คำแนะนำต่อผู้ใช้เน็ตไทย เพื่อการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

by mk
28 May 2014 - 15:48

เหตุการณ์ Facebook ใช้งานไม่ได้ในช่วงบ่ายของวันนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของ "สถานการณ์จริง" ว่าถ้าช่องทางการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตเกิดปัญหาขึ้นแล้วส่งผลกระทบในวงกว้างแค่ไหน และในช่วงที่บ้านเมืองยังไม่กลับสู่ภาวะปกติเช่นนี้ ผลกระทบยิ่งรุนแรงขึ้นทั้งในแง่การสื่อสารที่ส่งหากันไม่ถึง และความหวาดระแวงหรือสงสัยต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนัก

ในฐานะเว็บไซต์ข่าวไอที Blognone ขอแนะนำเทคนิคสำหรับ "การสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตในสถานการณ์พิเศษ" ต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยจำนวน 3 ข้อใหญ่ ดังนี้

[สำหรับผู้ใช้ทั่วไป] เตรียมช่องทางสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 ช่องทางเสมอ

สำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปที่เป็น user ควรเตรียมช่องทางการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตไว้มากกว่า 1 ช่องทาง เพื่อเป็นทางเลือกสำรองกรณีช่องทางใดช่องทางหนึ่งมีปัญหาจนไม่สามารถใช้งานได้ และควรนัดแนะหรือเตรียมความพร้อมกับครอบครัว/คนสนิทว่าถ้าช่องทางสื่อสารปกติเกิดปัญหาขึ้น ให้สื่อสารผ่านช่องทางใดแทน เพื่อไม่ให้พลาดการติดต่อระหว่างกัน

โดยปกติแล้ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยมักนิยมใช้การสื่อสารผ่าน Facebook และ/หรือ LINE ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้เพิ่มช่องทางอื่นๆ มากขึ้นอีก 1-2 ทาง เช่น Twitter, Google Hangouts, WhatsApp, Skype หรือจะเป็นการสื่อสารทางอีเมลก็ได้เช่นกัน ส่วนการเลือกว่าจะใช้ช่องทางการสื่อสารแบบใดคงขึ้นกับความคุ้นเคยของกลุ่มที่เราจะสื่อสารด้วยเป็นหลัก

อย่าลืมว่าในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินและอาจใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้ ช่องทางการสื่อสารที่หวังพึ่งได้มากที่สุด (ในแง่การสื่อสารไปยังปลายทางได้) คือโทรศัพท์บ้านและ SMS

[สำหรับแบรนด์หรือหน่วยงาน] เพิ่มช่องทางการสื่อสารขององค์กรต่อสาธารณะ

ตามปกติแล้ว หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน แบรนด์ ในประเทศไทย มักนิยมสื่อสารผ่าน social network ด้วย Facebook Page เป็นหลัก และฝั่งของผู้บริโภคหรือลูกค้าเองก็มีความคุ้นเคยต่อการติดต่อกับหน่วยงานเหล่านี้ผ่าน Facebook อยู่แล้ว

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้แสดงให้เห็นว่า Facebook ก็มีความเสี่ยงในการใช้งาน ดังนั้นคำแนะนำของเราคือการ "กระจาย" ช่องทางการสื่อสารผ่าน social network ยี่ห้ออื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่บางช่องทางจะใช้งานไม่ได้ในบางช่วงเวลา

social network ที่ได้รับความนิยมมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป หน่วยงานควรพิจารณาเลือกใช้งานตามความเหมาะสมกับสภาพองค์กร

  • Twitter เหมาะกับการโพสต์สถานะสั้นๆ เพื่ออัพเดตข้อมูลที่ด่วนที่สุด ส่วนรายละเอียดควรใส่เป็นลิงก์ไปยังช่องทางการสื่อสารอื่นๆ
  • Instagram เหมาะกับการโพสต์รูปภาพหรือข้อความสั้นๆ ควรใช้ควบคู่กับ Twitter แต่ไม่ควรใช้สำหรับการสื่อสารที่เน้นข้อความเป็นหลัก
  • Google+ มีลักษณะคล้ายกับ Facebook มากที่สุด เพราะมีระบบ Profile/Page ลักษณะเดียวกัน อาจมองว่าเป็นระบบสำรองแทน Facebook ได้
  • เว็บไซต์องค์กร มีความน่าเชื่อถือสูงที่สุด ควรใช้สำหรับการประกาศอย่างเป็นทางการ และส่งลิงก์ของประกาศนั้นไปยังช่องทาง social network ที่มีแทน (เว็บไซต์ควรมีข้อมูลที่อยู่ติดต่ออย่างเป็นทางการ เช่น โทรศัพท์หรือแฟ็กซ์ที่เด่นชัดและค้นหาได้ง่าย)

บทความอ่านประกอบ Malaysia Airlines MH370 ตัวอย่างที่ดีของการสื่อสารออนไลน์ในภาวะวิกฤต

นอกจากนี้ เราแนะนำให้หน่วยงานพยายามประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายของตัวเองว่า ช่องทางการสื่อสารอื่นนอกจาก Facebook มีอะไรบ้าง โดยอาจสื่อสารผ่านโพสต์ของ Facebook เป็นระยะ, ขึ้นรายการ social ที่มีทั้งหมดบนเว็บไซต์ หรือแสดงข้อมูลที่อยู่ติดต่อผ่าน cover page ของ social network ต่างๆ เพื่อให้เห็นได้ง่าย

[สำหรับผู้ใช้ที่ระวังด้านความเป็นส่วนตัว] ใช้ระบบการสื่อสารที่ปลอดภัยและเข้ารหัส

แอพแชทยอดนิยมบางตัวไม่ได้ออกแบบให้เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยมากนัก สำหรับผู้ใช้ที่ระมัดระวังในแง่ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เราแนะนำใช้แอพแชทที่เข้ารหัสข้อมูลแบบ end-to-end ซึ่งในท้องตลาดมีให้เลือกหลายตัว เช่น

Blognone จะหาโอกาสมานำเสนอรายละเอียดของแอพแต่ละตัวต่อไป

เรายังแนะนำว่านอกจากแอพแชทที่เข้ารหัสแล้ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรเรียนรู้การใช้เครื่องมือท่องเน็ตที่รักษาความเป็นส่วนตัว เช่น VPN หรือ Tor ซึ่งหาข้อมูลอ่านได้ตามลิงก์ดังต่อไปนี้

เอกสารอ่านเพิ่มเติม: วิธีทางเทคนิคในการหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์

Blognone Jobs Premium