ถ้ายังจำกันได้ เมื่อครั้งการประมูลคลื่นความถี่ 3G 2100MHz ในปี 2555 กสทช. เคยประกาศว่าจะกำกับดูแลค่าบริการ 3G ลง 15-20% จากราคา ณ ตอนนั้น
เวลาผ่านมาเกือบสองปี ผลการศึกษาจากกลุ่ม NBTC Policy Watch ที่ศึกษาโดย ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2556-2557 พบว่า
- ราคาค่าบริการ 3G โดยเฉลี่ย ยังลดลงไม่ถึง 15% โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
- มีเพียง DTAC ที่ค่าบริการเฉลี่ยลดมากกว่า 15% ถ้าเปรียบเทียบแพ็คเกจค่าโทรเดือนมิถุนายน 2557 กับเดือน พฤษภาคม 2556 พบว่า DTAC มีค่าบริการลดลงประมาณ 24%
- TRUE มีค่าบริการลดลงประมาณ 14%
- AIS ลดลงเพียง 8% เท่านั้น และไม่เคยเปลี่ยนแพ็คเกจค่าบริการรายเดือนเลยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556
- แพคเกจที่ราคาลดลงในสัดส่วนที่สูง มักเป็นแพคเกจที่ผู้บริโภคไม่ค่อยเลือกใช้มากนัก เช่น แพ็คเกจสำหรับผู้ใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตในปริมาณมากตั้งแต่ 1GB หรือ 2GB ต่อเดือน เป็นต้นไป
- กลุ่มผู้ใช้ที่ใช้บริการเสียงเยอะ เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลดราคาแพ็คเกจน้อยที่สุด เพราะผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีแนวโน้มใช้บริการเสียงเกินจำนวนโควต้า แต่ราคาค่าโทรเกินแพ็คเกจกลับอยู่ที่ 1.25-1.5 บาทต่อนาที สูงกว่าอัตราขั้นสูงที่ กสทช. กำหนดที่ 0.99 บาทต่อนาที
- กสทช. ออกมาให้ข่าวบ่อยครั้งว่าราคา 3G ลดลงแล้วมากกว่า 15% แต่ กสทช. กลับไม่เคยเปิดเผยว่า กสทช. แยกราคาบริการต่างๆ ออกจากราคาแพคเกจรวมอย่างไร
ที่มา - NBTC Policy Watch