เมืองมิวนิกเปลี่ยนพีซี 15,000 เครื่องจากวินโดวส์เป็นลินุกซ์ได้อย่างไร

by lew
9 May 2014 - 19:07

เมืองมิวนิกเป็นตัวอย่างของการย้ายเครื่องจำนวนมากมาเป็นลินุกซ์ในครั้งเดียว โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่เป็นไอเดียในปี 2001 มาจนถึงคงทุกวันนี้ มีคอมพิวเตอร์ที่ย้ายมาแล้วถึง 15,000 เครื่อง นิตยสาร LinuxVoice รายงานถึงกระบวนการย้ายซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่เช่นนี้ว่าทำได้อย่างไร

ในปี 2001 ลินุกซ์ยังไม่พร้อมสำหรับการใช้งานเดสก์ทอปนัก ทั้ง Gnome และ KDE ต่างมีข้อจำกัดหลายอย่างเทียบกับวินโดวส์ แต่สมาชิกคณะกรรมการเมืองมิวนิก (Munich city council) คนหนึ่งก็ออกความเห็นว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาซอฟต์แวร์มาแทนที่ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ จากคำถามนี้ทางกรรมการเมืองได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำรวจความเป็นไปได้โดยศึกษาห้าหนทางของระบบไอที เช่น ไมโครซอฟท์ทั้งระบบ, วินโดวส์ร่วมกับ OpenOffice, ลินุกซ์ร่วมกับ OpenOffice และทางอื่นๆ จนเหลือเพียงสองตัวเลือก คือจะอยู่กับวินโดวส์ต่อไป และอัพเกรดระบบทั้งหมดไป Windows XP หรือจะย้ายไปลินุกซ์และใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สทั้งหมด

Peter Hofmann หัวหน้าโครงการ LiMux ลินุกซ์สำหรับชาวมิวนิก

รายงานการศึกษาระบุชัดเจนแต่แรกว่าการใช้งานไมโครซอฟท์ทั้งชุดนั้นค่าใช้จ่ายถูกกว่า โดยรายงานรวมค่าบำรุงรักษา 5 ปี ค่าใช้จ่ายในการย้ายระบบ, ค่าทีมเทคนิคที่ซัพพอร์ต, และค่าฮาร์ดแวร์ แต่ความได้เปรียบสำคัญคือความปลอดภัย เมื่อมีการสอบถามไปยังไมโครซอฟท์ว่ามีซอฟต์แวร์ใดส่งข้อมูลกลับบริษัทบ้างหรือไม่ ไมโครซอฟท์กลับไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจน ในแง่ความโปร่งใสแล้วลินุกซ์จึงดีกว่ามาก ขณะเดียวกันนักการเมืองและพรรคการเมืองของเยอรมันเองก็ต้องการสนับสนุนบริษัทท้องถิ่นแทนที่จะส่งเงินไปยังบริษัทสหรัฐฯ อย่างไมโครซอฟท์ เสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจึงมาจากเหตุผลที่ว่าการใช้ลินุกซ์จะช่วยอุตสาหกรรมไอทีท้องถิ่นและการซัพพอร์ตจะเป็นการจ่ายเงินให้บริษัทท้องถิ่นเอง

กระบวนการศึกษาเริ่มชัดเจนในปี 2003 และกรรมการเมืองเตรียมจะโหวตว่าจะเปลี่ยนไปใช้ลินุกซ์หรือไม่ ปีนั้นสตีฟ บอลเมอร์ถึงกับบินไปเยอรมันเพื่อพบนายกเทศมนตรีเมืองมิวนิก แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม สมาชิกกรรมการเมืองคนหนึ่งถึงกับแสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจน สุดท้ายเมื่อมีการโหวต กรรมการเมืองก็เลือกลินุกซ์

ทีมงานเริ่มวางระบบทดสอบในปี 2004 (สามปีหลังการศึกษาครั้งแรก) มีบริษัทเสนอโซลูชั่นเข้ามาถึงสิบบริษัทกับอีกหนึ่งกลุ่มบริษัทซึ่งชนะไปในที่สุด กลุ่มบริษัทนั้นคือ Gonicus และ Softcon ทั้งสองบริษัทให้คำปรึกษาขณะที่ทางกรรมการเมืองจ้างพนักงานเทคนิคเองอีก 13 คนมาทำงานในโครงการ LiMux

เริ่มแรกโครงการ LiMux ใช้ Debian เวอร์ชั่นพิเศษที่ปรับแต่งเอง จากความเสถียร แต่ปรากฎว่าเมื่อทดสอบในปี 2006 กลับพบว่า Debian ทำงานกับฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ได้ไม่ดีนัก และรอบการออกรุ่นใหม่ของ Debian ก็ไม่ชัดเจนทำให้วางแผนระบบไอทีได้ยาก ทีมงานตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ Kubuntu ด้วยเหตุผลว่ามันมีหน้าตาคล้ายวินโดวส์เดิม และมีรอบการออกใหม่ที่ชัดเจนกว่า

ข่าวร้ายคือผู้ใช้ส่วนมากไม่ยอมเปลี่ยนแม้หน้าจอจะคล้ายของเดิมแล้วก็ตาม ผู้ใช้บางคนบ่นกระทั่งสีของไอคอนที่เปลี่ยนไป ทีมงาน LiMux ต้องค่อยๆ ประชาสัมพันธ์โครงการไปเรื่อยๆ จัดประชุมสัมมนา รวมถึงจัด "โซนไร้ไมโครซอฟท์" ไว้ให้ผู้ใช้เข้ามาลองเล่นลินุกซ์กัน โดยมีเป้าหมายว่าให้ผู้ใช้ได้จับลินุกซ์ก่อนจะต้องใช้งานจริงสองปีล่วงหน้า

LiMux รุ่นปัจจุบัน ส่วนรุ่นใหม่ที่กำลังอัพเกรดให้ผู้ใช้ในปีนี้ จะพัฒนาจาก Kubuntu 12.04

ปัญหาจริงที่พบมีตั้งแต่ปัญหาความเข้าใจ เช่น ผู้ใช้บางคนคิดว่าลินุกซ์ต้องพิมพ์แบบ command line เท่านั้น ผู้ใช้บางคนต้องใช้งานเอกสารในฟลอบปี้ดิสก์ ทีมงานก็ต้องสาธิตให้ดูว่าสามารถเปิดเอกสารเดิมมาใช้งานได้จริง

การย้ายระบบนั้นแต่ละหน่วยงานเป็นผู้ย้ายระบบกันเองโดยไม่มีกำหนดเส้นตายชัดเจน เมื่อหน่วยงานใดตัดสินใจเริ่มย้ายระบบ ทีม LiMux ก็จะลงไปช่วยดูแลการย้าย ทีมงานพบว่าเครื่องวินโดวส์ที่จะย้ายข้อมูลออกมานั้นมีความต้องการมากกว่า 50 แบบ เมื่อการย้ายในหน่วยงานหนึ่งเสร็จ อีกหน่วยงานก็มักมีความต้องการต่างออกไป แต่โดยรวมเมื่อผู้ใช้มาใช้ LiMux กระบวนการซัพพอร์ตก็ง่ายขึ้น ทีมงานพัฒนาสามารถออกรุ่นใหม่ และให้ความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น เพราะพื้นฐานทุกเครื่องเป็น LiMux เหมือนกันหมด

กราฟจำนวนเครื่องที่ย้ายมาใช้ LiMux ในปี 2012 เพียงปีเดียวจากเครื่องใช้ LiMux 9,000 เครื่องเพิ่มเป็น 15,000 เครื่องในช่วงสิ้นปี

แม้ว่าเหตุผลหลักที่เลือกลินุกซ์จะไม่ใช่เพื่อประหยัดงบประมาณ แต่ทีมงานก็ออกรายงานเปรียบเทียบว่าการใช้ลินุกซ์กับการย้ายไป Windows XP ในตอนนั้นมีค่าใช้จ่ายต่างกันอย่างไร และสรุปผลว่างบประมาณทั้งหมดประหยัดไป 10 ล้านยูโร ขณะที่เอชพีเคยออกรายงานระบุว่าการที่เมืองมิวนิกย้ายมาใช้ลินุกซ์นี้มีค่าใช้จ่ายถึง 60 ล้านยูโร และจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 17 ล้านยูโรหากใช้ Windows XP ทีมงาน LiMux ติดต่อเอชพีเพื่อขอกระบวนการคำนวณแต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

ความสำเร็จของเมืองมิวนิกประกอบไปด้วยหลายส่วนประกอบกัน ความพยายามเลียนแบบเมืองมิวนิกในยุโรปกลับล้มเหลวหลายครั้ง เช่น Wienux สำหรับเมืองเวียนนา กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองเท่าที่ควร หัวหน้าโครงการ LiMux ระบุว่าโครงการระดับนี้ต้องการรับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพียงกลุ่มที่เข้าใจเหตุผลทางเทคนิคไม่กี่คน

หมายเหตุ: บทความนี้แปลและเรียบเรียงจาก บทความ "The Big Switch" นิตยสาร LinuxVoice ฉบับพฤษภาคม 2014 ทาง LinuxVoice ระบุให้บทความนี้เป็นสัญญาอนุญาต Creative Commons (BY-SA)

Blognone Jobs Premium