เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ผมกับพี่ neizod ได้ไปฟังสัมมนาของไมโครซอฟท์ในงาน Microsoft Innovation Days ครับ โดยภายในงานก็เชิญทั้งฝ่ายไอทีของหน่วยงานต่างๆ มาร่วมการฟังสัมมนา รวมถึงทีมนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็มาร่วมพูดในงานนี้ด้วยครับ ซึ่งหัวข้อบรรยายในงานมีดังนี้
ช่วงแรกจะเป็นการบรรยายในหัวข้อ 5 Question ISVs Need to Answers Adopting Cloud โดย คุณเอกราช คงสว่างวงศา ซึ่งเป็น Software Industry Developer Management ของไมโครซอฟท์ครับ
คุณเอกราชเล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนซอฟต์แวร์ที่องค์กรมีให้มาเป็น SaaS (Software as a Service หรือก็คือ web-base application) ว่าองค์กรควรจะตอบคำถามทั้ง 5 ข้อนี้ให้ได้เสียก่อน
ตอนท้ายๆ คุณเอกราชได้แนะนำ Microsoft Azure เป็นโซลูชั่นสำหรับองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนซอฟต์แวร์ของตนให้มาใช้บน cloud ครับ โดยชูจุดเด่น 3 จุดด้วยกันคือ speed, scale, และ economic นอกจากนี้ยังสามารถรองรับแอพพลิเคชันที่เป็น open source หรือทำงานบน Linux ได้ และสำหรับ Microsoft เองก็มี global datacenter 10 แห่งทั่วโลก และมีการสนับสนุนความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานทั่วโลกครับ
ช่วงที่สองจะเป็นการแนะนำผลงานวิจัยโดยทีมนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในหัวข้อ Great Research Off the Shelf by NSTDA
สำหรับงานวิจัยชิ้นแรกคือ VAJA โดย ดร. ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ซึ่งเป็นงานวิจัยทางด้าน Thai-English Text-to-Speech หรือง่ายๆ คือการสร้างเสียงสังเคราะห์ให้พูดตามข้อความที่เขียนครับ โดยสามารถรองรับภาษาไทยและอังกฤษได้ ปัจจุบันหลายๆ หน่วยงานได้นำเอาผลงานวิจัยนี้ไปต่อยอดมากมาย เช่น สถานพยาบาลหลายแห่งได้นำเอาระบบนี้ไปพัฒนาเพื่อใช้ในการเรียกคิวผู้ป่วยด้วยชื่อและนามสกุล หรือการทำหนังสือเสียงที่สามารถสั่งการให้คอมพิวเตอร์พูดข้อความให้ฟังได้ เป็นต้น โดยในอนาคตทางทีมวิจัยสนใจที่จะพัฒนา VAJA ให้สามารถออกเสียงโดยอ้างอิงอารมณ์ต่างๆ ตามข้อความที่เขียนได้ สามารถสร้างเสียงใหม่ๆ โดยที่ใช้ต้นทุนให้น้อยลง และการวิเคราะห์คำศัพท์สมัยใหม่ (เช่น คำว่า “มากกกกกกก” ก็คงจะไม่ออกเสียงว่า มาก-กก-กก-กก อีกต่อไป)
งานวิจัยชิ้นที่สองคือ SafeMate ระบบดูแลการใช้รถใช้ถนนของคนขับรถบนสมาร์ทโฟน โดย ดร. เฉลิมพล สายประเสริฐ โดยแอพจะเก็บข้อมูลการขับรถของผู้ใช้ และจะแจ้งเตือนในกรณีที่ขับรถในลักษณะที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น การขับรถเร็วกว่ากำหนด เป็นต้น นอกจากนี้แอพยังสามารถเก็บประวัติการเดินทางและให้คะแนนในการขับรถได้อีกด้วยครับ เป้าหมายหลักของงานวิจัยนี้คือ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมขนส่งสินค้ามูลค่าสูง การขนส่งมวลชน และการใช้งานส่วนบุคคลครับ
งานวิจัยชิ้นที่สาม คือ S-SENSE (Social Media Intelligence) โดย ดร. อลิสา คงทน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดีย โดยการสกัดข้อความดังกล่าวเพื่อใช้ในการตรวจสอบความเห็นของลูกค้าต่อสินค้าหรือแบรนด์นั้นๆ โดยสามารถวิเคราะห์ได้ถึงจำนวนคนที่มาแสดงความเห็น คำสำคัญหรือหัวข้อที่ลูกค้าพูดถึง และเสียงตอบรับ โดยทางทีมงานได้มีการนำไปประยุกต์ใช้หลากหลายมาก เช่น การทำ brand monitoring การขุดเหมืองข้อมูลบน Twitter หรือการนำเอาโปรแกรมไปวิเคราะห์สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
งานวิจัยชิ้นสุดท้ายคือ Traffy API โดย ดร. วสันต์ ภัทรอธิคม ซึ่งทางทีมพัฒนาได้นำเอา API ทางด้านการจราจรมาให้ผู้พัฒนาได้นำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยจะมีทั้งข้อมูลจากกล้อง CCTV, API สำหรับพัฒนาระบบถามตอบสภาพการจราจร หรือ Question Answering API รวมทั้งข้อมูลเส้นทางการเดินทางทั่วประเทศ โดยปัจจุบันได้มีการนำไปต่อยอดหลายส่วน เช่น แอพพลิเคชัน iTraffic เป็นต้น ในอนาคตจะมีการทำข้อมูลการจราจรของประเทศเพื่อนบ้านและการทำ API Store ครับ
ในตอนท้ายได้มีการสัมภาษณ์คุณวัชระ เอมวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Computerlogy ถึงการพัฒนาแอพพลิเคชันบน Microsoft Azure และการพัฒนาแอพโดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัย สวทช. ครับ
ช่วงสุดท้ายจะเป็นการแนะนำเครื่องมือต่างๆ บน Microsoft Visual Studio 2013 โดย คุณเฉลิมวงศ์ วิจิตรยะกุล Technical Sales Professional-Developer Tools จากไมโครซอฟท์ ในหัวข้อ Best Practices for Improving Developer Productivity and Software Quality โดยได้แนะนำเครื่องมือหลายๆ อย่างบน Microsoft Visual Studio 2013 เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาแอพพลิเคชัน ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอพพลิเคชันได้ทันและตรงกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงสร้างซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพอีกด้วยครับ
สำหรับนักพัฒนาหรือองค์กรใดที่สนใจจะเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาแอพพลิเคชันของตน รวมถึงค้นหาเครื่องมือเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนาโปรแกรม ไมโครซอฟท์และ สวทช. ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน โดยส่วนตัวผมมองว่า ยิ่งมีการสนับสนุนผลงานของนักวิจัยมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นการสร้างกำลังใจให้กับเจ้าของผลงานได้สร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ดีขึ้นไปอีกครับ