รีวิว Oppo Find 7

by nrad6949
27 June 2014 - 17:27

หลังจากที่ Oppo เปิดตัว Find 7 และ Find 7a ไปอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงมีนาคม และวางจำหน่าย Find 7a ไปก่อน จนเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา Oppo จึงเริ่มวางจำหน่าย Find 7 อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ซึ่งในโอกาสนี้ Blognone ก็ได้รับเครื่องรีวิวมาด้วย เรื่องสเปคไปอ่านจากข่าวเก่าได้ เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าครับ

คำเตือน ภาพเยอะมาก โปรดใช้วิจารณญาณก่อนการเข้าดูรีวิวบนอุปกรณ์พกพาของท่าน

แกะกล่องและสัมผัสตัวเครื่อง

แนวทางของกล่อง Find 7 ยังคงลักษณะที่คล้ายคลึงกับ Oppo N1 เพียงแต่มีความเรียบหรูมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

Find 7 มาพร้อมกับอุปกรณ์เสริมครบ ทั้งแบตเตอรี่ขนาด 3,000 mAh, หูฟัง (ผมไม่ได้ทดสอบนะครับ) และก็ที่ชาร์จพิเศษของ Find 7

หัวชาร์จของ Find 7 เป็นหัวชาร์จ Micro USB ซึ่งปรับแต่งเป็นพิเศษ มีจำนวนขาที่มากกว่าปกติอยู่สองขา (จาก 5 เป็น 7) และมีขนาดที่ยาวกว่าหัวชาร์จอื่นอยู่เล็กน้อย เพราะปรับแต่งให้เข้ากับระบบชาร์จไฟเร็วของ Oppo (เรียกว่า VOOC) ซึ่งถ้าเอาไปเสียบใช้กับอุปกรณ์อื่น แม้จะชาร์จเข้า แต่เนื่องจากขนาดของหัวที่ยาวกว่า จึงไม่มีทางที่จะทำให้มันชาร์จได้เลย เพราะมันจะติดๆ ดับๆ (ลองดูภาพด้านล่างได้เลยครับ)

หัวชาร์จเมื่อเสียบกับ Droid Ultra

หัวชาร์จเมื่อเสียบเข้ากับตัว Find 7

ตัวเครื่องของ Find 7 ให้การออกแบบที่ค่อนข้างดูแล้วเรียบง่าย ถ้าใช้สำนวนในด้านการออกแบบคงต้องเรียกว่า “minimalism” หรือออกแบบให้มีรายละเอียดที่จะดึงดูดความสนใจให้น้อยที่สุด ถ้าพูดกันในเชิงสุนทรียศาสตร์ ต้องถือว่า Find 7 ออกแบบได้ดีมาก ให้ความรู้สึกที่หรูพอสมควรเมื่อเทียบกับ flagship ของปีนี้ (ไม่นับ Vertu)

สำหรับในไทย ตัวฝาหลังของ Find 7 จะเป็นสีดำ ส่วน Find 7a จะเป็นสีขาว แยกรุ่นกันชัดเจน (ดังนั้นใครอยากได้ 7 ฝาหลังขาว ให้หาคนที่ใช้ Find 7a แต่อยากได้ฝาหลังดำแล้วแลกกันครับ ฮา) โดยฝาหลังดำของ Find 7 มีการเล่นลูกเล่นเป็นฝาหลังแบบ Kevlar เอาไว้ดูให้สวยงามขึ้น (เข้าใจว่าเป็นเฉพาะลาย แต่ไม่ได้ทำมาจาก Kevlar จริง เพราะพอแกะฝาออกมาแล้วไม่ใช่แบบที่ Moto ทำ คือใช้ Kevlar ทั้งผืน)

การแกะฝาหลัง จะต้องหาอะไรแหลมๆ มากดปุ่มสีทองด้านข้างเครื่องก่อน จากนั้นฝาจะดีดตัวออกมาเล็กน้อย เมื่อดีดตัวออกมาแล้วจึงค่อยๆ ใช้เล็บแกะไปตามรอบๆ เครื่อง ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าวิธีนี้จะเอาไปใช้ปฏิบัติได้ในโลกความเป็นจริง (practical) ดีแค่ไหน แต่สำหรับหลายเครื่องที่การแกะฝาหลังทำได้ยากสุดขีด (และบางรายถึงกับเปลี่ยนแบตไม่ได้) แนวทางนี้ถือว่าโอเคที่สุดแล้ว

