นักวิจัยเสนอทางออกในการตรวจสอบความถูกต้องของ Wikipedia

by lew
5 August 2007 - 09:10

ข้อถกเถียงในเรื่องของความน่าเชื่อถือของ Wikipedia ถูกยกขึ้นมาพูดกันหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลังมานี้ โดยเฉพาะเมื่อมีการอ้างอิงข้อมูลไปใช้ในงานจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีข่าวการปลอมข้อมูลไปใส่ไว้โดยไม่ได้รับการตรวจสอบอยู่เป็นระยะ

นักวิจัยที่UCSC จึงเสนอทางออกใหม่ที่จะให้ชุมชนใน Wikipedia สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อความที่ถูกแก้ไขได้เร็วขึ้น โดยการเพิ่มแถบสีแสดงความน่าเชื่อถือของแต่ละข้อความเอาไว้

การแสดงแถบสีระบุความน่าเชื่อถืออาจจะเป็นเรื่องที่คิดกันได้ไม่ยากนัก แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือการตัดสินว่าข้อความใดน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยปรกติแล้วเว็บจำนวนมากจะใช้ระบบการโหวตจากผู้ใช้คนอื่นๆ เช่น eBay ที่ใช้การโหวตจากผู้ซื้อและผู้ขายกัน แต่ในกรณี Wikipedia นี้ทางผู้วิจัยได้เสนอทางออกที่ง่ายกว่านั้นคือ การวัดจากการคงอยู่ ของข้อความที่ผู้เขียนนั้นๆ เคยเขียนลงในวิกิพีเดีย เช่น หากข้อความที่ผู้เขียนนั้นเขียนลงถูกลบออกไปอย่างรวดเร็ว คะแนนของผู้เขียนนั้นก็จะลดลง ถ้าข้อความนั้นคงอยู่เป็นเวลานานก็จะมีคะแนนมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อดีของวิธีนี้คือชุมชน Wikipedia ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นแม้แต่น้อย เพราะการเพิ่มและลดข้อความจากผู้เขียนคนอื่นๆ ก็เป็นกระบวนการปรกติอยู่แล้ว

นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าข้อความที่ถูกระบุว่าเป็นข้อความที่น่าสงสัยนั้นมีถึงร้อยละ 80 ที่ต้องได้รับการแก้ไขจริง และมีเพียงร้อยละ 60-70 ที่ได้รับการแก้ไขโดยชุมชนเอง โดยที่ไม่มีระบบการเตือนให้ชุมชนมาแก้ไขอะไร ดังนั้นหากมีระบบนี้ใช้งานจริงก็น่าจะทำให้ Wikipedia น่าเชื่อถือขึ้นไปอีกขั้น

การคำนวณค่าความน่าเชื่อถือนี้ใช้ข้อมูลย้อนหลังไปถึงเจ็ดปี และใช้เวลาในการคำนวณประมาณหนึ่งสัปดาห์ ดังนั้นหากมีการใช้งานจริงคงต้องพูดถึงพลังการคำนวณด้วยว่าจะไปหากันมาจากไหน

ที่มา - PhysOrg, The UCSC Wiki Lab

Blognone Jobs Premium