ผู้อ่านแถวนี้น่าจะเคยผ่านตากับ ISOCELL เซนเซอร์กล้องรุ่นใหม่จากซัมซุง ที่มีรายงานว่าถูกใช้กับสมาร์ทโฟนเรือธงต้นปีของซัมซุงอย่าง Galaxy S5 ตามที่คาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าแล้ว
ก่อนจะอธิบายว่า ISOCELL นั้นทำงานอย่างไร มาพูดถึงภาพรวมของเซนเซอร์กล้องในปัจจุบันก่อน ซึ่งในตอนนี้ก็คงหนีไม่พ้นเซนเซอร์แบบ backside-illuminated (BSI) ซึ่งพัฒนาต่อมาจาก frontside-illuminated (FSI) โดยวางเอาชุดรับแสงที่ประกอบด้วยโฟโตไดโอดไปไว้ด้านหลังสายโลหะเพื่อให้เซนเซอร์สามารถรับแสงได้เต็มประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับ FSI ที่แสงจะถูกลดทอดไปบ้างเมื่อผ่านสายโลหะ แต่ก็ยังมีข้อเสียตรงที่คุณภาพจะตกลง เมื่อขนาดพิกเซลเล็กลง (เกิดการ crosstalk ระหว่างพิกเซล) ซึ่งสวนทางกับความละเอียดต่อขนาดเซนเซอร์ในปัจจุบันนี้
สิ่งที่ ISOCELL เข้ามาแก้ไขในตรงนี้คือการสร้างตัวกั้นระหว่างพิกเซลขึ้นมา ซึ่งจะช่วยให้โฟตอนที่ถูกเก็บเข้าในแต่ละพิกเซลไม่กระจายออกไปยังพิกเซลข้างเคียง (ไม่เกิดการ crosstalk) ทำให้ได้สีที่ใกล้เคียงอุดมคติมากขึ้น
ในทางเทคนิคแล้วเซนเซอร์ ISOCELL นั้นคือการผสมผสานกันระหว่างสองเทคโนโลยี หนึ่งคือ frontside deep-trench isolation (F-DTI) ซึ่งเป็นตัวกั้นระหว่างแต่ละพิกเซลให้แยกจากกัน แม้ว่าจะลดการ crosstalk แต่ก็ทำให้โฟโตไดโอดมีพื้นที่ในการเก็บแสงน้อยลง ซัมซุงจึงใช้ร่วมกับ vertical transfer gate (VTG) หรือการส่งข้อมูลในแนวตั้ง พร้อมกับขยายขนาดของโฟโตไดโอดให้ใหญ่ขึ้นไปด้วย
จากการรวมความสามารถของสองเทคโนโลยีนี้เข้าด้วยกัน ทำให้ ISOCELL สามารถลดการ crosstalk ไปได้ 19% ลดสัญญาณรบกวนลงจาก BSI ถึงหนึ่งในสาม และการรับแสงของแต่ละโฟโตไดโอดเพิ่มขึ้นเป็น 6,200 e- เพิ่มขึ้นจาก BSI ที่เก็บได้ 5,000 e- (e- คืออิเล็กตรอน) และผู้ผลิตยังสามารถกำหนดความสูงของโมดูลได้เอง จึงสามารถใส่เลนส์รูรับแสงกว้างขึ้นได้อีกด้วย
สำหรับโมดูลกล้องที่ใช้เซนเซอร์ ISOCELL ตอนแรกมีออกมารุ่นเดียวที่ความละเอียด 8 เมกะพิกเซล (ขนาดพิกเซลอยู่ที่ 1.12 ไมครอน) แต่ใน Galaxy S5 นั้นใช้เซนเซอร์ความละเอียด 16 เมกะพิกเซล ทำให้ขนาดพิกเซลเล็กลงไปอีกเหลือ 0.9 ไมครอน และน่าจะลดลงไปอีกในอนาคตครับ
สำหรับภาพที่ถ่ายด้วยเซนเซอร์ ISOCELL เทียบกับเซนเซอร์ BSI ดูได้ด้านล่างเลยครับ
ที่มา - Android Authority