นักวิจัยเกาหลีสร้างระบบจ่ายไฟไร้สายให้สมาร์ทโฟนได้ทีละ 40 เครื่องพร้อมกัน

by ตะโร่งโต้ง
20 April 2014 - 15:48

นักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีในเกาหลีใต้ KAIST (Korea Advanced Institute of Science and Technology) ทำการวิจัยสร้างระบบส่งพลังงานไฟฟ้าแบบไร้สายที่จะสามารถชาร์จไฟให้แก่สมาร์ทโฟนถึง 40 เครื่องได้ในเวลาเดียวกัน

ทีมวิจัยได้สาธิตอุปกรณ์รุ่นต้นแบบของ Dipole Coil Resonant System (DCRS) ซึ่งก็คือระบบสั่นพ้องของขดลวดแบบ 2 ขั้ว โดยทำการส่งพลังงานระหว่างขดลวด 2 ชุดด้วยการเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งนี้ระบบดังกล่าวสามารถจ่ายพลังงานจากขดลวดฝั่งส่งกำลังในปริมาณที่มากเพียงพอที่จะเลี้ยงอุปกรณ์หลายชิ้นได้ในคราวเดียวกัน ไปยังขดลวดฝั่งรับพลังงานที่จะกระจายพลังงานไฟฟ้าไปให้อุปกรณ์ที่วางอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ในห้องผ่านทางสายไฟและปลั๊กที่ต่อพ่วงอยู่กับขดลวดนั้น

ระบบดังกล่าวของ KAIST สามารถส่งผ่านกำลังงานได้ 209 วัตต์ ด้วยความถี่ 20kHz ในระยะ 5 เมตร ซึ่งพลังงานดังกล่าวเพียงพอที่จะจ่ายไฟให้แก่จอทีวีหรือพัดลมก็ยังได้

แม้ในขณะนี้ชุดอุปกรณ์ต้นแบบยังมีต้นทุนในการผลิตที่สูง แต่ทีมวิจัยก็หวังว่าจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้สามารถใช้งานได้จริงด้วยต้นทุนที่ต่ำลงในอนาคต โดยยกตัวอย่างการใช้งานเพื่อจ่ายพลังงานให้ผู้ใช้ในพื้นที่จำกัด เป็นต้นว่าในร้านอาหาร หรือในห้องพักและห้องประชุม คล้ายกับที่มีบริการ Wi-Fi ฟรีในหลายสถานที่อย่างทุกวันนี้

ก่อนหน้านี้มีผลงานวิจัยของ MIT ที่คล้ายคลึงกัน ชื่อว่า Coupled Magnetic Resonance System (CMRS) ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ปี 2007 โดยระบบดังกล่าวของ MIT สามารถส่งพลังงานแบบไร้สายได้ในระยะ 2.1 เมตร

แม้ว่าหลักการส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าระหว่างขดลวดตั้งแต่ 2 ชุดขึ้นไปด้วยการเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะเป็นหลักการดั้งเดิมที่ใช้กับหม้อแปลงกำลังอย่างที่มีใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ แต่การส่งผ่านพลังงานผ่านอากาศในระยะหลายเมตรของ DCRS นั้นก็น่าสนใจในแง่ของความพยายามที่จะเอาชนะปัญหาการสูญเสียพลังงานในขั้นตอนการเหนี่ยวนำ และยังมีเรื่องของการแก้โจทย์ปัญหาสัญญาณรบกวนการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่รายล้อมอีกด้วย

ที่มา - SlashGear

Blognone Jobs Premium