รีวิวภาพยนตร์ Terms And Condition May Apply (2013)

by nrad6949
22 July 2014 - 05:36

ปกติเวลาเราจะต้องใช้บริการอะไรบางอย่างในโลกออนไลน์ หรือแม้กระทั่งในคอมพิวเตอร์ สิ่งหนึ่งที่เรามักจะเจอกันอยู่เสมอคือสิ่งที่เรียกว่า “ข้อตกลงการใช้งาน” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Terms and Conditions” ซึ่งคนส่วนมาก มักจะไม่อ่าน และข้ามไปเสมอ (ไม่กด Accept ก็กด Next) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อตกลงทางกฎหมายที่มีผลผูกพันกับเราทั้งสิ้น

Terms And Conditions May Apply เป็นภาพยนตร์สารคดีที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของข้อตกลงการใช้งานเหล่านี้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการเป็นภาพยนตร์สารคดีที่ชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาของสิทธิส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดี ซึ่งผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์นี้ และคิดว่าเนื้อหาสนใจ จึงขอเขียนรีวิวสั้นๆ ครับ


โลโก้ภาพยนตร์ (ภาพจาก tacma.net)

Terms And Conditions May Apply เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ตีแผ่เกี่ยวกับเรื่องของปัญหาความเป็นส่วนตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต ผลิตโดยค่ายหนัง Hyrax Films และ Topiary Productions โดยฉายครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว

ตัวภาพยนตร์เองไม่ได้ทำรายได้มากมาย โดยรายได้รวม (จากข้อมูลของ IMDb) รายได้อยู่ที่ 46,173 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณล้านกว่าบาท) อย่างไรก็ตาม ตัวภาพยนตร์เองกลับได้รับรางวัลในเวทีประกวดภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกาในระดับท้องถิ่น อย่างเช่น ในเทศกาลภาพยนตร์ที่ Newport Beach ที่ได้ในสาขาสารคดียอดเยี่ยม หรือในเทศกาลภาพยนตร์ของ Sonoma Valley ที่ได้ในสาขาเดียวกัน

เนื้อหาโดยรวมของภาพยนตร์เป็นสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิส่วนบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ต และปัญหาของการจัดการกับข้อมูลเหล่านี้ของบริการต่างๆ ที่เราเข้าไปใช้งาน ตลอดจนถึงความพยายามของหน่วยงานรัฐที่มักจะเข้ามาแทรกแซง หรือหาทางที่จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ออกมาใช้งานเพื่อเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ทำให้เกิดคำถามว่า ตกลงแล้วความเป็นส่วนตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต มีอยู่จริงหรือไม่ โดยเนื้อหาจะมุ่งไปโจมตีสองบริษัทที่สำคัญที่สุดของอินเทอร์เน็ตในยุคนี้ ซึ่งก็คงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก Google และ Facebook (รายหลังโดนหนักที่สุดในภาพยนตร์สารคดีนี้) ลองดูเนื้อหาคร่าวๆ ได้จาก trailer ด้านล่างนี้ครับ

ภาพยนตร์เปิดฉากขึ้นมาด้วยปัญหาของ “ข้อตกลงการใช้งาน” ที่มักจะยาวเหยียดและไม่ค่อยมีใครอ่าน รวมไปถึงมักใช้ตัวอักษรขนาดเล็กมาก เพื่อที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น (นึกสภาพเล่นๆ เหมือนกับคำว่า “โปรดอ่านคำเตือนในฉลากก่อนใช้ยา” ในโฆษณาทางโทรทัศน์ ที่มักจะพูดเร็วมากๆ จนเราอาจจะแทบไม่ได้ยินหรือไม่สนใจ) สิ่งที่คนเรามักจะทำก็คือกด ‘ยอมรับ’ ข้อตกลงเหล่านั้นเสีย

แต่ข้อตกลงการใช้งานเหล่านี้ มีผลผูกพันตามกฎหมาย และหลายครั้งผู้ใช้งานเองก็ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบหากยอมรับข้อตกลงเหล่านี้ แม้ว่าจะมีบางเหตุการณ์ที่ไม่เป็นอย่างนั้น เช่น กรณีที่ Instagram ปรับข้อตกลงการใช้งานและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนส่งผลให้ต้องกลับไปใช้เงื่อนไขการให้บริการอันเดิม

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้น คือการที่ข้อตกลงเหล่านี้มักจะมีข้อยกเว้นในเรื่องของการใช้ข้อมูลส่วนตัวของเรา ที่อยู่บนบริการเหล่านี้อยู่เสมอ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของข้อตกลงเหล่านี้ซึ่งไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบ ตัวอย่างเช่น นโยบายด้านความเป็นส่วนตัว (privacy policy) ของ Google ที่แต่เดิมเน้นความเป็นส่วนตัว แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งในภาพยนตร์วิเคราะห์ว่าปัจจัยหนึ่งเกิดจากการออกรัฐบัญญัติรักชาติ (Patriot Act) ในปี 2001 ซึ่งถือเป็นมาตรการที่มีขึ้นหลังจากเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึก World Trade Center ในเวลานั้น (ที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ 9/11)

การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการใช้งานเหล่านี้โดยไม่บอกผู้ใช้งาน ในหลายครั้งสร้างผลกระทบอย่างมากตัวอย่างเช่นในกรณีของ Facebook ที่เริ่มปรับการตั้งค่าเริ่มต้น (default) ในปี 2009 จากเดิมที่โพสต์หรือข้อมูลที่แบ่งปันต่างๆ จะเป็นเฉพาะเพื่อนเท่านั้น ให้กลายเป็น “สาธารณะ” (public) ซึ่งทำให้ใครก็สามารถเข้าดูข้อมูลได้ หรือการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงของ Google ในปี 2012 ที่รวมเอาข้อมูลจากบริการต่างๆ เข้ามาผูกรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของผู้ใช้ (ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือการพยายามรวม Google+ เข้าไปในทุกๆ ที่ อย่างเช่น YouTube หรือล่าสุดคือ Ingress)

สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นคือการไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีใครสามารถเข้าไปดูได้ โดยเฉพาะแม้กระทั่งกับผู้ให้บริการเอง เพราะเมื่อข้อมูลเหล่านี้สะท้อนถึงพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ (pattern) สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลุ่มข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาลที่สามารถนำไปสร้างรายได้ หรือในมุมมองของรัฐ คือการป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งหมดโดยใช้อุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์เฉพาะทางในการหาข้อมูลเหล่านี้ (ตัวอย่างอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์เหล่านี้เช่น Palantir เป็นต้น)


ฉากในภาพยนตร์ที่เปรียบเทียบระหว่าง privacy policy ที่ Google บอกว่าเก่าที่สุด กับของจริงที่ถูกเก็บไว้ใน Archive.org

ในภาพยนตร์เองระบุอย่างชัดเจนว่า หน่วยงานภาครัฐ อย่างเช่น CIA หรือ FBI กำลังใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์อย่างเช่น Facebook หรือ Twitter เป็นการเปิดเผย โดยนำเอาเทปบันทึกวิดีโอการให้การของ Christopher Satinsky รองผู้อำนวยการ CIA ที่ให้การกับคณะกรรมาธิการชุดหนึ่ง (ในภาพยนตร์ไม่ได้ระบุว่าเป็นของสภาหรือหน่วยงานใด) ว่า เหมือนกับฝันของ CIA มาเป็นจริง ที่ผู้คนเริ่มแบ่งปันข้อมูลให้กับสาธารณะ หรือการพบกันระหว่าง Mark Zuckerberg กับ Robert Muller ที่เป็นผู้อำนวยการ FBI ในเวลานั้น

หนึ่งในการเปิดเผยจากภาพยนตร์ คือการสัมภาษณ์นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในออสเตรีย ที่พบว่าข้อมูลใน Facebook มีการเก็บข้อมูลทุกอย่าง ทั้งการโพสต์ หรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆ ที่เรามีกับเพื่อนบน Facebook แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือข้อมูลที่เราระบุว่า “ลบ” นั้น กลับยังคงอยู่ในฐานข้อมูล และภายใต้ข้อตกลงการใช้งาน ก็หมายถึงว่าข้อมูลเหล่านั้นยังคงเข้าถึงได้จากหน่วยงานภาครัฐหรือแม้แต่ผู้ให้บริการ โดย Brian Kennish อดีตวิศวกรจาก Google ให้สัมภาษณ์ว่า แม้นโยบายของ Google จะบอกว่า เมื่อผ่านไป 18 เดือน ข้อมูลการค้นหาทั้งหมดจะต้องไม่สามารถระบุตัวตนได้ (anonymous) แต่ข้อมูลเหล่านั้นก็ยังอยู่ และพร้อมที่จะทำให้ถูกระบุตัวตนได้ทันที (deanonymize)

ตัวอย่างที่มีคนเคยเจอก็อย่างเช่น ผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งที่มีชื่อว่า Leigh Bryan ที่โพสต์ข้อความขึ้น Twitter ของเขาเล่นๆ ก่อนออกเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในทำนองที่ว่า เขาจะไป ‘ถล่ม’ สหรัฐอเมริกา (ทำนองเดียวกับเวลาเราพูดเล่นกับเพื่อนว่า เราจะไปถล่มบ้านเพื่อน) ผลลัพธ์ที่ได้คือการถูกกักตัวและส่งกลับจากด่านตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ และกลายเป็นประวัติที่ติดตัวเขาไปตลอดทุกการเดินทางออกนอกประเทศ หรือแม้กระทั่งดาราตลกของสหรัฐ Joe Lipari ที่หงุดหงิดกับการเข้าแถวรอที่ร้าน Apple Store และโพสต์บน Facebook โดยการเอาคำพูดในภาพยนตร์มาบอกว่าเขากำลังเตรียมอาวุธไป เพียงแต่ว่าตำแหน่งที่เขาระบุนั้นกลับเป็นร้าน Apple ผลที่ได้คือมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกมาถึงห้องพัก และตรวจค้นห้องพักเขาทั้งหมด

ในภาพยนตร์เองมีการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ มากมาย รวมไปถึงนำเอาคำพูดเด็ดๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลมานำเสนอ ตัวอย่างเช่น Eric Schmidt (อย่างเช่นบอกให้ย้ายบ้านหนีเอาเองถ้าไม่ชอบ Street View) หรือ Mark Zuckerberg เป็นต้น โดยตอนจบ คณะผู้ถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีดังกล่าวได้บุกไปถึงบ้านของ Zuckerberg และรอดักพบเพื่อดูปฏิกริยาของเขา ผลที่ได้คือเขาค่อนข้างหัวเสียกับเรื่องนี้พอสมควร และไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ

ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนถึงปัญหาเรื่องของความเป็นส่วนตัวและการใช้ข้อมูลของบริษัทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้ก็มีผลกระทบกับผู้ใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ทำได้คงเป็นเรื่องของการเรียกร้องให้บรรษัทเหล่านี้ รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และแก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เร็ว เพื่อปกป้องผู้ใช้งานนั่นเอง

ทั้งนี้ สำหรับคนที่ต้องการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถเช่าหรือซื้อบน Vimeo ได้ตามสะดวก โดยคิดค่าเช่าภาพยนตร์อยู่ที่ 3.99 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และซื้อขาดอยู่ที่ 9.99 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

Blognone Jobs Premium