ช่วงหัวค่ำวันนี้ ไมโครซอฟท์เพิ่งออก Windows Phone 8.1 Preview for Developers มาให้ทดสอบกัน ถึงแม้ชื่อจะบอกว่าสำหรับนักพัฒนา แต่จริงๆ แล้วผู้ใช้งาน Windows Phone 8 ทุกคนทุกเครื่องสามารถดาวน์โหลดมาทดสอบได้เช่นกัน
Windows Phone 8.1 ถือเป็นการอัพเดตครั้งสำคัญที่แฟน WP รอคอยกันมานาน ดังนั้นเมื่อมีโอกาส ผมก็ไม่พลาดที่จะดาวน์โหลด WP 8.1 มาทดสอบด้วยเช่นกัน และนี่คือรีวิวคร่าวๆ จากการทดสอบเพียงไม่กี่ชั่วโมงนะครับ
ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ (รายละเอียดดูจาก WPCentral)
เท่าที่ลองดู การอัพเดตจะต้องทำขั้นต่ำ 2 รอบคือรอบแรกเป็นการอัพเดต WP 8.0 ให้พร้อมก่อน รีบูตเครื่องหนึ่งรอบ แล้วดาวน์โหลดตัว WP 8.1 จากนั้นรีบูตรอบสองก็จะได้ WP 8.1 ครับ (หลังจากนั้นผมเจออัพเดตชุดภาษาของ WP 8.1 ด้วย ซึ่งก็ต้องรีบูตกันทั้งหมด 3 รอบ)
คราวนี้เรามาดูของใหม่กันทีละอย่างเลยนะครับ
เมื่อเปิดมาเจอกับ WP 8.1 หน้าตามันจะเหมือนเดิมเกือบทุกประการ เปิดมาแล้ว Start Screen ยังคงเดิมทุกอย่าง แต่ในรายละเอียดแล้วมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรครับ
ภาพพื้นหลังใน Live Tiles
อันนี้ตรงไปตรงมาครับ เราสามารถใส่ภาพพื้นหลังในหน้า Start Screen ได้แล้ว แต่ภาพจะไปอยู่ที่ตัว Tiles ส่วนพื้นหลังที่อยู่นอก Tiles ยังเป็นสีพื้นเหมือนเดิม
Live Tiles แบบสามคอลัมน์
ปกติถ้าไม่ใช่มือถือจอใหญ่ Start Screen จะแสดงผลได้ 2 คอลัมน์ (นับตาม Tiles ขนาดกลาง) แต่ตัวเลือกในหน้า Start+theme ก็เปิดให้เราเลือกเป็น 3 คอลัมน์ได้ เหมาะสำหรับคนที่มี Tiles เยอะๆ แล้วขี้เกียจเลื่อนหน้าจอบ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ผมลองบน Lumia 1020 แล้วพบว่าจอมันเล็กเกินไปสำหรับ 3 คอลัมน์ ในการใช้งานจริงเลยเปลี่ยนกลับเป็น 2 คอลัมน์แทนครับ
ความปวดร้าวอันดับหนึ่งของการใช้ Windows Phone นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2010 (นับถึงวันนี้เกือบ 4 ปีเต็ม) คือมันไม่มีระบบ notification center แบบเดียวกับที่แพลตฟอร์มอื่นๆ มีกัน การติดตามข้อความแจ้งเตือนต่างๆ รวมถึงการเปิดปิดตัวเลือกที่ใช้บ่อย (เช่น Wi-Fi) จึงทำได้ยากมาก
ถึงแม้ไมโครซอฟท์จะมาช้ากว่าคนอื่นมากในเรื่องนี้ (จะว่าไป iOS ก็เพิ่งปรับตัวเมื่อปีที่แล้วเหมือนกันนะ) แต่มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มาครับ Windows Phone มี notification center แล้ว (เย้)
แม้สไตล์จะต่างไป แต่ในแง่การใช้งานแล้ว มันเหมือนกับ notification ของ Android ทุกประการคือลากลงจากขอบบนของจอ แสดงรายการข้อความแจ้งเตือนต่างๆ พร้อมปุ่มลัดที่ไมโครซอฟท์เรียกว่า quick actions สำหรับเปิดปิดตัวเลือกที่ใช้บ่อยๆ
จากการใช้งานพบว่ามันไม่หวือหวาแต่ตอบโจทย์ได้ดีมาก (ต้องการแค่นี้แหละ) แสดงข้อความเตือนได้ครบถ้วน สิ่งที่ยังขาดไปบ้างคือฟีเจอร์หรูหราแบบ notification ของ Android รุ่นหลังๆ เช่น การควบคุมการเล่นเพลง หรือการแสดงภาพหลังกด capture หน้าจอ เป็นต้น
