iBeacon เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทแอปเปิล โดยอาศัยคลื่นความถี่และเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม ผสานกับแนวคิดในฝั่งของซอฟต์แวร์และการบอกพิกัดตำแหน่งในอาคาร ผลที่ได้คือเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการบอกตำแหน่งและส่งข้อมูลให้กับผู้ใช้ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น นอกจากเพียงแค่เปิดเครื่องและอนุญาตให้รับสัญญาณจากตัวอุปกรณ์เท่านั้น
บทความนี้จะเป็นการกล่าวถึงเทคโนโลยี iBeacon โดยคร่าว และรูปแบบการใช้งาน การประยุกต์ใช้งาน ตลอดจนถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ในอนาคต
ทุกวันนี้เวลาเราเดินเข้าห้างสรรพสินค้าหรือร้านขายสินค้าและบริการต่างๆ สิ่งที่เรามักจะคุ้นเคยสำหรับคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือ (และค่อนข้างจะทันสมัยสักหน่อย) คือการใช้สำหรับหาสินค้าตามชั้นวาง (shelf) ต่างๆ หรือไม่ก็รับข้อความสั้น (SMS) สำหรับโปรโมชันของร้านหรือบริเวณที่เราเดินเข้าไป (อย่างเช่นข้อความสั้น ประชาสัมพันธ์โปรโมชันสมาร์ทโฟน เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้กับงานขายโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น) หากทันสมัยอีกสักหน่อย คือให้ผู้ใช้ “เช็กอิน” (check-in) เมื่อถึงสถานที่ต่างๆ เพื่อรับโปรโมชันหรือสิทธิพิเศษต่างๆ
แนวทางในลักษณะดังกล่าวนี้แม้จะปรากฏเป็นรูปร่างบ้างแล้ว แต่โดยส่วนมาก หากไม่ใช่อาศัยแนวทางของการกระจายข้อความผ่านข้อความสั้นในเขตพื้นที่ซึ่งกำหนดไว้ (ที่อาจจะมีพื้นที่แคบได้ไปจนถึงกว้างมากตามความสามารถของเสาส่งสัญญาณ) ก็เป็นการระบุแต่เพียงตำแหน่งเฉยๆ ว่า สินค้าชิ้นนี้อยู่ที่ใด หรือการเช็กอินตามสถานที่ต่างๆ แม้เป็นเรื่องค่อนข้างพบเห็นได้พอสมควร แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งไป ทำให้แนวทางในการใช้งานนี้ ค่อนข้างมีขีดจำกัดอยู่พอสมควร
คำถามที่สำคัญคือ แล้วจะมีเทคโนโลยีอะไร ตอบโจทย์ความไม่สมบูรณ์ หรือความไม่สะดวกในการใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ ที่ยังขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง? คำตอบอันหนึ่งที่อาจจะช่วยได้ คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า “iBeacon”
iBeacon เป็นเทคโนโลยีที่อาศัยการส่งข้อมูลและตำแหน่งภายในอาคาร โดยอาศัย Bluetooth 4.0 Low Energy เป็นฐานในการพัฒนา ควบคู่กับ Core Location APIs ในการหาตำแหน่งของผู้ใช้ เขตบริเวณ และอาศัยแนวทางนี้ในการส่งข้อมูลโปรโมชัน หรือตำแหน่งของสินค้าต่างๆ ไปให้กับผู้ใช้งานที่เปิดมือถือและฟังก์ชั่นการทำงานที่รองรับกับ iBeacon นั่นเอง ทั้งหมดนี้ดำเนินไปด้วยแนวทางที่ว่าจะต้องมีตัวรับสัญญาณ (ในที่นี้คือโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่รองรับ) และตัวกระจายสัญญาณ (ซึ่งเรียกว่า beacon) แนวคิดนี้คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “micro-location context” สำหรับโทรศัพท์ เมื่อเราเดินเข้า หรือออกจากบริเวณที่กำหนดนั่นเอง
