3 เรื่องที่คุณควรรู้ก่อนเข้าร่วม Google's Little Box Challenge

by ordinaryone
16 May 2014 - 06:10

"ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณกำลังออกแบบอะไร คุณจะออกแบบมันได้ยังไง?"

สวัสดีครับ วันนี้มีเพื่อนผมคนนึงตามให้มาดูเรื่องใน blognone มีเนื้อหาหลักๆ คือ Google จัดประกวด Little Box Challenge ซึ่งเป็นโครงการประกวดการออกแบบ power inverter เพื่อใช้ร่วมกับอุปกรณ์ solar cell โดยมีเงินรางวัล 1ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผมคิดว่าอาจจะมีผู้สนใจอยู่บ้าง เลยต้องการเขียนเจาะรายละเอียดในมุมมองของผม เพื่อช่วย get started ให้กับมือใหม่ (ซึ่งอาจจะมีความคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ) และดึงความคิดเห็นจากมือเก๋า (ที่มีประสบการณ์) แล้วมาดูกันครับว่าเราจะได้ข้อสรุปอะไรหรือเปล่า

นี่มันคือการออกแบบของใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลก


คุณอาจจะออกแบบอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ เพราะคุณไม่รู้ว่าสิ่งที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมันทำงานยังไง แต่ถ้าเราพูดถึงในแง่ของโอกาสและความน่าจะเป็น มันเป็นไปได้สูงมากว่าของที่คุณออกแบบมาใหม่โดยไม่รู้ถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน จะไปซ้ำกับของที่มีอยู่แล้ว หรือออกแบบใหม่แล้วทำงานได้แย่กว่าของเดิม

เรื่องแรกที่คุณควรรู้: ว่าแต่ของเดิมมันทำงานยังไงล่ะ?

โดยความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่าวิธีการที่เป็นที่นิยมมากวิธีหนึ่งในการสร้าง inverter คือ Unipolar SPWM ครับ เราไปดูภาพกันชัดๆ ดีกว่า


ตอนนี้สิ่งที่เราสนใจคือภาพ(d) ครับ แต่ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจมัน เราย้อนไปจุดที่พื้นฐานกว่านี้สักเล็กน้อยนะครับ การทำ inverter คือการที่คุณพยายามเอาไฟฟ้ากระแสตรงมาทำเป็นรูปคลื่น sin (ฟังชั่นมุมที่เราเรียนกันตอนมัธยมนั่นแหละครับ) หรือที่เรียกกันว่า sinusoidal wave มีหน้าตาอย่างนี้ครับ

ว่าแต่ทำไมต้องทำให้เป็นรูปดังกล่าวด้วย ทำไมไม่ทำเป็นรูป Eiffel Tower หรือ Tokyo Tower หรือ รูปขนมเค้ก?
เพราะว่าทันทีที่คุณสร้าง sinusoidal wave ได้คุณจะสามารถนำมันไปเข้าหม้อแปลง และเพิ่มลด voltage ได้ตามต้องการน่ะสิ การทำเป็นรูป Eiffel Tower ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้แต่ทันทีที่คุณเอาเข้าหม้อแปลงจะเกิดความร้อนสูญเสียเยอะ (เปลืองพลังงาน) และถ้ามันร้อนมากๆ ก็จะทำให้หม้อแปลงคุณระเบิดบึ้มได้ด้วย ในทางวิศวกรรมเราเรียกสัญญาณที่เป็นมลภาวะในหม้อแปลงพวกนี้ว่า noise หรือตัวที่แสบๆ หน่อยเพราะมีพลังงานสูงว่า harmonic ครับ (รายละเอียดมีให้อ่านเพิ่มเติมใน Internet ครับ)
เกร็ดเล็กน้อย: ทำไมเรียกชื่อคลื่นย๊าวยาว ไม่เรียกแค่ sin wave?
เพราะเราต้องการสื่อถึงหน้าตาของมัน ไม่ได้ต้องการสื่อถึงค่าของมันครับ ยกตัวอย่างผมวาด sinusoidal wave ขึ้นมาลอยๆ อันนึง คุณจะตอบผมไม่ได้อย่างแน่ใจ ว่าคลื่นที่ผมวาด เป็นคลื่น cos หรือคลื่น sin (เพราะคลื่นทั้งสองห้าตาเหมือนกัน และเป็น sinusoidal wave ทั้งคู่)

