สัมภาษณ์คุณสิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม RGB72 - ประสบการณ์เปิดบริษัท และสิ่งที่สตาร์ตอัพไทยควรรู้

by mk
15 July 2014 - 02:45

บทสัมภาษณ์นี้เป็นตอนที่สองในซีรีส์ “บทเรียนสำหรับสตาร์ตอัพไทย” (ตอนแรก: สัมภาษณ์คุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล) โดยรอบนี้เราจะสัมภาษณ์คุณสิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม หรือคุณเก่ง แห่งบริษัท RGB72 บริษัทรับทำเว็บที่อยู่คู่วงการไอทีไทยมานาน 13 ปี มีผลงานทำเว็บให้หน่วยงานใหญ่ๆ ของประเทศไทยมามากมาย โดยเฉพาะสายการเงิน ประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์ (รายชื่อลูกค้า)

คุณเก่งมีโอกาสเป็น mentor ของโครงการส่งเสริมสตาร์ตอัพไทยหลายโครงการ เช่น True Incube และ SIPA และมีประสบการณ์ให้คำปรึกษาแก่สตาร์ตอัพไทยหน้าใหม่เป็นจำนวนมาก บทความนี้จะเล่าประสบการณ์ของคุณเก่งจากการเปิดสตาร์ตอัพของตัวเองโดย “เริ่มต้นจากศูนย์” และมุมมองต่อสตาร์ตอัพไทยยุคปัจจุบันว่ายังขาดอะไรบ้าง

อยากให้แนะนำตัวสั้นๆ ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้างครับ

ผมไม่ได้จบไอทีมาโดยตรง พื้นเพคือจบด้านดีไซน์ที่อเมริกา เคยทำงานกับ CNN และ Martha Stewart Living พอได้ทำงานกับบริษัทฝรั่ง เราก็เห็นการทำงานที่มีระบบชัดเจนมากกว่าเมืองไทยมาก จุดเด่นของ CNN คือเรื่องอุปกรณ์ มีครบมาก ขออะไรไปเขาอนุมัติให้เราหมดเพราะเขาถือว่าให้อาวุธเราไปรบ แต่ได้ของมาแล้วก็ต้องใช้งานให้เต็มที่คุ้มค่าจ้างด้วย

ส่วน Martha Stewart ก็ได้ประสบการณ์อีกแบบคือเน้นการวิจัยข้อมูล ลงดีเทลกับงานออกแบบลึกมาก แค่เลือกคู่สีก็ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว ถ้าเป็นเมืองไทยคงใช้เวลาออกแบบทั้งหมดกันแค่ 3 วัน อันนี้เป็นประสบการณ์ว่าถ้าเราคิดเยอะๆ แต่แรก เราไม่ต้องกลับมาทบทวนหรือแก้ไขบ่อยๆ ระหว่างทำงาน

หลังกลับจากอเมริกาก็มาทำงานในเมืองไทยประมาณ 1 ปี แล้วตัดสินใจมาเปิดบริษัท RGB72 รับทำเว็บในช่วงที่เว็บเริ่มบูมพอดี

เหตุผลที่สนใจเรื่องการออกแบบเว็บเป็นเพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ในช่วงนั้น ผมเริ่มหัดเขียนเว็บมาตั้งแต่ยังไม่รู้เรื่องอะไร ซื้อหนังสือฝรั่งมาอ่าน เปิดมาก็สอนโครงสร้างไฟล์ HTML เลย ไม่รู้ว่าต้องเขียนใส่โปรแกรมอะไร หาข้อมูลแค่ตรงนี้หลายสัปดาห์ ไปถามเพื่อนถึงรู้ว่าเขียนด้วย Notepad ก็ได้ (หัวเราะ)

