ความเคลื่อนไหวของโนเกียที่เปิดตัวโทรศัพท์มือถือสายใหม่ที่มีชื่อว่า Nokia X ในงาน Mobile World Congress เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้สร้างความฮือฮามากพอสมควร นั่นก็เพราะระบบปฏิบัติการที่ใช้ภายในนั้นมีฐานมาจากโครงการ AOSP (Android Open Source Project) ซึ่งหากอธิบายง่ายๆ ก็คือ นำเอาแอนดรอยด์มาปรับแต่งเอง (แนวทางเดียวกับ Amazon) โดยอาศัยความได้เปรียบของระบบโดยรวมของแอนดรอยด์ที่มีแอพจำนวนมาก ผสานเข้ากับบริการต่างๆ ยกเว้นบริการของกูเกิลลงไป
Blognone เองเคยมีพรีวิวลองจับเครื่องที่จะจำหน่ายจริงในประเทศไทยมาแล้ว แต่ในคราวนี้จะเป็นการรีวิวเจาะลึกการใช้งานอย่างเต็มที่จากการใช้งานจริง ซึ่งน่าจะตอบคำถามของคนที่กำลังจดๆ จ้องๆ ว่าจะซื้อดีหรือไม่ หรือรอรุ่นที่ดีกว่า (X+/XL) ในสายเดียวกันดี
กล่องของ Nokia X นั้นมีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก เรียกว่าขนาดไม่ถึงกับเล็กมากแต่มั่นคงดี เมื่อเลื่อนส่วนด้านนอกของกล่องออกมา ก็พบกับเครื่องวางเด่นอยู่ในกล่องดังภาพ
ภายในนอกจากโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่แล้ว มีสายชาร์จและหูฟังสีแดงให้ พร้อมกับคู่มือเริ่มต้นใช้งาน
วิธีการเปิดฝาหลังเครื่องคือต้องดันส่วนฝาเขียวๆ ให้แยกออกจากตัวเครื่อง (แนวทางเดียวกับ Lumia 620) แม้จะไม่ยาก แต่ตอนแรกที่ทำตามคู่มือนั้นกลับเปิดได้ยากมากกว่าที่คิด จึงอาจคิดได้ในสองแง่ หนึ่งคือไม่ควรทำตามคู่มือไปเสียทุกอย่าง ไม่ก็สองคือวิธีเปิดตามคู่มือไม่ใช่วิธีเปิดที่ดีหรือง่ายที่สุด ในแง่นี้อยากให้โนเกียลองพยายามหาวิธีอธิบายที่ง่ายกว่านี้ในคู่มือ (ใช้คนถึงสามคนในการพยายามดันฝาหลังออกตามวิธี ก่อนจะพบวิธีที่ง่ายกว่า)
Nokia X เป็นมือถือแบบสองซิมที่ใช้ Micro SIM ทั้งคู่ (แบบเดียวกับ Moto G) และสามารถเสียบหน่วยความจำแบบ Micro SD เพิ่มเติมได้ เพียงแต่ช่อง SIM 1 เท่านั้นที่จะรองรับ 3G
รูปลักษณ์ภายนอกนั้นเหมือนกับที่ได้บรรยายไปแล้วในพรีวิว นั่นก็คือค่อนข้างมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมแบบก้อนอิฐ เรียกว่า ถ้าใครที่ชื่นชอบแนวทางการออกแบบเช่นนี้ก็อาจจะชอบ Nokia X น้ำหนักไม่มากก็จริงแต่ถือว่าพอตัวอยู่ทีเดียว ให้สัมผัสที่แน่นหนาและมั่นคงมากกว่าโทรศัพท์รายอื่น หน้าจอค่อนข้างคมชัดระดับหนึ่ง
ด้วยรูปทรงที่แทบจะเป็นก้อนอิฐ ทำให้ลูกเล่นอันหนึ่งได้มาอย่างบังเอิญ คือ จับตั้งขึ้นมาได้ สวยงามไปอีกแบบ (ถ้าไม่กลัวว่ามือจะไปปัดตกนะครับ)
ด้านขวามือของเรา มีปุ่มปรับเสียงและเปิด/ปิดหน้าจอ ด้านหลังเครื่องเรียบๆ ครับ มีลำโพงและกล้อง ลำโพงเมื่อเล่นเพลงและวางถูกลักษณะให้เสียงที่ค่อนข้างดังพอสมควรระดับหนึ่งครับ
ด้านบนเป็นช่องเสียบหูฟัง และด้านล่างของเครื่องเป็นช่องเสียบสาย Micro USB ครับ