ตอนนี้เราย้อนกลับไปที่ภาพ(d) อีกครั้งนะครับ
ภาพนี้มันมาได้ยังไง อธิบายแบบบ้านๆ หน่อยก็คล้ายกับอย่างนี้ครับ คุณมีแบตเตอรี่กระแสตรงอยู่ก้อนหนึ่ง กับ switches 2 ตัว switch ตัวแรก ทำหน้าที่กำหนด voltage (ประมาณว่าเปิดปิดแบตเตอรี่) อีก switch ทำหน้าที่กลับขั้วครับ คุณก็มาเปิดๆ ปิดๆ switches ทั้งสองตัวให้เวลามองจากปลายทาง (load) แล้วเห็นเป็นเหมือนภาพ(d) ครับ switches พวกนี้ใช้ในการอธิบายเฉยๆ เวลาออกแบบของจริงเราจะใช้วงจรที่เรียกว่า H bridge โดยทีเปลี่ยน switches ทางกล เป็นสารกึ่งตัวนำจำพวก transistor เช่น IGBT เป็นต้นครับ


ทีนี้มันมีก็มีเรื่องน่าเถียงอยู่หนึ่งเรื่องคือไอ้รูป(d) ที่เพิ่งพูดถึงกันไปเนี่ย หน้าตามันเหลี่ยมๆ เหมือนใครบางคน ไม่เห็นจะเหมือน sinusoidal wave เลย ทำให้เป็นรูป sinusoidal wave ออกมาเลยไม่ได้เหรอ ทำไมทำอะไรเหลี่ยมๆ ออกมาแทน?
ถูกต้องแล้วครับ จริงๆ แล้วเราสามารถทำ sinusoidal wave ออกมาเลยได้ตั้งแต่แรก แต่เราเลือกที่จะทำคลื่นเหลี่ยมๆ ออกมาแทน เพราะว่าการทำ sinusoidal wave ออกมาเลย จะต้องใช้ switch แบบที่เปิดปิดแบบครึ่งๆ กลางๆ ได้ ซึ่งของแบบนั้นก็มีให้ซื้อได้ในราคาถูก (จริงๆ แล้วมันคือไอ้ตัวเดียวกับที่เราเอามาใส่ H bridge นี่แหละ) แต่ว่าการเปิดครึ่งๆ กลางๆ นั้นมีสมบัติทางไฟฟ้าที่เราไม่ต้องการอยู่ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดูภาพนี้ครับ