สำหรับ beacon ในความหมายดั้งเดิมคือตัวบ่งบอกสัญญาณหรือสถานะต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในทะเลที่จะมีการบ่งบอกเขตพื้นที่หรือสภาพอากาศเป็นสัญญาณไฟ หรือหากเป็นในอดีตก็เป็นการส่งสัญญาณเตือนต่างๆ เช่น การเตือนภัยข้าศึก เป็นต้น หรือหากจะเข้ามาใกล้ตัวหน่อยในปัจจุบันก็คงเป็นเช่น สัญญาณติดรถยนต์ต่างๆ (เช่น ไฟสำหรับรถบริการสาธารณะฉุกเฉินประเภทรถขนส่งผู้ป่วย รถตำรวจ เป็นต้น) แต่ในนัยของเทคโนโลยีที่พูดถึงในบทความนี้ beacon ย่อมหมายถึงตัวกระจายสัญญาณที่มีการระบุตำแหน่งเฉพาะที่ (ตัวอย่างเช่น ตัวกระจายสัญญาณในห้องหนึ่งๆ เป็นต้น)
แนวคิดของ iBeacon นั้นถูกแนะนำ (และอันที่จริงมีใช้งาน) มาตั้งแต่สมัย iOS 7 แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างเต็มที่มากนัก ในงาน WWDC หรืองานประชุมนักพัฒนาประจำปีของแอปเปิลเมื่อปี 2556 (2013) ก็มีการพูดถึงอยู่ แต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ SDK ตัวใหม่ และในคำอธิบายเพิ่มเติมบนเว็บไซต์ของแอปเปิลเอง ก็ยังมีไม่เยอะมาก อย่างเช่นใน support.apple.com เองก็กล่าวถึงอย่างสั้นๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่แปลว่าเทคโนโลยีนี้จะไม่มีความสำคัญ เพราะใน iOS 8 ที่เพิ่งจะปล่อยให้นักพัฒนา (และตัวจริงสำหรับผู้ใช้ทั่วไปในอีกไม่นานนี้) การปรากฏตัวของเทคโนโลยี iBeacon เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เว็บไซต์ AppleInsider ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รายงานข่าวของแอปเปิล ได้เริ่มทดลองการใช้งานแล้ว ทั้งกับ Apple Store เอง หรือในร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks เอง ตลอดจนถึงบทความวิเคราะห์จาก Business Insider เอง ก็ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้อย่างมาก และมองว่ามันจะเป็นแนวทางใน ‘อนาคต’ ของแอปเปิลนับจากนี้ ที่จะกลายเป็นธุรกิจหลัก แทนที่ฮาร์ดแวร์ซึ่งเริ่มอิ่มตัว
สมมติสถานการณ์ตัวอย่างว่า ผมเดินเข้าร้านไวน์ ในปัจจุบันสิ่งที่ผมต้องทำ (และทำเป็นประจำ) คือการต้องสอบถามจากพนักงานว่าตำแหน่งชั้นของไวน์จากประเทศชิลีตั้งอยู่ตรงไหนของร้าน จากนั้นจึงสอบถามพนักงานว่ามีไวน์อะไรอยู่บ้าง และช่วงนี้มีโปรโมชันอะไรบ้าง แต่แนวทางของ iBeacon จะทำให้ผมมีเพียง iPhone หนึ่งเครื่อง ที่เปิด Bluetooth เอาไว้ เมื่อผมเดินเข้าร้าน โทรศัพท์มือถือสามารถแจ้งเตือนโปรโมชันไวน์ในเวลานั้นได้ทันที และสามารถบอกผมได้ทันทีว่า ชั้นไวน์ชิลีอยู่ตรงไหนของร้าน และมีไวน์ใหม่อะไรบ้างในเวลานี้
หรือหากว่าผมกำลังเล่นเกมอย่าง Ingress บน iPhone (อย่าลืมนะครับว่ามาแน่ๆ) ทุกวันนี้ปัญหาอันหนึ่งหากเดินเล่นในสวนเบญจสิริ คือความไม่แม่นของ GPS ในบางจุดที่มีอาคารสูงข้างเคียงรบกวน การเข้ามาของ iBeacon จะทำให้การระบุตำแหน่งในการเล่นเกม เป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น
เผื่ออาจจะยังไม่เห็นภาพ ลองดูวิดีโอจากหนึ่งในผู้ผลิต beacon ที่ชื่อว่า Estimote ดูครับ
เทคโนโลยีอย่าง iBeacon นี้ ไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะพื้นที่ในร่มอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่กลางแจ้งทั้งหลายด้วย (อย่างเช่นงานแฟร์ต่างๆ) เพราะ iBeacon ออกแบบมาสำหรับการระบุตำแหน่งที่ค่อนข้างละเอียดและแม่นยำ มากกว่าที่จะเป็นการระบุตำแหน่งตามธรรมดาแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นแล้วยังไม่ได้จำกัดเฉพาะบนแพลตฟอร์มของแอปเปิลแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสามารถใช้บนแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วยเช่นกัน
