หากยังจำกันได้ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา โมโตโรลาทำการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือตระกูล Droid โดยจำหน่ายกับ Verizon เป็นพิเศษ (exclusive) เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ซึ่งถือเป็นโทรศัพท์มือถือกลุ่มแรกของโมโตโรลาที่ได้ใช้งานระบบประมวลผล X8 Mobile Computing System ซึ่งต่อมา คุณสมบัติเหล่านี้ก็ถูกบรรจุลงไปใน Moto X ที่เปิดตัวหลังจากโทรศัพท์กลุ่มนี้ไม่นานนักเช่นกัน
ผมมีโอกาสได้ซื้อเครื่องมือสองที่อยู่ในสภาพดีมากจากต่างประเทศ เพื่อเอามาใช้งานในชีวิตประจำวัน จึงถือโอกาสรีวิวเครื่องไปในคราวเดียว
ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงสามารถหาคุณสมบัติของเครื่อง หรือสเปคของเครื่องได้ไม่ยาก (สำหรับคนที่อยากอ่านอย่างละเอียด) แต่เนื่องจากเครื่องนี้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่อยากกล่าวถึงเป็นพิเศษในจุดนี้ คือ ความสามารถในการรองรับทั้งคลื่น 2G (800/900/1800/1900) 3G (850/900/1900/2100) 4G LTE (700/1700) และ CDMA 1x EVDO Rev.A เครื่อง Droid Mini จึงสามารถใช้ได้แทบจะทุกที่ในโลกนี้ สำหรับในบ้านเรา ตัวเครื่องจะมีข้อจำกัดก็ตรงที่ไม่สามารถใช้ LTE ได้ครับ (ซึ่งถ้าคิดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ก็ถือว่าโอเคอยู่ครับ)
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจและผมอยากหยิบยกมากล่าวคือ เครื่องของ Verizon ที่จำหน่ายและรองรับ 4G LTE นั้นเป็นเครื่องที่ปลดล็อคเครือข่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นผลพวงจากการประมูลคลื่น 700 MHz เมื่อปี 2008 ที่มีกฎ open access อยู่ ซึ่งไม่ได้มีความหมายจำกัดแค่ห้ามกีดกันการขอซื้อคลื่นต่อเท่านั้น แต่รวมไปถึงการห้ามตั้งค่าเพื่อกีดกันการใช้งานอุปกรณ์ของลูกค้าบนเครือข่ายอื่นด้วย กล่าวอย่างง่ายๆ คือห้ามทำการล็อคมือถือกับเครือข่ายของตัวเองนั่นเอง ซึ่งทำให้เครื่องของ Verizon ที่รองรับ LTE ทั้งหมด ไม่ถูกล็อคกับเครือข่ายอีกต่อไป
นอกเหนือจากนั้นภายในก็ใช้ระบบประมวลผล X8 Mobile Computing System พร้อมกับหน่วยความจำ 2 GB และรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ (อ่านเอาได้จากข่าวเก่าครับ)
การออกแบบของ Droid Mini นั้นยังคงรูปแบบและแนวทางเดิมของโมโตโรลาที่จำหน่ายกับค่าย Verizon มาโดยตลอด นั่นก็คือการรักษาหน้าตาให้มีทิศทางที่เน้นความเรียบแต่ดูแข็งแรง (ลองดูจากชุดที่เปิดตัวเมื่อปี 2012 เป็นตัวอย่าง) และยังคงเอกลักษณ์ที่ใช้วัสดุ Kevlar บนตัวเครื่องในฐานะส่วนประกอบ
แต่ในงวดของปี 2013 ความแตกต่างคือการใช้ Kevlar เป็นวัสดุตัวเครื่องทั้งหมดในรูปแบบ Unibody ก่อนที่จะพ่นพลาสติกเคลือบเงาอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้คงทน ส่วนตัวกระจกหน้าจอใช้ Corning Gorilla Glass โดยขนาดหน้าจออยู่ที่ 4.3 นิ้ว แม้จะออกแบบมาสวยงามอย่างไร แต่ในเวลาใช้จริงแล้วต้องกล่าวว่าการออกแบบเช่นนี้ทำให้เครื่องเต็มไปด้วยรอยลายนิ้วมือจำนวนมากได้ง่ายๆ
โดยส่วนตัวแล้ว ความรู้สึกในด้านน้ำหนักของเครื่องนั้นค่อนข้างเบาในระดับ Sony Xperia Z ที่ใช้อยู่ และเบากว่า Moto G อย่างชัดเจน เครื่องให้สัมผัสที่แน่นหนา หน้าจอให้สีที่สดใสกว่า Xperia Z แม้ว่าจะใช้หน้าจอแบบเดียวกัน (TFT) ก็ตามที
ด้านบนเครื่องมีเพียงช่องเสียบหูฟัง ส่วนด้านล่างเป็นช่องเสียบพอร์ต USB
ด้านซ้ายของเครื่องไม่มีอะไร ส่วนด้านขวามีปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง และปุ่มปรับเสียง ซึ่งในจุดนี้เองที่น่าสนใจตรงที่ หากดึงปุ่มปรับเสียงด้านข้างของเครื่องออกมา จะพบถาดใส่ซิมที่เป็น Nano SIM ซ่อนอยู่ ซึ่งคำถามก็คือ การใส่ซิมแบบนี้หากตัวปุ่มปรับเสียงที่เป็นถาดใส่ซิม ไม่สามารถยึดซิมได้ดี ในระยะยาวจะเป็นอย่างไร?
