รีวิว ASUS Zenfone 4: เมื่อกระเบื้องคิดจะเฟื่องฟูลอย

by nrad6949
14 May 2014 - 17:16

สำหรับตลาดโทรศัพท์มือถือราคาถูกในปีนี้ ต้องถือว่าค่อนข้างเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดกันมาตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็น Moto E ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่กี่วันที่ผ่านมา หรือ Nokia X ก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลเกิดจากการที่สมาร์ทโฟนสามารถผลิตได้มากขึ้นโดยมีต้นทุนที่ต่ำลง ผลพลอยได้อย่างหนึ่งคือสินค้าเหล่านี้ได้แปลงสภาพกลายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค (commodity) และทำให้ผู้ใช้หน้าใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสสมาร์ทโฟนได้เข้าถึงสมาร์ทโฟนง่ายขึ้นกว่าเดิม

ASUS เองถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่เข้าสู่ตลาดนี้ตั้งแต่ต้นปี โดยการประกาศชุดกลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน Zenfone ทั้งชุดในงาน CES 2014 โดยสิ่งที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุดคือราคาของ Zenfone ที่เปิดตัวมาที่ประมาณ 99 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับตัว Zenfone 4 ที่ถือเป็นตัวล่างสุดของสาย) อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวของ Zenfone ก็เงียบหายไปจนกระทั่งเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงเริ่มมีการวางจำหน่าย ส่วนในประเทศไทยก็มีงานเปิดตัว (Blognone ได้ไปลองจับด้วยเช่นกัน) เมื่อสิ้นเดือนเมษายน และเพิ่งวางจำหน่ายครั้งแรกสำหรับ Zenfone 4 ในงาน Thailand Mobile Expo 2014 ครั้งที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งผมก็ไม่พลาดที่จะซื้อมารีวิวครับ

เพื่อไม่ให้เสียเวลา สเปคไปตามอ่านได้ในข่าวเก่า เราลองมาดูรีวิวกันเลยดีกว่าครับ

คำเตือน: ภาพเยอะมาก

แกะกล่องและรูปลักษณ์ภายนอก

กล่องของ Zenfone 4 ต้องยอมรับว่าเหมือนผู้ผลิตในยุคปัจจุบันที่มักจะไม่ค่อยมีอะไรบรรยายไว้ มีแต่ตัวผลิตภัณฑ์แล้วก็คำอธิบายนิดหน่อย เมื่อดึงออกมาก็จะพบตัวเครื่องวางเด่นเป็นสง่าแห่งกล่องครับ

ของในกล่อง นอกจากจะมีตัวโทรศัพท์แล้ว ก็มีแบตเตอรี่ให้มาสองก้อน ก้อนละ 1,200 mAh ตัดปัญหาเรื่องของ "แบตน้อย" ไปได้ระดับหนึ่ง สายชาร์จ/เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ และอแดปเตอร์ชารจ์ไฟพอร์ต USB ถือว่ามาครบ ไม่ขาดไม่เกิน ยกเว้นหูฟังที่ต้องพึ่งตัวเองกันไปครับ ไม่มีแถม

เนื่องจากเคยมีลองจับมาแล้ว ผมขออนุญาตข้ามว่าเครื่องประกอบด้วยอะไรบ้างภายนอก แต่มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจที่จะต้องยกมากล่าวในรีวิวนี้ คือการแกะฝาหลังเครื่องจะมีร่องให้ใช้เล็บหรือเครื่องมือช่วยแกะให้งัดออกมาด้านมุมซ้ายมือของเรา (ขวาของเครื่อง) แบบเดียวกับ Geeksphone Keon ซึ่งแนวทางนี้ผมชอบมากกว่าของ Nokia X ที่ต้องดันฝาแบบไม่รู้ชัดเจนว่าจะต้องแงะหรือดันตรงไหน

สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ชอบคือผิวสัมผัสของฝาหลัง เพราะให้ความรู้สึกเหมือนกับถือกระดาษอยู่ ไม่ใช่ว่าเพราะจับแล้วรู้สึกว่าพลาสติกไม่หนา แต่จับแล้วผิวสัมผัสมันให้ความรู้สึกเป็นกระดาษ แง่หนึ่งทำให้มันรู้สึกว่าไม่สมกับมือถือระดับสามพันบาท แง่หนึ่งให้ความรู้สึกเหมือนถือวัสดุที่รักสิ่งแวดล้อม (ทำนองรีไซเคิลได้ง่าย) แต่ความรู้สึกแรกจริงๆ ที่ขึ้นมาพอได้จับฝาหลังคืออยาก ‘ขยำ’ แบบขยำกระดาษ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ (เรื่องแบบนี้เป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งผมก็แก้ไขด้วยเคส)

สิ่งที่หงุดหงิดในแง่สุนทรียศาสตร์อีกอันคือ ต้องมีโลโก้อินเทลปรากฏตลอดเวลา ผมเข้าใจได้ในเชิงการตลาดว่าอยากให้คนจดจำนะ แต่ปกติสติ๊กเกอร์ที่มีโลโก้อินเทล ไม่นานถ้าไม่ถูกคนใช้แกะออกไป ก็จะเป็นที่ว่าเก่าจนหลุดไปเอง เพียงแต่สงสัยว่าจำเป็นขนาดนั้นด้วยหรือ? แต่ปัญหานี้แก้ได้ด้วยเคสเช่นกัน

นอกนั้นถือว่าทำมาดีมาก ทั้งปุ่มกดที่เอาใจใส่ในเรื่องลวดลาย ส่วนด้านหน้าสัมผัสเองไม่รู้สึกว่าเป็นสินค้าราคาสามพันบาทแม้แต่น้อย คือในส่วนหน้าตานี้โอเคครับ ดีมาก ทันสมัย เนี้ยบจริง (ในภาพผมติดฟิล์มไปแล้วนะครับ) ส่วนภายในถือว่าทำได้ดี สำคัญก็คือบอกหมดครับว่าเสาอะไรอยู่ตรงไหน อย่างเช่นในภาพด้านล่างที่บอกชัดเจนว่านี่คือเสาอากาศสำหรับสัญญาณโทรศัพท์

รูปลักษณ์ภายนอกโดยทั่วไปของเครื่องถือว่าหรูหราระดับหนึ่ง จะบอกว่าเพราะ ASUS สนใจในรายละเอียดอาจจะพอบอกได้ เพราะเมื่อถือแล้วใช้งานจริง ภายนอกไม่ได้ต่างจากโทรศัพท์มือถือราคาระดับกลางเลย งานนี้ถึงแม้สัมผัสฝาหลังอาจจะดูแย่ไปสักหน่อย แต่พอมาเจอความหรูหราด้านหน้าและโดยรวมถือว่า โอเคเลยครับ เอาไปถือเดินห้างใหม่แถวชิดลมได้ไม่อายใคร

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมหงุดหงิดอย่างมากกับ Zenfone 4 คือเรื่องเสียงของลำโพงตัวหลักที่ไม่ดังมาก อยู่ระดับพอๆ กับ Xperia Z เพราะผมมักจะอยู่ห่างเครื่องหรือเดินบนถนนที่เสียงดัง ผลคือผมมักจะพลาดการรับสายบนเครื่อง Zenfone 4 เป็นประจำ ในแง่นี้ Nokia X ให้เสียงที่ดังกว่า ส่วนเสียงที่ขับออกมาจาก Zenfone 4 จะติดแนวกังวาน (echo) มากไปนิด

อย่างไรก็ตาม ลำโพงที่เอาไว้คุยโทรศัพท์หรือสนทนาปกติ (ear speaker) กลับให้เสียงที่คมชัดและดีมาก ซึ่งต้องชื่นชมว่าทำได้ดีจนผมทึ่ง แม้อาจจะดีไม่เท่า Moto X หรือ Droid Ultra แต่ถือว่าชัดเอาการ ชัดพอๆ กับ Moto G

หมดเรื่องทรวดทรวงและสรีระแล้ว ก็ได้เวลาภายในครับ “ซอฟต์แวร์”

ซอฟต์แวร์

Zenfone 4 ใช้ระบบปฏิบัติการภายในเป็นแอนดรอยด์รุ่น 4.3 (และได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้ 4.4 KitKat แน่ๆ) ซึ่งได้รับการปรับแต่งด้วย ZenUI อีกทีหนึ่ง หน้าตาที่ออกมาเหมือนกับลูกผสมระหว่าง Vanilla Android กับ iOS ครับ


