แนวทางของซอฟต์แวร์ในปัจจุบันและอนาคตที่เริ่มหมุนไปในทิศทางของการบริการ (SaaS) โดยใช้ระบบคลาวด์เข้ามาเป็นโครงสร้างหลักนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในตลาดระดับองค์กรและผู้บริโภค (ตัวอย่างเช่น Adobe Creative Cloud หรือ Microsoft Office 365) ซึ่งในฝั่งองค์กร ความเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นไปค่อนข้างช้าพอสมควร เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของบริษัท (เช่น ระบบการจ่ายเงินเดือน) ถือเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบพอสมควร
Workday ถือเป็นหนึ่งในผู้บริการลักษณะนี้ โดยให้บริการซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) อย่างระบบบริหารบุคคล ระบบการเงิน หรือระบบวิเคราะห์ข้อมูล โดยเป็นรูปแบบของการบริการให้กับบริษัท/องค์กร ซึ่งมีลูกค้าที่เป็นทั้งบริษัทขนาดเล็ก และองค์กรขนาดใหญ่ กระจายตัวอยู่ในหลากหลายภาคอุตสากรรม (ลองดูตัวอย่างลูกค้าได้ที่นี่)
ความน่าสนใจของ Workday นั้นอยู่ที่การได้รับการสนับสนุนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเงิน ตลอดจนถึงการเติบโตที่รวดเร็วมาก เพียง 7 ปี สามารถเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค (NYSE) และล่าสุดคือการเข้าซื้อกิจการบริษัท Identified ซึ่งทำธุรกิจทางด้านซอฟต์แวร์ที่ค้นหาประวัติบุคคลที่จะสมัครงานจากสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook เพื่อนำมาเสริมทัพซอฟต์แวร์ของตัวเอง และกำลังสั่นคลอนที่มั่นของบรรดายักษ์ใหญ่ในตลาดมากพอสมควร
แม้ว่าบริษัท Workday จะเป็นบริษัทหน้าใหม่ที่เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2005 แต่เอาเข้าจริงแล้วคนก่อตั้งบริษัทกลับไม่ใช่คนหน้าใหม่ในวงการอุตสาหกรรมเลยแม้แต่น้อย ผู้ก่อตั้งคือ Dave Duffield อดีตผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ PeopleSoft บริษัทที่ทำระบบ ERP ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก โดย Workday เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากที่ตอนปี 2004 (พ.ศ. 2547) Oracle เข้าซื้อกิจการ PeopleSoft แบบไม่ประกาศล่วงหน้า (hostile takeover)
ในระหว่างนั้น Duffield พยายามต่อสู้สุดความสามารถที่จะไม่ให้ PeopleSoft ตกไปเป็นของ Oracle
เพราะเขาเกรงว่าการเข้ามาของ Oracle จะทำให้พนักงานของบริษัทตกงานเป็นจำนวนมาก แต่ก็ต้องแพ้มติของคณะกรรมการอิสระของบริษัทที่ให้ขายบริษัทในมูลค่าถึง 1.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ การเข้าซื้อกิจการของ Oracle ทำให้ในตลาดของ ERP มีผู้เล่นรายใหญ่เหลือเพียงสองเจ้าคือ Oracle และ SAP เท่านั้น
สิ่งที่เขากลัวได้เกิดขึ้นจริงตามที่เขาคาดไว้ โดย Oracle ปลดพนักงานลงมากถึง 6,000 คน จากทั้งหมด 11,000 คนก่อนการเข้าซื้อกิจการ
หลังจากที่ PeopleSoft ตกเป็นของ Oracle แล้ว ตัว Duffield ได้ร่วมมือกับ Aneel Bhusri ลูกน้องสมัยยังอยู่ที่ PeopleSoft มาเปิดบริษัท Workday ด้วยเงินของ Duffield ส่วนหนึ่งและจาก Greylock Partners ที่ Bhusri เป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วยอีกส่วนหนึ่ง (Greylock เป็นบริษัทให้เงินลงทุนกับบรรดาบริษัทไอทีหน้าใหม่ต่างๆ ตัวอย่างบริษัทที่ Greylock ให้เงินลงทุนก็เช่น LinkedIn, Pandora, Facebook เป็นต้น)
