กสทช. เคาะราคาตั้งต้นประมูล 4G 1800MHz เริ่มที่ 11,600 ล้านบาท, ตั้งเป้าประมูล ส.ค. 57

by mk
18 April 2014 - 15:28

วันนี้บอร์ด กทค. มีมติเห็นชอบต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่านความถี่ 1800 MHz เพื่อนำเสนอ กสทช. พิจารณาให้ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

ตามแผนของ กสทช. จะจัดประมูลคลื่น 1800MHz ที่หมดอายุลงเมื่อปีที่แล้ว (True Move และ GSM1800 เดิม) แยกเป็น 2 บล็อค บล็อคละ 12.5 MHz และเคาะราคาขั้นต่ำ (reserved price) ตามข้อเสนอของ ITU ที่ 11,600 ล้านบาทต่อบล็อค ซึ่งคิดราคาต่อ MHz แล้วจะแพงกว่าคลื่น 2100MHz ที่ประมูลไปรอบที่แล้ว

ลำดับต่อไป สำนักงาน กสทช. จะนำร่างประกาศฯ ข้างต้นไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และขอมติเห็นชอบจาก กสทช. ชุดใหญ่ และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในช่วงเดือนมิถุนายน จากนั้นจะเป็นช่วงประกาศเชิญชวน ยื่นเอกสาร ก่อนจะจัดการประมูลจริงในเดือนสิงหาคม

ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์ กสทช.

บอร์ด กทค. เคาะราคาขั้นต่ำในการประมูลคลื่น 1800 MHz (Reserve Price) และเห็นชอบหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz

กทค. ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 เห็นชอบการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูล (Reserve Price) คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่านความถี่ 1800 MHz เพื่อนำเสนอ กสทช. พิจารณาให้ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

กทค. เห็นชอบการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลซึ่งคำนวณโดย ITU ในราคา 11,600 ล้านบาทสำหรับชุดคลื่นความถี่ 2x12.5 MHz หนึ่งชุดคลื่นความถี่ หรือ 464 ล้านบาทต่อ MHz วิธีการที่ได้มาถึงตัวเลขดังกล่าว เป็นวิธีการที่เป็นหลักสากลซึ่ง ITU ได้มีการใช้หลากหลายวิธีประกอบการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่

1. Full enterprise value ซึ่งเป็นโมเดลทางธุรกิจที่ใช้ในการหามูลค่าปัจจุบันของกำไรที่เกิดจากการนำคลื่นไปใช้ ร่วมกับทรัพยากรทั้งหมดของผู้ประกอบการตลอดช่วงเวลาของการได้รับใบอนุญาต โดยจะคำนวณทั้งสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อให้ความมั่นใจว่าผู้ประกอบรายเล็ก สามารถเข้าสู่การประมูลได้
2. Cost reduction value เป็นวิธีการประมาณการมูลค่าของส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เกิดขึ้นในกรณีที่ได้รับและไม่ได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่จากการประมูล
3. Benchmark ซึ่งเป็นวิธีทางสถิติ ซึ่งได้มีการนำสถิติการประมูลคลื่นความถี่จากประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงระหว่างปี 2549 – 2556 มาพิจารณา โดยเป็นข้อมูลสถิติจากการประมูลทั่วโลกจำนวน 101 ใบอนุญาต จากการประมูลของแถบ Asia Pacific 32 ใบอนุญาต และประเทศที่มี GDP/capita ต่ำกว่า below US$30,000 (PPP) โดย ITU

การพิจารณากำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูล กสทช. ได้ดำเนินการพิจารณาเปรียบเทียบผลการประมาณการมูลค่าคลื่นความถี่ด้วยวิธีการที่หลากหลายดังกล่าวข้างต้นร่วมกัน เพื่อมากำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูล ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความเหมาะสม รัดกุม และรอบคอบ และมีการคำนึงถึงความสามารถในการเข้าร่วมประมูลของผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมทั้งผลการประมูลที่เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศประกอบด้วย และที่สำคัญยิ่ง การกำหนดราคาเริ่มต้นในการประมูลจะต้องสร้างความมั่นใจได้ว่า เป็นราคาขั้นต่ำที่จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าร่วมการประมูลได้ และสำหรับราคาที่ชนะการประมูลนั้นจะเป็นไปตามกลไกการแข่งขันในการประมูลเอง ทั้งนี้ ราคาขั้นต่ำของการประมูลนี้มีค่าสูงกว่าราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่กำหนดไว้ที่ 450 ล้านบาทต่อ MHz

และในวันนี้เอง กทค. ได้มีพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน ๑๗๑๐ – ๑๗๒๒.๕ MHz/๑๘๐๕ – ๑๘๑๗.๕ MHz และ ๑๗๔๘ – ๑๗๖๐.๕ MHz/๑๘๔๓ – ๑๘๕๕.๕ MHz พ.ศ. …. และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT)ย่านความถี่ ๑๗๑๐-๑๗๘๕/๑๘๐๕-๑๘๘๐ เมกะเฮิรตซ์ (MHz) โดยเห็นชอบให้นำร่างประกาศดังกล่าวนำเสนอ กสทช. เพื่อจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

ทั้งนี้ แผนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จะมีกรอบระยะเวลาในการนำร่างประกาศฯ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2557 โดยจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศลงในราชกิจกานุเบกษา ในปลายเดือนมิถุนายน 2557 จากนั้นจะประกาศเชิญชวน และเผยแพร่ สรุปข้อสนเทศ (IM) ฉบับสมบูรณ์ พร้อมกำหนดระยะเวลาให้ผู้ยื่นประมูลมารับเอกสารเพื่อใช้ในการยื่นประมูลในปลายเดือนกรกฎาคม 2557 จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมการประมูลต้นเดือนสิงหาคม และจัดการประมูลพร้อมประกาศผลการประมูลในเดือนสิงหาคม 2557

Blognone Jobs Premium