เปรียบเทียบขนาดระหว่าง (จากซ้ายไปขวา) Moto G, Nokia X, Lumia 520 และ Lumia 920 จะเห็นได้ว่า Nokia X มีขนาดที่ค่อนข้างเล็กพอสมควร
แม้ภายในจะเป็นระบบปฏิบัติการที่ดัดแปลงมาจากแอนดรอยด์ก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หน้าตาภายในนั้นกลับถูกปรับแต่งอย่างมาก อาจจะเรียกว่ายกหน้าตาของ Windows Phone ลงมาใส่ไว้ภายในแทบทั้งหมด ในเครื่องจะมีแอพบางตัวที่แถมมาให้ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นเกมครับ
การใช้งาน Fastlane ก็เพียงแค่ปัดจากหน้าหลักไปเท่านั้น ไม่ว่าจะด้านซ้ายหรือขวา ข้อสำคัญคือต้องอยู่ที่หน้าหลักเท่านั้น Fastlane เป็นเหมือนแหล่งรวมกิจกรรมหรือแอพที่เรากำลังเปิดอยู่ทั้งหมด แบบเดียวกับ Recent Apps ในแอนดรอยด์ เพียงแต่ว่าเพิ่มความสามารถแบบ Notification Bar เข้ามา คือระบุสถานะอย่างอื่นได้ เช่น กำลังดาวน์โหลดอะไรอยู่บ้าง เป็นต้น
แต่ที่น่าสนใจคือ ก็ยังคงมี Notification Bar ปรากฏอยู่เช่นกัน ไว้สำหรับเรียกใช้การตั้งค่าต่างๆ เช่น เปิดหรือปิดไวไฟ เป็นต้น ส่วนถ้ามีเมนูอยู่ ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะมีปัญหาโลกแตกแบบ HTCที่จะต้องกินที่แสดงผลไป เพียงแค่ปัดด้านล่างของจอเท่านั้น
แอพที่ติดตั้งมากับเครื่องแล้ว มักจะเป็นแอพพื้นฐานเบื้องต้นโดยส่วนมาก สิ่งที่น่าแปลกใจและค้นพบระหว่างการทดสอบคือ เครื่องไม่ได้แถมโปรแกรมที่เป็นบริการของไมโครซอฟท์มาทั้งหมด เช่น OneDrive ต้องไปดาวน์โหลดเองจากใน Store เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามที่ว่า ทำไมถึงไม่รวมเอาบริการพื้นฐานของไมโครซอฟท์ทั้งหมดมาในคราวเดียว? เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือเครื่องแถมมาพร้อมกับ Skype เท่านั้น
ส่วนการลงแอพของแอนดรอยด์ในเครื่องนั้น สามารถทำได้ทันทีและไม่มีอะไรที่ต้องกังวลแม้แต่น้อย ขอให้แค่หาไฟล์ apk ของแอพที่ต้องการเท่านั้นก็สามารถลงได้แล้ว โดยตัวทางลัด (shortcut) ในการเข้าโปรแกรมจะไปอยู่ที่หน้าหลัก (แบบเดียวกับ Windows Phone) โดยในการทดสอบนี้เราลงแอพสองตัว คือ CPU-Z และ GPS Toolbox โดยใช้ apk ในการลง ซึ่งไม่มีปัญหาในการทำงานใดๆ ทั้งสิ้น บน Nokia X ดังนั้นจึงสบายใจได้ระดับหนึ่ง หากแอพที่ใช้ประจำนั้นไม่มีการเรียกใช้งาน API ที่สำคัญ (เช่น ระบบแผนที่หรือการจ่ายเงิน) ก็สามารถที่จะใช้งานได้ตามปกติ เพียงแต่อาจจะต้องเสียเวลาหา apk เท่านั้น หรือไม่ก็ติด Store ตัวอื่นที่นอกจาก Nokia Store อย่างเช่นของ Amazon เป็นต้น
