จากกรณีที่ Oracle อ้างว่า Google ละเมิดลิขสิทธิ์ในการสร้าง API สำหรับ Android และเป็นประเด็นขึ้นโรงขึ้นศาลยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่ปี 2010 จนในที่สุดศาลชั้นต้นได้ตัดสินแล้วว่า Google ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว ทว่าฝั่ง Oracle ไม่เห็นด้วยและทำการยื่นอุทธรณ์ ล่าสุดศาลอุทธรณ์ก็ได้เปลี่ยนคำตัดสินใหม่แล้ว โดยระบุว่า Google มีความผิดจริงในประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ API
เดิมทีผลการตัดสินประเด็นนี้ในศาลชั้นต้นซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของ Google นั้นมาจากการพิจารณาของผู้พิพากษา William Alsup ที่ระบุว่า "ซอร์สโค้ด API ในคดีนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะมีลิขสิทธิ์คุ้มครองได้" ซึ่งเท่ากับว่าการที่ Google นำซอร์สโค้ดดังกล่าวไปพัฒนาเป็น API ใช้งานในระบบปฎิบัติการ Android เป็นการกระทำที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ทว่าศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินว่าข้อพิจารณาของผู้พิพากษา Alsup นั้นไม่ถูกต้อง เพราะซอร์สโค้ด API มีองค์ประกอบของสิ่งที่จะได้รับการคุ้มครองด้วยสิทธิบัตรอย่างสมบูรณ์และนั่น ทำให้เรื่องนี้ต้องถูกนำไปตีความอีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้คดีการละเมิดลิขสิทธิ์ API นี้จะถูกส่งกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาไต่สวนใหม่ โดยจะต้องมีการพิจารณาว่าการกระทำของ Google ที่ใช้ซอร์สโค้ดของ Oracle มาใช้งานในการสร้าง API สำหรับ Android นั้นถือเป็นการใช้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์คุ้มครองอย่างชอบธรรม (fair use) หรือไม่ หากไม่ใช่ก็จะต้องประเมินความเสียหายเพื่อพิจารณาเรื่องค่าชดเชยให้แก่ Oracle แต่ถึงแม้มีการพิจารณาว่านี่เข้าข่ายการใช้งานที่ชอบธรรม ก็จะต้องพิจารณาเรื่องค่าซื้อสิทธิใช้งานซอร์สโค้ดอยู่ดี ซึ่งจะต้องรวมไปถึงสิทธิในการใช้งานต่อเนื่องไปถึงอนาคตด้วย
ที่มา - CNET