ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ร่วมเก็บพิกัด Wi-Fi ของประเทศไทยด้วย Mozilla Stumbler

by mk
2 March 2014 - 14:49

(คัดลอกจาก ข่าวเก่า) การค้นหาตำแหน่ง-พิกัดของอุปกรณ์พกพาในปัจจุบัน นอกจากการใช้ GPS วัดค่าจากดาวเทียมโดยตรง ยังมีเทคนิคการวิเคราะห์ตำแหน่งจาก Wi-Fi access point, สถานีฐานของมือถือ หรือหมายเลขไอพี โดยผู้ให้บริการค้นหาพิกัดอย่างกูเกิลหรือไมโครซอฟท์จะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้เพื่อใช้งานเวลาตรวจสอบพิกัด

ถึงแม้ว่าปัจจุบันบริการลักษณะนี้ (เช่น Google Location Services) จะใช้งานได้ฟรี แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าในอนาคตมันจะสามารถใช้งานได้ฟรีต่อไป เพราะผู้ให้บริการทุกรายต่างก็เป็น "บริษัท" หวังผลกำไรด้วยกันทั้งสิ้น

Mozilla ในฐานะองค์กรไม่หวังผลกำไรจึงทำโครงการ Mozilla Location Services เป็นบริการลักษณะเดียวกันแต่การันตีว่ามันจะเป็นบริการสาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ตลอดไป

บทความนี้จะมาชวนสมาชิก Blognone ร่วมเก็บข้อมูลพิกัดเหล่านี้ในพื้นที่ของท่าน ส่งกลับไปยัง Mozilla เพื่อสร้างฐานข้อมูลพิกัดของประเทศไทยที่สมบูรณ์และเสรีครับ

ทำไมถึงควรไว้ใจ Mozilla?

อย่างที่เขียนไปข้างต้นครับ Mozilla เป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร โดยสถานะขององค์กรคือมูลนิธิ (Mozilla Foundation) และผลงานที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า Mozilla เป็นหน่วยงานที่ใส่ใจเรื่องความเปิดกว้าง ความเสรี และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก ซอฟต์แวร์ทุกอย่างเปิดเผยโค้ด มีกระบวนการพัฒนาที่เปิดให้ทุกคนเข้าร่วม และต่อสู้เพื่อสิทธิด้านความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคทุกคน

ในมุมมองของผมแล้ว (ย้ำว่าของผมคนเดียวนะครับ) Mozilla เป็นหน่วยงานที่ "ไว้ใจได้" และถ้าจะมีองค์กรใดสักแห่งที่ผมอย่างส่งข้อมูลพิกัดของตัวเองไปให้ใช้ประโยชน์ ก็คงเป็นหน่วยงานแบบ Mozilla นี่ล่ะครับ

ทำไมถึงควรแชร์พิกัดให้ Mozilla

อย่างที่เขียนไปแล้วเช่นกันว่า บริการ location service ที่เราใช้ๆ กันในปัจจุบัน ไม่มีอะไรการันตีว่ามันจะฟรีตลอดไป ดังนั้นถ้าพรุ่งนี้บริษัท X ที่เป็นเจ้าตลาดเกิดคิดเงินค่าค้นหาพิกัดจากข้อมูล Wi-Fi คนละ 1 เหรียญ เราก็แทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมจ่ายเงิน

ดังนั้นเมื่อมองถึงความมั่นคงในอนาคต เราก็ควรมี "ทางเลือก" เรื่องฐานข้อมูลพิกัดไว้ใช้งาน โดยผ่านกระบวนการ "ทุกคนมีส่วนร่วม" หรือ crowdsourcing นั่นเองครับ

เก็บข้อมูลพิกัดกันอย่างไร?

สมาชิก Blognone บางคนอาจเคยร่วมแก้ไขแผนที่กับ OpenStreetMap กันมาบ้าง กระบวนการคล้ายกันแต่กรณีของ Mozilla นั้นง่ายกว่ามากๆ แค่ลงแอพชื่อ MozStumbler (ยังมีเฉพาะบน Android) แล้วเปิด Wi-Fi กับ GPS ทิ้งไว้ ที่เหลือแอพจะจัดการให้เสร็จสรรพ

ปัจจุบันนี้ แอพ MozStumbler ยังไม่มีให้โหลดใน Google Play วิธีการลงจึงต้องลงจากไฟล์ APK เอาเอง (อย่าลืมเปิด unknown source ในหน้า Settings ก่อนด้วย) โดยดาวน์โหลด MozStumbler เวอร์ชันล่าสุด มาใช้งาน (ขณะที่เขียนคือ v0.15.0)

ติดตั้งเสร็จแล้วจะได้แอพชื่อ MozStumbler หน้าตาไอคอนเหมือนใน thumbnail ของข่าวครับ

เปิดแอพขึ้นมาจะเจออินเทอร์เฟซคล้ายๆ กับในภาพ (หน้าตาอาจเปลี่ยนไปตามเวอร์ชันย่อย แต่รวมๆ แล้วแนวนี้)

ขั้นตอนการใช้งานก็มีแค่เปิด Wi-Fi, เปิด GPS แล้วกด Start/Stop Scanning จากนั้นก็เดินทางไปที่ต่างๆ ได้เลย แอพจะตรวจหาข้อมูล Wi-Fi, base station เทียบกับพิกัด GPS แล้วส่งข้อมูลกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Mozilla ให้อัตโนมัติ (แอพไม่จำเป็นต้องต่อเน็ตตลอดเวลา ถ้ามีเน็ตแอพจะทยอยส่งข้อมูลกลับให้ แต่ถ้าไม่มีเน็ตก็จะเก็บไว้ส่งทีเดียวเมื่อต่อเน็ตได้)

คำเตือน: แอพใช้ทั้ง Wi-Fi และ GPS แถมทำงานตลอดเวลา (ไม่ต้องเปิดจอ) ดังนั้นอาจจะสูบแบตอยู่บ้าง ควรใช้งานอย่างระมัดระวัง

ข้อมูลพิกัดของ Mozilla มีที่ไหนบ้าง

ดูแผนที่ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันได้ที่ Map ข้อมูลของทั้งโลกตามนี้ครับ (ณ วันที่เขียนนี้) จะเห็นว่าฝั่งอเมริกาและยุโรป มีข้อมูลเยอะทีเดียว

ส่วนข้อมูลของประเทศไทย ซูมชัดๆ หน่อยก็ตามภาพด้านล่าง ยังขาดข้อมูลอีกเยอะเลย

ผมก็ถือโอกาสขอเชิญชวนสมาชิก Blognone ที่มีเวลาว่าง มีอุปกรณ์ครบ อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์ เวลาเดินทางไปที่ไหนก็ตาม สามารถเก็บข้อมูลพิกัดพวกนี้แล้วส่งกลับไปยัง Mozilla เพื่อสร้างฐานข้อมูล Wi-Fi และ base station ของประเทศไทยร่วมกันนะครับ

Blognone Jobs Premium