เมื่อพอต้องใช้เครื่องจริงในชีวิตประจำวัน ในเรื่องของการจัดการแบตเตอรี่ถือว่าทำได้ดีพอสมควร อยู่ได้ค่อนข้างนานพอสมควร เสียงโทรเข้า-โทรออก ค่อนข้างชัดเจน และตัวแอพพื้นฐานที่มากับเครื่องก็ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันได้ดี แต่สิ่งที่พบก็คือการตอบสนองของเครื่องนั้นหากใช้ไประยะหนึ่งแล้วจะช้าลงอย่างมาก ต้องค่อยไล่ปิดแอพหรือการใช้งานปกติใน Fastlane ถึงจะเร็วขึ้น ปัญหามากกว่านั้นอยู่ที่เรื่องของพื้นที่หน่วยความจำที่มีมาให้ค่อนข้างน้อย ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ใช้จะต้องจัดหา Micro SD เข้ามาใช้ควบคู่ด้วย
ปัญหาที่ชวนหงุดหงิดใจเล็กน้อยอยู่ที่แป้นพิมพ์กับการเปลี่ยนภาษา ซึ่งถึงแม้ว่าแป้นพิมพ์ที่ติดมากับเครื่องจะดีมาก (เข้าใจว่าใช้ Swype) แต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนภาษาแล้ว กลับต้องกดปุ่ม Spacebar ค้างไว้ระยะหนึ่งก่อนจะปรากฎให้เลือกภาษา ซึ่งในจุดนี้ทางโนเกียอาจจะต้องกลับไปคิดพอสมควรว่าทำอย่างไรให้การเปลี่ยนภาษาง่ายกว่านี้ได้ อีกส่วนคือการเคาะหน้าจอสองครั้งเพื่อเปิดหน้าจอ ที่ถึงแม้จะมีประโยชน์อย่างมาก แต่เอาเข้าจริงเวลาใช้งานแล้วมีหลายครั้งที่เคาะแล้ว "ไม่ตื่น" เหมือนกัน นอกจากนั้นแล้วการเล่นไฟล์วีดีโอ ถ้าเป็นความละเอียดสูง โดยเฉพาะพวก 1080p ผลที่ออกมาคือมีแต่เสียง ภาพแทบจะหยุดนิ่งและแสดงผลไม่ได้ พอเข้าระดับ 480p พอจะเล่นได้ แต่ก็ยังมีการกระตุกให้เห็น
เนื่องจาก Nokia X เป็นเครื่องที่สามารถใช้งานได้สองซิม เราจึงสามารถกำหนดลักษณะการโทรหรือการใช้อินเตอร์เน็ตได้ เช่น ในการโทร ให้โทรออกที่ซิมหนึ่งหรือซิมสองได้ หรือจะถามทุกครั้งไปก็ได้ โดยการถามจะถามลงมาจาก Notification Bar ให้เลือก น่าเสียดายตรงที่ว่า หากสมมติว่าติดสายหนึ่งแล้ว อีกสายหนึ่งจะไม่สามารถโทรเข้าโทรออกได้ ไม่ใช่การรับสายพร้อมกันได้สองสาย
โดยภาพรวม Nokia X ตอบโจทย์การใช้งานระดับพื้นฐานอยู่ได้บ้าง อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่อาจจะคุ้นเคยกับโทรศัพท์ที่ลื่น หรือต้องการความยืดหยุ่นมากกว่านี้ ต้องยอมรับว่า Nokia X ค่อนข้างมีขีดจำกัดอยู่พอสมควรในการตอบโจทย์ ในแง่นี้ก็อาจจะขึ้นไปที่ระดับเครื่องแบบ Lumia เลย น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ส่วนเรื่อง UI ลูกผสมที่หลายคนอาจจะเป็นกังวลบ้างว่าจะออกมาดีแค่ไหน ต้องตอบว่าใช้งานได้ไม่มีปัญหาอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีฐานใช้เป็นมาจาก Windows Phone แต่แรกแล้ว ยกเว้น Fastlane ที่ต้องใช้เวลาปรับตัวสักพัก แต่ก็ไม่นานนัก
เรื่องกล้องสำหรับ Nokia X ก็ถือว่าสมราคาครับ แถมเป็นกล้องแบบ Fixed focus ด้วย แต่ถ้าถามว่าค่อนข้างผิดหวังหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าผิดหวังอยู่บ้าง ด้วยระดับราคานี้มีโทรศัพท์อยู่หลายตัวที่มีคุณสมบัติแบบ Auto focus กันหมดแล้ว แต่ถ้าถือว่าเป็นเครื่องสำหรับเริ่มต้นให้เด็กๆ หรือผู้ใหญ่ใช้ ก็ถือว่าใช้ได้ระดับหนึ่งกับคุณภาพของรูปถ่าย ยกเว้นในที่ซึ่งแสงอาจจะไม่ค่อยพอ ก็มีอาการภาพมีสีซีดได้
