ดีแทคตอบคำถาม DTAC TriNet 4G คืออะไร? ทำไมต้องมี? แล้วมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง??

by magnamonkun
10 May 2014 - 02:23

เมื่อวานนี้ (9 พฤษภาคม) ดีแทคได้จัดงานเลี้ยงฉลองที่ไตรเน็ตมีอายุครบ 1 ปีพอดี โดยได้มีการเปิดเผยข้อมูลในหลายๆ ประเด็น เช่นแนวทางการดำเนินการและบริหารเครือข่ายที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งในครั้งนี้ก็มีคุณจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ คุณปกรณ์ พรรณเชษฐ์ และคุณซิกวาร์ท โวส เอริคเซน มาอธิบายถึงแนวทางในการดำเนินการของดีแทคหลังจากนี้แบบหมดเปลือก รวมถึงยังได้อธิบายถึง TriNet 4G ที่เพิ่งจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้อีกด้วยครับ

เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา คุณซิกวาร์ท โวส เอริคเซน คุณปกรณ์ พรรณเชษฐ์ และคุณจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์

1 ปีที่ผ่านมาของดีแทคไตรเน็ต

ใน 1 ปีที่ผ่านมาดีแทคมีลูกค้าในระบบทั้งหมด 28.2 ล้านคน โดยนับเฉพาะลูกค้าที่ใช้สมาร์ทโฟนมีถึง 9.6 ล้านคน (โดยไม่นับ Symbian) และใช้งานด้านข้อมูลเป็นหลักถึง 9 ล้านคน ทำให้ดีแทคให้ความสำคัญกับการให้บริการ 3G มากเป็นพิเศษ เพื่อรองรับการใช้งานข้อมูลที่ถือว่าเป็นจำนวนมหาศาลในช่วง 1-2 ปีหลัง

โดยเมื่อมองในแง่ของปริมาณการใช้งานข้อมูลหรือดาต้า กลุ่มลูกค้าที่ใช้ Happy หรือแบบเติมเงินนั้นมีการเติบโตในแง่ของปริมาณการใช้งานข้อมูลที่ค่อนข้างมาก โดยนับถึงเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมาก็มีปริมาณการใช้งานข้อมูลที่ 219 เทราไบต์ ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ และยังสูงกว่าปริมาณการใช้งานข้อมูลของลูกค้าแบบรายเดือนที่ 167 เทราไบต์อีกด้วย

ส่วนแผนงานในอนาคต ดีแทคตั้งเป้าว่าลูกค้าไตรเน็ตจะเดินทางไปถึง 22 ล้านคนภายในช่วงสิ้นปีนี้ และจำนวนลูกค้าของดีแทคในช่วงหลัง ก็จะเหลือแต่ลูกค้าแบบนิติบุคคลที่ยังไม่หมดสัญญาเท่านั้น ส่วนรายที่หมดสัญญาแล้วดีแทคก็แนะนำให้ย้ายมาไตรเน็ตเช่นกัน

อีกทั้งในปีนี้ดีแทคยังได้ดำเนินการในการขยายพื้นที่การให้บริการ เฉพาะส่วนคลื่น 2100 MHz ของไตรเน็ตที่ต้องทำตามเงื่อนไขของ กสทช. โดยการตั้งเสาเพิ่มจากเดิมเป็น 10,800 สถานีฐาน ซึ่งจะครอบคลุมกว่า 85% ของประชากรทั้งหมด ภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นทั้งหมด 77 จังหวัดแบบครบถ้วนแล้ว และจะเหลือเพียงแค่พื้นที่ป่าเขาที่ยังเข้าถึงได้ยาก ทั้งหมดนี้ดีแทคสร้างสถานีฐานใหม่ประมาณ 10% ส่วนที่เหลือเป็นการติดตั้งบนสถานีฐานเดิมที่มีโครงสร้างอยู่แล้ว

ส่วนในเรื่องของคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ที่ดีแทคมีอยู่ ดีแทคจะไม่ขยายเพิ่มแล้ว (เนื่องจากเหลือเวลาสัญญาสัมปทานอีกประมาณ 4 ปี) แต่จะทำการปรับปรุงคุณภาพของสัญญาณให้พร้อมใช้งานตามปกตินั่นเองครับ

TriNet 4G คืออะไร?

ดีแทคอธิบายต่อว่า TriNet 4G คือบริการด้านข้อมูล (ดีแทคหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “บริการเสริม”) ซึ่งดีแทคยินดีที่จะนำเสนอเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าดีแทคไตรเน็ตทุกคน (ดีแทคธรรมดาอด!)