กระบวนการที่ iBeacon สามารถหาค่าความแม่นยำนั้น จะใช้ทั้งปัจจัยด้านตัวส่งสัญญาณวิทยุอื่น (ซึ่งมีอยู่แล้วใน Core Location APIs เช่น Wi-Fi หรือสัญญาณมือถือ) ผสมกับความเข้มของสัญญาณที่จับได้จากตัว beacon ที่กระจายสัญญาณออกมา คำนวณออกมาเป็นระยะห่างโดยคร่าว (ลองดูภาพด้านล่างประกอบ)
อย่างไรก็ตาม การใช้บนแพลตฟอร์มของแอปเปิล จะมีความสามารถเพิ่มในการทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ iOS สามารถทำตัวเป็น Beacon ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้วในแง่ของความสามารถ การใช้ภายใต้ระบบแวดล้อม (ecosystem) เดียวกัน ย่อมทำให้ดึงประโยชน์มาใช้งานได้อย่างสูงสุด
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือแนวคิดของ iBeacon มีความแตกต่างจาก NFC (Near Field Communication) อย่างชัดเจน ตรงที่ไม่ต้องเอาเครื่องไปแตะหรือเข้าใกล้กับตัวส่งสัญญาณ (ที่ทำเช่นนี้เพื่อเอาสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำกับตัวส่งสัญญาณให้เกิดพลังงาน แล้วส่งข้อมูลออกมาจากตัวส่งสัญญาณ) การที่ไม่ต้องแตะในแง่ทั่วไปนั้น เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ (ไม่ต้องหยิบมือถือขึ้นมาแตะให้วุ่นวาย) เพราะเพียงแต่อยู่บริเวณที่กำหนด ก็สามารถรับทราบถึงข้อมูลแล้ว
หรือหากกล่าวในอีกมิติหนึ่ง NFC นั้นเป็นการส่งข้อมูลในระยะใกล้ๆ (เหมือนกับในอดีตเช่น IrDA หรือที่รู้จักกันในนาม อินฟราเรด) โดยระยะที่ “เห็นผล” (optimal range) ของ NFC นั้นอยู่ที่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร (ทางทฤษฎีที่ 20 เซนติเมตร) ซึ่งตรงกันข้ามกับ iBeacon ที่ส่งข้อมูลได้ไกลกว่า (เพราะใช้ Bluetooth) เช่น ข้ามห้อง เป็นต้น โดยในทางทฤษฎี Bluetooth จะใช้ระยะทางในการส่งข้อมูลต่างกัน แล้วแต่ ระดับชั้น (class) ของคลื่นความถี่ โดยไกลสุดได้ถึง 100 เมตร และใกล้ที่สุดประมาณ 1 เมตร แต่ปกติแล้ว อุปกรณ์อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือปกติจะใช้ที่ Class 2 ซึ่งอยู่ที่ 10 เมตร (ทั้งหมดต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง)
(ภาพการชำระเงินโดยใช้ NFC จาก MasterCard)
ในแง่นี้หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมมติว่าผมเดินไปที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และผมอยากทราบโปรโมชันลดราคาบัตรโดยสารจากผู้ให้บริการโทรศัพท์ หากใช้ระบบ NFC สิ่งที่เกิดขึ้นคือผมต้องไปถึงสถานที่ซึ่งมีตัว NFC ติดอยู่ หยิบมือถือขึ้นมา แล้วนำไปแตะ ก่อนจะรู้ข้อมูล ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะเสียเวลาประมาณ 3-5 นาที ต่อครั้ง และผมอาจจะต้องหยุดในบริเวณที่กำหนด (และแน่นอนว่าอาจจะมีผู้ที่ต้องการทำธุรกรรมแบบเดียวกับผมอีกนับสิบหรือหลายร้อยราย)
ตรงกันข้าม หากผมใช้เทคโนโลยี iBeacon สิ่งที่ผมทำคือเพียงแค่เดินเข้าไปบริเวณที่กำหนด (อาจจะอยู่ระหว่างที่ผมกำลังยืนบนบันไดเลื่อน) มือถือแจ้งเตือน สิ่งที่ผมต้องทำมีเพียงแค่การหยิบอุปกรณ์ (อย่างเช่น มือถือ) ขึ้นมาอ่าน แล้วอาจจะทำรายการเพื่อขอรหัสส่วนลดก่อนที่จะเดินไปแสดงให้กับพนักงานได้ทันที ในแง่นี้ผมไม่ต้องเจอทั้งแถวคิวที่รอนาน และไม่ต้องเสียเวลาแตะเพื่อเรียกข้อมูลแต่อย่างใด
นอกจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังเป็นประเด็นเรื่องของการลงทุนด้วย สำหรับผู้ประกอบการ แม้ NFC Tag ในปัจจุบัน จะมีราคาที่ค่อนข้างต่ำต่อชิ้น (ประมาณ 20-40 บาท แล้วแต่คุณภาพ) แต่หากลองนึกว่าถ้าเป็นร้านจำหน่ายหนังสือ และมีความจำเป็นที่จะต้องติด NFC กับหนังสือเกือบทุกเล่ม หรือติดเพื่อให้พอกับบริเวณร้านที่มีขนาดใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้นทุนทั้งหมดจะสูงมาก
ในทางตรงกันข้าม หากใช้ iBeacon ที่ปัจจุบันเริ่มมีการจำหน่ายกันในราคาประมาณ 99 เหรียญ (ประมาณ 3,300 บาท) สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการลงทุนจะสูงในตอนแรก แต่เมื่อผ่านไป ความที่ไม่จำเป็นต้องติด beacon ให้กับสินค้าทุกชิ้น ผลก็คือต้นทุนที่ถูกลงเมื่อเทียบกับต้นทุนของ NFC ที่ต้องจ่ายไปนั่นเอง
หากพิจารณาลึกลงไปในด้านเทคนิค NFC นั้นใช้วิธีการเขียนข้อมูลในรูปแบบที่คงทนและตายตัว (static) กล่าวก็คือ เมื่อเขียนข้อมูลลงไปแล้วข้อมูลก็จะอยู่ในแผงวงจรทันที (ซึ่งแก้ไขได้และไม่ได้ แล้วแต่การออกแบบ) ขณะที่ iBeacon เป็นการกระจายข้อมูลที่มีความเป็นพลวัต (dynamic) อยู่ตลอด กล่าวคือ ในกรณีอย่างเช่นของ PayPal Beacon (ซึ่งจะกล่าวต่อไปด้านล่าง) การทำงานจะเป็นไปในลักษณะของการเชื่อมต่อเข้ากับพอร์ต USB ของเครื่องรับชำระเงิน หรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังต้องอาศัยไฟฟ้าในการทำงานตลอดเวลาด้วย (NFC เป็น RFID แบบหนึ่ง ที่อาศัยการเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็ก ทำให้เกิดพลังงานขึ้นมา)
แนวทางของ iBeacon สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากงาน WWDC เมื่อปี 2013 โดยแอปเปิลมองว่า วิธีการที่แบ่งปันข้อมูลหรือใช้ข้อมูลผ่าน NFC นั้น “ไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด” โดยตอนแนะนำคุณสมบัติ AirDrop ของ iOS 7 นั้น Craig Federighi พูดเอาไว้ว่า
There's no need to wander around the room, bumping your phone.
ดังนั้น iBeacon จึงเป็นการสานต่อแนวคิดดังกล่าวที่ต่อยอดออกมาจาก AirDrop และมีความแตกต่างในเชิงวิธีคิดของ NFC เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้แปลว่าจะใช้ร่วมกันไม่ได้เสียทีเดียว เพราะในการใช้งานจริงอาจจะอยู่ในสถานการณ์ที่ใช้ร่วมกันได้ เช่น เมื่อต้องการรู้ข้อมูลลึกลงไปในสินค้าแต่ละชิ้น (ตัวอย่างเช่นอาหาร) การใช้ NFC ย่อมมีประโยชน์มากกว่า เพราะระบุได้เป็นสินค้ารายชิ้น เป็นต้น
ในปัจจุบันเองไม่ได้มีแต่เพียงแอปเปิลเท่านั้นที่เริ่มต้นทำแนวคิดในลักษณะนี้ เพราะ PayPal เอง ก็มีโซลูชั่นของการชำระเงินหรือการประชาสัมพันธ์ร้านในรูปแบบ Micro-location context เช่นกัน โดยเรียกว่า PayPal Beacon ซึ่งก็มีแนวคิดการทำงานที่คล้ายคลึงกัน (ลองดูวิดีโอจากตัวอย่างข้างล่าง)
แนวคิดของ PayPal Beacon แม้จะเน้นไปที่การชำระเงินบนแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่ในอีกมิติหนึ่ง ก็ทำงานลักษณะใกล้เคียงกับ iBeacon อย่างมาก อาจจะเรียกว่าแนวคิดใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นแล้วยังทำงานกับระบบจุดขาย (POS: Point of Sale) ได้หลากหลายระบบเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