ข้อหนึ่งที่ผมสังเกตได้คือลำโพงที่เป็นสเตอริโอ ขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งหายาก (ขนาด LG G3 ผมเข้าใจว่ายังเป็นแค่ลำโพงโมโน)

แน่นอนว่าตัวเครื่องนั้นใหญ่มหึมา เสียดายที่ผมไม่มีรูปเทียบเครื่องอื่นเลยนอกจาก LG G3 (เดี๋ยวจะเขียนเล่าต่อไปในอีกส่วนหนึ่ง) เลยเอามาให้ดูกันครับ (ทั้งสองเครื่องขนาดหน้าจอเท่ากัน ความละเอียดเท่ากัน) ซึ่งก็จะพบความเป็นจริงว่า LG G3 นั้นเล็กกว่ากันพอสมควร (เอาเป็นว่า Find 7 ขนาดใกล้เคียงกับ Samsung Galaxy Note 3)

รายละเอียดภายในของเครื่องจากแอพ CPU-Z ครับ

รายละเอียดข้อมูลและคะแนนจาก Antutu Benchmark

หมดจากตัวเครื่องก็ได้เวลา “ซอฟต์แวร์” กันครับ

ซอฟต์แวร์

ซอฟต์แวร์ภายในคือ Android 4.3 ที่ได้รับการปรับแต่งด้านการใช้งาน จนเรียกว่า Color OS ซึ่งก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจ (และไม่น่าสนใจ) โดยภาพรวมมันก็คือ Android ตามปกติ เพียงแต่ว่าเพิ่มลูกเล่นนิดหน่อยเข้าไปให้มันดีขึ้น

แน่นอนว่ามีแอพและบริการที่ติดมาด้วยจำนวนหนึ่ง (ซึ่งผมก็ไม่ได้ใช้งาน) โดยความเคยชินจากการใช้ Moto G ผมค่อนข้างหงุดหงิดพอสมควรที่มีแอพไม่จำเป็นติดมาเป็นจำนวนมาก (และไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย) และมักจะสั่งให้ปิดไม่ค่อยจะได้ หรือมีฟังก์ชั่นการทำงานที่จัดเต็ม จัดเยอะ แต่เข้าข่าย “มีไว้ทำไมก็ไม่รู้” (ลองดูตัวอย่างภาพด้านล่างจากเมนูการตั้งค่าได้)

ในสถานการณ์ของ Find 7 การมีแอพที่ติดมากับเครื่องเป็นจำนวนพอสมควร ส่งผลให้แรม 3GB (ซึ่งในทางทฤษฎี ควรจะยิ่งกว่าเพียงพอ) เหลืออยู่ประมาณ 500-800 MB แล้วแต่สถานการณ์ในการใช้งานตามปกติ ดังนั้นต้องถือว่าใช้งานแรมได้ค่อนข้างน่าตกใจอยู่ทีเดียว (เข้าใจว่าเป็นเพราะทรัพยากร (resource) ในแอพด้วย)

สิ่งที่ Find 7 มีเหมือนกับ N1 คือคุณสมบัติในการทำ gesture หรือการวาดนิ้วลงบนหน้าจอในรูปแบบต่างๆ (ลองอ่านรีวิว Oppo N1 ประกอบ) โดยมีทั้งในรูปแบบที่ปิดหน้าจอ (ซึ่งเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย นอกจากกำหนดว่าการลากนิ้วแบบไหนให้เรียกอะไรขึ้นมาเท่านั้น)

กับอีกรูปแบบคือการวาดนิ้ว (gesture) บนหน้าจอตรงๆ ซึ่งเราเรียกใช้ได้จากการวาดนิ้วลงมาจากแถบสถานะด้านบนฝั่งซ้ายมือ โดยเราสามารถกำหนดรูปแบบในการเรียกได้

ตัวอย่างเช่น ผมใช้แนวทางทำ gesture เรียกแอพ Ingress โดยลากเป็น glyph (สัญลักษณ์) ของเกม อย่างในนี้ผมลากเป็นเส้นของทีม Resistance (อะแฮ่ม) เพื่อเรียกใช้งาน

ซึ่งผมพบว่าแนวทางนี้ค่อนข้างสะดวกกว่าการกดเรียกหาแอพจากตัว Launcher ของ Color OS ซึ่งค่อนข้างมีลักษณะลูกผสมระหว่างการใช้งานในแบบ iOS กับ Android มากพอสมควร ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการลบการติดตั้ง (uninstall) แอพ โดยของ Color OS เป็นแบบเดียวกับ iOS คือกดค้างให้ไอคอนมันสั่น จากนั้นกดเครื่องหมายกากบาทเพื่อลบทิ้ง

