ถึงแม้ในช่วงปีที่ผ่านมาทวิตเตอร์จะมีรายได้มากขึ้นจากการโฆษณา โดยเฉพาะโฆษณาในช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างช่วงซูเปอร์โบวล์หรือช่วงงานประกาศรางวัลออสการ์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ทวิตเตอร์สามารถทำกำไรได้ในองค์รวมอยู่ดี ดังนั้น ทวิตเตอร์จึงหาทางเพิ่มรายได้จากการโฆษณาด้วยการเพิ่มรูปแบบของการโฆษณาในหน้าฟีด
เดิมทวิตเตอร์มีโฆษณาแค่ในรูปแบบของ tweet, trends, และ recommended accounts ซึ่งตรงนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ของบริษัทเกมหรือบริษัท e-commerce ที่มักจะโฆษณาในรูปแบบของการเชิญชวนให้ดาวน์โหลดแอพ, สมัคร หรือซื้อสินค้าได้โดยตรงจากโฆษณาได้ ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กที่มีโฆษณาในลักษณะนี้มาซักพักแล้ว สามารถดึงดูดให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดแอพจากโฆษณาในฟีดได้กว่า 245 ล้านแอพในปีที่แล้ว สิ่งดึงดูดที่สำคัญคือปุ่ม "download now" หรือ "shop now" ที่ติดมากับโฆษณา
ตรงนี้เองที่ทำให้ทวิตเตอร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการโฆษณา โดยจะเริ่มปล่อยโฆษณาให้ดาวน์โหลดแอพโดยตรงใน 1-2 อาทิตย์ นอกจากนั้นทวิตเตอร์เองจำเป็นต้องลดอัตราส่วนราคาที่บริษัทสินค้าจะต้องจ่ายเพื่อให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นผ่านโฆษณา ดังเช่นในกรณีของการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก บริษัทในสหรัฐจะมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 4 เหรียญ (ประมาณ 120 บาท) เพื่อให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น 1 คน ขณะที่ของทางทวิตเตอร์นั้นสูงถึง 20 เหรียญ (ประมาณ 600 บาท) อย่างไรก็ตาม ทวิตเตอร์ก็คงต้องระวังไม่ให้โฆษณาขึ้นมาบนหน้าฟีดของผู้ใช้งานมากเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ทวิตเตอร์ให้ความสำคัญมานาน
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากตัวโฆษณา คือทวิตเตอร์ได้ปรับปรุงวิธีรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อที่ว่า โฆษณาที่ขึ้นนั้นจะได้ตรงและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งวิธีนี้เฟซบุ๊กก็ใช้มาก่อนแล้ว
ผู้ใช้ก็คงต้องปรับตัวในการใช้งานและพยายามคุ้นชินกับการแทรกโฆษณาในหน้าฟีดกันต่อไป ส่วนตัวผมในช่วงที่เฟซบุ๊กปรับเปลี่ยนรูปแบบการโฆษณาแรกๆ ก็ค่อนข้างหงุดหงิดเล็กน้อยที่เฟซบุ๊กเอาโฆษณามาแทรกกลางฟีดเหมือนกันครับ แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าในระบบทุน สิ่งที่ทำให้บริษัทที่ให้บริการฟรีเหล่านี้อยู่รอดไปได้ ก็คือโฆษณานี่แหละครับ
ที่มา - Wall Street Journal