คนวงการออกแบบมักมีพื้นฐานมาจากงานออกแบบสิ่งพิมพ์ แต่ผมคิดว่าเว็บดีกว่าเยอะ เพราะสิ่งพิมพ์ทำไปแล้วแก้ยาก แถมเว็บมันสนุกกว่า อินเทอร์แอคทีฟกว่า ใส่แอนิเมชั่นได้

เปิดบริษัททำเว็บมานานกว่า 10 ปี มีแนวทางการทำธุรกิจอย่างไรบ้าง

แนวทางการออกแบบเว็บของ RGB72 คือเว็บไม่ใช่แค่ product สำเร็จรูป แต่ต้องปรับเปลี่ยนตามคาแรกเตอร์ของลูกค้าอยู่เสมอ

กฎต่างๆ ของการออกแบบที่เราร่ำเรียนมานั้นเป็นแค่พื้นฐาน แต่ในการทำงานจริง เราต้องพลิกแพลงให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละราย ตัวอย่างเช่น ผมทำเว็บไซต์ให้บริษัทหลักทรัพย์มากว่า 10 แห่ง พบว่าตัวฟังก์ชันของเว็บเหมือนกันหมด มีเมนูซื้อขาย ดูข้อมูลหลักทรัพย์เหมือนๆ กัน คำถามคือเราจะสร้างความแตกต่างให้กับโบรกเกอร์แต่ละแห่งได้อย่างไร ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือวิจัยข้อมูลให้ละเอียด คู่สีควรเป็นแบบไหน ดึงคาแรกเตอร์ของแต่ละบริษัทแล้วสะท้อนออกมาผ่านหน้าเว็บให้ได้

เมื่อเราสามารถสร้างความแตกต่าง สร้างจุดเด่นในบริการของตัวเองได้แล้ว การหาลูกค้าก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะลูกค้าจะแนะนำกันปากต่อปากให้เราเอง ตัวอย่างของเว็บไซต์หลักทรัพย์มีความซับซ้อนสูง เมืองไทยหาคนทำได้ยาก พอลูกค้ารายหนึ่งพอใจกับเราก็แนะนำให้เพื่อนๆ ในวงการต่อ

งานในสายไอทีนั้นเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอด จะอยู่ให้ได้ต้องรู้ลึกและรู้จริงเท่านั้น ลูกค้าในอดีตมีความรู้ทางไอทีน้อย ลูกค้าปัจจุบันมีความรู้เยอะขึ้น แต่รู้จริงหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง บางทีแค่อ่านข่าวมาแล้วอยากได้แบบเดียวกันบ้าง เช่น อยากได้ยอดไลค์เยอะๆ อยากได้คนโหลดสติ๊กเกอร์เยอะๆ แต่ได้เยอะแล้วเอามาทำอะไรก็ยังไม่รู้ ตรงนี้เราจึงต้องเข้าไปให้คำปรึกษา (consult) กับลูกค้าเพิ่มเติมนอกเหนือจากการดีไซน์อย่างเดียว

โดยรวมแล้วก็คงพอบอกได้ว่า หัวใจหลักของ RGB72 คือ character & consult

ปัจจุบันทุกองค์กรมีเว็บกันหมดแล้ว ธุรกิจทำเว็บยังมีอนาคตหรือไม่

ปัจจุบันเราขยายธุรกิจจากเว็บเพียงอย่างเดียวมาเป็นสื่อดิจิทัล คือเพิ่มเรื่องแอพและจอสัมผัสเข้ามา แต่ 80% ของงานก็ยังเป็นเว็บอยู่นะ

ธุรกิจเว็บอาจดูเก่า ไม่เซ็กซี่ แอพอาจดูใหม่กว่า น่าสนใจกว่า แต่สุดท้ายแล้วพื้นฐานขององค์กรต้องมีเว็บก่อนแอพเสมอ และเว็บเองต้องพร้อมสำหรับ mobile ด้วย

ผมเคยสงสัยว่าธุรกิจเว็บจะตายหรือเปล่า แต่ทุกวันนี้เพื่อนๆ ที่เปิดธุรกิจรับทำเว็บมาในรุ่นเดียวกันก็ยังอยู่ได้ คนยังต้องการทำเว็บอยู่เรื่อยๆ แถมตลาดแอพที่ว่ามาแรงก็เริ่มเต็มแล้ว มีบริษัทใหญ่ๆ ครองตลาดได้เกือบหมดแล้ว เด็กจบใหม่เข้าไปทำแข่งก็ลำบาก อันนี้เหมือนธุรกิจเว็บสมัยก่อนเลย

ในฐานะที่เปิดบริษัทของตัวเองมาตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ มีประสบการณ์การบริหารงานอะไรบ้าง

เรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะธุรกิจดิจิทัลไม่มีต้นทุนอย่างอื่นเลย มีแต่คนล้วนๆ ที่เหลือก็มีออฟฟิศ มีคอมพิวเตอร์ อะไรแบบนี้นิดหน่อย แต่หลักสำคัญคือคน

ผมมีหลักการบริหารคน 2 ข้อที่อาจดูขัดแย้งกัน แต่ก็ต้องหาจุดสมดุลระหว่างกันให้ได้

แนวทางแรกคือสนิทสนมกับทีมงาน ลงไปคลุกคลี ให้ใจกับทีมงาน ทำให้เขารักเรา วิธีนี้เวิร์คเพราะทีมงานจะให้ใจกับเรา อยู่กับเรานาน แต่ก็มีข้อเสียคือพนักงานบางคนพอเห็นว่าเจ้านายคุยได้เล่นได้ ก็เริ่มไม่อยู่ในระเบียบมากนัก

ดังนั้นเราต้องนำเรื่องกฎเกณฑ์ กฎระเบียบของบริษัทเข้ามาช่วย กฎบางอย่างน่าเบื่อนะ แต่ก็ต้องมี เช่น มาสายแล้วต้องโดนหักเงิน เพื่อให้มีกรอบมาจำกัด ซึ่งกรอบพวกนี้มีมากเกินไปก็ไม่ดีเพราะบางคนจะเริ่มอึดอัด

ผมเห็นสตาร์ตอัพหน้าใหม่ส่วนใหญ่เริ่มจากการเป็นกลุ่มเพื่อนๆ กัน ช่วงแรกก็ทำงานกันสบายๆ ไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์อะไร ทุกคนไฟแรงลุยงานกันเต็มที่ แต่ผ่านไปสักพักจะเริ่มมีปัญหาถ้าไม่มีกฎที่ชัดเจน เช่น บางคนทำงานมาก บางคนทำงานน้อย ตอนแรกสมัยยังไม่ค่อยมีเงินก็คงไม่เป็นไร พอเริ่มมีรายได้เข้ามาจะแบ่งกันอย่างไร เริ่มมีปัญหา

ดังนั้นการกำหนดกฎเกณฑ์แต่แรกเป็นเรื่องสำคัญ มันอาจดูเขี้ยวในช่วงแรก แต่ในระยะยาวจะเป็นผลดี ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำงานดึก คุณได้โอที แต่ถ้าทุ่มเททำงานดึกมากจนทำให้มาสาย ตอนเช้าวันถัดมาก็ต้องโดนหักเงินอยู่ดี กฎต้องชัดเจน

ที่สำคัญคือพอมีกฎเกณฑ์แล้วต้องมีมาตรฐานเดียวกันในการบังคับใช้ ห้ามมีสองมาตรฐานเด็ดขาด โดยเฉพาะถ้าในทีมงานมีคนที่เป็นเพื่อนกันแล้วได้สิทธิพิเศษ การมีมาตรฐานที่ดีจะช่วยให้พนักงานไม่เสียเวลามานั่งจับผิดพนักงานคนอื่นว่าทำไมได้สิทธิพิเศษเหนือตัวเอง

นอกจากเรื่องการบริหารคนและกฎระเบียบแล้ว มีอะไรอีกบ้างที่คิดว่าสตาร์ตอัพควรรู้

เรื่องการจัดการเงินครับ สตาร์ตอัพที่เป็นเด็กจบใหม่อาจไม่รู้วิธีการบริหารเงิน พอระดมทุนแล้วได้เงินมา ก็ไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไร

ที่ผมพบมาคือคนทำสตาร์ตอัพส่วนใหญ่เป็นคนสายเทคนิค เป็นคนทำของ พอได้เงินมาปั๊บก็จะไปลงกับเซิร์ฟเวอร์ใหม่ ลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสามารถเพิ่ม เน้นโปรดักชั่น แต่ไม่เก็บเงินไว้สำหรับทำการตลาดหรือประชาสัมพันธ์เลย หรือถ้ากลับกันเป็นคนสายการตลาด ก็จะเอาเงินไปลงกับแคมเปญการตลาดเสียหมด ดังนั้นคนทำสตาร์ตอัพควรมีความรู้เรื่องการจัดการเงินให้เหมาะสมด้วย

ส่วนตัวแล้วผมว่าแนวทางการทุ่มพัฒนาโปรดักชั่นใหญ่ๆ กะทำทีเดียวดังเป็นแนวทางที่ไม่เวิร์ค อันนี้เหมือนกับการทำหนังฮอลลีวู้ดเลย ลงทุนใหญ่ๆ แล้วไปวัดกันตอนท้ายว่าเจ๊งหรือรวยด้วยเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์หลังหนังฉาย มันเสี่ยงมาก ผมจึงชอบการทำงานเล็กๆ แล้วเน้น “เปลี่ยนให้ไว” มากกว่า ผมมองว่าการปรับตัวให้เร็วนั้นสำคัญกว่าการวางแผนตอนแรกด้วยซ้ำ

เนื่องจากคุณสิทธิพงศ์ร่วมเป็น mentor ในโครงการสตาร์ตอัพหลายโครงการ เวลามองหาทีมที่เข้ารอบ มองที่ไหนบ้าง

ผมไม่ได้เลือกสตาร์ตอัพที่ไอเดียนะ แต่ดูที่ทัศนคติ (attitude) และการทำงานเป็นทีมด้วย บางคนที่มาประกวดหรือมาเสนองานมาแบบมั่นใจสุดๆ พอเราคอมเมนต์ติงไปก็ไม่ยอมรับว่าไอเดียของตัวเองไม่ดี ทัศนคติแบบนี้ปรับเปลี่ยนยาก ถ้าทีมงานก่อตั้งมีทัศนคติไม่ดีจะลำบากในระยะยาว เพราะแกนหลักของสตาร์ตอัพคือ "คน" ส่วนไอเดียเปลี่ยนได้ตลอด โมเดลธุรกิจก็ปรับตามไอเดียเสมอ

ผมจึงมองที่ทัศนคติของทีมงานก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยดูไอเดียว่าน่าสนใจไหม อันดับสุดท้ายค่อยดูเรื่องโมเดลธุรกิจว่าทำอะไรได้บ้าง

เวลาไปตัดสินงานสตาร์ตอัพ เด็กมหาวิทยาลัยบางคนมาแข่ง โดนคอมเมนต์แรงๆ บนเวที แต่มีทัศนคติที่ดี ไม่ยอมล้มเหลวง่ายๆ จบงานแล้วมาคุยกับเราต่อ ขอคำแนะนำว่าควรแก้ไขอย่างไร นี่คือคุณลักษณะที่ดีของการเป็นผู้ประกอบการ ล้มเหลวได้แต่จงลุกขึ้นมาให้ไว

ที่ผ่านมาพบปัญหาในวงการสตาร์ตอัพไทยอย่างไร

ปัญหาที่พบในวงการสตาร์ตอัพไทยคือโลกทัศน์ของคนทำสตาร์ตอัพไม่ค่อยกว้าง ถ้าวันๆ หนึ่งงานอดิเรกของคุณคือการเล่นเฟซบุ๊กหรือดูละคร คุณก็คงคิดได้แค่การทำโซเชียลเน็ตเวิร์คขึ้นมาอีกตัว หรือไม่ก็ทำอะไรที่เกี่ยวกับละคร-บันเทิง

เลยอยากฝากบอกคนที่อยากทำสตาร์ตอัพว่านั่งอยู่หน้าคอมก็คิดได้เท่าเดิม ดังนั้นจงทำตัวให้กว้าง หาแรงบันดาลใจให้เยอะ เดินทางให้เยอะ ไม่ต้องไปเมืองนอกก็ได้ เมืองไทยก็ได้ คุยกับคนให้เยอะๆ แล้วหัดสังเกตสิ่งรอบตัว หัดสังเกต หัดถาม

อีกปัญหาคือเด็กไทยยังพรีเซนต์กันไม่ค่อยเก่ง ผมพบปัญหานี้ตอนไปสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย พอมอบหมายงานให้ค้นคว้าแล้วมาพรีเซนต์ให้เพื่อนฟัง ยังติดๆ ขัดๆ กันอยู่มาก ทักษะพวกนี้ต้องฝึก พอฝึกไปสักพัก ขัดเกลาดีๆ พบว่าปรับปรุงกันได้

ปัญหาอย่างสุดท้ายคือในโครงการประกวดสตาร์ตอัพ มักมี mentor ประจำทีมไว้คอยให้คำปรึกษา สิ่งที่พบคือทีมมักไม่ค่อยสนใจมาคุยกับเรา ต้องบอกไว้ตรงนี้เลยว่า mentor ทุกคนยุ่ง แต่ละคนเป็นบิ๊กเนม มีงานของตัวเองมากมาย ทีมที่เข้ามาแข่งต้องเป็นฝ่ายเข้ามาหาเอง ต้องนัดเวลามาคุย ขอให้รู้ว่าทุกคนยินดีคุยด้วยเสมอ นอกจากนี้ก็ไม่ควรจำกัดเฉพาะการคุยกับ mentor ทีมของตัวเองเพียงคนเดียว สามารถขอเข้าไปคุยกับ mentor ได้ทุกคน เพราะแต่ละคนก็เชี่ยวชาญกันคนละอย่าง ยิ่งคุยเยอะยิ่งได้คอมเมนต์เยอะ เอาไปปรับตัวได้ง่าย ดังนั้นทีมที่เข้าแข่งต้องรู้จักเข้าหาคนด้วย

อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากจะทำสตาร์ตอัพ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

ปัจจุบันมีงานอีเวนต์เกี่ยวกับสตาร์ตอัพค่อนข้างเยอะ งานส่วนใหญ่เป็นงานเปิด เข้าฟรี คนที่อยากทำสตาร์ตอัพควรพยายามไปงานพวกนี้ก่อน ไปทำความรู้จักคน ไปเรียนรู้คนอื่น พอมีโครงการแข่งขันก็ควรสมัครเข้าร่วม ตกรอบไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้กระบวนการว่ามันทำอย่างไร ได้ประสบการณ์เพิ่ม รู้จักคนเพิ่ม ทำไปเรื่อยๆ ก็จะพัฒนาเป็นทีมที่มีฝีมือโดดเด่นได้

หมายเหตุ:

คุณสิทธิพงศ์ มีบล็อกที่เขียนเกี่ยวกับบทเรียนในชีวิตการทำงานที่ More Input More Output และบล็อกด้านเทรนด์เทคโนโลยี-ดีไซน์ที่ Blog 72 ใครสนใจก็ไปติดตามอ่านกันได้ครับ นอกจากนี้ยังมีหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง Read everyday repeat every month (ดาวน์โหลดอีบุ๊กได้ฟรีจาก Ookbee)

Blognone Jobs Premium