นอกเหนือจากคุณสมบัติ gesture แล้ว อีกหนึ่งอันที่เป็นคุณสมบัติที่มีมาก่อนแล้วใน Moto X, Droid 2013 คือการรอรับคำสั่งเสียงตลอดเวลาเพื่อเรียกใช้ Google Now โดยเรียกคุณสมบัตินี้ว่า Voice Wakeup และสามารถเลือกคำได้ว่าจะเอาอะไร (ระหว่าง Hey Snapdragon กับ Hello My Oppo)

ส่วนที่รำคาญในอีกจุดอย่างเช่น เวลาแสดงข้อความ SMS ตัวหน้าจอจะดีดขึ้นมาเป็นหน้าต่างพิเศษแบบ User Access Control (UAC) ใน Windows Vista (ซึ่งหาประโยชน์ไม่ได้ที่จะทำ) ที่เหลือคงไม่มีอะไรมากมาย เพราะเหมือน Android ตามปกติ อนึ่ง ผมทดลองเอาแม่เหล็กไปจ่อแถวๆ ด้านบนของเครื่อง และหน้าจอเครื่องกลับแสดงสิ่งที่เรียกว่า “small window mode” ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติแบบ Quickwindow ของ LG (ซึ่งแปลว่า Oppo คงมีเคสพิเศษที่ไม่ได้เอามาจำหน่ายในเมืองไทยแน่ๆ)

การใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน

แบตเตอรี่

หนึ่งในคุณสมบัติที่เป็นตัวชูโรงของ Find 7 (ไม่ว่าจะรุ่นสูงสุด หรือรุ่น a) คือคุณสมบัติของการชาร์จไฟได้เร็วมาก เมื่อเทียบกับเครื่องปกติทั่วไป ทั้งนี้เพราะการปรับแต่งพอร์ต Micro USB และการใช้ที่ชาร์จพิเศษดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งจากการใช้งานจริงต้องถือว่าสนใจมากทีเดียว (และเป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจแยกออกมาเป็นหัวข้ออีกอันต่างจาก นอกจากหัวข้อการใช้งานจริง)

จากประสบการณ์ในการใช้งานของคนอื่นที่ได้เครื่องรีวิวไปเหมือนกัน ทุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า แบตเตอรี่หมดเร็วมาก โดยทุกคนบอกว่าส่วนใหญ่ได้ที่ประมาณ 5 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามจากการใช้งานของผมจนถึงระดับที่แบตเหลือเพียง 1% เท่านั้น ระยะเวลาที่ใช้ได้อยู่เกือบๆ ประมาณ 8 ชั่วโมง (ใช้ทั้งเปิดเล่น Ingress บ้าง เล่นเน็ตบ้าง) ซึ่งก็ถือว่าเพียงพอสำหรับชีวิตประจำวัน แต่ก็แนะนำว่าพกที่ชาร์จไปด้วย อาจจะเผื่อไว้ในกรณีที่ไม่คาดคิด

ที่น่าสนใจคือการชาร์จไฟเข้า ซึ่งถือว่ารวดเร็วมากๆ ลองดูกราฟในรูปด้านล่างได้ เนื่องจากผมไม่มีโอกาสจับเวลาตลอดว่าเต็มเมื่อใด เลยไม่กล้าฟันธงว่าอยู่ที่กี่ชั่วโมงถึงจะเต็ม เพียงแต่รู้ว่าเร็วมากเท่านั้น เร็วจนประทับใจ ต้องถือว่าทำได้เร็วสมราคาคุย

กล้อง

Find 7 มาพร้อมกล้องที่ความละเอียด 13 เมกะพิกเซล แต่มีโหมดในการถ่ายภาพที่หลากหลายมากๆ มีทั้ง RAW, Panorama, Beautify, Auto, Ultra HD, HDR และอื่นๆ (มีเยอะแบบที่ผมจำยังไงก็ไม่หมด และไม่มีทางใช้มันหมดด้วย)

นอกจากนี้ยังปรับแต่งรายละเอียดอื่นๆ ของแอพกล้องได้ด้วย

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการถ่ายภาพคือโหมดแบบ UHD (Ultra-HD) ที่ใช้วิธีการเลือกภาพที่ดีที่สุดจำนวน 4 ภาพที่ดีที่สุดจาก 10 ภาพ ในการถ่ายที่เร็วมากๆ แล้วเอามารวมกันเพื่อสร้างภาพขนาด 50 เมกะพิกเซล ผลที่ได้คือภาพซึ่งคมชัดมากๆ ลองดูสามภาพด้านล่างเทียบกับได้ ระหว่าง โหมด Auto, HDR และ UHD (UHD อาจจะต้องกดเข้าไปเพื่อดูและซูมนะครับ) ส่วนตัวรู้สึกว่าภาพที่ออกมาจากโหมด Ultra-HD ถือว่าทำได้ดี แต่ยังไม่เท่า Lumia 1020 ที่ถือว่าอาจจะดีที่สุด (เพราะเป็นที่ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์)

