หลังจากที่สหรัฐอเมริกาแสดงเจตจำนงที่จะเลิกดูแล ICANN ทำให้ตอนนี้นานาประเทศได้ร่วมหารือกันเพื่อหาแนวทางวางอนาคตให้แก่องค์กรที่สำคัญยิ่งสำหรับโลกอินเทอร์เน็ตแห่งนี้
ICANN (Internet Corporation for Assigned Names and Numbers) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการงานที่เกี่ยวข้องกับระบบอินเทอร์เน็ตต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดการระบบโดเมนเนมและเลข IP ซึ่งหน่วยงานนี้ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี 1998 และอยู่ในความดูแลของสหรัฐอเมริกามาโดยตลอดจนกระทั่งเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญขององค์กรในครั้งนี้
ด้วยเหตุที่ทางการสหรัฐอเมริกามีประเด็นโดนเพ่งเล็งเรื่องการดักเก็บข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตจากประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาตั้งใจที่จะถอนตัวจากการเป็นผู้ดูแลหน่วยงาน ICANN นี้ ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากบางส่วนภายในสหรัฐอเมริกาเอง
ประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นก็คือ นับแต่นี้ไปใครควรจะเป็นผู้ดูแล ICANN และด้วยเหตุนี้ในการประชุม Net Mundial อันเป็นการประชุมของผู้มีส่วนร่วมได้เสียในระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งจัดขึ้นที่ São Paulo ในประเทศบราซิล จึงมีการหารือกันระหว่างตัวแทนจากนานาประเทศเพื่อกำหนดแนวทางวางแผนเพื่ออนาคตของ ICANN หรืออีกนัยก็เพื่อสังคมอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วยเช่นกัน
แนวทางแรกที่มีการนำเสนอก็คือคัดค้านการตัดสินใจของอเมริกา โดยตัวแทนของ EU และจากประเทศอื่นๆ อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าสหรัฐอเมริกาควรรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพดูแล ICANN ต่อไป โดยให้เหตุผลว่าหากสหรัฐอเมริกาปล่อยให้ผู้อื่นดูแล ICANN แทนแล้วอาจทำให้บางรัฐที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการทำงานของ ICANN สบช่องที่จะใช้โอกาสดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการปิดหูปิดตาประชาชนในประเทศของตนจากข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตก็เป็นได้
ในขณะที่อีกเสียงหนึ่งได้เสนอให้ UN เป็นผู้รับหน้าที่ดูแล ICANN ต่อจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าสนใจว่าตัวแทนจากตุรกีซึ่งเป็นประเทศที่มีประเด็นเป็นข่าวใหญ่โตเรื่องการแบนบริการสื่อสังคมออนไลน์เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แสดงตนสนับสนุนแนวคิดนี้ รวมทั้งจีนและรัสเซียซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ไม่ได้มีตัวแทนเข้าร่วมการประชุม Net Mundial ในครั้งนี้ก็เคยแสดงท่าทีสนับสนุนแนวทางการยกให้ UN เป็นเจ้าภาพเช่นเดียวกัน
ทว่าสหรัฐอเมริกาเองกลับคัดค้านแนวคิดที่สองนี้ชนิดหัวชนฝา ถึงขนาดที่ออกมากล่าวว่าหากจะให้ UN เป็นผู้ดูแล ICANN แล้วล่ะก็ สหรัฐอเมริกาขอทำหน้าที่นี้ต่อไปอีก 4 ปียังดีกว่า โดยให้เหตุผลว่า ICANN ไม่ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากตัวแทนฝั่งรัฐบาล (ไม่ว่าจากประเทศใดก็ตาม) แต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป หากแต่ควรเปิดกว้างให้ประชาคมจากแวดวงอื่นได้มีส่วนร่วมได้
สหรัฐอเมริกาเองจึงเสนอแนวคิดที่สามที่จะให้ ICANN อยู่ในความดูแลร่วมกันของบรรดาผู้ที่มีส่วนร่วมกับสังคมอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำกัดไว้เพียงหน่วยงานรัฐบาลของประเทศต่างๆ เท่านั้น หากแต่ควรมีตัวแทนจากภาคธุรกิจ และสถาบันวิทยาการและการศึกษาต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลการทำหน้าที่ของ ICANN ด้วย ซึ่งแนวคิดนี้มีตัวแทนจากนานาชาติให้การสนับสนุนด้วยเป็นจำนวนมาก
และจนถึงตอนนี้แนวทางของสหรัฐอเมริกาได้รับการสนับสนุนมากที่สุด จึงทำให้มีการร่างเอกสารบันทึกการประชุมเพื่อร่างแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของ ICANN ให้อยู่ภายใต้การดูแลของทุกฝ่ายตามแนวทางดังกล่าว และจะมีการนำร่างเอกสารนี้ไปหารือในโอกาสถัดไป ซึ่งอย่างน้อยที่สุดในขณะนี้ Neelie Kroes หัวหน้างานดิจิทัลของ EU ก็ได้ออกมาวิจารณ์แนวทางดังกล่าวว่ามีจุดอ่อนที่อาจเปิดช่องโหว่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และได้ทำการยื่นข้อทักท้วงเพื่อแก้ไขรายละเอียดของร่างเอกสารดังกล่าวไปแล้ว
ที่มา - Engadget