ขนาดเมื่อเทียบกับ Moto G จะเห็นว่าขนาดเล็กกว่าอยู่เล็กน้อย
เมื่อใส่ซิมและเปิดเครื่องไปตั้งแต่ตอนแรก เครื่องจะขึ้นหน้าจอแจ้งว่าซิมที่ใส่ในเครื่องนั้นไม่ทราบที่มา ซึ่งสำหรับคนที่เปิดหรือปิดเครื่องบ่อยๆ อาจจะรำคาญบ้าง แต่โดยส่วนตัวก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
เนื่องจากตอนรับเครื่องมา ภายในใช้แอนดรอยด์ 4.2 อยู่ แต่ก็ถูกแจ้งเตือนให้ทำการอัพเดตเป็นรุ่นล่าสุด (4.4) ทันที จึงมีโอกาสรีวิวเครื่องเมื่อเป็น KitKat แล้วครับ ซึ่งหน้าตาโดยทั่วไป แทบไม่ต่างจากแอนดรอยด์แบบ AOSP ที่แทบจะไม่ได้ปรับแต่งหน้าตาอะไรเลย เพียงแต่คุณสมบัติบางอย่างเช่นแถบด้านบนโปร่งใส ซึ่งเป็นของที่มากับ KitKat ไม่ถูกเปิดใช้งานด้วย (ไม่รู้ว่ากลัวซ้ำรอยแบบเดียวกับ Nexus 10 หรือไม่)
ที่น่าสนใจคือ Droid Command Center ซึ่งเป็นวิดเจ็ตอันหนึ่งที่อยู่หน้าแรก สามารถแสดงได้ทั้งเวลาและข้อมูลอื่นๆ ได้ภายในอันเดียว ซึ่งอันนี้ก็ดีสำหรับคนที่ไม่ต้องการมีวิดเจ็ตมากมายอยู่ในหน้าจอครับ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหน้าตาจะไม่ได้ปรับแต่งอะไรมาก แต่ด้วยนโยบายของ Verizon ทำให้โมโตโรลาไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ จึงมีโปรแกรม/แอพจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้งานและติดมาด้วย ซึ่งเพื่อไม่ให้เป็นการเปลืองหน่วยความจำ ผมจึงสั่งปิดการใช้งานโปรแกรมเหล่านี้เอาไว้ (ที่เห็นในภาพเป็นเพียงบางส่วน)
หน่วยความจำภายในที่ได้มาในเครื่องอยู่ที่ 16 GB ก็จริง แต่ตัวระบบปฏิบัติการใช้จริงไปเสียแล้วถึงเกือบๆ 5 GB จึงเหลือพื้นที่ใช้ประมาณ 11 GB ซึ่งก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนัก
ความจริงอย่างหนึ่งคือ Droid Mini นั้น ออกแบบโดยใช้ปุ่มจริงที่ตัวเครื่อง ดังนั้นย่อมจะต้องเจอปัญหาโลกแตกของปุ่มเมนู แบบที่ HTC One ต้องประสบ ซึ่งแนวทางในการแก้ไขของ Droid Mini คือการทำให้ปุ่มที่เอาไว้ใช้สำหรับสลับโปรแกรม (เรียกว่า task key) ทำหน้าที่ปุ่มเมนูดังกล่าวด้วยการกดค้างไว้ ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ค่อนข้างชาญฉลาดพอสมควร
ตัว Droid Mini มีความสามารถพิเศษอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความน่าสนใจอยู่พอสมควร โดยจะหยิบยกมากล่าวถึงในรีวิวนี้จำนวน 3 อย่างด้วยกัน นั่นก็คือ Active Display, Touchless Control และ Motorola Connect
ในคำจำกัดความที่สั้นที่สุดของ Active Display มันคือ Glance screen แบบเดียวกับ Nokia Lumia เพียงแต่ว่า Glance screen ปกตินั้นจะไม่สามารถดูได้ว่าเนื้อหาของการเตือนนั้นมีอะไรบ้าง แต่ Active Display ทำได้ครับ วิธีการเรียกใช้หากเครื่องวางราบหงายขึ้น ให้เคาะหน้าจอสองที (ซึ่งมักจะเรียกขึ้นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง) หรือง่ายกว่านั้นคือเพียงแค่หยิบขึ้นมาดูเท่านั้นครับ
