(บทความนี้เป็นหนึ่งในซีรีย์ครบรอบสามปี ซึ่งจะทยอยออกมาเรื่อยๆ และปิดท้ายด้วย BTD3)
ผมถือว่าสามปีที่ผ่านมา Blognone ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะยังตอบโจทย์เรื่องรายได้เลี้ยงตัวเองไม่ได้ แต่ในแง่ยอดผู้เข้าชมแล้ว ตัวเลข 7,000 visits ต่อวัน (และ feed subscriber อีก 1,600) คงไม่เลวนัก ปัจจัยของความสำเร็จนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่นำข่าวต่างประเทศมาแปล แล้วเล่าใหม่ด้วยความเข้าใจของตัวเองก็เท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ระยะหลังเราจะเห็นเว็บทำนองเดียวกันเกิดขึ้นหลายเว็บ ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความอุตสาหะ และปัจจัยด้านช่องว่างของตลาดที่ Blognone ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเป็น first mover
ผมดีใจมากที่มีเว็บข่าวเกิดใหม่ขึ้นเยอะ ด้วยเหตุผลสองข้อว่า 1) เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และ 2) เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าโมเดลของเรานั้นเวิร์คจริง
อย่างไรก็ตามดังที่เขียนไปแล้ว การสร้างเว็บแบบ Blognone ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่มีคุณค่ายิ่งกว่าคือกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นต่างหาก เมื่อสามปีที่แล้วผมก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะมาถึงจุดที่ยืนอยู่นี้ ประสบการณ์ที่ได้จากการลองผิดลองถูก รู้ว่าอะไรเวิร์คอะไรแป๊ก ถือเป็นสิ่งล้ำค่ามากที่ผมได้รับ (แบบไม่ตั้งใจเท่าไร) และเป็นเรื่องที่ผมจะมาแชร์ให้อ่านกันในครั้งนี้ หวังว่ามันคงจะมีประโยชน์
เนื่องจากผมสวมบทบาทหลายอย่างมากในการทำ Blognone ดังนั้นขอแยกเป็นเรื่องๆ ไป
เรื่องแรกสุดที่คนจำผมได้คงหนีไม่พ้นเรื่องการสะกดคำ (ฮา) จริงๆ แล้วเรื่องนี้ผมได้รับการสั่งสอนมาจากคุณเจมส์ คลาร์ค เจ้านายคนแรก ถ้าจะให้อธิบายแบบสั้นๆ ก็เอาความละเอียดของผมแล้วคูณด้วย 5 เข้าไปก็น่าจะใกล้เคียง จากการทำงานใกล้ชิดกับคุณเจมส์ ทำให้ผมสรุปได้ว่านิสัยแบบนี้เป็นส่วนสำคัญในการเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก!! ถ้าไม่เชื่อลองเปิดไทยรัฐสิครับ แล้วหาว่าเจอคำสะกดผิดหรือเปล่า? นี่เป็นมาตรฐานการทำงานของสื่อมวลชนระดับชาติ (แถมลองคิดดูด้วยว่าไทยรัฐออกทุกวัน และปริมาณตัวอักษรในไทยรัฐหนึ่งเล่มมีขนาดไหน)
เป้าหมายของ Blognone คือเป็นสื่อไอทีที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในวงกว้าง ดังนั้นเราเองต้องมีมาตรฐานเทียบเท่าสื่อในท้องตลาดเสียก่อน (ส่วนมาตรฐานดีกว่าหรือไม่นั้น เป็นเรื่องในขั้นต่อไป) ดังนั้นเรื่องการสะกดคำเป็นสิ่งที่ยอมให้ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับนโยบายด้านที่มาของข่าว และความถูกต้องของข่าวที่เรายึดเป็นหลักมาเสมอตั้งแต่เปิดเว็บ
