ่มชาร์จ เวลาและระดับแบตเตอรีก่อนชาร์จคือ ๑๙:๐๖ น. และ ๒๐% ตามลำดับ
หลังจบการชาร์จ เวลาและระดับแบตเตอรีก่อนชาร์จคือ ๑๙:๓๘ น. และ ๓๗% ตามลำดับ
เท่ากับว่าชาร์จได้ ๑๗% ในระยะเวลา ๓๒ นาที
เนื่องจากผมใช้รถยนต์น้อยมากเพียงสัปดาห์ละสองเที่ยว และระยะทางที่ขับก็ค่อนข้างสั้น (แต่รถติด) การทดสอบจึงถูกจำกัดระยะเวลาไปด้วย ผมจึงเปรียบเทียบระหว่างแท่นชาร์จไร้สายในบ้านรุ่นปกติของโนเกีย เทียบกับ CR-200 ตัวนี้ พบกว่าใช้แรงดันไฟฟ้าเท่ากัน ขั้วไฟฟ้าเหมือนกัน และอื่นๆ เหมือนกัน จึงได้ใช้ปลั๊กไฟของแท่นชาร์จในบ้านมาจ่ายไฟให้กับ CR-200 ตัวนี้เพื่อวัดผลระยะยาวด้วย
ก่อนอื่นผมขออธิบายวิธีเก็บข้อมูลนี้ก่อน ผมใช้แอพ Insider ในการเก็บข้อมูล ซึ่งด้วยข้อจำกัดของ Windows Phone ที่ไม่ยอมให้แอพทำงานตลอดเวลา แต่จะทำได้ประมาณทุกๆ ๒๐ นาทีเท่านั้น ดังนั้นข้อมูลบรรทัดแรกสุดอาจไม่ใช่การชาร์จเต็มเวลา แต่เป็นการใช้งานมา ๑๕ นาทีแล้วมาเริ่มชาร์จตอน ๕ นาทีสุดท้ายก็ได้
ในแต่ละบรรทัด จะมีข้อมูลสำคัญที่เราควรดูคือ
ซึ่งผลที่ได้คือ
ผมเฉลี่ยคร่าวๆ ได้ที่ ๒ นาทีต่อการชาร์จ ๑% ใกล้เคียงกับที่ชาร์จด้วยไฟรถก่อนหน้านี้ และใกล้เคียงกับการใช้แท่นชาร์จไร้สายปกติด้วย
เทียบกับการชาร์จด้วยที่ชาร์จมีสายปกติ
เฉลี่ยคร่าวๆ ได้ที่ ๑ นาทีต่อการชาร์จ ๑% เร็วกว่ากันเกือบเท่าตัวทีเดียว
ในเมื่อเราไม่ต้องคอยเสียบสายแล้ว ใยเราต้องมาคอยเลื่อนหาแอพเพื่อกดเปิดตัวตัวเองกันอีกเล่า CR-200 ได้ใส่ NFC มาให้แล้ว โดยฝังคำสั่งสำหรับเปิดแอพมาให้เรียบร้อย หากไม่ต้องการใช้แอพมาตรฐานของโนเกียก็สามารถตั้งค่าเป็นแอพอื่นได้ตามใจชอบ
แต่ช้าก่อน การใช้งานจริงยังไม่สวยหรูขนาดนั้น เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ของ Windows Phone เองและของตัวโทรศัพท์เองด้วย
หากท่านต้องการความรวดเร็ว ผมเสนอให้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาก่อนถึงรถ ๑๐ เมตร เปิดจอให้ติดในระยะก่อนถึงรถ ๘ เมตร ป้อนรหัสที่ถูกต้องก่อนระยะถึงรถ ๔ เมตร หยิบกุญแจรถก่อนถึงรถ ๒ เมตร กดปลดล็อคหรือไขกุญแจในระยะหนึ่งเมตร เพื่อให้สามารถสแกน NFC ได้ทันทีหลังจากขึ้นรถ
ตำแหน่งในการสแกนจะอยู่ประมาณนี้ครับ สำหรับ Lumia 920
และตำแหน่งนี้ สำหรับ Lumia 1520 (จริงๆ ผมลงรูปนี้รูปเดียวก็พอสินะ)