การดำเนินการ 4G ของดีแทคนั้น ดีแทคอธิบายต่อว่าปัจจุบันดีแทคยังใช้คลื่น 2100 MHz ไม่ครบจำนวน 15MHz ในบางพื้นที่ (คือใช้เพียง 10MHz) ทางทีมเทคนิคจึงหาวิธีการที่จะทำให้ 5MHz ที่เหลืออยู่นั้น สามารถใช้งานได้แบบเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นหวยก็เลยมาออกที่การนำคลื่นส่วนนี้มาทำเป็น 4G โดยตรง เพราะข้อดีของ 4G ก็คือ ความเร็วสูงสุดขึ้นอยู่กับจำนวนแบนด์วิธที่ได้มา ดังนั้นการแบ่งคลื่น 5MHz มาทำเป็น 4G ที่เห็นกันอยู่นี้ เราจะสามารถใช้งานได้เต็มสปีดที่ 42Mbps ซึ่งถือว่าเป็นความเร็วที่ 3G ไม่สามารถทำได้ถ้าไม่ใช้แบนด์วิธถึง 10MHz และอีกอย่างก็คือ การที่ดีแทคเปิด 4G เพิ่มเติมนั้น ยังเป็นการลดภาระของเครือข่าย 3G ทั้ง 850 และ 2100 MHz ที่ค่อนข้างหนาแน่นให้เบาลงได้ด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมก่อนการก้าวเข้าสู่ยุค 4G ที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ และในอีก 4 ปีข้างหน้าครับ

ในด้านการจะใช้งาน ลูกค้าดีแทคเกือบทั้งหมดต้องเปลี่ยนซิมครับ ยกเว้นลูกค้าไตรเน็ตที่ขอซิมใหม่ ย้ายเข้า หรือจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา ที่สามารถใช้งาน 4G ได้เลยในทันที เพราะดีแทคมีการเปลี่ยนซิมเฉพาะของไตรเน็ตโดยตรงให้เป็น U-Sim เป็นที่เรียบร้อย ส่วนในเรื่องตัวเครื่องก็เงื่อนไขเหมือนของทรูครับ คือต้องรองรับ LTE Band 1 เท่านั้น และในบางรุ่นต้องรอผู้ผลิตอัพเดตเฟิร์มแวร์ให้สามารถใช้งานได้ด้วย หรือก็คือไม่ใช่ทุกเครื่องที่จะสามารถใช้งานได้นั่นเอง

อีกเรื่องก็คือพื้นที่การใช้งานในปัจจุบัน ตามที่ทราบกันมาก่อนหน้านั้นแล้วก็คือดีแทคได้อัพเกรดอุปกรณ์ที่เสาสัญญาณไปกว่า 300 สถานีฐานแล้วในบริเวณกรุงเทพมหานครชั้นใน ซึ่งในจำนวนนี้ดีแทคจะสามารถให้บริการได้บางพื้นที่เท่านั้น นั่นก็คือบริเวณเหนือสุดจะอยู่แค่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าวเท่านั้น ใต้สุดจะอยู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตยานนาวา ส่วนฝั่งตะวันออกจะอยู่ในพื้นที่เขตประเวศ และฝั่งตะวันตกจะเป็นพื้นที่เขตบางกอกน้อยครับ

แต่ทั้งนี้ดีแทคยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มเติมด้วย โดยประเด็นที่ดีแทคจะนำมาใช้ในการตัดสินใจในการให้บริการ 4G นั่นก็คือเรื่องของปริมาณการใช้งานข้อมูลเป็นหลัก เช่นในพื้นที่บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองที่กำลังพิจารณากันอยู่ในช่วงนี้ครับ เพราะพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่ได้มีปริมาณการใช้งานข้อมูลที่ค่อนข้างมากเหมือนกรุงเทพมหานครชั้นในครับ

ในเรื่องของค่าบริการนั้น ดีแทคจะไม่มีการเก็บค่าบริการข้อมูลเฉพาะส่วนของ 4G เพิ่มเหมือนกับของทรูครับ (ของทรูเก็บเพิ่มเดือนละ 100 บาท แต่ปัจจุบันใช้งานได้ฟรีจนถึงสิ้นปีนี้) โดยในเรื่องนี้ดีแทคได้ออกแพคเกจทดแทนใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะมีในบางแพคเกจที่สามารถใช้งาน 4G ได้ แน่นอนว่าแพคเกจใหม่ที่ดีแทคออกมาเพื่อรองรับการใช้งาน 4G นั้น มีทั้งแพคเกจในแบบรายเดือนและแบบเติมเงินด้วยครับ (รายละเอียดดูได้จากเว็บไซต์ดีแทค)

แล้วจะประชาสัมพันธ์อย่างไร

ดีแทคจะยังคงใช้โฆษณาเป็นตัวทำตลาดเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการมาเป็นการโฆษณาทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งก็คือโฆษณาในชื่อชุดว่า I’m 4. I See Beyond. ที่ปล่อยออกมาเมื่อวันก่อนครับ (แน่นอน เราจะไม่ได้เห็นโฆษณาตัวนี้ในทีวี!)

