รู้จักกับ HAXLR8R เมื่อสตาร์ทอัพไม่ได้จำกัดแค่ซอฟต์แวร์

by nrad6949
10 June 2014 - 16:05

เราอาจจะคุ้นเคยกับบริษัทหรือกองทุนที่ให้ทุนสนับสนุน (venture capital: vc) ในสายของซอฟต์แวร์อยู่พอสมควร แต่ถ้าพูดถึงทางฝั่งฮาร์ดแวร์หรือจำพวกอุปกรณ์ อาจจะยังเห็นความเคลื่อนไหวในด้านนี้ที่ไม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย เพราะหนึ่งในบริษัทหรือกองทุนเหล่านั้นมีกองทุนชื่อว่า HAXLR8R

สิ่งที่ทำให้ HAXLR8R มีความน่าสนใจอยู่ที่แนวคิดของการผลักดันบริษัทที่เป็นสตาร์ทอัพจำนวนหนึ่ง โดยเพียงในรอบสองปี กองทุนนี้ได้ผลักดันให้เกิดบริษัทไปแล้วเกือบ 30 บริษัท นั่นเอง โดยปัจจุบันทางกองทุนมีผู้ดูแลที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก และมีอุปกรณ์ที่ออกสู่ตลาดและน่าสนใจมากมาย ในวันนี้เราจึงจะมาเจาะลึกสำหรับ HAXLR8R ครับ

ความนำและที่มา

HAXLR8R (อ่านว่า "haccelerator" (อ้างอิง)) เป็นกองทุนที่ให้ทุนสนับสนุนกับทีมหรือบริษัทที่ต้องการผลิตแนวคิดของตนเองให้เป็นจริง โดยเน้นที่ไปที่ฮารด์แวร์เป็นหลักและมีที่ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน และนครซานฟรานซิสโก ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (เหตุผลหนึ่งที่ไปตั้งสำนักงานอยู่ที่ประเทศจีนอยู่ที่ความใกล้ในการเข้าถึงแหล่งอุปทาน (supply) ที่ใกล้ชิดกว่าการตั้งอยู่ในสหรัฐฯ) โดยให้เงินทุนรายละ 25,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 800,000 บาท) พร้อมกับพื้นที่ออฟฟิศ และผู้ดูแลโครงการเพื่อที่จะสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นจริงได้

แต่ลักษณะของ HAXLR8R นั้นค่อนข้างแตกต่างกับผู้ให้ทุนทั่วไปพอสมควร เพราะกองทุนนี้มีลักษณะของการเป็น seed accelerators ซึ่งในคำจำกัดความที่สั้นที่สุด เป็นโครงการที่มีระยะเวลาจำกัดซึ่งต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมขนาดเล็ก โดยมีการดูแลจากผู้ดูแล (mentor) และให้การเรียนรู้ก่อนที่จะนำเสนอโครงการต่อสาธารณะนั่นเอง ทั้งหมดอยู่ในกรอบเวลาที่ค่อนข้างจำกัดพอสมควร โดยสิ่งที่ seed accelerators จะได้รับตอบแทนจากการให้เงินทุน คือการที่ตัวเองจะต้องมีส่วนร่วมในหุ้น (equity) แทนที่จะเป็นค่าเช่าหรือคิดค่าบริการนั่นเอง (ในไทยก็อย่างเช่น dtac accelerator เป็นต้น)

HAXLR8R ก่อตั้งโดย Sean O’Sullivan และ Cyril Ebersweiler ซึ่งทั้งสองคนถือว่ามีบทบาทที่สำคัญในโลกของเทคโนโลยีพอสมควร (ในภายหลังได้ผู้ก่อตั้ง LEAP เข้ามามีส่วนด้วย)

สำหรับ Sean O’Sullivan ถือเป็นหนึ่งในคนดังของโลกเทคโนโลยี เพราะเขาเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่ให้นิยามกับคำว่า “Cloud computing” ตั้งแต่ในช่วงปลายยุค 1990 และมีประวัติในการเป็นส่วนร่วมก่อตั้งบริษัทสำคัญๆ จำนวนมาก (เช่น Mapinfo) ตลอดจนถึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบริษัทต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดคือการเป็นผู้ก่อตั้ง SOS Ventures ซึ่งมีส่วนลงทุนในสตาร์ทอัพจำนวนมาก (ที่อาจจะคุ้นเคยกับผู้อ่านใน Blognone มากหน่อยคือ Leap Motion) และ HAXLR8R เองก็ถือเป็นหนึ่งในโครงการของ SOS Ventures ด้วยเช่นกัน