ภาพแบบ Auto

ภาพแบบ HDR

ภาพแบบ Ultra-HD

นอกเหนือจากนั้น การถ่ายรูปทั่วไป โดยเฉพาะกับโหมด Auto ถือว่าทำได้ดีมาก ภาพที่ออกมาถือว่าสวยงามอย่างมาก เช่นภาพด้านล่างนี้

มิติอื่นๆ

นอกจากการใช้งานในสองส่วนข้างต้นแล้ว โดยการใช้งานทั่วไปถือว่า Find 7 ทำงานตอบสนองความต้องการพื้นฐานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี หน้าจอที่ความละเอียดสูงมาก (QHD หรือ 2K) ทำให้เวลาดูงานศิลปะที่อาศัยความละเอียดสูงจัด (อย่างเช่นในการทดสอบ ที่นำเอาภาพ Starry Night ของ Vincent Van Gogh มาทำเป็นพื้นหลัง) ค่อนข้างเนียนและสบายตา ไม่มีรอยแตกให้เห็น

เรื่องความละเอียดของหน้าจอกับบางแอพที่อาจจะเปิดใช้งานไม่ได้ เท่าที่ทดสอบมายังไม่เจอแอพไหนที่เปิดไม่ขึ้นและมีการจัดวางที่ผิดไปจากปกติเลยแม้แต่น้อย ตัวอย่างเช่น Ingress ที่สามารถเล่นบนจอขนาด 2K ได้อย่างสบาย และแอพในเครื่องอื่นๆ ก็แสดงถูกต้องตามปกติ ดังนั้นถ้าเป็นแอพทั่วไป ก็น่าจะรองรับกับหน้าจอความละเอียดขนาดนี้ได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นแอพเฉพาะทางหรือที่ใช้ในองค์กร (In-house app) อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง

เรื่องของการโทรศัพท์ต้องถือว่า Find 7 ให้เสียงที่ชัดเจนและดีพอสมควร อย่างไรก็ตามสำหรับลำโพงนั้นแม้จะมาเป็นสเตอริโอ แต่ก็ยังเบาและให้เสียงที่ไม่ค่อยดีนัก (เมื่อเทียบกับ Droid Ultra แล้ว Droid Ultra ยังดีกว่าและดังกว่า) ส่วนหน่วยความจำ 32 GB ที่มาพร้อมเครื่อง ถือว่าเหลือกินเหลือใช้มาก

ส่วนคนที่เล่นเกมอย่าง Ingress ต้องบอกว่า Find 7 อาจจะไม่เหมาะสม เพราะความแม่นยำของ GPS นั้นค่อนข้างต่ำ ผมทดสอบคร่าวๆ เทียบจากประสบการณ์ที่ใช้ Moto G แล้ว ต้องบอกว่า Moto G เหนือกว่ามากในระบบของ GPS ส่วนหน้าจอ 2K อย่างที่บอกไปแล้วว่า ไม่ใช่ปัญหาในการตีป้อมฝั่งตรงข้ามแต่ประการใด

ส่วนคุณสมบัติ Voice wakeup มีประโยชน์ในการช่วยเรียกใช้งาน Google Now ในสถานการณ์ที่เครื่องปิด จนกระทั่งถ้าเมื่อผู้ใช้ตั้งค่ารหัสผ่านป้องกันหน้าจอ หรือแบบลากเส้นเป็นแนว (pattern) การเรียกใช้ Voice wakeup แทบจะกลายเป็นของไร้ประโยชน์ไปเลย เพราะต้องเจอติดหน้าจอป้องกันดังกล่าว ขณะที่ของ Moto X/Droid 2013 กลับสามารถเรียกใช้ Google Now ได้ทันที ยกเว้นเมื่อจะต้องออกไปยังแอพอื่นเท่านั้น ถึงต้องการรหัสผ่าน

