Wearable device จะรุ่งหรือจะร่วง?

by nismod
8 April 2014 - 08:11

ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา พัฒนาการของเทคโนโลยีเริ่มขยับเข้ามาบนร่างกายมนุษย์มากขึ้น อุปกรณ์สวมใส่ (wearable device) ได้รับการพัฒนาและออกสู่ท้องตลาดกันค่อนข้างมาก มีตั้งแต่อุปกรณ์สวมใส่บนหน้าอย่าง Google Glass และ SmartEyeglass ของ Sony ลงไปจนถึงรองเท้า แต่อุปกรณ์ที่ดูมีความเคลื่อนไหวและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นอุปกรณ์บนข้อมืออย่างนาฬิกาอัจฉริยะและอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ (Fitbit Flex และ Jawbone Up)

อย่างไรก็ดีนิตยสาร The Guardian ได้ลงบทความที่มีมุมมองต่อประเด็นข้างต้นว่า ทั้งนาฬิกาอัจฉริยะ (เน้นเฉพาะ Galaxy Gear ที่ทำการตลาดค่อนข้างมากและถูกมองว่าพยายามจะขึ้นมาเป็นผู้นำในกลุ่มนาฬิกาอัจฉริยะ) และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพต่างไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ผู้ใช้ถึง 1 ใน 3 เลิกใช้งานภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน (สามารถดูรายละเอียดตัวอย่างและสถิติที่ถูกยกมาได้ในอ้างอิงท้ายบทความครับ)

สาเหตุก็เนื่องมากจากการที่นาฬิกาอัจฉริยะ ถึงแม้จะมีพัฒนาการมาค่อนข้างจะนาน (อ้างอิง) แต่ความสามารถหรือฟีเจอร์ที่มีในปัจจุบันนั้นค่อนข้างเรียบง่ายและจำกัด ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า killer app เพื่อดึงดูดให้เกิดความน่าสนใจและน่าใช้อย่างจริงจัง นอกจากนั้นยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการใช้งานได้เท่าที่ควร เป็นแค่การย้ายเอา notification และการแสดงผลขึ้นมาบนข้อมือเท่านั้น เปรียบเทียบกับเครื่องเล่น MP3 ในยุคแรกๆ ที่ถึงแม้จะมีอุปสรรคด้านการใช้งานจากหน่วยความจำที่น้อยและการโอนถ่ายข้อมูลที่ช้า แต่ด้วยความที่เครื่องเล่น MP3 เปลี่ยนแปลงรูปแบบของการฟังเพลง จากการพกเทปคาสเซ็ทหรือแผ่นซีดี พร้อมเครื่องเล่น กลายมาเป็นเครื่องเล่นขนาดเล็กเพียงอย่างเดียว และถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จึงทำให้เครื่องเล่น MP3 ได้รับความนิยมได้ไม่ยาก หรือกรณีของสมาร์ทโฟน ที่มีทั้งโทรศัพท์ ความสามารถในอ่านอีเมล ท่องเว็บ หรือแม้แต่เครื่องเล่นเพลงในเครื่องเดียว เป็นการพลิกโฉมหน้าของโทรศัพท์โดยสิ้นเชิง การเปลี่ยนแปลงให้เรียบง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้นหรือการเข้ามาแทนที่ของเดิมแต่ดีกว่านี้ เป็นสิ่งที่อุปกรณ์สวมใส่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้เท่าใดนัก กล่าวโดยสรุปคืออรรถประโยชน์ที่ใช้งานได้จริงที่น่าดึงดูดและสร้างความเปลี่ยนแปลงของอุปกรณ์สวมใส่ยังค่อนข้างน้อยนั่นเองครับ

หลังจาก The Guardian ลงบทความข้างต้นไม่กี่วัน นิตยสาร Forbes ได้ลงบทความโต้แย้ง เนื่องจากเห็นว่าตัวอย่างและสถิติที่ทาง The Guardian ใช้ มาจากการสำรวจของผู้ใช้อุปกรณ์เพื่อสุขภาพ แต่กลับสรุปว่าเป็นการสำรวจถึงกลุ่มผู้ใช้อุปกรณ์สวมใส่ทั้งหมด พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่าการเลิกใช้อุปกรณ์เพื่อสุขภาพอย่าง Fitbit Flex นั้นคล้ายๆกับการเลิกใช้ลู่วิ่งและอุปกรณ์ออกกำลังกายในบ้านอื่นๆ ที่ตั้งใจซื้อมาเพื่อออกกำลังกาย แต่สุดท้ายก็ต้องจมอยู่กับงานและการเรียนจนไม่มีเวลาเสียมากกว่า

ถึงแม้สมรภูมิอุปกรณ์สวมใส่จะเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นานและค่อนข้างจะย่ำอยู่กับที่ แต่การเปิดตัว Android Wear และความเป็นไปได้ที่อุปกรณ์จะถูกพัฒนาไปอีกยังมีค่อนข้างมาก ทำให้วงการอุปกรณ์สวมใส่นั้นยังน่าติดตามถึงพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงต่อไปครับ

ที่มา – The Guardian, Forbes

Blognone Jobs Premium