ถ้าใครเป็นแฟนเหนียวแน่นมาสักระยะ คงจำช่วงที่ Blognone ล่มบ่อยๆ ได้ ผมสามารถอธิบายเหตุผลแบบสั้นๆ ได้ว่าเกิดจากความเขลาของเด็กสองคนที่ไม่เคยดูแลเว็บขนาดใหญ่มาก่อน เราเริ่มต้นกันแบบง่ายๆ ซึ่งมีข้อดีตรงที่เกิดผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน แต่เมื่อเว็บโตขึ้นถึงในระดับหนึ่งที่ถึงขีดจำกัดของเซิร์ฟเวอร์ เราก็งงหมดหนทาง ต้องตามแก้ปัญหาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในแง่วิศวกรรมระบบถือว่าแย่มาก ลิ่วเคยพูดถึงเป้าหมาย five nines แต่ในความเป็นจริงเราสอบตกโดยสิ้นเชิง
ปัญหาด้านระบบของ Blognone ไม่ใช่เรื่องพื้นที่เก็บข้อมูล แต่เป็นแบนด์วิธและซีพียู สามปีที่ผ่านมาผมก็ได้วิชาเพิ่มมาหลายอย่าง เช่น
ในแง่นี้คงเล่าให้ฟังพอเป็นพิธี อยากรู้ละเอียดก็ควรไปถาม Exteen ที่ประสบการณ์เจนจัดกว่า โบ้ยสุดๆ
เป้าหมายทางธุรกิจไม่ใช่เรื่องหลักของ Blognone แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่สนธุรกิจเลย (เข้าทำนองไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ได้ก็ดี :D) สามปีที่ผ่านมา Blognone ลงทุนเป็นตัวเงินน้อยมาก มีเฉพาะค่าโฮสต์กับโดเมนเท่านั้น แค่การขายโฆษณา 2 ชิ้นที่ผ่านมาก็เรียกได้ว่าคุ้มทุนแล้ว ส่วนทุนแรงงาน เวลา และความพยายามนั่นอีกเรื่องนึงนะครับ
แต่ถ้าคิดในแง่องค์กรธุรกิจก็เส้นทางอีกยาวไกล เรายังไม่สามารถหาโมเดลรายได้ที่ "สม่ำเสมอและยั่งยืน" ได้ การขายโฆษณาที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนว่าเว็บได้รับการยอมรับจากบรรดาเอเยนซี่ เพราะจุดเริ่มต้นการลงโฆษณาเกิดจากสมาชิกบางท่าน ถือเป็นสินน้ำใจเฉพาะครั้งมากกว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ผมต้องแก้ปัญหาต่อไป การติด TrueHits ถือเป็นหนึ่งในความพยายามนั้น
ผมคิดว่าคนที่มีประสบการณ์ดูแลชุมชน geek ขนาด (ถ้านับเฉพาะสมาชิกลงทะเบียน) 3,000 คนนั้นคงมีไม่เยอะนัก ถ้ามีก็อาจเป็นผู้ดูแลหน้า TechXChange ของ Pantip.com ให้ผมสรุปในประโยคเดียวก็ต้องบอกว่า "ยุ่งวุ่นวายแสนเวียนหัว" แต่ประสบการณ์ที่ผมได้กลับมาก็มากกว่าที่ได้จากบทบาทอื่น
การเป็นผู้นำโดยปริยาย (ภาษาโอเพนซอร์สคือ Benevolent Dictator for Life) ของชุมชนเสมือนจริงทำให้ผมเข้าใจระบบการเมืองการปกครองมากขึ้น มันไม่ต่างอะไรกับของจริงเพียงแต่ย่อส่วนลงมา ผมเห็นการแบ่งปันผลประโยชน์ ทรัพยากร การแบ่งแยกฝักฝ่ายตามแนวคิดและสังกัด (เช่น สถาบันการศึกษา) การต่อรองและเรียกร้องผลประโยชน์ ข้อพิพาทและการไกล่เกลี่ย การจัดการปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีการออกนโยบาย (เทียบได้กับออกกฎหมาย) ไปจนถึงการประท้วงเมื่อไม่ได้รับผลประโยชน์ในฝ่ายที่ตัวเองต้องการ
(ขาดแต่การยึดอำนาจเท่านั้น โลกออนไลน์ไม่มีรถถัง คงต้องเทียบกับการ hijack domain)
สิ่งที่ผมเรียนรู้ก็คือการจัดการชุมชนจะมี overhead สูงขึ้นตามจำนวนสมาชิกในชุมชนที่เพิ่มขึ้น สมัยที่เรายังเป็นเว็บเล็กๆ คนอ่านหลักร้อย ความเห็นของทุกคนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเอาใจใส่ (ในความเป็นจริงก็คือสุดแสนกระวนกระวายจะแก้ปัญหา เมื่อเจอความเห็นทางลบแม้เพียงอันเดียว) แต่เมื่อเว็บโตมาถึงจุดนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะปฏิบัติตามคำแนะนำทุกชิ้นที่ได้รับ เรื่องจะยิ่งยากขึ้นไปอีกเมื่อเกิดปัญหาขึ้น และความเห็นจากสองฝ่ายสวนทางกันสิ้นเชิงชนิดอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ ถ้าอธิบายเป็นภาษาคณิตศาสตร์ก็คือ mutual exclusion คำพรรณาอาจโอเวอร์ไปแต่ตัวอย่างจริงเห็นได้บ่อยมาก เช่น ความเห็นในการปิด-เปิดบางฟีเจอร์ เป็นต้น