Sean O’Sullivan (ภาพจาก Irish Daily Star)

ส่วน Cyril Ebersweiler เป็นชาวฝรั่งเศส แต่ทำงานในเอเชียมาค่อนข้างนาน โดยนอกจากทำงานร่วมกับ SOS Ventures และมีสถานะของการเป็นผู้ก่อตั้ง HAXLR8R แล้ว ยังมี accelerator อีกอันที่เขารับผิดชอบอยู่ ซึ่งก็คือ Chinaaccelerator ที่เป็นลักษณะของ HAXLR8R เช่นกัน แต่เน้นไปยังกลุ่มผู้ประกอบในประเทศจีนเป็นการเฉพาะนั่นเอง


Cyril Ebersweiler (ภาพจาก Ecosummit)

การทำงานของ HAXLR8R

นอกจาก HAXLR8R จะเป็น accelerator ที่มีความแตกต่างจากรายอื่นตรงที่เน้นไปที่ด้านฮาร์ดแวร์เป็นการเฉพาะแล้ว ยังเน้นไปที่เรื่องของการให้เงินทุนสนับสนุนในระยะแรกของการสร้างผลิตภัณฑ์ด้วย ในแง่นี้แปลว่าต้องอยู่ในระยะของการสร้างตัวต้นแบบด้วย ไม่ใช่ว่ามีความคิดอย่างเดียวแล้วจะขอได้ รวมถึงจะต้องไม่ใช่ที่ฮาร์ดแวร์อย่างเดียว (นั่นเพราะความเชื่อที่ว่า ในไม่ช้าก็จะมีคนมาทำซ้ำได้และกลายเป็นสินค้าแบบอุปโภคอย่างรวดเร็วนั่นเอง)

HAXLR8R มีกรอบการพิจารณาที่ค่อนข้างจะเข้มงวดอยู่พอสมควร (ลองดูได้จากด้านล่าง) และกรอบทั้งหมดนี้ ทำให้แม้ว่าจะเปิดกว้างพิจารณาใบสมัครในแต่ละรอบโดยไม่จำกัดผู้สมัคร แต่อัตราความสำเร็จที่จะได้เข้าไปอยู่ในการดูแลกลับมีค่อนข้างน้อย


(ภาพจาก The Crowd Fund Network)

สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้กรอบการพิจารณาค่อนข้างเป็นไปอย่างละเอียด ส่วนหนึ่งเพราะความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับการลงทุนในอุปกรณ์ฝั่งฮาร์ดแวร์มีค่อนข้างสูงนั่นเอง โดยโครงการต่างๆ ที่อยู่ในการดูแลของ HAXLR8R เกือบครึ่งมาจากในสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นเป็นยุโรปและเอเชีย

เมื่อเริ่มนำเอาโครงการเหล่านี้มาดูแล HAXLR8R จะให้จัดการสร้างตัวต้นแบบ (prototype) ภายในสัปดาห์แรก จากนั้นก็ต้องเริ่มต้นพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ต่อไป โดยทางกองทุนจะจัดให้มีการสาธิตต่อกลุ่มบุคคลที่ได้รับเชิญเพื่อรับฟังความเห็นสำหรับโครงการเหล่านี้เป็นเวลาทุก 30, 60 และ 90 วัน ทั้งหมดนี้จะดำเนินไปก่อนวันที่สิ้นสุดการดูแล ซึ่งจะเป็นวันสาธิตอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ HAXLR8R ตัดสินใจวิธีนี้ (คือการรับฟังความเห็นในวงปิดในตอนแรกเป็นช่วงๆ กับการเปิดต่อสาธารณะในขั้นตอนท้ายๆ) ส่วนหนึ่งเป็นการกระตุ้นให้คนที่ทำงานอยู่ทราบว่าบุคคลภายนอกคิดอย่างไร และในอีกส่วนหนึ่งก็สามารถเป็นการรักษาความลับเอาไว้ได้


(ภาพจาก HAXLR8R)

การดูแลดังกล่าวจะดำเนินไปตลอดระยะเวลา 15 อาทิตย์ โดยที่ตั้งหลักจะอยู่ที่เซินเจิ้น ประเทศจีน ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก มีโอกาสทำงานร่วมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในกรณีที่ต้องการพัฒนาอุปกรณ์และจำหน่ายจริง (ในกรณีเกิดการปรับเปลี่ยนต่างๆ จะกระทำได้อย่างรวดเร็ว) ซึ่งหลังจากจบโครงการก็ยังมีโครงการบางอัน (ที่กลายสถานะมาเป็นบริษัทสตาร์ทอัพหลังจากจบโครงการ) ยังคงทำอยู่ต่อที่เซินเจิ้น (อย่างเช่น Helios)