ขออภัย ลายมือไม่ค่อยสวย
เราต้องการให้พลังงานของเราถูกนำไปใช้ที่ load ใช่มั้ยครับ เราไม่ได้อยากใช้พลังงานที่ตัว switch ซึ่งกินพลังงานไปเปล่าๆ ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย สมมุติว่า transistor ในภาพเป็น switch ของเรานะครับ ถ้าเราเปิดมันครึ่งๆ กลางๆ (ซึ่งสามารถทำได้จริง) say ว่าเปิด transistor ครึ่งนึง ให้ VL เท่ากับ VS เลยนะครับ มาทบทวนสูตรไฟฟ้ามัธยมเกี่ยวกับกำลังงานกันใหม่ดูนะครับ P=IV ใช่มั้ยครับ ทีนี้เนื่องจาก switch กับ load ของเราอยู่เส้นเดียวกัน (ต่ออนุกรมกัน) ทำให้กระแสไหลผ่านเป็นกระแสเดียวกันเลยมีค่าเท่ากันใช่มั้ยครับ นั่นแสดงว่า มีกำลังงานที่ load PL=IVL และมีกำลังงานที่ switch PS=IVS เท่ากันใช่หรือเปล่าครับ เพราะ VL=VS เนื่องจากเราเปิด switch ครึ่งเดียว แสดงว่าเราใช้พลังงานได้ประสิทธิภาพแค่ 50% เท่านั้นเอง จ่ายพลังงานมา 100 ((PL+PS)xt=2PLt) เอาไปใช้แค่ 50 (PLt)
ถ้าเจอคนออกแบบ inverter อย่างนี้ ก็น่าตบให้ไฝหลุดนัก
OK ทีนี้เรามาดูแบบเปิดปิดสุดบ้างครับ ดูจากภาพเดิมได้เลย ในกรณีที่เราปิด switch ได้สนิทกระแสไฟฟ้าจะไม่ไหลใช่มั้ยครับแสดงว่า PS=IVS=0 ครับ ไม่มีกำลังงานที่ switch และในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีกำลังงานที่ load ด้วย และในกรณีที่เราเปิดสุด VS เราจะเท่ากับ 0 (ก็คล้ายๆ กับลัดวงจรนั่นแหละครับ) กำลังงานที่ switch PS=IVS=0 ก็ยังเป็น 0 อยู่ดี แต่มีกำลังงานถูกส่งไปที่ load และด้วยหลักการพื้นๆ พวกนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบวงจร switching และเป็นเหตุผลว่าทำไม inverter ไม่ออกแบบให้ output เป็น sinusoidal wave เป๊ะ

เหมือนขนาดไหน?


อย่างที่บอกไปเมื่อหลาย paragraph ที่แล้ว เราต้องป้อนกระแสไฟฟ้า sinusoidal wave เข้าไปในหม้อแปลงถึงจะไม่เกิดปัญหา แต่ทว่า ไม่มี sinusoidal wave เป๊ะๆ ของจริงบนโลก คงจะมีก็เพียงแต่ในทฤษฎี แต่เราต้องสร้างให้เหมือนขนาดไหนล่ะ? เราจะรู้ได้ยังไงว่าไอ้เหลี่ยมๆ ของเรามันใช้ได้และมันเหมือนคลื่นที่เราต้องการขนาดไหน? เราจะวัดประสิทธิภาพมันได้ยังไง? ทำไมมันเหลี่ยมแต่เข้าหม้อแปลงแล้วไม่มีปัญหา?

ผมคิดว่าปัญหาพวกนี้ มีคนช่วยกันคิดหัวแทบแตกกันเป็นหมื่นๆ คน แต่มีอยู่ไอเดียนึงที่ยอดเยี่ยมมากๆ เขาตั้งชื่อวิธีการนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้คิดค้นว่า Fourier transform และก่อนที่เราจะตอบปัญหาข้างบนได้ เราคงต้องไปรู้จักเจ้า transform นี้กันสักเล็กน้อย


Joseph Fourier บุคคลผู้ที่สร้างหลักการคณิตศาสตร์ใหม่เอี่ยม แค่เพื่อจะวิเคราะห์ความร้อนในเหล็ก
คงไม่ใช่วิศวกรทุกคนที่มีโอกาสได้สัมผัสพลังของ Fourier transform แต่ถ้าพูดถึง Laplace transform ก็คงเป็นที่รู้จักกันดี (คิดว่าเจอกันมาแทบทุกคน จนเพื่อนผมคนหนึ่งบอกเอาไว้ว่า Laplace พ่อทุกสถาบัน)
transform ทั้งสองชนิด มีความคล้ายคลึงกันมากๆ มองอะไรเป็นความถี่เหมือนๆ กัน สมการก็เหมือนกันราวกับว่าลอกกันมาเลยทีเดียว สิ่งที่ต่างกันมากๆ สิ่งหนึ่งคือการนำไปใช้งาน เวลาเราทำ Laplace transform เราใช้เวลาต้องการคำนวณผลลัพธ์ของอะไรบางอย่าง แล้วมันยากเกินกว่าที่จะคิดใน time domain ใช่มั้ยครับ เราก็ Laplace transform ไปคิดโชะเชะใน frequency domain แล้วแปลงกลับ
แม้ว่า Fourier transform จะมีหลักการพื้นฐานคล้ายๆ กัน เวลาเราใช้เรากลับใช้งานมันต่างไปโดยสิ้นเชิง คือเราจะใช้มันเวลาที่ต้องการจะแยกส่วนประกอบของสัญญาณต่างๆ ครับ ว่าสัญญาณนี้มีความถี่อะไรอยู่บ้าง เพื่อให้เห็นภาพ ผมมีภาพจาก Wikipedia ที่อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนทีเดียวครับ

นี่เป็นตัวอย่างการแยกส่วนประกอบของคลื่นสีแดง ด้วย Fourier transform ครับ แยกเสร็จแล้ว ได้ผลลัพธ์เป็นแท่งๆ
อย่างไรก็ดีเกรงว่าถ้าผมอธิบาย Fourier transform ตรงนี้มันจะคณิตศาสตร์จ๋า และเยอะจนเกินไป ผมชอบที่จะอธิบายเรื่องนี้แบบ linear algebra มากกว่าแบบ pure math เพราะมันฟังดูมีเหตุผลกว่า แม้จะไม่ได้เขียนไว้ตรงนี้ ถ้าคุณเจอผมตัวจริงแล้วคุณเรียนยังไงก็ไม่เข้าใจก็ลองถามผมดูแล้วกันนะครับ

แต่ถ้าคุณแค่ต้องการจะใช้งาน Fourier transform ล่ะก็ เรื่องนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะคอมพิวเตอร์สามารถคิด Fourier transform ให้คุณได้ Fourier transform ชนิดที่ computer คิดได้เรียกว่า discrete Fourier transform (DFT) และ DFT ชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้และอยู่ในโทรศัพท์มือถือของคุณด้วย เรียกว่า fast Fourier transform (ทำงานเร็วกว่า DFT ทั่วไป แต่มีข้อจำกัดด้าน input เพื่อใช้งาน FFT คนถึงกับต้องยอม pad input เพื่อแลกกับ big O log ฐาน 2) และไม่ว่าจะ DFT หรือ FFT คุณแค่ต้องเข้าใจข้อจำกัดต่างๆ และลักษณะทั่วๆ ไปของมันก่อนใช้งานเท่านั้นเอง

ผมปูเรื่อง Fourier transform มาซะเยอะ เราย้อนกลับไปที่ปัญหาเดิมของเรานะครับ ในเมื่อเราต้องการให้ sinusoidal wave ผ่านเข้าหม้อแปลง แต่เราดันทำรูปเหลี่ยมๆ ขึ้นมาแทน และเราหวังว่าไอ้รูปเหลี่ยมๆ ของเราจะมีความเหมือน sinusoidal wave เราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามันหน้าตาคล้ายกันมากจริงๆ
วิธีพิสูจน์เป็นงี้ครับ คุณ oversampling สัญญาณมาอย่าให้เกิด alias (alias คืออะไร? สั้นๆ เคยได้ยินคำว่า anti alias รึเปล่าครับ อันนี้คือ alias เดียวกับอันนั้นแหละ เป็นความถี่ที่ไม่มีอยู่แต่เราคิดว่ามันมีอยู่) เช่น sample ที่ 4x(Nyquist rate) ก็ไม่ถือว่าเว่อร์จนเกินไป sample เสร็จ คุณเอามาตัดดึงจุดที่คุณจะพิสูจน์ว่ามันหน้าตาเหมือน sinusoidal wave มา 1 คาบ แล้ว resample ให้พอดีกับ หน้าต่าง FFT คุณก็ทำ FFT กับผล resampling ได้เลย โดยไม่ต้องครอบ window function ครับ
ทีนี้คุณคำนวณพลังงานของ แท่งความถี่ที่คุณต้องการให้ผ่านหม้อแปลง เทียบกับ integral (ภาษาไทยเรียกปริพันธ์มั้ง แต่ในทางปฏิบัติที่ใช้กับ DFT ผมเรียกมันง่ายๆ ว่าบวกกัน) ของพลังงานแท่งอื่นๆ
ผลลัพธ์ DFT ของคุณ ถ้าเป็นเหมือนที่ตั้งใจ จะมีลักษณะคล้ายๆ อย่างนี้ล่ะมั้งครับ


