ยุทธศาสตร์ของอินเทลในตลาดโมบาย สำหรับช่วงปี 2014 - 2015

by nrad6949
18 May 2014 - 14:53

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทางอินเทลประเทศไทยได้จัดงาน Intel Mobility Roadshow 2014 เพื่อแถลงข่าวทิศทางและยุทธศาสตร์ของอินเทลในตลาดโมบาย (ผมใช้คำนี้เรียกรวมๆ สำหรับทั้งมือถือและแท็บเล็ตในข่าวนี้นะครับ) ทั้งในภาพรวมและสำหรับในเมืองไทยเองเป็นการเฉพาะ ถือเป็นภาคต่อจากการแถลงยุทธศาสตร์ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยงานครั้งนี้มีกรรมการผู้จัดการของอินเทลประเทศไทย คุณสนธิญา หนูจีนเส้ง เป็นคนบรรยายด้วยตนเอง

งานในครั้งนี้ถือว่าให้ภาพของแนวโน้มทางอินเทลที่เน้นความสำคัญสำหรับตลาดโมบายมากขึ้น (หลังจากประสบปัญหาปรับตัวไม่ทันมาหลายปี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดของเอเชีย-แปซิฟิก ที่อินเทลยังมองว่ามีโอกาสโตได้มากขึ้นอีกเยอะครับ

คุณสนธิญา หนูจีนเส้ง

ในเชิงตัวเลขของประชากร ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีค่อนข้างเยอะมาก (อินเทลมองกรอบที่ครอบคลุมไปถึงอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และตัวเลขของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่าร้อยละ 45 อยู่ในภูมิภาคนี้ ตัวเลขนี้บ่งบอกว่าตลาดในภูมิภาคนี้ถือเป็นส่วนที่สำคัญในโลกอินเทอร์เน็ต และโอกาสที่จะเติบโตยังมีอีกมาก

ด้วยอัตราการเติบโตทั้งในเชิงของประชากรโลกที่สูงขึ้น และการที่เทคโนโลยีจะเอื้อให้เกิดพัฒนาการในรูปแบบใหม่ แนวโน้มอย่าง IoT (Internet of Things) ทำให้อินเทลคาดว่าภายในปี 2020 เราจะมีอุปกรณ์มากกว่า 5 หมื่นล้านชิ้นที่ต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต

สถิติที่น่าสนใจก็คือ คนไทยเราใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอบนอุปกรณ์เหล่านี้นานกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่พอสมควรเลยทีเดียว (อยู่ที่ 95 นาทีสำหรับแท็บเล็ต และ 167 นาทีสำหรับมือถือ) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของอุปกรณ์เหล่านี้ว่ามีส่วนในชีวิตเรามากแค่ไหน

ในโลกของแท็บเล็ต ตัวเลขของภูมิภาคบอกชัดเจนว่าแท็บเล็ตมีขนาดหน้าจอเล็กลงเรื่อยๆ อัตราการเติบโตของแท็บเล็ตหน้าจอที่ 7-8 นิ้วถือว่าสูงมาก โดยเฉพาะในเมืองไทย ที่แท็บเล็ตขนาดจอเล็กเป็นส่วนใหญ่ในตลาด

แต่ตัวเลขที่น่าสนใจอีกอันที่ผมว่าค่อนข้างน่าสนใจและชัดเจนมากๆ คือพวกอุปกรณ์ "Phablets" (เช่น Xperiz Z Ultra, Galaxy Note, Galaxy Mega) กำลังเติบโตอย่างมาก จากตัวเลขปีที่แล้วเติบโตมากขึ้นถึงร้อยละ 286 ต่อปี ซึ่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีสัดส่วนการส่งมอบมากถึงร้อยละ 42 ของจำนวนการผลิต