ตัวอย่างของโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ HAXLR8R

โครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลจาก HAXLR8R ที่น่าสนใจมีอยู่จำนวนมาก (ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ Crunchbase) โดยในที่นี้ ขออนุญาตคัดมานำเสนอในบทความนี้จำนวน 3 ชิ้น คือ Helios, Hoard และ Flexbot (Hex) ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นรูปเป็นร่าง และเริ่มทดลองหรือมีวางจำหน่ายจริงแล้ว

Helios ที่เป็นโครงการระบบนำทางสำหรับจักรยาน ที่รวมกับระบบการติดตามและควบคุมสัญญาณไฟของจักรยานด้วย (เช่น บอกเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา เป็นต้น) ลองดูตัวอย่างจากวิดีโอด้านล่างนี้

Hoard เป็นอีกหนึ่งโครงการที่อยู่ภายใต้ความดูแลของกองทุน โดยโครงการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองกับการแก้ไขปัญหาเรื่องของกุญแจให้เช่าของบ้าน (ถ้าสมมติว่าเป็น Hostel คือในกรณีที่เรามาหลังจากเวลาที่เปิดปิดปกติ และไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่) ในกรณีที่เราเปิดให้เช่าบ้านหรือทรัพย์สินแบบ time sharing (อย่างเช่น airbnb) โดยการออกแบบ locker อัจฉริยะ ที่เมื่อเราเอากุญแจเข้าไปในตู้แล้วปิด จะบอกรหัสให้เราส่งไปหาผู้รับปลายทางได้ ซึ่งผู้รับสามารถไปรับกุญแจได้ที่ locker ซึ่งตั้งเอาไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในเมือง

อีกอันหนึ่งคือ Flexbot (เดิมชื่อ Hex) ที่เป็นโดรนบินได้แบบ Parrot AR Drone ที่เราคุ้นเคยกันดี เพียงแต่มีขนาดที่เล็กกว่ามาก และมีความสามารถในการปรับแต่ง (customization) ได้สูง รวมถึงการกำหนดเส้นทางในการบินอัตโนมัติ หรือจะควบคุมจากสมาร์ทโฟนเองก็ได้เช่นกัน

แนวทางของ HAXLR8R ในอนาคต

ในรอบปีนี้เองทาง HAXLR8R เพิ่งจะปิดรับใบสมัครไปเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ดังนั้นกว่าเราจะทราบผลว่าในปีนี้จะมีโครงการใดอยู่ภายใต้การดูแลของ HAXLR8R บ้าง ก็จะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จากบทสัมภาษณ์บนเว็บไซต์ Wamda นั้น Eberswelier มองว่าในปีที่ผ่านมา (2013) แนวโน้มของฮาร์ดแวร์จำนวนหนึ่งไปอยู่กับอุปกรณ์ประเภทสวมใส่ (wearables) เป็นจำนวนมาก แต่ในปีนี้ (2014) จะมุ่งไปที่ head mounted displays (อย่างเช่น Google Glass หรือ Epson Moverio) กับเทคโนโลยีอย่าง Augmented Reality กับหุ่นยนต์มากกว่า โดยแนวโน้มทั้งหมดจะวิ่งไปในลักษณะธุรกิจมากขึ้น แทนที่จะไปหาผู้บริโภคโดยตรง

ทิศทางของ HAXLR8R นั้นคงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นนี้ แต่เป็นที่ชัดเจนว่าตัวกองทุนได้รับการจับตามองมากขึ้นในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มแนวคิด seed accelerator ในฝั่งของฮาร์ดแวร์ และน่าจะเป็นต้นแบบให้กับกองทุนหรือโครงการ accelerator ในอนาคตได้ดีด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้ประกอบการคนไทยที่อาจจะมีแนวคิดในการทำฮาร์ดแวร์ที่ดีและกำลังเริ่มต้นทำอุปกรณ์เหล่านี้ การใช้ช่องทางผ่าน seed accelerator ที่เปิดกว้างกับคนในประเทศหรือสัญชาติอื่นๆ อย่าง HAXLR8R ถือเป็นช่องทางที่ดีในการนำพาแนวคิดของตัวเองออกสู่ตลาดโลกได้แนวทางหนึ่งด้วย

อ้างอิง

ป.ล. บทความชิ้นนี้ขออุทิศให้กับ สงวนวงศ์ ธนียวัน ยายอันเป็นที่รัก

Blognone Jobs Premium