ก้อนแรกเป็นความถี่ที่คุณต้องการ ก้อนหลังเป็นความถี่ที่คุณเปิดๆ ปิดๆ switches ถ้าคุณใช้ carrier ที่ความถี่สูงพอ ก้อนทั้งสองจะอยู่ห่างกันมากและก้อนหลังจะมีพลังงานต่ำลงครับ แต่ถ้าคุณใช้ความถี่ carrier สูงเกินไปอุปกรณ์ switching ก็จะกินพลังงานมากเกินไปเช่นกัน (เสียพลังงานทุกครั้งที่ เกิดการ switch) ดังนั้นคุณควรจะใช้ความถี่ carrier ที่ลงตัวแล้วทำให้เกิดพลังงานสูญเสียที่ switches และหม้อแปลงต่ำที่สุด

ป.ล.1 ไอ้ก้อนความถี่ carrier จะไม่ผ่านหม้อแปลงไปครับ ส่วนหนึ่งเพราะตัวหม้อแปลง (ขดลวด) มีลักษณะเป็น low-pass filter ครับ
ป.ล.1 efficient ของพลังงานในวงจร switching ปัจจุบันนี้ ทำได้ 90% up ครับ

ยังมีเรื่องราวที่ต้องคำนึงถึงอยู่เยอะแยะเช่นพวก dead time ของ switch หรือสมบัติของตัว switch (transistor) เอง การสร้าง controller เพื่อควบคุม output voltage เป็นต้น แต่พื้นๆ ของ inverter ในปัจจุบันก็ประมาณนี้ล่ะมั้งครับ

เรื่องที่สองที่คุณควรรู้: Google มองมันยังไง?


ผมไม่อาจฟันธงลงไปเต็มๆ ได้ว่า Google ต้องการอะไร แต่จากข้อมูลที่เรามีตอนนี้คือ Google ประกาศเงินรางวัล 1ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยเป็นแค่ประมาณ 30กว่าล้านบาทเท่านั้นเอง ราคาเงินรางวัลค่อนข้างขี้เป็ด ถ้าเทียบกับสิ่งที่ Google ว่ามาคร่าวๆ ว่าต้องการนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับ inverter ทำให้ขนาดเล็กลง ราคาถูกลง สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงในจุดนี้คือ ตัว Google เองมีวิศวกรที่สามารถออกแบบ inverter คุณภาพสูงได้อยู่แล้ว ออกแบบได้ไม่แพ้บริษัทใดๆ ในโลก และนอกจากบริษัท Google ในโลกนี้ก็ยังมีบริษัทชั้นแนวหน้าด้านการออกแบบ inverter อยู่ในตลาดอีก เงินรางวัลระดับนี้เป็นระดับที่ บริษัทออกแบบ inverter ต้องคิดว่า "ถ้าผม(-ู)ออกแบบได้ ผม(-ู)ทำขายเองน่าจะกำไรกว่ากันเยอะ"

เป็นไปได้ว่า Google ไม่ได้หวังผลอะไรจากผู้ชนะเลยแต่หวังผลทางอ้อมอะไรบางอย่าง (ผู้ชนะก็คงเจ๋งอยู่ แต่ตัวผลงานอาจจะไม่ว้าวเท่าที่ควร) ผมเห็นว่า inverter design ของปัจจุบัน ก็ efficient มากๆ จนไม่รู้จะพัฒนาต่อยังไงดีแล้ว (ไม่มีชิ้นส่วนที่ขยับทางกล มีเสียงเบามาก และความร้อนสูญเสียต่ำ) ถ้าทำขนาดเล็กก็อาจจ่ายกำลังได้น้อยหน่อยแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ inverter ในปัจจุบันก็ผ่านการ optimize ลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพ โดยบริษัทระดับโลกมาหลายบริษัทอยู่แล้ว