ปุ่มลัด quick actions มีได้สูงสุด 4 ปุ่ม (5 ปุ่มสำหรับมือถือจอใหญ่) เพิ่มจำนวนไม่ได้แต่เปลี่ยนปุ่มได้ โดยมี action ให้เลือกจำนวนหนึ่ง (แต่ไม่มีเปิด-ปิด mobile data)
โดยส่วนตัวแล้ว ฟีเจอร์นี้อย่างเดียวก็คุ้มค่ากับการอัพเป็น 8.1 แล้วครับ
ฟีเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดของ Windows Phone 8.1 ย่อมเป็น Cortana ระบบผู้ช่วยส่วนตัวแบบเดียวกับ Siri และ Google Now
Cortana ยังใช้ได้เฉพาะภาษาอังกฤษแบบ US เท่านั้น การใช้งานต้องเซ็ตค่าเกี่ยวกับภาษาและท้องถิ่นเป็น US ทุกอย่างก่อน (UK ก็ไม่ได้นะครับ) จึงจะมีแอพ Cortana โผล่มาให้เห็นครับ
ครั้งแรกที่เราเปิด Cortana ขึ้นมา ระบบจะถามว่าต้องการ Cortana ให้เรียกชื่อเราว่าอะไร พร้อมหน้าจอสอนวิธีใช้ว่าเข้าไปตั้งค่าได้ที่ Cortana's Notebook ที่ปุ่มตรงมุมขวาบน
การตั้งค่าของ Cortana's Notebook จะคล้ายกับ Google Now แต่ทำได้ละเอียดกว่าครับ เลือกได้หลายอย่างทั้งข่าวสาร สถานที่ คนสนิท ฯลฯ โดยข้อมูลจะเชื่อมโยงกับแอพอื่นๆ ในตระกูล Bing เช่น News หรือ Weather ด้วย
การเรียก Cortana ทำได้สองวิธีคือเรียกจากแอพ/Tiles หรือกดปุ่มแว่นขยายที่ตัวเครื่อง (ซึ่งเดิมทีจะเข้า Bing แต่ของใหม่จะเรียก Cortana แทน)
เปิด Cortana ขึ้นมาแล้วเราจะเจอไอคอนวงกลมขยับไปมาแบบที่ไมโครซอฟท์นำมาโชว์ จะสั่งงานด้วยเสียงก็ได้หรือพิมพ์ก็ได้ ส่วนคำสั่งเสียงที่ไมโครซอฟท์มีมาให้ก็ตามภาพ
บางทีเวลาเราเปิด Cortana ขึ้นมา มันจะขึ้นข้อมูลแนะนำให้เรา เช่น ข่าวสาร พยากรณ์อากาศ แบบเดียวกับที่ Google Now ทำได้ ส่วนการตอบคำถามก็เหมือนกับทั้ง Google Now และ Siri คือค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลต่างๆ เท่าที่หาได้ ถ้าหาไม่ได้ก็จะค้นเว็บจาก Bing มาแสดงผลให้เราเลือก
ผมลองคุยกับ Cortana ดูก็พบว่าความสามารถในการหา "คำตอบสำเร็จรูป" ยังเป็นรอง Google Now อยู่บ้าง (แต่ก็ไม่แย่นัก) ส่วนการแยกแยะเสียงพูดภาษาอังกฤษ คิดว่าทำได้ดีกว่า Google Now นะครับ
แน่นอนว่าผู้ช่วยส่วนตัวแบบนี้ย่อมมีคนไป "ลองของ" ถามคำถามแปลกๆ ไมโครซอฟท์ก็เตรียมคำตอบไว้บ้างพอสมควร ผลก็ออกมาดังภาพ
โดยสรุปแล้ว Cortana ไม่ได้ทำให้ไมโครซอฟท์แซงหน้า Google Now หรือ Siri แต่ก็ช่วยยกระดับจากการตามหลังห่างไกลมาเป็นเสมอกันแล้ว ไม่ด้อยกว่ากันในแง่ว่า "ทำได้หรือไม่" ส่วนในรายละเอียดคงต้องพัฒนากันต่อไปอีกเยอะ
ซิงก์การตั้งค่าได้แล้ว, ปุ่มจับภาพหน้าจอเปลี่ยนมาใช้ Power+Volume Up แทน
Storage Sense ช่วยบอกสถานะพื้นที่เก็บข้อมูล แยกดูรายหมวดได้
Battery Saver ช่วยบอกอัตราการใช้แบตเตอรี่ของแอพแต่ละตัว
Windows Phone Store สั่งให้อัพเดตแอพอัตโนมัติได้แล้ว, ดูสถานะการดาวน์โหลดได้, ดูประวัติการอัพเดตแอพได้อย่างละเอียดเป็นรายตัว
ของใหม่อย่างอื่นๆ ที่พบ
เท่าที่ใช้มาก็ยังไม่เจอปัญหาอะไรครับ (ยกเว้น Store ล่มซึ่งคงไม่เกี่ยวกับตัว WP 8.1) โดยรวมแล้วถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางบวกเกือบทั้งหมด และช่วยให้ Windows Phone พัฒนาขึ้นจากเดิมมาก สามารถแข่งกับ iOS/Android ได้สูสีมากขึ้นเยอะเลยครับ