วันนี้อินเทลประเทศไทยจัดงาน Intel Technology and Business Update 2014 สรุปความเคลื่อนไหวของอินเทลทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ (ที่รวมข้อมูลจากบริษัทแม่มาสรุปให้ฟัง) และทิศทางธุรกิจในบ้านเรา โดยคุณสนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการคนใหม่ของอินเทลประเทศไทย (แต่อยู่กับอินเทลมานาน) เป็นคนบรรยายด้วยตัวเอง
ผมคิดว่าการบรรยายวันนี้สรุปให้เห็นทิศทางของอินเทลที่สะท้อนไปถึงตลาดพีซี อุปกรณ์พกพา และเซิร์ฟเวอร์ได้ดีพอสมควร จึงถ่ายรูปมาเยอะหน่อยนะครับ
คุณสนธิญา หนูจีนเส้ง
เริ่มต้นที่คำถามว่า "อินเทลคือใคร" ปัจจุบันอินเทลมีพื้นที่อยู่ 3 แห่งในอุตสาหกรรมไอที
สิ่งที่บรรยายในวันนี้ สนใจเฉพาะ 2 ใน 3 วงการ นั่นคือฝั่งไคลเอนต์และฝั่งเซิร์ฟเวอร์ (ปัจจุบันเรียกเป็น data center) แล้วปิดท้ายด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ของอินเทลประเทศไทย
เดิมทีอินเทลมีสินค้าเฉพาะโน้ตบุ๊กและพีซีเดสก์ท็อป แต่ปี 2014 จะเริ่มบุกตลาดแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนอย่างจริงจังแล้ว ดังนั้นอะไรก็ตามที่ "ประมวลผลได้" (compute) และ "ต่อเน็ตได้" (connect) อินเทลลุยหมด
เดสก์ท็อปพีซี
เริ่มจากพีซีก่อน สินค้าของอินเทลในสายพีซีก็ชัดเจนว่าประกอบด้วยกลุ่ม Core, Pentium, Celeron และ Atom
ตลาดเดสก์ท็อปพีซีอยู่ตัวมานาน มีหน้าตาแบบเดิมๆ มานับสิบปี แต่ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา สินค้าสายเดสก์ท็อปมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นเยอะในหลายทิศทาง
คำตอบหนึ่งของอินเทลในตลาดเดสก์ท็อปคือเรื่องขนาด เราสามารถลดขนาดคอมพิวเตอร์แบบ tower ในอดีตลงมาเป็นพีซีขนาดเล็กได้ และอินเทลมี NUC ที่ใส่ซีพียูระดับสูงถึงขั้น Core i7 ได้ด้วย
ในแง่ของเทคโนโลยีอื่นๆ อินเทลก็เตรียมไว้อีกชุดใหญ่
เทคโนโลยีอีกตัวที่เพิ่งเปิดตัวมาสดๆ คือ Intel Ready Mode (ข่าวเก่า) ช่วยให้พีซีเดสก์ท็อปสแตนด์บายได้ดีขึ้น สามารถรับสายเข้าหรือสตรีมไฟล์ได้ ลักษณะจะคล้ายการสแตนด์บายของแท็บเล็ต
ในแง่ผลิตภัณฑ์ เตรียมพบกับ Core i7 รุ่น Extreme Edition ในครึ่งหลังของปีนี้ รองรับแรม DDR4 สำหรับคนชอบของแรง
แฟนรุ่นเก่าอาจสนใจตัวนี้ Pentium รุ่นพิเศษฉลองอายุครบ 20 ปี (Intel Pentium Anniversary Edition) ออกช่วงกลางปีนี้
แต่พระเอกตัวจริงคือ 5th Gen Intel Core หรือที่เราเรียกกันตามรหัสว่า Broadwell จุดเด่นคือจะเริ่มใช้จีพียู Iris Pro บนเดสก์ท็อปแล้ว เจอกันช่วงปลายปี
โน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต
สายผลิตภัณฑ์ของอินเทลในส่วนของโน้ตบุ๊ก, แท็บเล็ต, ไฮบริด (อินเทลเรียก 2-in-1) จะสับสนเล็กน้อย แต่ดูตามภาพครับ
อินเทลยอมรับว่าที่ผ่านมายังอ่อนด้อยในตลาดแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน แต่สินค้าตัวล่าสุดทำให้อินเทลพร้อมเต็มที่ในการลุยศึกแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนในปีนี้
สมาร์ทโฟน