หรืออีกทฤษฎีนึงคือ Google กำลังมองหาจิ๊กซอว์ที่หายไป ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับข้อสันนิษฐานนี้ เลยมาเขียนวิเคราะห์เรื่องเชิงลึก ใน blognone ผมเชื่อว่า เป็นไปได้ว่า Google คิดว่า ("ว่า" เยอะจัง)
ไอเดียอะไรบางอย่างจากใครสักคน + ความสามารถของสุดยอดวิศวกรที่ตัวเองจ้างไว้ = นวัตกรรมใหม่ที่ต้องการ
ดังนั้น project ที่ชนะ อาจไม่ใช่ของที่เจ๋งในตัวมันเอง แต่เป็น project ที่ทำให้ Google เห็นอะไรบางอย่าง

ทฤษฎีที่สาม Google ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องการอะไร แต่ปล่อยเงินล้านดอลลาร์ออกมาเผื่อว่าจะได้พบกับอะไรบางอย่าง และถ้าได้พบจริงๆ Google จะลงทุนเพิ่มในจุดดังกล่าว

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่คิดว่า Google จะทำ คือเอา inverter ไปใช้กับเครื่อง server ของตัวเองโดยตรงครับ เพราะตัว server ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าจะ optimize ด้านพลังงาน (ต้นทุน) จริงๆ Google สามารถตัด power supply ออกจาก computer และเดินไฟกระแสตรงเข้าไปใช้กับ server ได้โดยเฉพาะ ถ้าทำอย่างนั้นระบบ redundant ด้านไฟฟ้าก็ทำได้ง่ายกว่าไฟกระแสสลับด้วย แถม switching regulator กระแสตรงน่าจะ efficient กว่าหม้อแปลง (อันนี้ผมไม่แน่ใจนัก เพราะไม่เคยเห็นเลข %efficient ของวงจร flyback ทั่วๆ ไปสักเท่าไหร่)
ผมคิดว่าเหตุผลที่ทำให้วิธีดังกล่าวไม่น่าใช้เท่าที่ควรคือมัน bleeding edge เกินไป ไม่ค่อยเสถียรอาจจะมีปัญหาที่มองไม่เห็นและยังไม่เคยเจอซ่อนอยู่ (ประหยัดไม่คุ้มความเสี่ยง+จริงๆ แล้ว green energy ถือว่าแพง) หรือถ้าคุณคิดถึงเหตุผลอื่นได้ ก็ comment แนะนำได้ครับ เจ้า inverter แบบใหม่ ก็คง bleeding edge ไม่แพ้กัน อย่างมากก็คงเอาไปจ่ายไฟใส่ grid ที่ redundant มากพอตั้งแต่แรกอยู่แล้วครับ (จริงๆ แล้วคนทำเรื่องเกี่ยวกับบัญชีในบริษัท น่าจะพอเข้าใจใช่มั้ยครับว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายกัน ไม่ใช่ต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยซะทีเดียว แต่เป็นค่าสร้างโรงงานไฟฟ้าต่างหาก การไฟฟ้าถึงมีหน่วยค่าไฟของแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันนั่นเอง ราคาหลักๆ แทนที่จะเป็นค่าพลังงาน กลับเป็นค่ากำลังงานสูงสุดที่ใช้)

และถ้ามีอันใดอันหนึ่งในสามทฤษฎีข้างบนที่เป็นสิ่งที่ Google คิดจริงๆ สิ่งที่เราสรุปได้ก็คือเรามีโอกาสครับ
นั่นนำไปสู่สิ่งสุดท้ายที่คุณควรรู้

