ความพยายามของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่นำโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อที่จะปฏิรูปสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency: NSA) ตามการประกาศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมนัก นอกจากรายงานข้อเสนอ ซึ่งได้ออกไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุด ทำให้เกิดการจับตามองถึงท่าทีต่อการปฏิรูปดังกล่าว
Engadget รายงานโดยอ้างถึงข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษที่รายงานว่า รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ กำลังร้องขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการออกกฎหมายหรือตรารัฐบัญญัติ เพื่อให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย (legal immunity) แก่บริษัทที่มีการส่งมอบข้อมูลให้แก่หน่วยงานความมั่นคง
Engadget ระบุว่า แนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นไปตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการสอดส่องข่าวกรองต่างชาติ (Foreign Intelligence Surveillance Act: FISA) อยู่แล้ว ตลอดจนถึงสอดคล้องกับร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่กำลังอยู่ในกระบวนการร่างของฝ่ายนิติบัญญัติเช่นกัน เพียงแต่ว่าแนวทางดังกล่าวของรัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องใช้ศาลเพื่อขออนุมัติในการขอข้อมูล โดยชี้ว่าเป็นเรื่องปกติที่บริษัทโทรคมนาคมพยายามจะเลี่ยงการถูกฟ้องร้องให้มากที่สุด แม้คิดว่าเรื่องของการส่งข้อมูลจำนวนมากเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องก็ตาม
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ The Guardian ระบุว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ เป็นผู้ลงมติรับร่างแก้ไขรัฐบัญญัติ FISA ที่ระบุถึงการคุ้มครองบริษัทโทรคมนาคมที่ส่งข้อมูลให้แก่หน่วยงานของรัฐเมื่อปี 2008 และมองว่าท่าทีในครั้งนี้สะท้อนถึงแนวทางที่โอบามาเห็นด้วย ตั้งแต่การลงมติในครั้งนั้น
ที่มา - Engadget, The Guardian