ถ้าถามว่าความพยายามของ Nokia กับการลองหยั่งเชิงในตลาดมือถือระดับกลางค่อนล่างด้วย Nokia X ประสบความสำเร็จหรือไม่? อาจจะตอบในตอนนี้ได้ยาก แต่ถ้าถามว่าเตรียมตัวมาดีหรือไม่ คำตอบคือเตรียมตัวมาค่อนข้างดีมาก ตัวเครื่องให้สัมผัสที่ดีมาก งานประกอบแน่นหนา ดูไม่เหมือนโทรศัพท์มือถือราคาถูกทั่วไปแม้แต่น้อย ตัวซอฟต์แวร์เองก็ใช้งานได้ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันได้ดี ถ้าไม่ไปใช้งานมันหนักๆ อย่างไรก็ตามตัวซอฟต์แวร์ยังต้องเร่งปรับปรุงและพัฒนาให้มากกว่านี้ แม้ว่าจะอาศัยความได้เปรียบจากการที่เป็นแพลตฟอร์มดัดแปลงจากแอนดรอยด์ในการมีแอพรันจำนวนมาก แต่ถ้าระบบแกนหลักภายในยังทำงานได้ค่อนข้างช้า จะเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ Nokia X เอง
หากจะถามว่าความน่าซื้อของ Nokia X อยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับมือถือเจ้าอื่นในท้องตลาด? คำตอบก็คือวัสดุของเครื่องที่ดีกว่าอย่างแน่นอน และการบริการหลังการขายที่ดีกว่าแน่นอน แต่ถ้าถามว่าเป็นโทรศัพท์ที่เหมาะกับคนแบบไหน คำตอบคงไม่น่าจะหนีไปจากกลุ่มฟีเจอร์โฟนที่ต้องการมาสัมผัสกับโทรศัพท์กลุ่มสมาร์ทโฟนบ้าง หรือไม่ก็เป็นกลุ่มคนที่กำลังแสวงหาโทรศัพท์มือถือที่ทำงานได้ทัดเทียมกับโทรศัพท์อื่นๆ เอาไว้ใช้เป็นเครื่องสำรอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่มอง Nokia X ไว้ เพราะคิดว่าจะสามารถใช้ร่วมกับบริการของกูเกิลได้ หรือไม่ก็พบว่าตัวเองอยู่ในโลกบริการของกูเกิลมากกว่า เห็นทีอาจจะต้องมองข้าม Nokia X ไป เพราะการตัดบริการทุกอย่างของกูเกิลออกไป ย่อมทำให้การเรียกใช้บริการอย่าง Play Store เป็นไปไม่ได้แน่นอน แม้ว่าจะทำการดัดแปลงซอฟต์แวร์ภายในได้ แต่เท่าที่ลองแล้วก็พบว่าให้ประสบการณ์ในการใช้งานที่ไม่ดีเอามากๆ เพราะบริการของกูเกิลเหล่านี้ต้องใช้พื้นที่ในหน่วยความจำไปอีกพอสมควร ยกเว้นเสียแต่ว่าจะซื้อมาเพื่อลงรอมใหม่เท่านั้นอาจจะยังพอเป็นไปได้บ้าง
เพื่อความชัดเจนอาจจะสรุปได้ว่า หากหาโทรศัพท์สำรอง/โทรศัพท์สำหรับเด็กๆ/โทรศัพท์สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มหัดใช้สมาร์ทโฟน Nokia X ย่อมตอบโจทย์ แต่ถ้าแสวงหาโทรศัพท์มือถือที่ต้องการประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีกว่าการเป็นเครื่องสำรอง แนะนำว่าการรอ X+ หรือ XL ที่จะออกมาหลังจากนี้ อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ส่วนจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดสำหรับโนเกียนั้น เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์