ด้วยความที่ Duffield เองเป็นผู้ที่อยู่ในวงการไอทีมานาน ทำให้หลายคนเชื่อมั่นในตัวบริษัท Workday เป็นอย่างมาก และได้รับการสนับสนุนจากคนในวงการเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Amazon หรือ Jerry Yang ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Yahoo! ที่เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารด้วย การดึงคนที่มีชื่อเสียงเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการบริหาร ก็เป็นการสร้างความมั่นใจในอีกทางหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้บริษัทได้รับการสนับสนุนการลงทุนครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่ที่สำคัญคือ เพียงระยะเวลาไม่กี่ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท อัตราการขยายตัวของ Workday อยู่ในระดับที่น่าตกใจ โดยในปี 2012 (พ.ศ.2555) เพียง 7 ปีนับแต่ก่อตั้ง บริษัทสามารถจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์คได้สำเร็จ และในปีที่ผ่านมา Workday ก็สยายปีก เข้าลงทุนใน Datameer ที่เป็นบริษัทขายโซลูชั่นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data analytics solution) ก่อนที่เมื่อต้นปีนี้จะประกาศซื้อ Identified เพื่อเสริมทัพผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
Workday มีผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็คือชุดซอฟต์แวร์สาย ERP ที่ไม่ได้แตกต่างจาก PeopleSoft แม้แต่น้อย
แต่ความแตกต่างคือการที่ Workday เป็นซอฟต์แวร์ที่อยู่บนเว็บ (web-based) ขณะที่ PeopleSoft กลับไม่ใช่
แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการที่ทั้ง Duffield และ Bhusri เห็นว่าในอนาคต ลักษณะของซอฟต์แวร์แบบเดิมของ PeopleSoft ที่เป็นซอฟต์แวร์ทำงานซึ่งทำงานในสถานที่ (on-site) ของลูกค้าจะมีปัญหาเรื่องความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
ความซับซ้อนดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพราะตัวธุรกิจเองที่จะมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่ตามมาคือการที่จะต้องเพิ่มความซับซ้อนของโครงสร้างทางด้านไอทีมากยิ่งขึ้น ผลสำหรับธุรกิจคือค่าใช้จ่ายทั้งในการจัดซื้ออุปกรณ์ และค่าบริหารดูแลอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ย่อมสูงตามไปด้วย
ทางออกสำหรับบริษัทเหล่านี้คือการแสวงหาผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อยู่แล้วเพื่อลดต้นทุน และเนื่องจากระบบของ Workday ทำงานโดยอาศัยลักษณะของความเป็นเว็บทั้งหมด (web-based) หากลูกค้ามีความต้องการพิเศษเพิ่มเติมก็สามารถเขียนโมดูลตามที่ลูกค้าต้องการ เพิ่มเข้าไปในระบบได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบไอทีจำนวนมาก
ความยืดหยุ่นและทนทาน (resilience) ของระบบนี้ทำให้ Workday ได้เปรียบมากกว่าซอฟต์แวร์ยุคก่อนอย่าง PeopleSoft หรือ SAP อย่างชัดเจน ที่มักจะต้องอาศัยโครงสร้างแบบเดิมๆ ในการทำงาน และทำให้ต้นทุนโดยรวมสูงขึ้นอย่างไม่จำเป็น ลองดูตัวอย่างแนวคิดจากวีดีโอด้านล่างครับ
Workday ขายผลิตภัณฑ์ ERP ของตัวเองในลักษณะที่เป็นโซลูชั่นที่สามารถใช้งานได้หลากหลายอุปกรณ์ โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มหลักๆ เช่น ด้านบริหารบุคคล และด้านจัดการทางการเงิน ซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับทุกองค์กร อันได้แก่
Financial Management สำหรับการบริหารทางการเงินเป็นหลัก ซึ่งภายในกลุ่มนี้จะประกอบจากโมดูลต่างๆ คือ
Human Capital Management สำหรับบริหารเรื่องของบุคลากรองค์กร ภายในกลุ่มนี้จะประกอบจากโมดูลต่างๆ คือ
Big Data Analytics เป็นระบบกลางที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) แล้วนำเข้ามาอยู่ในระบบก่อนหน้าทั้งหมด และสามารถสร้างเป็นรายงานได้ทันที
