รีวิว Google Cardboard เวอร์ชันทำเอง

by Alpha Version
8 July 2014 - 18:13

สืบเนื่องจากงาน Google I/O ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กูเกิลได้เปิดตัว Google Cardboard ซึ่งเป็น แว่นจำลองภาพเสมือนจริงที่ทำงานร่วมกับโทรศัพท์ และสำหรับคนที่ไม่ได้เข้าร่วมงานทางกูเกิลก็ได้แจกแบบให้มาทำกันเองได้ (ข่าวเก่า)

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่สนใจเจ้า Cardboard และก็ลองเข้าไปศึกษาข้อมูลจากหน้า Developer ของ Cardboard และพบว่ามีวัสดุที่จำเป็นต้องใช้เป็นส่วนประกอบ ดังนี้

คำเตือน มีรูปจำนวนมาก โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชมผ่านอินเทอร์เน็ทที่มีการจำกัดปริมาณข้อมูล

- กระดาษแข็ง สำหรับเป็นโครงสร้างของ Cardboard
- เลนส์สำหรับขยายภาพ 1 คู่ เป็นเลนส์นูนสองด้าน มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 25 มม. และมีความยาวโฟกัส 45 มม
- แม่เหล็กสำหรับเป็นสวิตช์กด ประกอบด้วยแม่เหล็กวงแหวนและแม่เหล็กกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 มม. หนา 3 มม.
- ตีนตุ๊กแก สำหรับยึดฝาปิดด้านหลังเข้ากับตัว Cardboard
- ยางวง กันโทรศัพท์ลื่นหล่น
- NFC tag สำหรับเปิดแอพ Cardboard อันนี้มีหรือไม่มีก็ได้

ออกค้นหา

ผมพบว่าส่วนที่หายากที่สุด และเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ เลนส์สำหรับขยายภาพ ซึ่งทางกูเกิลแนะนำเลนส์ของ Durovis Dive ซึ่งมีราคาถึง 19.99 ดอลล่าร์ และค่าชิปปิ้งอีก 4.51 รวมเป็นเงินราว 800 กว่าบาท นอกจากนั้นผมยังต้องรับความเสี่ยงจากการขนส่งเลนส์โดยไปรษณีย์ไทย ซึ่งทำให้ผมตัดทางเลือกนี้ทิ้งไป

ผมกลับไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม และหลังจากค้นหาไปสองวัน ผมก็พบข่าวดี เลนส์ขนาดที่ผมกำลังหาอยู่นั้นมีขายที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ในราคาที่ถูกมาก คือตัวละ 47 บาทเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีขายวัสดุอื่น ๆ ที่ต้องใช้ในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย ได้แก่

  • แม่เหล็กกลม 7 บาท
  • แม่เหล็กวงแหวน 18 บาท
  • ตีนตุ๊กแก 25 บาท
  • ยางวง สมนาคุณพิเศษ ฟรี!!!
    ส่วนตัวกระดาษแข็งที่ใช้ทำโครงนั้นผมเลือกใช้กระดาษลังซึ่งได้รับอภินันทนาการจากร้านขายของชำข้าง ๆ ที่พัก

เลนส์จากศึกษาภัณฑ์พาณิชย์

วัสดุทั้งหมดที่ใช้

ลงมือทำ

หลังจากได้วัสดุที่ต้องการครบ ก็เริ่มขั้นตอนแกะแบบ โดยผมทำการพิมพ์แบบลงในกระดาษ A4 และตัดแบบมาแปะลงบนกระดาษแข็งด้วยกาวแท่ง เพื่อให้สะดวกต่อการแกะออกในภายหลัง

จากนั้นก็ได้เวลาเริ่มแกะแบบด้วยคัตเตอร์ ซึ่งถือเป็นงานหนักมากสำหรับผมที่ไม่ได้จับงานประดิษฐ์อีกเลยตั้งแต่จบชั้นมัธยมปลาย

ผมพบว่าการแกะส่วนยึดเลนส์นั้นค่อนข้างยากพอสมควร เนื่องจากมีรายละเอียดจำนวนมาก

หลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง การแกะแบบทั้งหมดก็เสร็จ และเข้าสู่ขั้นตอนประกอบต่อไป

เมื่อนำชิ้นส่วนทั้งหมดมาประกอบกัน ผมจึงพบว่าผมคิดผิดอย่างยิ่งที่เลือกใช้กระดาษลัง เนื่องจากความหนาของกระดาษทำให้พับยาก และต้องขยายรูที่เจาะเอาไว้เพื่อให้สามารถประกอบส่วนที่ยึดเลนส์เข้าไปได้

หลังจากปรับแก้จำนวนมาก Cardboard ของผมก็พร้อมสำหรับใช้งาน ผมไม่ได้เจาะช่องสำหรับกล้องตามแบบ เนื่องจากตำแหน่งกล้องของ MI3 ของผมนั้นอยู่ที่มุมขวาบนซึ่งไม่ตรงกับแบบ

ภาพหลังจากประกอบและทดลองใช้งานมาบ้างแล้ว

ลองใช้งาน

หลังจากทดลองใช้ และให้เพื่อนที่ทำงานตลอดจนเด็กข้างบ้านร่วมทดลองด้วย ผมพบแต่ละคนได้พบประสบการณ์ที่ดีอย่างยิ่ง ซึ่งไม่สามารถอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ นอกจากจะให้ลองใช้เอง แต่ก็มีปัญหาเล็กน้อย ดังนี้

  • ขายึดเลนส์ที่ยื่นออกมานั้นยังทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งน่าจะเป็นเพราะกระดาษลังที่ผมเลือกใช้นั้นไม่แข็งแรงเมื่อถูกตัดออกเป็นส่วนเล็ก ๆ
  • ผมสวมแว่นตา จึงไม่สามารถใช้งานได้สะดวกนัก (ติดแว่น) ครั้นจะตัดช่องสำหรับแว่นก็จะเป็นการทำให้ตัวโครงซึ่งขาดความแข็งแรงอยู่แล้วอ่อนยวบลงไปอีก

สรุป

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า Cardboard เป็นของเล่นซึ่งให้ประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ในราคาต้นทุนที่ถูกมาก (ไม่นับเวลาที่ใช้ไปกับการนั่งตัด) และมีโอกาสที่จะนำไปใช้ต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ แต่ตัวแบบก็ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงเรื่องการยึดเลนส์ และการเลือกใช้วัสดุที่อาจจะต้องทนทานมากกว่ากระดาษลังจากร้านขายของชำทั่วไป รวมทั้งการปรับให้เข้ากับโทรศัพท์มือถือที่มีหน้าจอหลายขนาดต่างกันไป ซึ่งหากใครที่คิดจะลองทำ Cardboard เล่นเองก็ต้องปรับปรุงแบบกันสักหน่อยครับ

Blognone Jobs Premium