แผนผังอันนี้สำคัญครับ เป็นโรดแมปสายอุปกรณ์พกพาของอินเทลในปี 2014 และ 2015 ดูแล้วจะเข้าใจการตลาดของอินเทลมากขึ้น
อินเทลไม่ได้ทำแค่หน่วยประมวลผล แต่มีชิปสื่อสาร LTE ด้วย โดยชิปตระกูล XMM 7160 วางจำหน่ายไปแล้ว (ข่าวเก่า) และจะตามด้วย LTE 7260 ตัวอัพเกรดที่พัฒนาขึ้น รองรับ LTE Cat 6 300Mbps และรองรับความถี่ของ LTE เกือบทั่วโลกในชิปตัวเดียว
ฝั่งของเซิร์ฟเวอร์ ศูนย์ข้อมูล และกลุ่มเมฆ ก็มีทิศทางที่น่าสนใจ 3 ด้านคือ Cloud, Big Data, Internet of Things
ส่วนของ Big Data ชัดเจนว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดแน่
ฝั่งของ cloud นั้นอินเทลมองว่ามันเป็นส่วนขยายของศูนย์ข้อมูลอีกที ไล่มาตั้งแต่การยุบรวมเซิร์ฟเวอร์, การเปลี่ยนมารันงานแบบ virtualization ก่อนจะขยับมาเป็น cloud โดยสุดท้ายแล้วเราก็ต้องมีทั้ง private/public cloud ไปพร้อมๆ กัน
สินค้าฝั่งเซิร์ฟเวอร์คงไม่มีอะไรหวือหวามากนัก หน่วยประมวลผลตัวท็อปๆ ที่เป็นพระเอกในรอบนี้คือ Xeon E7-4800 v2 เป้าหมายคือเพิ่มสมรรถนะให้เยอะๆ เพื่อลดจำนวนเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องใช้ลง ค่าไลเซนส์ของซอฟต์แวร์ที่คิดตามจำนวนเซิร์ฟเวอร์จะได้ลดลง และประหยัดค่าไฟลงด้วย
รุ่นรองลงมาหน่อยก็มี Xeon E5-2600 v2
เรื่อง Big Data อินเทลก็มีผลิตภัณฑ์รองรับการทำงานในทุกมิติ
แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ขยายความเรื่องช่องทางจำหน่ายครับ เดิมทีอินเทลมีช่องทางการขายสินค้าพีซีและโน้ตบุ๊กที่กว้างขวางมาก แต่พอในยุคสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตรุ่งเรือง ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อสมาร์ทโฟนผ่านร้านไอทีอย่าง Banana IT หรือ IT City แต่ซื้อผ่านร้านมือถือแบบ Jaymart, TG Fone, ร้านตู้, ร้านของโอเปอเรเตอร์ ดังนั้นอินเทลก็ต้องมาเจาะตลาดนี้ให้เข้มแข็งมากขึ้น
ในช่วงถาม-ตอบ ผมถามว่าอินเทลมีแผนจะนำสินค้ากลุ่ม Quark เช่น Edison พีซีใน SD card หรือ Galileo เมนบอร์ดขนาดจิ๋ว เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยด้วยหรือไม่ คำตอบคือยังไม่ทำตลาดในเชิงพาณิชย์ แต่ถ้าสถาบันการศึกษาใดสนใจนำไปทดสอบก็ยินดีประสานงานให้
ปิดท้ายด้วยสินค้าที่อินเทลนำมาโชว์ในงานครับ ถ่ายมาเฉพาะของแปลกๆ ที่น่าจะหาได้ยากตามร้านค้าทั่วไป
เริ่มจาก Studybook แท็บเล็ตแบรนด์อินเทลเองที่เน้นตลาดการศึกษา (ข่าวเก่า) เป็นแอนดรอยด์ลงแอพด้านการศึกษา มีปากกาในตัว แท็บเล็ตเน้นแนวทนทาน ขอบโค้งมน
มันต่ออุปกรณ์เสริมพวกกล้องจุลทรรศน์ได้ด้วย แต่ในงานไม่ได้เอามาโชว์
ด้านหลัง
โน้ตบุ๊กสาย Toughbook ของ Panasonic เบากว่าที่คิด
แท็บเล็ต Toughpad ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2013 เครื่องไม่หนักมากแต่หนาและบึกบึนมากจริงๆ
VAIO Fit สินค้าตระกูลพิสดาร (ข่าวเก่า) มันเป็นโน้ตบุ๊กที่พลิกจอไปมาได้ทั้งสองด้าน เป็นได้ทั้งโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต
เป้าหมายขั้นสุดท้ายของอินเทลคงเป็นคำนี้ "ต้องมีซีพียูอินเทลอยู่ภายใน"