โจทย์จึงเปลี่ยนเป็นว่า ผมควรจะฟังใครกันแน่ ในเมื่อเวลาก็บีบคั้น (เช่น เว็บล่ม คิดนานไม่ได้) ผมเรียนรู้จากวิกิพีเดียว่าประชาธิปไตยแบบทุกคนเท่าเทียมนั้นไม่เวิร์คในโลกออนไลน์เท่าไรนัก เพราะเราสามารถสร้างแอคเคาท์ปลอมขึ้นมาเพิ่มคะแนนโหวตได้ง่ายมาก (นี่ยังไม่นับรวมประเด็นเรื่องพวกมากลากไปอีกนะ) วิธีที่ผมเลือกใช้คือวัดน้ำหนักของคำแนะนำนั้นจาก contribution หรือการอุทิศตนของสมาชิกแต่ละท่าน
นี่จึงไม่น่าแปลกใจที่คำขอของคุณ sugree ได้รับการตอบรับแทบจะทันทีที่อ่าน ในขณะที่ความเห็นจากสมาชิกบางคนได้รับการเพิกเฉย ถ้าผมไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น และสมาชิกท่านนั้นไม่มีน้ำหนักมากพอที่ผมจะต้องใส่ใจ
นี่จึงไม่น่าแปลกใจที่เสียงบ่นต่างๆ ได้รับการสวนกลับอย่างไม่ประณีประนอมจากผม ด้วยวาทกรรมซ้ำๆ ซากๆ ที่ตัวเองก็ยังเบื่อ ว่า "อยากได้ต้องทำเอง" เนื่องจากผมถือว่าก่อนที่คุณมีสิทธิ์จะเรียกร้องอะไร คุณควรแสดงการ "ให้" เสียก่อน
นี่จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราถึงมีระบบ writer ให้ดาวกับสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการเขียนข่าว ในเมื่อเราปฏิเสธเสียงจากคนที่ "ไม่ให้" เราก็ควรยกย่องและเชิดชูคนที่ "ให้" เป็นการตอบแทน
Blognone มีช่องทางการ contribute มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเขียนข่าว คอมเมนต์ การโหวตข่าว โหวตโพล บางอย่างทำได้ง่ายเพียงแค่คลิกเดียว (แต่แน่นอนว่าคุณค่าแปรตามความยาก คนที่เขียนข่าวก็ควรได้รับการยกย่องมากกว่าคนที่โหวตโพล) ผมคิดว่าข้ออ้างเรื่องไม่มีเวลา หรือไม่มีความรู้ในการ contribute เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ค่อยจะขึ้นนัก
ถ้าอธิบายด้วยหลักวิชารัฐศาสตร์ ปัจจุบันการปกครองใน Blognone คงอยู่ก้ำกึ่งระหว่าง Aristocracy (คณะบุคคลเป็นใหญ่ - ผมกับลิ่วเป็นสิทธิ์ขาด) กับ Meritocracy (ตามความสามารถ/การอุทิศตน) ผมเชื่อว่าในระยะยาวมากๆ เราจะไปถึง Direct Democracy ได้โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ของคนในสังคมอีกมหาศาล (การตั้ง Blognone Group เป็นหนึ่งในขั้นตอนเพื่อสร้างการเรียนรู้หมู่เพื่อเป้าหมายนี้) ในความคิดของผม ระยะแรกจะเริ่มด้วยระบบ jury ซึ่งคัดเลือกสมาชิกที่ขยันขันแข็ง มาทำหน้าที่ตัดสินใจในประเด็นสำคัญเสียก่อน ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็คงไม่ได้ขึ้นกับผมหรือลิ่วแล้ว
เรื่องการจัดการชุมชนยังมีอีกเยอะคุยได้เป็นวันๆ แต่ในที่นี้ก็ขอเล่าประเด็นสำคัญแต่เพียงเท่านี้เพื่อไม่ให้บทความยาวจนเกินไป