ดีแทคบอกว่าผลตอบรับของโฆษณาตัวนี้อยู่ในระดับที่สูงมาก และสูงกว่าตอนที่ออกโฆษณาชุดเสี้ยววินาทีในตอนที่ไตรเน็ตเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้วด้วย โดยในโฆษณาดีแทคจะเน้นอธิบายเทคโนโลยีของ 4G มากกว่าการโฆษณาว่าดีแทคมี 4G ที่เร็วกว่าและดีกว่าเป็นต้น

และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กว้างมากขึ้น ดีแทคก็เลยใช้แคมเปญออนไลน์ที่ชื่อว่า I’m 4. I See Beyond. เป็นตัวโปรโมทครับ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน ดีแทคจะนำโพเดียมเลข 4 ที่ออกแบบโดยศิลปินต่างๆ ในประเทศไปตั้งไว้ และให้ประชาชนสามารถเข้าไปร่วมถ่ายรูปได้โดยการใช้งานแอพพลิเคชัน I’m4 ซึ่งเป็นการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี AR เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกว่าได้สัมผัสประสบการณ์ที่เหนือกว่าความจริงอีกด้วย

โดยสถานที่ที่ดีแทคนำโพเดียมไปตั้งไว้นั้น จะมีรายชื่อตามนี้ครับ

  • บริเวณสยามสแควร์
  • Groove@CentralWorld (อาคารใหม่หน้าอาคารออฟฟิศเซ็นทรัลเวิลด์)
  • โรงภาพยนตร์ SF World Cinema (เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 7)
  • บริเวณลานพาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน
  • ศูนย์การค้าลาวิลล่า อารีย์
  • ศูนย์การค้าเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์
  • อาคารจามจุรีสแควร์

ตัวอย่างโพเดียมที่ดีแทคนำไปตั้งไว้ที่ศูนย์การค้าลาวิลล่า อารีย์

แผนการดำเนินการของไตรเน็ตหลังจากนี้

ดีแทคเผยว่าหลังจากเปิดตัว TriNet 4G แล้ว ดีแทคจะเน้นขายเครื่องโทรศัพท์มือถือมากขึ้น โดยตั้งแต่เดือนนี้ไป ดีแทคจะเน้นขาย HTC One M8, iPhone 5s, iPhone 5c และ Samsung Galaxy S5 เป็นหลัก เพื่อเป็นการโปรโมท TriNet 4G ไปในตัวด้วย และในเดือนหน้าดีแทคยังเตรียมที่จะขาย HTC Desire 816 ซึ่งถือว่าเป็นมือถือ LTE ที่มีราคาเปิดตัวถูกที่สุด (12,900 บาท) เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ลูกค้าตลาดกลางได้ใช้งาน 4G ได้เต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

และในอาทิตย์หน้าก็จะมีแคมเปญแจกทองในชื่อ “ฉลองไตรเน็ต 1 ปี แจกทอง 50 วัน 55 ล้านบาท” เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ลูกค้าย้ายเข้าไตรเน็ตมามากขึ้น โดยรายละเอียดก็คือลูกค้าไตรเน็ตที่ย้ายเข้าใหม่จากค่ายอื่น อัพเกรดจากดีแทคเดิม และจดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคมเป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน จะได้รับสิทธิ์ในการลุ้นทองจากดีแทคทุกวัน วันละ 1 ล้านบาท และในวันสุดท้ายดีแทคจะนำเลขหมายไตรเน็ตทั้งหมด มาจับลุ้นทองใหญ่ 5 รางวัล รวมมูลค่าของรางวัลในแคมเปญนี้ก็จะอยู่ที่ 55 ล้านบาทครับ

อนาคตกับเรื่องการประมูลคลื่น 900/1800 MHz

ดีแทคเผยในประเด็นนี้ว่า บริษัทพร้อมแล้วที่จะประมูลคลื่น 900/1800 MHz ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้แล้ว (และยังเป็นความพร้อมที่มากกว่าตอนดีแทคเข้าประมูล 2100 MHz) โดยในเบื้องต้น บริษัทได้วางแผนการดำเนินการ และกลยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นเอาไว้พร้อม เช่นวางแผนกำลังคน รวมถึงการนำคลื่นไปใช้งาน ว่าจะใช้คลื่นนี้กับเทคโนโลยีอะไรเป็นต้น (แต่หลักๆ เป็น LTE แน่นอน)