ถ้าคุณจะเข้าร่วมด้วย คุณต้องโคตรบ้าเลย


ครับ อ่านไม่ผิด ปัญหานี้เป็นปัญหาที่คุณไม่อาจพุ่งชนด้วยวิศวกรรมได้ (เพราะคุณจะแพ้) หรือถ้าคุณเจ๋งมากจนมั่นใจว่าคุณสามารถประกวดด้วยหลักการทางวิศวกรรมแล้วขนะได้จริงๆ เงินรางวัลนั้นเป็นอะไรที่ไม่คุ้มเอามากๆ เลยล่ะ หลักการทางวิศวกรรมของ inverter ที่ผมเขียนในบทวิเคราะห์นี้ เป็นแค่หลักการส่วนยอดที่โผล่มาติ่งเดียวของภูเขาน้ำแข็ง เฉพาะตัวผมเองผมคิดว่าเคยได้เห็นยอดที่ใหญ่กว่ามากมาแล้ว และแม้ผมจะไม่เห็นผมก็รู้สึกได้ว่า หลักการทางวิศวกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่อยู่ใต้น้ำมันน่าจะยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่ผมได้เคยรับรู้มาก

คุณต้องทำเรื่องราวที่ไม่มีคนเคยทำ คิดในสิ่งที่ไม่มีคนเคยคิด มองในจุดที่คนอื่นไม่สนใจจะมอง ว่าง่ายๆ ถ้าคุณทำแบบนั้นบ่อยๆ ในชีวิตจริง จะมีคนที่แทบไม่รู้จักคุณเลยอย่างน้อย 1 คน บอกว่าคุณบ้า (หรืออาจจะเพราะว่าคุณอยู่ประเทศไทยก็เป็นได้) แต่รู้อะไรหรือเปล่าผมก็บ้าเหมือนกัน บ้าไม่แพ้คุณนั่นแหละ ผมพุ่งชนปัญหาวิศวกรรมด้วยศิลปะ ไม่ใช่ว่าวาดรูปเก่งหรืองอะไรอย่างนั้นนะครับ แต่พยายามแก้ปัญหาวิศวกรรมโดยใช้ art มากกว่า science (อันนี้เป็น term ที่อาจารย์ผมเคยใช้กับผมนะครับ ผมก็เพิ่งสังเกตว่ามันเป็นอย่างนั้นหลังจากอาจารย์ผมทักนั่นเอง) ถ้าคุณได้อ่านข่าวเก่าๆ ของผม ก็คงจะได้เห็นคนมาว่าผมเพี้ยนบ้าง คงต้องบอกว่าในชีวิต offline ก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ครับ

ตัวผมเองคงไม่ลง challenge นี้ด้วยตัวเองเพราะคิดว่าทำคนเดียวไม่ไหว และยังมีข้อจำกัดที่ไม่ได้เขียนไว้ตรงนี้ แต่ถ้าคุณเป็นบริษัทที่กำลังจัดทีมไปลงงานนี้อยู่ (ซึ่งเชื่อว่าเป็นการโฆษณาที่ดีทีเดียว) แล้วคุณมีทุนวิจัย และบุคลากรบ้าๆ มากพอสมควรแล้ว ขอให้ผมเข้าทีมไปเล่นบ้าด้วยคนนะครับ รับรองว่าต้องมีอย่างน้อย 1 ปัญหาที่ผมสามารถเสนอ solution ที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อนครับ ติดต่อmeet.again.somedayแอทaimดอทคอมครับ

สำหรับบุคคลทั่วไป ผ่านไปผ่านมา ตอนนี้ยังไม่สนใจ ผมแนะนำให้ลองสร้างอะไรไปแข่งดูเล่นๆ ดูนะครับ ตัว challenge นี้ คิดว่าไม่มีใครที่ไปร่วมด้วยหวังผลล้านดอลลาร์ตั้งแต่แรกอยู่แล้วนะครับ (สำหรับผม ผมลองทำอะไรใหม่ๆ หรือคิดเรื่องใหม่ๆ เป็นชีวิตประจำวัน (นึกถึงการ์ตูน Pinky and the Brain)) งานนี้คุณลองไปเล่นดูมั่งจะเป็นอะไรไป

สวัสดีครับ

Blognone Jobs Premium