โดยภาพรวมก็ไม่ต่างจากแอนดรอยด์ปกติที่ใช้ มีแอพจำนวนหนึ่งที่ติดมาให้ด้วย (และผมไม่คิดว่ามันมีความจำเป็นอะไรขนาดนั้น) อย่างเช่น Mirror, Note, Omlet (เอาไว้แชท) ซึ่งด้วยความเคยชิน ผมต้องการจะไปปิดการใช้งาน (disable) แอพเหล่านี้ แต่ก็ทำไม่ได้


อย่างไรก็ดี แอพที่มีประโยชน์มากๆ ก็ยังมีอยู่ อย่าง Weather ที่เป็นแอพพยากรณ์อากาศ ซึ่งบอกได้ละเอียดมากๆ ถึงขั้นระดับรังสี UV ในแต่ละวัน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาหาลงแอพเพิ่ม

ในส่วนของรายละเอียดสเปค และประสิทธิภาพก็ตามด้านล่างนี้ สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ Zenfone 4 จับสัญญาณ GPS ได้รวดเร็วพอสมควร เร็วจนผมทึ่ง แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ถ้าอยู่ในรถไฟฟ้าที่กำลังวิ่ง หรืออาคารสูง ก็แกว่งหรือจับไม่ได้เลยเช่นกัน ทำนองเดียวกัน ด้วยความที่ไม่มีตัววัดแสง ก็ต้องปรับความสว่างหน้าจอกันเอง (ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว ก็น่าจะใส่มาได้ แต่ก็เข้าใจว่าอาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้กดลงไปอยู่แถว 3,000 บาทลำบาก) แล้วก็ความจำที่มาให้ 8GB ก็อาจจะน้อยไปนิด แต่โชคดีที่ซื้อ Micro SD มาใส่เพิ่มได้ เลยไม่น่าเป็นปัญหามากนัก


อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่ ASUS มีบริการของตัวเอง ไม่ใช่เพียงแต่ Cloud Storage 5 GB ของตนเองในชื่อว่า ASUS WebStorage เท่านั้น แต่ผู้ใช้สามารถซิงค์ข้อมูลอย่างประวัติการเข้าเว็บผ่าน Browser ตัวหลักของระบบปฏิบัติการได้ด้วย

การใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน

เมื่อถึงสถานการณ์ในการใช้จริง สิ่งแรกที่ผมพบ (และคิดว่าจะเป็นปัญหาของ Zenfone 4 ถ้าไม่มีแบตสองก้อน) คือการใช้พลังงาน โดยแบตหนึ่งก้อนอยู่ได้ประมาณ 6 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น ก่อนที่จะต้องวิ่งหาที่ชาร์จอยู่ (คือขึ้นเตือนที่ 15% ว่าควรหาที่ชาร์จได้แล้ว) ทั้งนี้ผมใช้ตามปกติ มีเปิดเล่นอินเกรสบ้าง ซึ่งทางออกอันหนึ่งก็คือเปิดโหมด Ultra-saving mode ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจาก STAMINA mode ของ Xperia แม้แต่น้อย

หากไม่พูดถึงประเด็นเรื่องพลังงาน ถือว่า Zenfone 4 สามารถตอบสนองงานพื้นฐานได้ดีและไม่มีอาการช้าจนปวดหัวแบบ Nokia X ค่อนข้างลื่นไหลและทำงานได้ดีภายใต้สเปคลักษณะนี้ เล่นเกมอย่าง Ingress ได้ไม่มีปัญหา


อย่างไรก็ตาม ผมกลับพบว่าแป้นพิมพ์ที่แถมมาให้ ค่อนข้างใช้งานยาก และสำคัญคือกินหน่วยความจำสูง บางทีเวลาพิมพ์ต้องรอให้ข้อความขึ้น ซึ่งเมื่อผมจะเข้าไปปิดการใช้งานแป้นพิมพ์แล้วใช้ Google Keyboard ผลก็คือปิดไม่ได้ ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมในการเรียกแป้นพิมพ์อื่นขึ้นมาใช้งานตามตกลงไปด้วย

อีกเรื่องที่ไม่เข้าใจทาง ASUS ก็คือ ในเครื่องมีทั้ง Browser ที่เป็นตัวหลักของเครื่อง และ Google Chrome มาให้อีกหนึ่งอัน ซึ่งตามจริงแล้วผู้ใช้สมควรที่จะมีสิทธิในการปิดหรือเลือกตัวใดตัวหนึ่ง แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่อนุญาตให้ปิด Browser ตัวหลักของเครื่อง แล้วให้ระบบเรียกใช้งาน Google Chrome อย่างเดียวก็น่าจะพอ

ด้วยความที่ Zenfone 4 ใช้ได้สองซิม เราจึงสามารถกำหนดและตั้งค่าได้ว่าจะใช้อย่างไร โดยเวลาโทรออกปุ่มโทรจะระบุชัดเจนว่าอยากจะโทรซิมไหน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่อาจจะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ มากกว่าเรื่องทั้งหมดที่ได้กล่าวไป อยู่ที่เรื่องของการรับสัญญาณ เพราะเครื่องรับสัญญาณโทรศัพท์ได้เข้าขั้น ‘แย่’ โดยหลายครั้งที่ผมประสบปัญหาการเชื่อมต่อข้อมูล (data connection) หลุดอยู่ประจำ จนทำให้ผมต้องตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องใช้งาน โดยเมื่อทดสอบกับ Nexus 5 ใต้เสาสัญญาณที่สยามพารากอน ตัวเครื่องสามารถรับสัญญาณได้ดี

แต่เมื่อพอมาทดสอบอีกจุดหนึ่ง คือบริเวณชั้น 4 ของห้าง Terminal 21 ผลที่ได้ก็เป็นดังภาพ อัตราการรับสัญญาณของ Zenfone 4 แย่กว่า Nexus 5 อย่างชัดเจนในขาลง (downlink)

ในการใช้งานจริง ผมทดสอบจากสถานีพร้อมพงษ์ไปถึงสยาม โดยยืนเล่น Twitter บนนั้น พบว่าเมื่อใช้ Zenfone 4 ผมเจอสัญญาณหลุดหลายครั้งกลางทาง มากถึง 3 ครั้ง เมื่อเทียบกับ Moto G เพียง 1 ครั้ง (บนผู้ให้บริการค่ายเดียวกันคือทรู) และเมื่อเปลี่ยนซิมเป็นอีกค่าย (บนผู้ให้บริการเดียวกันทั้งสองเครื่องคือ AIS) ก็ยังเป็นลักษณะเดียวกัน แสดงว่า Zenfone 4 มีปัญหาในมิติการรับสัญญาณ ซึ่งในมุมมองผม นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลพอสมควร

โดยภาพรวม ถ้าคิดว่าใช้งานทั่วไป โดยไม่ได้พึ่งบริการด้านข้อมูล (data) ก็ถือว่าสอบผ่านอยู่ เพราะใช้งานได้ลื่นไหล ไม่ติดขัด อาจจะมีอะไรที่ยังไม่เข้าที่บ้าง ถือว่าให้อภัยได้ แต่ถ้ามีการใช้บริการด้านข้อมูล อาจจะต้องผิดหวังมาก และเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับ Zenfone 4 ซึ่งควรจะต้องหาทางรีบแก้ไขให้ได้

เสริม: ตัวปุ่มกดจริงสามอันที่อยู่ด้านล่างจอ เวลากลางคืนจะไม่มีแสง ดังนั้นแล้วต้องอาศัย 'สัญชาตญาณ' เล็กน้อยครับ

กล้อง

ในมิติกล้อง Zenfone 4 ทำออกมาได้ค่อนข้างจะโอเคอยู่ คือสมกับราคา เพียงแต่ว่าเหนือคู่แข่งอย่าง Nokia X มากพอสมควรตรงที่มี Auto-focus มาให้ และโหมดการถ่ายภาพที่หลากหลายมาก


ภาพถ่ายที่ออกมาถือว่าใช้ได้ อย่างไรก็ตามสีอาจจะดูสดจนเพี้ยนไปจากธรรมชาติได้ ตัวอย่างเช่นภาพหมูแดงด้านล่าง ซึ่งสีของหมูจริงๆ ออกสีชมพู แต่เมื่อถ่ายด้วย Zenfone 4 ออกมาเป็นสีแดงสวยแบบไม่ต้องใส่สีแดงตอนทำให้เหนื่อย

ในที่แสงทั่วไป ภาพถ่ายถือว่าออกมาใช้ได้ดีทีเดียว ตัวอย่างเช่นกระปุกน้ำเชื่อมใบเมเปิ้ลหรือในห้างสรรพสินค้าแถวชิดลมแห่งหนึ่ง ด้านล่างนี้

อย่างไรก็ตาม หากถ่ายในที่มีแสงค่อนข้างจัด กล้องจะเจอกับอาการม่วงอมชมพูอย่างสบายๆ

เพิ่มเติม: ตัวอัพเดตล่าสุดที่ปล่อยทาง OTA (Over The Air) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แก้ไขปัญหาด้านกล้องชมพูแล้วครับ ดูได้จากภาพด้านล่างครับ

ส่วนการถ่ายในที่มืด แม้จะไม่ได้เทียบเท่ารุ่นใหญ่อย่าง Zenfone 5/6 แต่ก็ถือว่าให้ภาพที่ดี แม้จะบอกตอนแรกว่าไม่ได้กล้อง PixelMaster ก็ตาม (ตอนเปิดกล่องมาก็มีเขียนนะว่ามาพร้อมกับกล้องนี้ด้วย) อย่างไรก็ตามไม่ได้สว่างอะไรขึ้นมากมาย เหมือนกับรุ่นใหญ่อย่าง Lumia 1020

ถ่ายด้วยโหมด Auto

ถ่ายด้วยโหมด Night

บทสรุป

โดยส่วนตัวแล้ว แม้ว่ามือถืออย่าง Zenfone 4 จะมีข้อเสียนิดๆ หน่อยๆ และมีจุดที่ควรจะปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้ ทว่า ด้วยราคาที่ 2,990 บาท และสามารถทำได้ขนาดนี้ ต้องยอมรับว่า ASUS ทำการบ้านมาดีมาก และถือว่าเป็นโทรศัพท์ที่จ่ายต่อราคาแล้ว น่าจะคุ้มค่าที่สุดในเวลานี้ และเมื่อพูดราคาขึ้นมา ข้อด้อยทั้งหลายที่ไม่เป็นปัจจัยสำคัญย่อมจะอยู่ในสถานะ “ให้อภัยได้”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องของการรับสัญญาณอาจจะเป็นจุดอ่อนอันหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ ASUS ซึ่งจะต้องเร่งทำงานแก้ไขเป็นการด่วน ก่อนที่สินค้าจะกระจายไปทั่วประเทศ เพราะผู้ใช้คงไม่รู้สึกดีแน่ๆ หากว่าการเข้าถึงสัญญาณข้อมูลขาดๆ หายๆ เพราะโทรศัพท์รับสัญญาณได้ไม่ดี

ถ้าถามว่าน่าซื้อหรือไม่? เรื่องนี้ผมอาจจะฟันธงลงไปตรงๆ ไม่ได้ แต่ถ้าถามหามือถือสักตัวที่คุ้มราคา และทำงานได้ไม่แพ้รุ่นกลางๆ Zenfone 4 ก็จะตอบโจทย์ในแง่นี้ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือในตอนที่ผมไปซื้อ เท่าที่สังเกตคนที่ซื้อโทรศัพท์เหล่านี้ มักจะเป็นเด็กๆ ที่ต้องการสมาร์ทโฟนราคาไม่แพง แต่ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีระดับหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นคนที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรก (อายุประมาณ 50 ขึ้นไป จากการประเมินด้วยสายตา) ดังนั้นแล้ว Zenfone 4 อาจจะตอบโจทย์คนเหล่านี้ได้ดี

ข้อดี

  • ประสิทธิภาพการใช้งานที่ดี
  • ราคาถูกและคุ้มค่า
  • ดูหรูหราเกินราคาค่าตัว
  • กล้องที่ดีเกินตัวพอสมควรในบางโหมดการใช้งาน

ข้อด้อย

  • มีปัญหาเรื่องของการรับสัญญาณข้อมูล (data connection)
  • ฝาหลังที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้
  • แอพไม่มีประโยชน์ที่มีมาในเครื่อง ควรจะเข้าไปปิดการทำงานได้
  • แบตที่หมดอย่างรวดเร็ว (ถ้าแถมสองก้อน ไม่ใช่ปัญหา ถ้าไม่แถม เป็นข้อด้อยสำคัญ)
  • เพิ่ม ปุ่มกดจริงสามอันที่อยู่ด้านล่างจอไม่มีไฟ เวลาใช้งานตอนกลางคืนจะลำบาก

ป.ล. ภาพทั้งหมดดูเพิ่มเติมได้ที่นี่

Blognone Jobs Premium