เบื้องหลังไมโครซอฟท์: Gates ไม่เห็นด้วยกับดีลโนเกีย, Nadella เปลี่ยนใจมาเห็นด้วยตอนหลัง, การโต้ตอบของ Ballmer เป็นฟางเส้นสุดท้าย

by nuntawat
8 March 2014 - 10:25

นิตยสาร BusinessWeek ตีพิมพ์เบื้องลึกเบื้องหลังของการเปลี่ยนผ่านซีอีโอจาก Steve Ballmer เป็น Satya Nadella โดยอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวหลายราย ขอเรียบเรียงสิ่งที่น่าสนใจตามลำดับเวลา ดังนี้

แหล่งข่าวระบุว่า Ballmer เป็นคนที่ "พูดมากกว่าฟัง" และตลอดทศวรรษที่ผ่าน บอร์ดก็ยอมตามที่อดีตซีอีโอขอทุกอย่าง จนกระทั่งเมื่อมีบุคคลนอกบริษัทคือ John Thompson และ Steve Luczo (ซีอีโอของซีเกต) เข้ามาเป็นบอร์ดด้วย ทั้งสองก็เริ่มรวมตัวกับบอร์ดท่านอื่นท้าทาย Ballmer รวมถึงกดดันให้อดีตซีอีโอผลักดันบริษัทให้เดินเร็วขึ้นเพื่อแข่งกับแอปเปิล กูเกิล และบริษัทอื่นที่ครอบงำเทคโนโลยีด้านโมบายอยู่

ความสัมพันธ์ระหว่าง Ballmer และบอร์ดของบริษัทตกต่ำถึงขีดสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อเขาตะโกนว่าหากซื้อโนเกียเกือบทั้งหมดไม่ได้จะลาออกจากตำแหน่ง ในการประชุมครั้งนั้นเกิดการโต้เถียงอย่างมากว่าไมโครซอฟท์ควรจะเป็นบริษัทด้านซอฟต์แวร์อย่างเดียวหรือจะเป็นบริษัทด้านฮาร์ดแวร์ด้วยหรือไม่ โดยในช่วงแรก Bill Gates และ Nadella "คัดค้าน" การที่บริษัทจะไปทำสมาร์ทโฟน แต่ต่อมา Nadella เปลี่ยนใจ ดังที่เขาระบุในอีเมลถึง BusinessWeek ว่า "นี่คือการปรับเปลี่ยนที่ถูกต้องของไมโครซอฟท์" (อดีตซีอีโอยังพูดว่าเรื่องที่เขาตะโกนนั้นจะหลุดรอดออกไปนอกห้องประชุมแน่ๆ)

ในครั้งแรกบอร์ดของบริษัทปฏิเสธข้อเสนอซื้อโนเกียเพราะแพงและซับซ้อนเกินไป เพราะดีลที่เสนอมีทั้งธุรกิจมือถือและธุรกิจแผนที่ ซึ่งอย่างหลังไม่เป็นที่ต้องการ แต่ต่อมาบอร์ดก็อนุมัติซื้อธุรกิจมือถืออย่างที่เราทราบกัน แหล่งข่าวบอกว่าการโต้ตอบของ Ballmer ในเรื่องดีลซื้อโนเกียเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" นั่นเอง นอกจากนั้น Ballmer ยังเสียใจมากที่ Gates ไม่สนับสนุนเขา เหตุการณ์นั้นเลวร้ายถึงขนาดที่ Brad Smith ที่ปรึกษาทั่วไปหัวหน้าด้านกฏหมายของไมโครซอฟท์ ต้องพยายามให้ทั้ง Ballmer และ Gates ขึ้นเวทีในงานประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ในการสรรหาซีอีโอคนใหม่มาแทน Ballmer นั้น บอร์ดของบริษัทจ้าง Heidrick & Struggles International Inc. มารับหน้าที่สรรหาซีอีโอท่านใหม่ โดยมี Gates, Thompson, Luczo และ Charles Noski (อดีตซีอีโอของ Bank of America) เป็นคณะกรรมการ

ในตอนต้น บอร์ดพิจารณาว่าไมโครซอฟท์ควรให้ความสำคัญในทักษะด้านการบริหารจัดการมากกว่าด้านเทคโนโลยี ซึ่งซีอีโอของฟอร์ดก็เข้าตามหลักเกณฑ์นี้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ Alan Mulally จะไปพบคณะกรรมการสรรหาซีอีโอและแสดงความสนใจในตำแหน่งซีอีโอของไมโครซอฟท์ แต่ก็ปฏิเสธที่จะเข้ารับการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ และในที่สุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมเขาก็ขอสละสิทธิ์ แหล่งข่าวใกล้ชิด Mulally บอกว่าเขากังวลในประเด็นความเป็นอิสระในการทำงานภายใต้ Ballmer และ Gates

อีกชื่อหนึ่งในรายชื่อตัวเลือกซีอีโอคนถัดไปก็คือ Stephen Elop โดย Ballmer เคยถาม Elop ว่าสนใจตำแหน่งซีอีโอไมโครซอฟท์หรือไม่ แต่ Elop ตอบว่าให้ไปถาม Gates และ Thompson ว่าทั้งสองจริงจังกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพียงใด เนื่องจากเขากังวลว่าจะไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากพอ

ราวเดือนธันวาคมนั้น Nadella เป็นตัวเลือกจากคนในไมโครซอฟท์ที่โดดเด่นที่สุด ส่วนตัวเลือกจากคนนอกไมโครซอฟท์ที่โดดเด่นที่สุดคือ Steve Mollenkopf ซีโอโอของ Qualcomm แต่หลังจาก Bloomberg เปิดเผยว่า Mollenkopf เป็นตัวเลือกที่มาจะรับตำแหน่งซีอีโอไมโครซอฟท์ Qualcomm ก็รีบออกมาปฏิเสธในเวลาไม่ถึง 24 ชม.

เมื่อ Nadella เป็นซีอีโอเขาก็ใช้อิทธิพลของเขาในการผลักดันด้านฮาร์ดแวร์ตามที่เห็นดีด้วยกับ Ballmer หนึ่งนั้นคือการเปลี่ยนตัว Tony Bates ที่คัดค้านการซื้อธุรกิจมือถือโนเกียนั่นเอง

แหล่งข่าวยังพูดถึงคนในบริษัทไมโครซอฟท์ด้วย โดยอ้างว่า Mark Penn และ Tami Reller ไม่เต็มใจกับงานด้านการตลาดที่ Ballmer แต่งตั้งให้ไปดูแล

เมื่อ BusinessWeek สอบถามเรื่องนี้กับ Ballmer และ Mulally ทั้งสองก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อบทความนี้ และเมื่อขอสัมภาษณ์ Thompson (ซึ่งมาเป็นประธานบอร์ดแทน Gates) รวมถึง Gates เองและ Nadella ทั้งสามก็ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์

ที่มา: BusinessWeek

Blognone Jobs Premium