ทั้งนี้ดีแทคยังบอกต่อว่าตั้งแต่การเปลี่ยนสิทธิ์การบริหารคลื่นจากระบบสัมปทานเดิม มาเป็นระบบการให้ใบอนุญาต ทำให้บริษัท (ทั้งเทเลนอร์และดีแทค) สามารถหาวิธีการลงทุนกับคลื่นที่ได้มาได้อย่างเหมาะสมกว่าตอนที่อยู่ภายใต้ระบบสัมปทานได้ง่ายมากขึ้น เพราะสามารถใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องไปขออนุญาตจากเจ้าของสัมปทานก่อน (แค่ต้องเขียนรายงานให้ กสทช. ทราบทุกขั้นตอนเหมือนเดิม)

ส่วนในเรื่องงบประมาณในการประมูล บริษัทได้เตรียมงบเอาไว้แล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งงบตรงนี้เป็นงบที่รวมทั้งในเรื่องของค่าใบอนุญาต และงบในการดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับ กสทช. ล้วนๆ ถ้าราคาใบอนุญาตไม่สูงมาก จะทำให้ดีแทคเหลืองบในการดำเนินการได้มากขึ้น (ดีแทคมองว่าราคาที่เหมาะสม คือราคาที่เป็นราคาตั้งต้น และถ้ามีการเคาะเพิ่ม 2-3 ครั้ง ดีแทคถือว่าราคาคลื่นนั้น เป็นราคาที่สูงมากแล้ว)

ในเรื่องคลื่นที่จะประมูล ดีแทคมองว่าทั้งสองคลื่น บริษัทสามารถนำมาใช้งานได้ทั้งหมด แต่เมื่อมองในเรื่องความคุ้มค่าต่อราคา ดีแทคมองว่าคลื่น 900 MHz เป็นคลื่นที่มีมูลค่าสูงสุด และน่าจะเกิดการแข่งขันที่สูงมาก เพราะข้อดีของคลื่นที่ไม่สูงมาก ก็คือสามารถทำระยะการส่งได้กว้างและไกลกว่าช่วงคลื่นที่อยู่ในระดับสูงมาก ดังนั้นทุกบริษัทน่าจะลงเล่นที่ 900 MHz กันเป็นหลัก แต่สำหรับ 1800 MHz ยังไงก็ต้องเกิดการแข่งขันอยู่แล้ว เพราะอุปกรณ์ LTE ส่วนใหญ่เน้นการรองรับที่คลื่น 1800 MHz กันเป็นหลักเหมือนตอนที่ 3G ที่เน้นกันที่ 2100 MHz นั่นเองครับ

แต่ถ้าดีแทคเกิดพลาดการประมูลในรอบนี้ (ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจริงๆ) ดีแทคจะรอดูว่าคู่แข่งจะนำคลื่นไปใช้งานอย่างไร หรือว่า 3G ของดีแทคเองจะเกิดภาวะ Overload ขึ้นมาก่อนหรือเปล่า และจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาพิจารณาต่อว่าบริษัทควรที่จะลงประมูล 1800 MHz ในรอบที่สอง (ที่จะเกิดขึ้นหลังดีแทคคืนคลื่น 1800 MHz ทั้งหมด) หรือไม่ครับ

สรุป

สรุปก็คือตอนนี้ดีแทคทำ TriNet 4G ก็เพื่อเป็นการลดภาระของเครือข่าย 3G ที่อยู่ในสภาวะที่หนาแน่นหรือ Overload ในบางพื้นที่ลง เพื่อให้การจราจรภายในระบบเป็นไปได้ง่ายขึ้นครับ อีกทั้งยังเป็นการสร้าง Brand Identity แบบใหม่เพื่อให้ลูกค้าได้รับทราบว่าว่าไตรเน็ตเป็นเครือข่ายเดียวที่มีทั้งโครงข่าย 2G/3G และ 4G แบบที่สามารถใช้งานได้พร้อมๆ กัน ซึ่งหลังจากการประมูลคลื่น 900/1800 MHz จบลงไปแล้วนั้น เราน่าจะได้เห็นภาพลักษณ์ในมุมนี้ของไตรเน็ตได้ชัดเจนมากขึ้นอีกด้วยนั่นเองครับ

Blognone Jobs Premium