นอกจาก PayPal ที่เลือกเดินเส้นทางของตัวเองแล้ว ยังมีผู้ผลิตอย่าง Estimote ที่ผลิตตัว beacon ซึ่งรองรับกับเทคโนโลยี iBeacon ออกมาจำหน่ายในราคา 99 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และรวมไปถึงผู้ผลิตรายอื่นๆ จำนวนมาก ที่ทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็รวมไปถึงผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง Qualcomm ที่เปิดตัว Gimbal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันและรองรับเทคโนโลยี iBeacon ของแอปเปิลด้วยเช่นกัน
(ภาพหน้าตาของ Estimote โดย Tech Crunch)
เมื่อ iBeacon ถูกพัฒนาขึ้นโดยแอปเปิลที่มีแพลตฟอร์มอย่าง iOS เป็นอาวุธอยู่ในมือ ประกอบกับบริการออนไลน์ที่มีอยู่แล้ว รวมถึงการติดความสามารถ Touch ID เข้าไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือการสร้างระบบการชำระเงินและระบบการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป
ในบทความจาก Business Insider ที่เขียนโดย Jim Edwards ระบุอย่างชัดเจนว่า แนวทางของแอปเปิลที่กำลังก่อร่างสร้างตัว ทั้งในแง่ของซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ ย่อมทำให้ประสบการณ์ในการซื้อสินค้าในระบบร้านค้าปลีกเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด นั่นก็เพราะแนวทางในการชำระสินค้าแต่เดิมนั้น การยืนยันโดยที่ไม่มีระบบ Touch ID ทำให้การซื้อสินค้าดำเนินไปอย่างยากลำบาก (อย่างเช่น ต้องพิมพ์รหัสผ่านที่กำหนดไว้ ฯลฯ)
ในทางตรงข้าม เมื่อเปลี่ยนมาใช้ Touch ID สิ่งที่เกิดขึ้นคือการชำระเงินที่เปลี่ยนไป เพราะง่ายขึ้นและมีการยืนยันตัวตนที่ปลอดภัยขึ้น สำหรับ Jim จึงมองว่าการเกิดขึ้นของ Touch ID นั้น “ทำให้ iPhone กลายเป็นอุปกรณ์ที่เกือบจะสมบูรณ์แบบในการชำระเงิน เพราะความปลอดภัยที่มีเกือบจะสมบูรณ์แบบ” (Because it makes your phone almost completely secure, the iPhone suddenly becomes an almost perfect mobile payments device.) ซึ่งสิ่งนี้สอดคล้องกับแนวทางล่าสุดของแอปเปิล ที่เปิดให้แอพจากนักพัฒนาภายนอก สามารถเรียกใช้ Touch ID APIs ได้ บน iOS 8 นั่นเอง
ลองกลับมาที่ตัวอย่างแรกสุด สมมติว่าผมต้องการจะซื้อไวน์ตัวหนึ่ง (ในที่นี้สมมติว่าเป็น Almaviva) จากชั้น ในรูปแบบเก่า ผมต้องหยิบขวดไวน์ ล้วงกระเป๋าเงินมาจ่าย หิ้วขวดไวน์ออกจากร้าน แต่หากใช้แนวทางแบบ iBeacon นั้น ผมเพียงแค่ยืนอยู่ตรงส่วนไหนก็ได้ของร้าน สั่งจ่ายเงินโดยใช้ลายนิ้วมือ แล้วเอาไปยื่นให้พนักงานดู หลังจากนั้นก็ใส่ถุง แล้วหิ้วกลับบ้านเท่านั้น โดยทั้งหมดใช้ Apple ID ในการชำระทันที หรือหากทันสมัยกว่านั้น ผมเพียงแค่สั่งชำระเงินไว้ก่อนเดินเข้าร้าน เมื่อใกล้ถึงบริเวณร้าน พนักงานก็เตรียมของเอาไว้ให้ผมสามารถหยิบไปจากเคาน์เตอร์ได้ทันทีนั่นเอง
แนวทางเช่นนี้หากมองในทางแนวคิดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมและการค้าขายไปโดยสิ้นเชิง และแน่นอนว่าย่อมสร้างความสะดวกให้กับผู้ใช้อย่างมหาศาลด้วยเช่นกันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แนวทางเช่นนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเสมอไปในบางประเทศ เช่น ข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี (สมาร์ทโฟนในปัจจุบันแม้จะมีราคาที่ถูกแล้ว แต่ก็อาจจะยังไม่มากพอในการเข้าถึงสำหรับทุกคน) หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม (เช่น การเน้นถามในลักษณะของการใช้เสียงกับตัวบุคคล มากกว่าที่จะสอบถามจากข้อมูลที่มีในหน้าจอ) เป็นต้น
ป.ล. บทความชิ้นนี้ขออุทิศให้กับ สงวนวงศ์ ธนียวัน ยายอันเป็นที่รัก