การใช้งานครั้งแรกสุดจะมีให้ตั้งค่าการใช้งานต่างๆ หากเลือกให้เปิดแอพที่ทางโนเกียสร้างมาเพื่อให้ใช้กับ CR-200 โดยเฉพาะก็จะเปิดหน้าจอหลักขึ้นมาครับ โดยหน้าจอจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหัวที่แก้ไขไม่ได้ (หรือด้านซ้าย ถ้าวางเครื่องแนวนอน) แต่เลือกได้ว่าจะให้แสดงผลอะไร โดยมีให้เลือกแสดงนาฬิกา, แสดงพยากรณ์อากาศ หรือแสดงระดับแบตเตอรี เน้นตัวใหญ่ๆ ให้สามารถมองข้อมูลได้ง่ายแม้ขับรถอยู่ ส่วนทางด้านล่าง (หรือทางด้านขวา หากวางเครื่องแนวนอน) จะให้เราเลือกตั้งเมนูลัดได้สามเมนูครับ อาจเป็นแอพอื่น การตั้งค่า หรือเมนูของแอพนี้เองอย่างโทรด่วนก็ได้ ซึ่งเน้นการใช้ปุ่มที่ใหญ่พอที่เราจะจิ้มได้โดยไม่ต้องตั้งสมาธิกับการใช้หน้าจอในขณะขับรถ (แต่ยังไงการใช้อุปกรณ์ในขณะขับขี่ก็ยังอันตราย) โดยในขณะที่เปิดแอพนี้อยู่หน้าจอโทรศัพท์จะไม่ดับแต่จะลดความสว่างลงหากไม่มีการใช้งานในระยะเวลาหนึ่ง
ในส่วนของพยากรณ์อากาศ ผมเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเครื่องผมจะต้องแสดงผลเป็นสวีเดนทุกครั้งที่เรียกแอพขึ้นมาใช้ รู้สึกขัดใจอยู่บ้างที่ต้องทนใช้งานไปสักพักก่อนมันจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ที่ถูกต้อง ขณะที่ Lumia 1520 ของพี่สาวผมไม่มีอาการนี้ แม้ว่าเมื่อเข้าไปดูในการตั้งค่าก็พบว่าพื้นที่แสดงผลไว้ถูกต้องแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม CR-200 นี้จะไม่สามารถตั้งค่าเพื่อเปิดการทำงานของโหมดขับขี่ที่มาพร้อมกับ Windows Phone GDR3 ได้
ในส่วนของเมนูโทรด่วนก็ออกแบบมาได้ค่อนข้างดี ปุ่มสำหรับโทรยังเน้นใหญ่เข้าว่าอยู่ทำให้สามารถสั่งงานได้ง่าย โดยการเลือกผู้ติดต่อที่สำคัญมาใส่เอาไว้ หากผู้ติดต่อนั้นมีหลายหมายเลขในการเลือกผู้ติดต่อจะต้องเลือกหมายเลขเอาไว้เลย ซึ่งระบบจะยอมให้เลือกได้สูงสุด ๕ รายการ (แม้ว่าจะหันโทรศัพท์เป็นแนวนอนก็ตาม ซึ่งจะทำให้เหลือพื้นที่ว่าง ๑ ช่อง อาจจะเพราะไม่ต้องการให้ผู้ใช้รู้สึกถูกบังคับให้หมุนเป็นแนวนอนเพื่อให้รับรายชื่อเพิ่มอีก ๑ รายชื่อ หรืออาจจะแค่ลืมทำก็ได้) และหากชื่อผู้ติดต่อยาวมากๆ ก็อาจถูกตัดทิ้งได้โดยไม่ใช้การลดขนาดตัวอักษร คาดว่าเพื่อให้อ่านได้ง่ายนั่นเอง
การใช้งานก็แสนง่ายครับ ยกนิ้วขึ้นไปจิ้มที่รายชื่อเพียงครั้งเดียว แอพจะทำคำสั่งโทรออกทันที