เทียบระหว่าง Find 7 กับ LG G3

หนึ่งในเรือธงตัวใหม่ที่เพิ่งจะเปิดตัวในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการวางจำหน่ายจริงของ Find 7 คือ LG G3 ซึ่งตัวของ G3 นั้นมีขนาดหน้าจอและความละเอียดที่เท่ากับ Find 7 และสเปคข้างในที่มีความคล้ายคลึงกันมากๆ เมื่อมีโอกาส ผมเลยไปลองเทียบทั้งสองตัวด้วยกันแบบคร่าวๆ เพื่อที่จะได้เห็นว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

โดยภาพรวม ผมรู้สึกว่า G3 จับแล้วถนัดมือมากกว่า ส่วนหนึ่งเพราะขนาดเครื่องที่เล็กกว่าและโค้งรับกับสรีระของมือมากกว่า Find 7 แต่นอกเหนือจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจอ เสียง หรือน้ำหนัก ถือว่าใกล้เคียงกันและค่อนข้างชี้วัดลำบากว่าเครื่องไหนจะดีกว่ากัน (เสียดายที่ไม่มีโอกาสเขียนรีวิวแบบใช้คู่กันทั้งสองเครื่องเพื่อเทียบ)

บทสรุป

ในยุคปัจจุบันที่ตัวฮาร์ดแวร์และคุณสมบัติพื้นฐานเหมือนๆ กันหมด สิ่งที่จะทำให้แต่ละเครื่องมีความแตกต่างกันคือเรื่องของซอฟต์แวร์ และสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวที่กำหนดการใช้งานและจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าดีกว่าหรือแย่กว่า (ยกเว้นจะไปทำวัสดุให้ดีสุดๆ ไปเลย แบบ Vertu เป็นต้น)

ด้านฮาร์ดแวร์ Oppo Find 7 ทำออกมาได้ดีมากและไม่มีอะไรจะต้องติภายใต้ระดับราคา 19,990 บาท กล้องถือว่าทำได้ดี แบตเตอรี่ชาร์จเร็วสมราคาคุย ส่วนหมดเร็วหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าพอๆ กับสมาร์ทโฟนทั่วไปถ้าไม่ใช้งานหนัก ความเร็วที่ได้ก็ดี

อย่างไรก็ตาม ความดีในฝั่งฮาร์ดแวร์ ไม่ได้แปลว่าจะส่งผลไปยังฝั่งซอฟต์แวร์ด้วย เพราะในฝั่งซอฟต์แวร์ Oppo ยังทำได้ไม่ดีนัก เช่น ใส่ฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็น, Color OS ที่ยังไม่เข้าที่, Android ที่ยังมาเป็น 4.3 (ไม่เห็นแม้แต่เงาของ KitKat) และอื่นๆ ซึ่งของเหล่านี้ Oppo สามารถปรับแก้ได้ และควรจะทำ ซึ่งในฐานะผู้รีวิวเอง สิ่งที่คาดหวังคือในอีกประมาณ 1-2 เดือนจากนี้ Oppo น่าจะ (และควรจะ) ปล่อย Color OS รุ่นที่ปรับปรุงแล้วให้กับผู้ใช้ ซึ่งถ้าประสบการณ์ใช้ดี เชื่อว่าคนจะหันมาพิจารณา Find 7 มากขึ้น

ส่วนตัวแล้ว ถ้าให้พิจารณาด้วยงบประมาณราว 20,000 ต้นๆ ผมอาจจะยังลังเลใจถ้าจะต้องเลือก Find 7 เพราะเหตุผลด้านซอฟต์แวร์ล้วนๆ อีกทั้งไม่มีอะไรรับรองได้ว่าผมจะได้อัพเดตไปต่อใน Android รุ่นต่อๆ ไปด้วยเช่นกัน ความลังเลในมิติซอฟต์แวร์นี้ย่อมทำให้ฮาร์ดแวร์ที่ดีของ Oppo ต้องพ่ายคู่แข่งอย่าง LG G3 ที่อย่างน้อยในเชิงของซอฟต์แวร์ ทำออกมาได้ดีกว่าแน่นอน

ข้อดี

  • ฮาร์ดแวร์ดี มีคุณภาพ
  • ความเร็วที่ลื่นไหลมากในการใช้งานจริง
  • หน้าจอคมชัดมาก
  • น้ำหนักที่ไม่มากจนเกินไป

ข้อด้อย

  • ซอฟต์แวร์ภายในที่ยังขาดๆ เกินๆ และใช้งานแล้วเหมือนกับไม่เข้าที่หลายจุด
  • ไม่มีการรับรองว่าจะได้อัพเดตในอนาคตหรือไม่อย่างชัดเจน

ป.ล. ภาพทั้งหมดดูได้ที่นี่

Blognone Jobs Premium