ผมคิดว่าอุตสาหกรรมไอทีของประเทศนี้ยังมีปัญหาอีกมาก (จะว่าไปปัญหาเยอะทุกวงการ แต่ในที่นี้เราโฟกัสเฉพาะไอทีเท่านั้น) ที่น่ากลัวคือปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างหรือวัฒนธรรม ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายเหมือนการดีบั๊กโปรแกรม
เป้าหมายสูงสุดของ Blognone คือการแก้ปัญหาเหล่านี้ ถึงแม้ความยากอาจจัดเข้าหมวด NP-Complete ได้ แต่แค่ช่วยยกระดับของอุตสาหกรรมได้สักนิดก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ปัญหาที่ถูกพูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆ คือคุณภาพของนักศึกษาสายคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าตัวอาจารย์เองหรือผู้จ้างงานจากอุตสาหกรรมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ห่วย" ในฐานะที่ผมเคยเป็นนักศึกษามาก่อน ผมสามารถบอกได้ทันทีว่าปัญหาเกิดจากความกระตือรือร้นของนักศึกษาเอง และการจัดหาความรู้ให้กับนักศึกษาเหล่านั้น ซึ่งเราทุกคนต่างรู้ดีว่าในสภาพความเป็นจริง นักศึกษาก็สักแต่ว่าเรียนตามแม่ให้เรียน และความรู้ตามหลักสูตรจากห้องเรียนมันไม่พอใช้
ในเมื่อผมไม่สามารถบังคับใจนักศึกษาได้ สิ่งที่ผมทำได้ก็มีแต่เรื่องหลัง Blognone จึงพยายามสร้างข่าวที่อุดมปัญญา นอกจากให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นแล้ว ก็ยังบอกเหตุผลว่าเกิดจากอะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีผลกระทบอะไรอีกด้วย ผมพยายามแทรกลิงก์ให้ความรู้ทางทฤษฎีหรือสิ่งที่ควรอ่านประกอบตามที่จำเป็น แถมเรื่องไหนอ่านแล้วเกิดคำถามข้อสงสัย ผมก็สังเกตว่าสมาชิกของเราก็ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ซึ่งผลัดกันเข้ามาอธิบายตอบปัญหาซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
Blognone พยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนให้แล้ว ผู้เรียนจะใช้ประโยชน์อย่างไรก็ขึ้นกับตัวเองแล้วล่ะ ถึงแม้คุณจะสอบจอหงวนไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรห้ามไม่ให้คุณฝึกวรยุทธ์เองจากพระพุทธรูปหินนี่นา
ปัญหาอีกข้อของประเทศนี้ก็คือ แนวคิดดีๆ หลายอย่างไม่ถูกปฏิบัติหรือยึดถือเป็นค่านิยมในสังคม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก เพราะมันก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศในระยะยาว
แนวคิดที่ว่าได้แก่
ผมพยายามเสนอแนวคิดเหล่านี้ผ่านทาง Blognone ซึ่งหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์กับคนที่ผ่านสายตาบ้างไม่มากก็น้อย
เป้าหมายข้อแรกของ Blognone คือเป็นเว็บข่าวไอทีที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับ ดูจะเป็นเป้าหมายที่สำเร็จลุล่วงไปบ้างแล้ว ยังมีเป้าหมายอีก 2 ข้อที่ต้องเอาชนะ นั่นคือ การสร้างโมเดลธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ และการเป็นแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไอทีของประเทศ
ถ้าคุณมีฝันอันเดียวกัน เราก็สามารถเดินไปพร้อมกันได้ Blognone ไม่รับความช่วยเหลือเป็นตัวเงิน สิ่งที่เราต้องการมีอย่างเดียวและยังขาดอยู่อีกมาก คือ contribution ครับ