แต่ช้าก่อน! (อีกแล้ว) ด้วยระบบความปลอดภัยของ Windows Phone (อีกแล้ว) จะไม่ยอมให้แอพดำเนินการคำสั่งสำคัญแบบนี้โดยไม่ให้ผู้ใช้รับรู้ (อีกแล้ว) ระบบจะเด้งขึ้นมาถามผู้ใช้ (อีกแล้ว) ว่าต้องการโทรออกไปที่หมายเลขนี้หรือไม่ด้วยตัวอักษรปกติ (ซึ่งเล็กจิ๋วเดียวเมื่อเทียบกับแอพที่กำลังใช้งานอยู่) พร้อมกับปุ่มตกลงหรือยกเลิกขนาดปกติ (ซึ่งเล็กจิ๋วเดียวเมื่อเทียบกับแอพที่กำลังใช้งานอยู่) มองในมุมหนึ่งก็เป็นข้อเสียอย่างมากของระบบ Windows Phone และมองในอีกมุมหนึ่งก็เป็นข้อดีอย่างมากของระบบ Windows Phone เช่นกันที่แอพจะไม่สามารถแอบทำอะไรแบบนี้ลับหลังเราได้เลย
สรุปการใช้งาน ยังคงประทับใจโนเกียได้อีกครั้ง การออกแบบทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ทำได้ดี โนเกียยังออกแบบได้ดีมากเหมือนเคย การใช้งานจริง (ไม่นับส่วนที่ติดข้อจำกัดของ Windows Phone) ถือว่าดีและสะดวกไปหมดทุกอย่าง ฮาร์ดแวร์ที่ออกแบบโดยเน้นการใช้งานกับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แต่ไม่มีปัญหากับผลิตภัณฑ์ของเจ้าอื่น (สังเกตได้จากการที่มีช่องจ่ายไฟแบบ USB มาให้และเตรียมช่องเสียบชาร์จโทรศัพท์มาให้ด้วย แต่โนเกียอาจจะแค่ทำมาเผื่อโทรศัพท์ของตัวเองที่ไม่รองรับการชาร์จไร้สายก็เป็นได้) ระบบยึดสุญญากาศที่เรียกได้ว่ายอดเยี่ยมที่ผมก็ไม่แน่ใจนะว่ามีของเจ้าอื่นทำแบบนี้บ้างหรือยัง ระบบยึดโทรศัพท์ที่ดีและได้รับการปรับปรุงเพื่อรองรับโทรศัพท์ที่ใหญ่และหนักขึ้นเรื่อยๆ และยังออกแบบคำนึงถึงผู้ใช้ให้สามารถเสียบชาร์จไฟด้วยสายได้ ข้อต่อปรับมุมที่ดีเหมือนกับที่เคยเป็น สายต่อเลือกสั้นยาวได้ตามใจชอบพร้อมตัวยึดสายให้เป็นระเบียบ แอพเสริมที่ช่วยให้ใช้งานได้สะดวกในยามขับรถ (แม้จะไม่สะดวกกับระบบความปลอดภัยของ Windows Phone ก็ตาม)
เทียบกับราคาแล้ว อาจจะคุ้มก็ได้ครับ แต่โดยส่วนตัวผมคงไม่ซื้อที่ราคานี้แน่ๆ ไม่ใช่ว่าของไม่ดี ผมถูกใจเอามากๆ ตรงที่มันยึดกับอะไรก็่ติดดีไปหมด เพียงแต่ผมรู้สึกว่ามันเกินจำเป็นไปหน่อยสำหรับคนที่ปั่นจักรยานไปเรียนวันเดียวระยะทางไกลกว่าที่ขับรถทั้งสัปดาห์แบบนี้ ถ้าตัดระบบชาร์จไร้สายกับ NFC ออกไปแล้วลดราคาลงให้เหมาะสมนี่ผมอาจจะพิจารณาก็ได้ (ถึง NFC นี่มันจะต้นทุนต่ำจนไม่น่าเห็นผลล่ะนะ)