ในอนาคตอันใกล้ เราอาจได้เห็นระบบซอฟต์แวร์ที่จะวิเคราะห์และประเมินได้ว่าข้อความใดบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องโกหกหลอกเล่น
ทีมนักวิจัยจากหลายประเทศได้ทำงานร่วมกันมานานกว่า 3 ปีในการพัฒนาโครงการ Pheme (ตั้งตามชื่อเทพีแห่งข่าวลือและเรื่องซุบซิบของกรีก) ซึ่งเป็นผลงานจากการผลักดันสนับสนุนเงินทุนโดยคณะกรรมการยุโรป ร่วมกับบุคลากรจาก 5 มหาวิทยาลัยในยุโรป กับบริษัทเอกชนอีก 4 ราย โดยเป้าหมายเพื่อให้มีระบบตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อความใดๆ ที่ถูกส่งต่อกันบนโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อประเมินว่าเนื้อหาดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือเพียงใด
Pheme จะทำงานโดยจัดแบ่งข้อความต่างๆ ออกเป็น 4 หมวด คือ speculation - ข้อความทำนายพยากรณ์, controversy - ข้อความประเด็นโต้แย้งถกเถียง (ยังไม่มีการสรุปข้อเท็จจริง), misinformation - ข้อความที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง และ disinformation - ข้อความที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อคุกคาม
Pheme จะแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลของข้อความต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยนำเสนอข้อมูลในหลายๆ ด้านที่นำมาประกอบการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อความนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการแพร่กระจายส่งต่อข้อความ, สถานะเท็จจริงของข้อความนั้น (ว่ามีผู้ยืนยันความถูกต้อง หรือมีผู้ปฏิเสธ หรือยังเป็นเพียงข่าวลือ), ความเชื่อมโยงของข้อความกับสถานที่กระจายข้อมูล รวมไปจนถึงระดับและจำนวนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากข้อความนั้น
โครงการ Pheme จะเริ่มทดสอบใช้งานกับ 2 แหล่งข้อมูลหลัก อย่างแรกคือแวดวงข่าวดิจิทัล ซึ่งจะมี Swiss Broadcasting Corporation เป็นผู้ประเมินผลการใช้งาน Pheme ว่าให้ผลการวิเคราะห์ที่ดีหรือไม่ อีกแหล่งข้อมูลที่จะมีการทดลองใช้ Pheme คือระบบ healthcare ของ King's College London ซึ่งจะใช้ Pheme ตรวจสอบการแพร่กระจายของข่าวลือเกี่ยวกับยาที่เพิ่งผลิตใหม่ โดยจะเพ่งเล็งไปที่การส่งต่อเผยแพร่ข้อมูลของเหล่าแพทย์
ทีมวิจัยระบุว่าโครงการ Pheme นี้จะเปิดซอร์สให้ใช้งานและร่วมพัฒนากัน โดยมี University of Warwick เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องฐานข้อมูลการวิเคราะห์ข่าวลือโดยมนุษย์เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนให้แก่ Pheme
ที่มา - VentureBeat