เราสามารถกำหนดได้ว่าจะให้แสดงอย่างไรบ้าง แอพไหนมีสิทธิแสดงการเตือนบนหน้าจอบ้าง รวมถึงการไม่แสดงรายละเอียดต่างๆ ด้วย ในกรณีที่เราไม่ต้องการให้คนมาเห็น
โดยภาพรวมจากการใช้งานจริงก็ทำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามหากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมก็ต้องเข้าไปด้านในอยู่ดี เรียกว่ามีไว้ก็ไม่เสียหายแต่อย่างไร
คำจำกัดความของ Touchless Control ที่ง่ายที่สุดที่พอจะนึกออกคือ มันเป็น Google Now แบบที่พร้อมใช้งานตลอดเวลานั่นเอง กล่าวคือ ปกติเราสามารถเรียกใช้ Google Now ผ่านทางปุ่มโฮมหรือผ่านหน้าแรกโดยใช้ Google Now Launcher พร้อมกับพูดว่า "OK Google" แต่ในกรณีของ Touchless Control เราสามารถเรียกใช้งานทั้งในหน้าจอปกติและตอนปิดหน้าจอได้ด้วย เรียกว่า สามารถใช้ได้ตลอดเวลานั่นเอง
เราสามารถตั้งค่าเพิ่มเติมได้ว่าจะให้ทำอะไรเพิ่มได้บ้างเช่นกันในนี้ ซึ่งสามารถทำได้เท่าที่ Google Now จะทำได้ครับ แต่จะมีสองคำสั่งเพิ่มพิเศษ อันแรกคือ "What's up" ที่จะอ่านการเตือนทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่าน และอีกอันที่ผมชอบใช้หามือถือ (ท่ามกลางกองเอกสารที่ยุ่งๆ) คือ "Find my phone" โดยอันหลังจะส่งเสียงร้อง เพื่อให้รู้ว่าโทรศัพท์อยู่ตรงนี้
ความสามารถนี้คือการที่นำเอาข้อความและบันทึกการโทรของเครื่อง ขึ้นไปแสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยผ่านส่วนเสริมใน Chrome ครับ โดยสามารถพิมพ์ข้อความได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์เราเลย ลดการที่เราต้องหยิบเครื่องโทรศัพท์ขึ้นมาตอบได้มากพอสมควรเลยครับ
นอกจากนั้นเรายังสามารถตั้งค่าการเตือนของ Motorola Connect บนเครื่องได้เช่นกัน
สำหรับกล้องโดยรวมให้ภาพที่ออกมาดูดีในระดับแสงปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ตอนเวลากลางคืนก็ยังมีภาพแตกหรือการรบกวน (noise) พอสมควร และดูเหมือนจะออกฟุ้งๆ ด้วย
ส่วนกล้องหน้าก็ทำรายละเอียดมาใช้ได้ดีพอสมควรครับ เอาไว้คุยกันทาง Skype ก็พอได้อยู่ทีเดียวครับ (ผมไม่ได้แนบภาพมาด้วยกับรีวิวนี้นะครับ)
ผมไม่ได้วัดเรื่องการใช้งานจริงจังในแง่ประสิทธิภาพนัก แต่ต้องถือว่าไม่ต่างจาก Xperia Z ที่ใช้อยู่มากมายนักเท่าไหร่ ซึ่งถือว่าใช้งานได้ดีและให้ผลลัพธ์ที่ดี ข้อดีที่ดีจนเห็นชัดกว่า Xperia Z แน่ๆ อย่างน้อยในสองจุดคือ อายุของแบตเตอรี่ที่ยาวนานกว่า Xperia Z เป็นไหนๆ แต่ก็ยังคงพ่าย Moto G ที่อยู่ได้นานกว่าอยู่ดีครับ อีกจุดหนึ่งคือหน้าจอที่ให้โทนสีดีกว่า และไม่มีอาการหน้าจอซีดให้หงุดหงิดหัวใจ