เมื่อเป็นแบบนี้ อินเทลจะทำยังไง? สิ่งที่อินเทลทำมาโดยตลอดคือการปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลกลางของตัวเอง ซึ่งก็เตรียมออกชิปรุ่นใหม่ๆ อย่าง Merrifield, Moorefield, SoFIA, Cherry Trail และ Broxton ตามแต่ละช่วงเวลาไป (ดูภาพเอานะครับว่าเมื่อไหร่กันบ้าง) แต่ในกรณี SoFIA จะพิเศษหน่อยตรงที่เป็นการรวมแผงวงจรการทำงานที่สำคัญทั้งหมดเอาไว้บนแผ่นเดียว (SoC: System on Chip) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญพอสมควร

สิ่งต่อมาที่อินเทลทำ ก็คือขยายกลุ่มอุปกรณ์ที่ใช้หน่วยประมวลผลของตัวเองออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในปีนี้ (อย่างน้อยก็ในรอบครึ่งปีนี้) เราเห็นอุปกรณ์ที่ทำออกมาด้วยหน่วยประมวลของอินเทลจำนวนมากแล้วในตลาด ในแทบจะทุกระดับราคา (ถูกที่สุดคงเป็น Zenfone 4) อีกเรื่องเป็นการตลาดที่พยายามจะทำให้คนติดภาพว่าอุปกรณ์ที่ตัวเองซื้อมาใช้ชิปของอินเทล ซึ่งอินเทลก็เปิดฉากด้วยแคมเปญ Look Inside โดยพยายามจะให้ทุกคนรู้ว่าอุปกรณ์นี้ใช้หน่วยประมวลผลของอินเทล (ซึ่งก็มักจะจบลงส่วนหนึ่งที่จะต้องมีโลโก้อินเทลปรากฏบนตัวเครื่อง แบบ Zenfone 4)

ในงานมีการกล่าวถึงคู่ค้า (partner) หลายรายของอินเทลที่พร้อมจะทำงานร่วมกับอินเทลและผลิตสินค้าออกมาป้อนตลาดในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ASUS ที่ในงานครั้งนี้ทางอินเทลมองว่าเป็นคู่ค้าอันดันหนึ่งและพิเศษ เพราะอุปกรณ์แทบจะทุกตัวใช้หน่วยประมวลผลของอินเทลทั้งหมด (แต่หลังจากงานนี้ไม่นาน ก็มีข่าวว่าเตรียมจะตีจากแล้ว)

งานครั้งนี้โดยภาพรวมถือเป็นเสมือน "ส่วนขยาย" ของงานที่จัดครั้งที่แล้ว โดยเน้นที่เรื่องของอุปกรณ์พกพาเป็นหลัก ตลอดจนถึงขยายคำอธิบายของยุทธศาสตร์ของอินเทลในตลาดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าเราจะได้เห็นทัพของอุปกรณ์ที่ใช้หน่วยประมวลผลของอินเทลออกมาอีกพอสมควรในตลาด

อย่างไรก็ตาม คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ตลาดของอุปกรณ์พกพาอย่างโทรศัพท์มือถือเริ่มอิ่มตัว (กล่าวคือสเปคของแต่ละเครื่องในแต่ละปี เริ่มไม่ทิ้งห่างหรือต่างกันแบบก้าวกระโดดในสมัยก่อน) สิ่งสำคัญก็คือแนวโน้มของอุปกรณ์แบบอื่นๆ อย่างเช่นกลุ่มอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ อินเทลจะก้าวต่อไปอย่างไรในตลาดนี้ ซึ่งทิศทางที่ประกาศไปในงาน CES 2014 เมื่อต้นปี ก็คงแสดงให้เห็นชัดเจนระดับหนึ่งว่าอินเทลเตรียมการมาพอสมควรแล้ว เพียงแต่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่อาจจะเร็วเกินไปที่จะชี้วัดในตอนนี้

ป.ล. สำหรับรูปภาพทั้งหมดดูได้ที่นี่ครับ

Blognone Jobs Premium