เน็ตเน่า? เบื่อโลก? ไปดวงจันทร์มั้ย? เน็ตที่โน่นแรงนะ

by ตะโร่งโต้ง
29 May 2014 - 17:39

หากว่าในอนาคตมนุษย์เราจะต้องไปอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ เราจะติดต่อใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโลกได้หรือไม่? คำถามนี้มีคำตอบแล้วเมื่อนักวิจัยจาก MIT และ NASA ได้ทำการทดลองเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตสู่ดวงจันทร์

การส่งข้อมูลสู่ดวงจันทร์ในการทดลองนี้ มิได้ใช้การส่งสัญญาณด้วยแรงดันไฟฟ้าดังเช่นสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ส่งตามสายสัญญาณแบบที่ใช้กัน ทั้งยังมิใช่การส่งด้วยคลื่นวิทยุ หากแต่เป็นการส่งสัญญาณแบบไร้สายอีกวิธีหนึ่ง นั่นคือการใช้แสงเลเซอร์

เหล่านักวิจัยใช้กล้องโทรทรรศน์จำนวน 4 ตัวซึ่งติดตั้งอยู่ที่ New Mexico ส่งสัญญาณขึ้นไปยังดวงจันทร์ จากนั้นทำการแปลงข้อมูลที่ต้องการส่งให้อยู่ในรูปของรหัสสัญญาณ และใช้อุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ทำการยิงลำแสงผ่านกล้องทั้ง 4 ตัวนี้ตามรหัสสัญญาณที่แปลงมาได้ โดยเทคนิคนี้ทำให้ชุดส่งสัญญาณมีกำลังส่งถึง 40 วัตต์ โดยลำแสงที่ถูกยิงขึ้นสู่ดวงจันทร์จะไปยังดาวเทียมที่โคจรรอบดวงจันทร์อยู่ในตอนนี้ และที่ดาวเทียมนั้นก็ได้รับการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อรวมลำแสงส่งผ่านไปยังตัวแปลงสัญญาณ เพื่อแปลงสัญญาณแสงเลเซอร์ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และทำการถอดสัญญาณออกเป็นข้อมูลในท้ายที่สุด

ทีมวิจัยของ MIT และ NASA จะนำเสนองานวิจัยและอธิบายที่มาที่ไปของการทดลองนี้ในวันที่ 9 มิถุนายนที่งาน CLEO อันเป็นงานสัมมนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเลเซอร์ เพื่ออธิบายว่าพวกเขาทำอย่างไรจึงสามารถส่งข้อมูลสู่ดวงจันทร์ได้ด้วยความเร็วที่ทำลายสถิติก่อนหน้า (ซึ่งใช้การสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ) เร็วกว่าเป็น 4,800 เท่า

ด้วยระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์อันคิดเป็นระยะทาง 384,633 กิโลเมตร พวกเขาสามารถส่งข้อมูลขึ้นไปได้ด้วยความเร็ว 19.44Mbps ยิ่งไปกว่านั้นในการดาวน์โหลดข้อมูลซึ่งใช้การยิงลำแสงเลเซอร์จากดวงจันทร์กลับมายังโลกยังสามารถทำความเร็วได้ถึง 622Mbps เรียกกว่าเร็วกว่าอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการตามบ้านทั่วไปในแทบทุกประเทศ

ทีมวิจัยอธิบายว่าการที่ต้องยิงลำแสงส่งสัญญาณในระยะไกลเช่นนี้เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากที่ระยะห่างมากขึ้น ลำแสงก็จะยิ่งแผ่กระจายออกกว้าง ซึ่งยากแก่การจัดทิศทางยิงลำแสงให้ตรงกับตัวรับ ที่สำคัญก็คือการยิงแสงเลเซอร์ผ่านชั้นบรรยากาศก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดการหักเหของลำแสง ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้กล้องโทรทรรศน์มากกว่า 1 ตัว เพื่อให้แน่ใจว่าดาวเทียมบนดวงจันทร์จะได้รับสัญญาณอย่างต่อเนื่อง แม้ลำแสงจากกล้องบางตัวอาจถูกเบี่ยงเบนไปในบางขณะ

ทีมวิจัยยังได้อธิบายอีกว่า จากกำลังงานที่ใช้ในการส่งสัญญาณ 40 วัตต์นั้น แท้จริงแล้วตัวรับสัญญาณจะได้รับสัญญาณแสงเลเซอร์ที่มีกำลังงานไม่ถึง 0.000001 วัตต์เท่านั้น แต่นั่นก็ถือเป็น 10 เท่าของกำลังงานขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการนำไปแปลงต่อเป็นข้อมูลแล้ว

ที่มา - Wired

Blognone Jobs Premium