ความแม่นยำของ GPS นั้นอยู่ในระดับที่แม่นยำมาก แต่ต้องยอมรับว่ายังเป็นรอง Moto G อยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ทิ้งห่างกันมากมายนัก
นอกจากนั้นแล้ว เรื่องของการชาร์จไร้สายที่ใช้มาตรฐาน Qi นั้นผมก็มีโอกาสลองไม่นานนัก แต่ก็ใช้ได้จริง เพียงแต่ว่าจะจ่ายไฟได้ค่อนข้างช้า จึงพบว่าการใช้สายเสียบให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วกว่า ในแง่นี้ถ้าคิดว่าซื้อความสะดวกอาจจะดี แต่ถ้าคิดถึงการจ่ายไฟแล้ว การชาร์จไร้สายอาจจะยังไม่ใช่คำตอบที่ดีเท่าไหร่นัก
ส่วนเรื่องการใช้โทรศัพท์ทั่วไปนั้น Droid Mini ให้เสียงที่คมชัดมากทั้งฝั่งผู้โทรและฝั่งผู้รับ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เมื่อเทียบกับประสบการณ์ในการโทรโดยใช้ Xperia Z ที่ไม่ค่อยชัดเจนและมีสัญญาณรบกวนอยู่พอสมควร และลำโพงของเครื่องด้านหลังให้เสียงที่ดังอยู่ในระดับที่ดีใช้ได้ทีเดียว แต่ก็ยังพ่าย Moto G ที่ดังสุดๆ (ผมตั้งไว้ชั้นสองของบ้าน เครื่อง Moto G ดังทะลุลงมาถึงชั้นหนึ่ง)
ถ้าหากถามผมว่า ต้องการมือถือที่มีขนาดหน้าจอประมาณ 4 นิ้ว ซึ่งก็คือขนาดมาตรฐานย้อนกลับไปสักเมื่อราว 3 ปีที่แล้ว (ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า Mini) โดยไม่เสียคุณสมบัติอื่นๆ ไป Droid Mini ถือเป็นตัวที่อยู่ในอุดมคติและดีมาก (มาก่อน Xperia Z1 Compact เสียอีก) และการทำงานโดยทั่วไปก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีมาก โดยส่วนตัวแล้วชอบเครื่อง Droid Mini เป็นอย่างมาก หากมีกำลังทรัพย์เพียงพอ ก็ไม่ควรพลาดที่จะหันมามองและหามาใช้งานครับ และราคาเครื่องมือสองในเวลานี้หากเทียบกับค่าส่งแล้ว ราคาพอๆ กับ Moto G เครื่องหนึ่งเลยครับ ในแง่นี้จึงมีความน่าสนใจพอสมควรสำหรับคนที่แสวงหามือถือแปลกๆ มาใช้งานในบ้านเราครับ
คนที่เล่นเกม Ingress อาจจะพอทราบว่า โทรศัพท์มือถือเครื่องนี้จะมีเกมติดตั้งมาพร้อมกับเครื่อง ซึ่งนอกจากจะมีมาพร้อมกับเครื่องแล้ว ยังมีอาวุธพิเศษอีกชิ้นซึ่งถือเป็นสิทธิพิเศษของผู้ใช้ Droid รุ่นเปิดตัวปี 2013 (ที่แม้แต่ Moto X และ Moto G ก็ไม่มี) ซึ่งก็คือ Ultra Strike อันเป็นปืนที่มีขนาดทำการที่แคบมากๆ แต่มีความแรงสูงมาก ไว้กำจัดขาของป้อม ขาใดขาหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ผู้เล่นเมื่อแรกเปิดเครื่องด้วย Droid Mini จะได้รับชุดอุปกรณ์พิเศษต่างๆ ในภาพครับ
ส่วนตัวแล้ว Ultra Strike ใช้ยิงอย่างไรก็ไม่มีทางมันเท่ากับสาดปืนปกติครับ เพราะต้องไปยืนทับขา (Resonator) ที่ต้องการ แล้วต้องกดยิงอีกครับ เหนื่อยเอาการ
ป.ล. ภาพทั้งหมดที่ใช้ในรีวิวนี้ดูได้จากที่นี่ครับ