หลังจากที่เปิดตัวมาตั้งแต่ต้นปี สมาร์ทโฟนระดับเรือธงจากไมโครซอฟท์ Lumia 930 ที่มาพร้อมกับซอฟต์แวร์ Windows Phone 8.1 พร้อม Lumia Cyan ก็ได้วางขายในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้วยความเป็นเรือธงล่าสุดทำให้มีคนสนใจค่อนข้างมาก ผมจะเล่าถึงประสบการณ์การใช้งานจริงในช่วงที่อยู่กับมันมากว่าหนึ่งสัปดาห์ และเนื่องจากตัวผมใช้ Lumia 920 มาก่อนทำให้การเปรียบเทียบในหลายครั้งจะมีคู่เปรียบเทียบเป็น Lumia 920
ภาพส่วนมากถูกย่อไว้ สามารถกดที่ภาพเพื่อดูภาพเต็มได้ครับ
แม้ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นล่าสุด แต่สเปคนั้นแทบไม่แตกต่างจากแฟบเล็ต Lumia 1520 เลย โดยระหว่าง Lumia 930 และ Lumia 1520 หลักๆ นอกจากหน้าตาแล้วจะมีจุดต่างดังนี้
ในส่วนของหน่วยประมวลผล เซ็นเซอร์ แรม พื้นที่เก็บข้อมูล กล้อง การชาร์จไร้สาย และอื่นๆ เกือบทั้งหมดนั้นไม่แตกต่างกัน
สิ่งที่ต้องเตรียมการที่ผมพูดถึงคือซิมการ์ดครับ ก่อนหน้าที่ผมจะเปลี่ยนจาก HTC 7 Mozart มา Lumia 920 ผมต้องไปเปลี่ยนซิมการ์ดจาก Mini SIM เป็น Micro SIM มาแล้วครั้งนึง แต่เมื่อผมจะเปลี่ยนมาใช้ Lumia 930 นี้ ผมจำเป็นต้องเปลี่ยนจาก Micro SIM มาเป็น Nano SIM อีกครั้ง (รู้สึกวุ่นวายยังไงไม่รู้ ตอนนี้เลยใช้ Nano SIM กับตัวแปลงให้เป็นสองขนาดที่เหลือแทน)
ในส่วนของกล่องนั้นรูปแบบคล้ายคลึงกับกล่องของ Lumia 630 คาดว่าทางไมโครซอฟท์น่าจะเลือกใช้กล่องแบบนี้ไปอีกสักพัก เมื่อเปิดกล่องออกมาก็พบ Lumia 930 สีสันแสบตาในซีลพลาสติกวางอยู่ นอกเหนือจากโทรศัพท์แล้วยังมีตัวชาร์จไฟบ้าน สายชาร์จ หูฟัง และจุกยางหูฟังขนาดต่างๆ มาให้ด้วย
Lumia 930 ถูกออกแบบมาแตกต่างจาก Lumia รุ่นอื่นๆ โดยเลือกใช้โครงสร้างเป็นอะลูมิเนียมออกมาถึงขอบของตัวเครื่องเหมือนกับ Lumia 925 แต่มีเหลี่ยมมีมุมค่อนข้างชัดเจน การประกอบแน่นหนาดีจับแล้วไม่มีความรู้สึกยวบแต่อย่างใด ปุ่มต่างๆ ก็แน่นหนาดีไม่มีอาการคลอน ด้วยขนาดหน้าจอ ๕ นิ้วนั้นก็ไม่ได้ใหญ่จนถือด้วยมือเดียวลำบากเหมือนกับ Lumia 1520 โดยมีความกว้างของตัวเครื่องเท่ากับ Lumia 920 (ที่มีขนาดหน้าจอ ๔.๕ นิ้ว) พอดี และยาวกว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในส่วนของตำแหน่งกล้องหลัง อยู่ที่ตำแหน่งกึ่งกลางของตัวเครื่องในด้านกว้าง และอยู่ค่อนข้างชิดส่วนบนของเครื่องในด้านยาว ทำให้การถ่ายภาพแนวตั้งด้วยมือเดียวทำได้สะดวกกว่า Lumia 920 ที่ตำแหน่งกล้องอยู่ต่ำกว่าจนเกิดเหตุการณ์นิ้วบังกล้องอยู่บ่อยๆ
ช่องเสียงออกของลำโพงถูกย้ายไปไว้ด้านหลัง แต่เนื่องจากแผ่นหลังมีส่วนโค้งอยู่บ้างทำให้ลำโพงไม่ถูกบังเมื่อวางอยู่กับโต๊ะ (หรือที่วางอื่นๆ ที่ไม่มีผ้านิ่มๆ)
ส่วนอื่นๆ ยังคงเหมือนกับ Lumia 920 คือปุ่มทั้งหมดอยู่ด้านขวาของเครื่อง ช่องเสียบหูฟังอยู่ด้านบน และ Micro USB อยู่ด้านล่าง
สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายสำหรับ Lumia 930 นั่นคือ ตัวมันไม่รองรับ Glance screen สำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้อาจจะไม่ติดใจอะไร แต่สำหรับคนใช้ประจำเมื่อขาดไปจะรู้สึกแปลกๆ จนต้องปรับตัวอยู่บ้าง จากที่หยิบขึ้นมาดูเวลาและการเตือนได้เลย ก็ต้องเปิดหน้าจอแล้วค่อยปิดก่อนเก็บกลับ
เบื้องหลังของเรื่องนี้ว่ากันว่าเป็นเพราะ Lumia 930 นั้นใช้หน้าจอแบบ OLED ที่ไม่มีหน่วยความจำในตัว ไม่เหมือนกับหน้าจอแบบ LCD ที่ไม่มีปัญหานี้ แต่ก็มีปัญหาถกเถียงกันอีกเล็กน้อยที่รุ่นอื่นอย่าง Lumia 1020 ก็เป็นหน้าจอ OLED เช่นกันแต่กลับใช้งานได้ ผมคิดไปเองว่าสาเหตุหลักๆ แบ่งออกเป็นสองส่วน
นอกจากนี้ทางไมโครซอฟท์ (อดีตโนเกีย) มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่ช่วยให้การใช้งานโทรศัพท์กลางแดดจ้าดีขึ้น เห็นได้ชัดขึ้น ในส่วนของ Lumia 930 นั้นถือว่าทำได้ดีพอๆ กับ Lumia 920 ซึ่งค่อนข้างดีกว่ามาตรฐานโทรศัพท์ทั่วไปไม่ว่าจะเป็น OLED หรือ LCD แต่เมื่อเทียบกับ Lumia 1520 นั้นถือว่าห่างชั้น เนื่องจากหน้าจอ OLED ของ Lumia 930 นั้นโดยพื้นฐานแล้วไม่สามารถสู้แสงได้ดีเท่ากับ LCD ทำให้ Lumia 1520 ยังคงครองแชมป์หน้าจอที่ใช้งานกลางแดดจ้าเท่าที่ผมเคยได้จับอยู่ (แม้ว่าแดดแรงกลางทุ่ง หน้าจอของ Lumia 1520 ไม่เคยทำให้ผมต้องเพ่งมอง คมชัดเหมือนอยู่ในร่ม ซึ่งนอกจากหน้าจอของ Lumia 1520, หน้าจอ E Ink แบบใน Amazon Kindle และป้ายโฆษณาที่ใช้หลอด LED แล้วผมไม่เคยเจอหน้าจอที่สู้แสงได้แบบนี้เลย)
สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบเรื่องหน้าจอสู้แสงของ Lumia 1520 นั้น ขอเชิญพักชมโฆษณา Lumia 2520 ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันก่อนครับ
หน้าจอของ Lumia 930 นั้นถือว่าเป็นหน้าจอที่มีความหนาแน่นของพิกเซลสูงที่สุดในบรรดา Lumia ปัจจุบัน โดยมีความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซลเท่ากับ Lumia 1520
การที่หน้าจอมีความหนาแน่นของพิกเซลสูงขนาดนี้ทำให้ได้ภาพที่แสดงบนหน้าจอคมมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ Lumia 920 แล้ว จะเห็นได้ชัดว่าขอบต่างๆ ไม่ว่าตัวอักษรหรือรูปภาพบนหน้าจอ Lumia 930 นั้นคมกว่ามาก
ในทางกลับกัน ไม่รู้ว่าด้วยเหตุที่ Lumia 930 ใช้หน้าจอ OLED ที่เรียงเม็ดพิกเซลแบบ Pentile หรืออย่างไร ผมรู้สึกว่าหน้าจอมันหยาบมากครับ หยาบยิ่งกว่า Lumia 920 เสียอีก และไม่ใช่รู้สึกเมื่อตั้งใจเพ่งมองระยะประชิดเพื่อจับผิดนะครับ ผมรู้สึกว่าหน้าจอมันหยาบแม้จะมองที่ระยะมากกว่า ๑ ฟุตแล้วก็ตาม
ขออธิบายส่วนของคำว่าคมกับหยาบของผมนิดนึง ในส่วนของคมกับเบลอ ผมใช้การดูที่ขอบของภาพ ส่วนหยาบกับเนียน ผมดูที่ว่าพิกเซลกับพิกเซลมันเชื่อมกันดีแค่ไหน ในกรณีนี้คือผมรู้สึกได้ว่ามันมีช่องว่างระหว่างพิกเซลค่อนข้างกว้างจนรู้สึกได้ และในกรณีของเส้นตรงแนวตั้ง โดยเฉพาะสีขาว (เช่น ตัวเลข 1) มันทำให้เส้นดูไม่ตรง แต่หยักเป็นฟันปลาเลยทีเดียว ซึ่งในส่วนของความหยาบนี้ผมไม่เคยเห็นใครพูดถึง จึงไม่แน่ใจว่ามีผมเป็นคนส่วนน้อยที่มองเห็นมันได้หรือเปล่า
ส่วนของสีหน้าจอ ผมรู้สึกว่ามันออกแดง และมีผู้ใช้งานท่านอื่นรู้สึกเช่นเดียวกัน แต่ด้วย color profile ที่ปรับได้ทั้ง color temperature, tint และ color saturation นั้นทำให้สามารถปรับให้สีออกมาได้ค่อนข้างตรง (แต่กว่าจะปรับได้ก็เล่นเอาตาลาย)
การเปลี่ยนจาก Lumia 920 มาใช้ Lumia 930 นั้น ไม่ได้มีผลอะไรต่อการใช้ชีวิตปกติขนาดเปลี่ยนแปลงมากนัก ระยะเวลาที่แบตเตอรี่อยู่ได้ก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ ความร้อนก็ยังร้อนเช่นเดิม แถมเมื่อโครงของเครื่องเป็นอะลูมิเนียมแล้วยังยื่นออกมาเป็นขอบเครื่องด้วยทำให้การถ่ายเทความร้อนออกมาที่ขอบเครื่องทำได้ค่อนข้างดี จนรู้สึกว่ามันร้อนมากที่ขอบเครื่อง (Lumia 920 ก็ร้อนมาก แต่ไม่ร้อนออกมาที่ขอบเครื่องเนื่องจากเป็นพลาสติกทั้งแท่ง)
สิ่งที่เปลี่ยนไปแบบเห็นได้คือความเร็วในการทำงานเมื่อเจองานหนัก เช่น การถ่ายภาพแบบ HDR หรือการประมวลผลต่อภาพด้วย Photosynth เวลาใช้งานพวกนี้งานจะเสร็จเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทีเดียว
ประสบการณ์ใช้งานที่ต่างออกไปส่วนมากก็จะเป็นสิ่งที่มากับ Lumia Cyan และฮาร์ดแวร์เฉพาะบางอย่างที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาเช่น การใช้งาน SensorCore (ทำงานคล้ายกับชิป M7 ใน iPhone) หากเราติดตั้งแอพพลิเคชันที่รองรับไว้และพกโทรศัพท์ไปไหนมาไหนทั้งวัน เราก็สามารถดูบันทึกกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำในแต่ละวันได้ เช่น Bing Health & Fitness จะนับก้าวเดินและวิ่งของเราไว้ให้ด้วย
ผมทดสอบพกโทรศัพท์ที่ไม่ได้เปิดอะไรทิ้งไว้ปั่นจักรยานต่อเนื่อง ๔๐ นาที (หยุดตอนติดไฟแดงบ้าง) แบตเตอรี่ลดจาก ๑๐๐% มาเหลือ ๙๖% ครับ ทดสอบสองครั้งได้ผลเท่ากัน ประเมินคร่าวๆ ว่าใช้พลังงานในแบตเตอรี่ ๑% ต่อระยะเวลา ๑๐ นาที
ส่วนถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวเลย ผมเคยวางไว้เฉยๆ ค้างคืน ๘ ชั่วโมง แบตเตอรี่ลดจาก ๑๐๐% มาเหลือ ๙๔% ครับ
การใช้งานทั่วไป หยิบเล่นบ้างพอสมควรไม่ถึงกับหนักหน่วง รอดวันได้แบบหวาดเสียว เรียกว่าถ้าหาชาร์จระหว่างวันได้จะปลอดภัยกว่า
สำหรับการใช้งานร่วมกับ Treasure Tag (ที่มีโปรโมชันแถมกับโทรศัพท์ในช่วงแรก) เองดูจะไม่ใช้พลังงานอะไรมากมายจนเห็นได้ชัด สามารถเชื่อมต่อทิ้งไว้โดยไม่ต้องกังวลได้
ในส่วนของการนำทางด้วย HERE Drive+ แม่นยำดี จับสัญญาณได้เร็ว โดยไม่มีปัญหาเครื่องร้อนหรือแบตเตอรี่ลดเร็วจนผิดปกติแต่อย่างใด
ในส่วนของกล้องนั้น Lumia 930 ใช้โมดูลกล้องตัวเดียวกับ Lumia 1520 ทำให้ไม่มีอะไรต่างออกไป จะมีต่างบ้างก็ตรงที่ Lumia 930 ได้รับ Lumia Cyan แล้ว ทำให้ได้เปรียบในบางส่วนจากซอฟต์แวร์ไปพลางๆ จนกว่า Lumia 1520 จะได้อัพเดต Lumia Cyan
จุดเด่นที่เพิ่มเข้ามาใน Lumia Cyan ส่วนมากจะทำงานร่วมกับแอพถ่ายภาพ Nokia Camera ครับ เท่าที่ผมลองใช้และเห็นได้ชัดก็มีตามนี้
ภาพที่ได้ผมเน้นเก็บแต่ภาพ ๕ ล้านพิกเซลครับ เนื่องจากเก็บรายละเอียดได้ดีสมกับที่ใช้ oversampling ของ PureView หรือถ้าต้องการนำไฟล์ไปปรับแต่งผมก็จะกระโดดไปเลือกเก็บ ๕ ล้านพิกเซลพร้อมไฟล์ raw เลยมากกว่าจะเก็บภาพ jpeg ความละเอียดสูง ในส่วนของ dynamic range กว้างใช้ได้ในระดับหนึ่ง สีสันค่อนข้างโอเค
การถ่ายในที่มืด ด้วยความที่รูรับแสงแคบกว่า Lumia 920 ทำให้ส่วนมากต้องเปิดหน้ากล้องให้นานกว่า Lumia 920 แต่ก็ชดเชยด้วย ISO ที่สามารถดันขึ้นไปได้สูงถึง ๔,๐๐๐ (แน่นอนว่าสัญญาณรบกวนจนภาพแย่มาก แต่ดีกว่าถ่ายไม่ได้ในหลายสถานการณ์ และการทำ oversampling จะทำให้คุณภาพดีขึ้นบ้าง)
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายมาครับ หลายๆ ภาพผมถ่ายเพื่อเล่นกับ Living Image ดูในโทรศัพท์ก็ดีๆ อยู่ แต่พอมานิ่งๆ แล้วก็ดูจืดไปเลย
ภาพเปรียบเทียบที่ถ่ายจาก Nokia Camera กับ HDR Photo Camera (ตัวหลังถ่าย 3 ภาพ EV +2 0 -2 ก่อนทำ HDR)
ใช้งานทั่วไปผมไม่พบอะไรผิดแปลก นอกจากอาการแบตเตอรี่ลดเร็วตามปกติ แต่เมื่อตรวจสอบดูจริงๆ พบว่าเครื่องที่ได้รับมาไม่สามารถเชื่อมต่อกับ LTE ของ Truemove-H ได้โดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อบังคับต่อกับ 4G True นั้นตัวเลือกระดับความเร็วในเครื่องจะลดลงเหลือแค่ 3G, 2G ทันที (ขณะที่เมื่อเลือกเครือข่ายแบบอัตโนมัติจะแสดงผลครบทั้ง 4G, 3G, 2G) ไม่แน่ใจว่าเป็นเฉพาะเครื่องที่ได้รับ หรือเป็นกันหมดแล้วต้องรออัพเดตซอฟต์แวร์
แม้กระจกหน้าจอจะเปลี่ยนจาก Gorilla Glass 2 มาเป็นรุ่นใหม่อย่าง Gorilla Glass 3 แต่หลังจากใช้งานมาไม่ครบสัปดาห์ ผมก็สังเกตเห็นรอยบนหน้าจอ ที่คาดว่าเป็นรอยขูดขีด
ผมเป็นคนใช้โทรศัพท์โดยไม่ติดฟิล์ม ไม่ใส่เคส แล้วถนอมเอาตามสภาพ กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 2 ของ Lumia 920 ที่ใช้อยู่ก็มีรอยขนแมวอยู่บ้าง กับ Lumia 930 นี่ก็ใช้งานแบบเดียวกัน ไม่ได้ระวังหรือหาเรื่องเป็นพิเศษแต่อย่างใน ปรากฏว่ามีรอยที่ลึกกว่ารอยขนแมวโผล่มา ตอนแรกผมเข้าใจว่าเป็นรอยร้าว แต่ก็แปลกใจว่ามันไม่น่าหันไปทางเดียวกันจนเป็นแนวแบบนี้ เลยตัดสินใจหอบเครื่องไปให้พนักงานช่วยส่องอีกแรง พนักงานยืนยันว่าเป็นแค่รอยขูด ผมก็เชื่อครับ (ง่ายเนอะ)
ตอนนี้รอยมีทั้งหมดสองแนวครับ แนวแรกอยู่ขอบจอบนพอดี (ช่วงรอยต่อจอแสดงผลกับตัวเครื่อง) อีกแนวหนึ่งอยู่ที่ขอบจอล่าง ในแต่ละแนวประกอบด้วยรอยไม่ยาวมากที่หันไปในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ขอบกระจกฝั่งหนึ่งไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง แต่ด้วยการที่เป็นแนวชัดเจนขนาดนี้อาจเป็นไปได้ว่าไปโดนอะไรมา ซึ่งผมก็ว่าผมไม่ได้ทำอะไรนะ แต่เป็นอันรู้กันว่าอย่าหาเรื่องทดสอบกระจกกันรอย
ภาพถ่ายให้ติดได้ยากพอสมควร เอาเท่าที่พอมองเห็นบางรอยได้ ภาพแรกเป็นภาพรอยที่ขอบหน้าจอบน จะเห็นรอยสะท้อนแสงแฟลชอยู่ทางซ้ายของด้านใต้หูฟัง
ถัดมาเป็นที่แนวขอบจอล่าง ภาพแรกถ่ายธรรมดา อีกภาพเป็นภาพที่ตัดแสงด้วยฟิลเตอร์ C-PL ไม่แน่ใจว่าภาพไหนจะเห็นง่ายกว่ากัน
ข้อดี
ข้อเสีย
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทางไมโครซอฟท์ที่สนับสนุนเครื่องมาให้ทดสอบด้วยครับ