ไอบีเอ็มประกาศลงทุนแสนล้านบาท พัฒนาชิปยุคต่อไปจนถึงยุคต่อจากซิลิกอน

by lew
10 July 2014 - 11:59

การปฎิวัติวงการอิเล็กทรอนิกส์ของโลกด้วยซิลิกอนมีมาตั้งแต่ยุคทรานซิสเตอร์ในปี 1954 และเทคโนโลยี CMOS ในปี 1963 หกสิบปีผ่านไปคอมพิวเตอร์ยังคงอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยีเดิมที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีขนาดเล็กลง และกินไฟน้อยลง แต่นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มเชื่อมว่าเทคโนโลยีซิลิกอนจะสามารถพัฒนาไปจนถึงระดับ 7 นาโนเมตรเท่านั้น

ไอบีเอ็มประกาศว่าจะลงทุน 3 พันล้านดอลลาร์หรือแสนล้านบาทภายในห้าปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยให้การผลิตลายวงจรซิลิกอนระดับ 7 นาโนเมตร และเทคโนโลยีในยุคต่อไป

เทคโนโลยีการผลิตชิปทุกวันนี้ที่มีกำลังผลิตขนาดใหญ่อยู่ที่ 22 นาโนเมตรของอินเทล ขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นๆ อยู่ที่ 32 หรือ 28 นาโนเมตร ในปีหน้าอินเทลจะเดินสายการผลิตชิป 14 นาโนเมตร แต่เมื่อเล็กลงถึงขนาดหนึ่งแล้วเราจะไม่สามารถสร้างลายวงจรที่ทำงานได้เสถียรอีกต่อไป

ไอบีเอ็มจะสำรวจเทคโนโลยียุคต่อไปอีกหลายอย่างเพื่อหาสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นไปได้ในอนาคต นับตั้งแต่คอมพิวเตอร์ควันตัม, ระบบคอมพิวเตอร์แบบ Neurosynaptic ที่ทำงานเลียนแบบสมองมนุษย์, สร้างซีพียูจาก carbon nanotube หรือ graphene

ที่มา - eWeek

Blognone Jobs Premium