ทั้งหมดนี้จะเป็นที่เชื่อมกันอยู่บนคลาวด์ซึ่งสามารถเชื่อมต่อออกไปยังบริการอื่นๆ ได้ หรือเขียนส่วนเสริมพิเศษขึ้นมาเพื่อผนวกรวมเข้ากับระบบเดิมที่มีอยู่ได้ นอกจากนั้นแล้วยังสามารถติดตามและตรวจสอบสถานะของระบบผ่านเว็บไซต์ได้ว่าแต่ละส่วนทำงานเป็นอย่างไรบ้าง
เพื่อความชัดเจน ลองดูวิดีโอสาธิตการใช้งานได้ครับ (ในวิดีโอเป็นการสาธิตระบบ Workday ของมหาวิทยาลัย University of Southern California ครับ)
นอกจากนั้นแล้ว Workday ยังประกาศแผนที่จะสร้างระบบบริหารนักเรียน/นักศึกษาขึ้นมาด้วย ระบบดังกล่าวมีทั้งการบริหารจัดการวิชาที่เปิดสอน ระบบติดตามนักเรียน/นักศึกษา ระบบบันทึกคะแนน เป็นต้น
กลุ่มลูกค้าของ Workday นั้นย่อมเป็นหน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจที่ต้องการลดภาระด้านการบริหารและจัดการไอทีในองค์กรซึ่งเป็นต้นทุนขององค์กรที่ระยะยาวแล้ว ต้องถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นตามความซับซ้อนของธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าจะไม่มีการแข่งขันในสนามที่ Workday พยายามก้าวเข้ามา ตัวอย่างเช่น Salesforce.com หรือ NetSuite ที่มีการบริการในลักษณะเดียวกัน หรือแม้กระทั่งคู่แข่งรายเดิมอย่าง Oracle, SAP หรือ Microsoft ก็ตาม ที่พยายามจะปรับตัวให้ทันกับลักษณะดังกล่าวเช่นกัน
แต่ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของ Workday ที่สำคัญคือ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของตัว Duffield ที่กลายเป็นหมากสำคัญของบริษัทและทำให้ Workday ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว ประกอบกับบุคลิกของ Duffield ที่เป็นคนเปิดและรับฟังลูกค้า (ในสมัยที่เขาตั้ง PeopleSoft เขาลงมาเขียนโปรแกรม ไปประจำซุ้มแนะนำบริษัทด้วยตนเอง และมักจะแจกอีเมล์หรือเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวเขาเสมอ) จนทำให้ปัจจุบัน Workday มีลูกค้าที่สำคัญมากมาย เช่น Aviva ที่เป็นบริษัทประกันภัยจากอังกฤษ Trip Advisor เว็บไซต์ท่องเที่ยวชื่อดัง Brown University มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา แม้กระทั่ง Yahoo! เอง ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของ Workday ด้วยเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวของ Workday เมื่อต้นปีที่เข้าซื้อ Identified นั้นถือเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่หลายคนจับตามอง นั่นเพราะแนวทางของ Identified ที่สร้างระบบการจ้างงานโดยดูจากความสามารถของคนผ่านสื่อออนไลน์อย่าง Facebook หรือ Linkedin นั้น เป็นแนวทางที่สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทและจะเปลี่ยนวิธีการหางานแบบเดิมไปได้มากอยู่ทีเดียว นอกจากนั้นแล้ว การเข้าซื้อ Identified ยังได้ตัวนักประมวลผลข้อมูล (data scientist) คนสำคัญอย่าง Mohammad Sabah ที่เคยเป็นคนรับผิดชอบด้านการวิเคราะห์ข้อมูลของ Facebook ซึ่งสร้างผลงานสำคัญอย่าง Timeline, Privacy หรือ Profile Completeness เป็นต้น เข้าไปอยู่ในบริษัทด้วย
แต่ทั้งหมดทั้งปวง อาจจะไม่สร้างความแปลกใจเท่ากับว่า Workday มีพนักงานในปัจจุบันเพียง 21 คนเท่านั้น และ Duffield ให้ความมั่นใจว่าบริษัทจะสามารถขยายตัวได้มากกว่านี้อย่างแน่นอน โดยเพิ่งจะย้ายสำนักงานที่ตั้งไปอยู่ที่เมือง Raleigh มลรัฐ North Carolina ด้วยพื้นที่กว่า 4,000 ตารางฟุต เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทภายในอนาคต