เมื่อ 3 วันก่อน ศาลยุติธรรมของ EU ได้ตัดสินให้ Google ทำการลบผลการค้นหาตามคำร้องขอจากผู้ใช้ หากผลการค้นหานั้นเป็นลิงก์ที่นำไปสู่แหล่งข้อมูลซึ่งละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลของผู้ใดก็ตาม เพราะประชาชน "มีสิทธิ์ที่จะถูกลืม" (right to be forgotten) โดยคำตัดสินนี้มีผลครอบคลุมการทำงานของผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลรายอื่นนอกเหนือจาก Google ด้วยเช่นกัน
คำสั่งดังกล่าวระบุให้ Google ลบลิงก์จากหน้าผลการค้นหา (เมื่อมีการค้นหาด้วยคำสำคัญเป็นชื่อบุคคลใดก็ตาม) ตามคำร้องขอจากผู้ใช้ โดยลิงก์ที่ว่าอาจเป็นลิงก์ที่นำไปสู่หน้าข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งมีเรื่องราวในอดีตปรากฎอยู่ ทั้งนี้คำสั่งได้กำหนดให้ Google เพียงแต่ลบลิงก์ไปยังหน้าข้อมูลนั้นออกเท่านั้น กล่าวคือเว็บที่มีเนื้อหาส่วนบุคคลดังกล่าวจะยังคงอยู่บนอินเทอร์เน็ต เพียงแต่ไม่มีลิงก์ไปปรากฏในหน้าแสดงผลการค้นหาของ Google
และไม่นานหลังมีคำตัดสินออกมา ก็มีคำร้องขออย่างน้อยจากบุคคล 3 ราย ส่งไปยัง Google ให้ลบลิงก์ที่พาไปยังหน้าเว็บอันมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาออกไป โดยรายแรกเป็นแพทย์ที่ต้องการให้ Google ลบลิงก์ที่นำไปสู่หน้าเว็บที่ผู้ป่วยรายหนึ่งได้ให้ความเห็นวิจารณ์ในเชิงลบเกี่ยวกับการทำงานของเขา ส่วนรายที่ 2 เป็นอดีตนักการเมืองที่ต้องการให้ Google ลบลิงก์ที่พาไปสู่เว็บซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของเขาในสมัยที่ยังมีตำแหน่งทางการเมือง ส่วนรายที่ 3 เป็นอดีตผู้ต้องหาฐานมีสื่อลามกอนาจารเกี่ยวกับเด็กที่ต้องการให้ Google ลบลิงก์ที่นำไปสู่หน้าเว็บซึ่งมีเรื่องราวในอดีตอันนี้ของเขาออกเสีย
แน่นอนว่า Google ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของ EU โดยยกตัวอย่างว่าการลบผลการค้นหาตามคำร้องของผู้ใช้นั้น แม้นจะดูเหมือนการพิทักษ์ "สิทธิ์ที่จะถูกลืม" ของผู้ร้องขอ แต่นั่นก็ดูจะเป็นการละเมิด "สิทธิ์ที่จะรับรู้" ของผู้อื่น โดยยกตัวอย่างเช่น ในวันข้างหน้าเราคงไม่สามารถค้นหาข้อมูลประวัติย้อนหลังเกี่ยวกับผู้ที่มาสมัครงานกับเราได้จากอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป นอกจากนั้น Google ยังมองว่านี่คือการทำลาย "ความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต" อีกด้วย เพราะ Google จะถูกขอให้เลือกลบลิงก์ไปยังบางเว็บตามคำร้องขอเท่านั้น (ประเด็นการถอดลิงก์สู่เว็บใดเว็บหนึ่งออกจากหน้าแสดงผลการค้นหาข้อมูลของ Google เคยถูกโจมตีในเรื่องการกีดกันการเข้าถึงสินค้าและบริการมาแล้ว)
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อ EU มีคำสั่งออกมาแล้ว Google ก็รับปากว่าจะดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยขอเวลาในการดำเนินการ ซึ่งอาจต้องกินเวลาหลายสัปดาห์ โดย Google ให้เหตุผลว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนี้เป็นเรื่องซับซ้อน เพราะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลของลิงก์ปลายทางว่าเกี่ยวพันกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องขอให้ลบลิงก์หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานกับเว็บที่เป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษก็ย่อมต้องใช้เวลาในการพิจารณาและพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อใช้งานด้วย
ความเห็นคัดค้านคำตัดสินของ EU นั้นมีมาจากหลายฝ่าย ตัวอย่างหนึ่งในนั้นคือ Jimmy Wales ผู้ก่อตั้ง Wikipedia โดยเขาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่านี่คือ "หนึ่งในระเบียบที่ทำการกวาดล้างปิดกั้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตอย่างหนักที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา"