ให้หลังจากการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อช่วงเดือนกันยายน ปี 2012 ของ Baidu พร้อมกับการเปิดตัว Baidu PC Faster โปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพเครื่อง พร้อมพ่วงฟีเจอร์ป้องกันไวรัสมาให้ในตัว ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด หลังจากตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีผู้ใช้ Baidu PC Faster ออกมารายงานว่าพีซีของตัวเองมีปัญหาอยู่เป็นระยะๆ ในปัญหาที่แตกต่างกันไป โดยพื้นที่แจ้งปัญหาจะอยู่ในเว็บไซต์พันทิปเป็นส่วนใหญ่ ส่วนของ Blognone เองก็เคยมีผู้ใช้พบปัญหากับเซอร์วิส P2PSVC ทำให้เชื่อมต่อกับ HomeGroup ไม่ได้ ซึ่งทาง Baidu ได้ส่งข้อมูลมาเพื่อชี้แจงกรณีนี้ในเวลาต่อมา
จากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลากว่า 9 เดือน ปฏิเสธไม่ได้ว่าในตอนนี้ชื่อของ Baidu และโปรแกรมในเครืออย่าง PC Faster, Spark Browser และเว็บพอร์ทัลอย่าง Hao123 กลายเป็นฝันร้ายของผู้ใช้พีซีบางรายไปแล้ว ทั้งการที่โปรแกรมดังกล่าวเข้าไปพัวพันกับปัญหาของพีซีหลายเรื่อง และการพ่วงโปรแกรมอื่นๆ ในเครือมาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือใช้ถ้อยคำที่กำกวม อันนำพามาสู่โปรแกรมที่ผู้ใช้ไม่ได้ต้องการแต่ต้น ทาง Baidu มองเห็นปัญหาในเรื่องนี้จึงได้ชวนทางเว็บไซต์ Blognone ไปร่วมคุยเมื่อไม่นานมานี้ เพื่ออธิบายปัญหาที่เกิดขึ้น วิธีแก้ไข และแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคตต่อไป โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ครับ
ในการชี้แจงครั้งนี้ทีมงาน Baidu ประเทศไทยได้ยกปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้จำนวนมากบนเว็บไซต์พันทิปที่ได้แก้ไขไปแล้ว เรียงตามลำดับมีดังนี้ครับ
ใช้ PC Faster แล้วความละเอียดหน้าจอลดลง
ปัญหานี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากตัวโปรแกรมในเวอร์ชัน 3.6-3.7 (ปัจจุบันเวอร์ชัน 4.0) เมื่อสั่งให้เร่งประสิทธิภาพเครื่อง จะไปปิดเซอร์วิสสำหรับจัดการหน้าจอ (Desktop Windows Manager Session Manager) ส่งผลให้ความละเอียดของหน้าจอต่ำลง
ใช้ PC Faster แล้วขึ้นจอฟ้า
เรื่องจอฟ้านี้ ทีมงาน Baidu แจ้งว่าโดยมากเกิดจากการทำงานขัดข้อง เมื่อเครื่องที่ใช้งานมีโปรแกรมป้องกันไวรัสตัวอื่นติดตั้งอยู่ด้วย โดยโปรแกรมที่พบว่ามีปัญหาดังกล่าวคือ Avast Free Antivirus 2013 ในลักษณะของทั้ง Avast และ PC Faster พยายามเข้าถึงไฟล์ระบบพร้อมกัน ทำให้ระบบล่มไป
อีกกรณีก็คือ เกิดจากแพตช์อัพเดตวินโดวส์ของไมโครซอฟท์รหัส KB2859537 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทั้งบูทเครื่องไม่ขึ้น และเกิดจอฟ้า ไม่ว่าจะอัพเดตผ่านระบบ หรือโปรแกรมใดๆ ก็ตาม ซึ่งทางไมโครซอฟท์ออกมายอมรับและแก้ปัญหานี้ไปเรียบร้อยแล้ว
ถอนการติดตั้ง PC Faster ไม่ได้
เกิดขึ้นจากความหวังดีของโปรแกรมป้องกันไวรัสเจ้าอื่น (ที่ยกมาคือ NOD32) ที่ดันมีรายชื่อของ PC Faster เข้าไปอยู่ในกลุ่มโปรแกรมอันตราย จึงทำให้ไม่สามารถถอนการติดตั้งจากเครื่องได้ กรณีนี้แก้ได้ด้วยการเพิ่ม PC Faster เข้าไปอยู่ในรายชื่อโปรแกรมที่ได้รับการยกเว้น (exclusions) ก็จะสามารถถอนการติดตั้งได้ตามปกติ
ใช้ PC Faster แล้วต่อ Wi-Fi ไม่ได้
ปัญหานี้เกิดกับ PC Faster เวอร์ชัน 3.7 ที่เข้าไปจัดการเซอร์วิส WLANAutoConfig แล้วมีปัญหากับไดร์เวอร์โมดูล Wi-Fi บางยี่ห้ออย่างอินเทล และซิสโก้
ใช้ PC Faster แล้วเข้า Facebook/Gmail ไม่ได้
อันนี้จะเรียกว่าเป็นปัญหาก็ไม่เชิง เกิดจากการที่ตัวล้างไฟล์ขยะของ PC Faster เข้าไปลบแคชของรหัสผ่านผู้ใช้ อีกกรณีที่เป็นปัญหาจริงๆ คือมีบั๊กกับบัญชีของกูเกิลสำหรับเชื่อมต่อเข้ากับ Chrome
อีกสองประเด็นที่เหลือจะเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายคนให้ความสนใจกันมาก เนื่องจากเกี่ยวโยงโดยตรงกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งพบเบาะแสครั้งแรกจากพันทิป เกิดขึ้นกับทั้ง PC Faster และ Hao123 ดังนี้ครับ
Hao 123 และ PC Faster ส่งข้อมูลกลับเซิร์ฟเวอร์ประเทศจีนจริงหรือไม่ ?
ใครที่ติดตามข่าวสารปัญหาของ Hao123 และ PC Faster ในพันทิปน่าจะเคยพบกับกระทู้ที่ออกมาแฉว่า Hao 123 และ PC Faster นั้นแอบส่งข้อมูลกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่จีน โดยแนบมาพร้อมกับภาพหน้าจอตรวจสอบทราฟิกดังกล่าว ซึ่งทาง Baidu บอกว่าเป็นการทอนข้อมูลให้ผู้อ่านได้รับไม่ครบถ้วน เพื่อชี้นำให้เชื่อตามที่เจ้าของกระทู้ต้องการจะสื่อ
ในการชี้แจงครั้งนี้ ทีมงาน Baidu ได้ทดลองสร้างสถานการณ์จำลองแบบเดียวกับเจ้าของกระทู้ ผลปรากฏว่าทราฟิกที่ในกระทู้ระบุว่า Hao123 กำลังส่งข้อมูลกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์นั้น เป็นการเช็กไฟล์ก่อนติดตั้ง ส่วนทางฝั่ง PC Faster นั้นเป็นการเรียกข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ (ดูได้จากต้นทาง IP และปลายทาง IP) น่าเสียดายที่ไม่มีภาพยืนยันมาให้ดูกันชัดๆ ครับ
(หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากทาง Baidu)
การบันเดิลโปรแกรมในเครือ Baidu มากับโปรแกรมฟรีต่างๆ และวิธีการติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใช้
เชื่อว่าหลายคนคงเคยใช้พีซีอยู่ดีๆ แล้วก็มีบรรดาโปรแกรมของ Baidu ติดมาบ้าง เรื่องนี้ตอบได้อย่างง่ายคือโปรแกรมของ Baidu นั้นได้ถูกบันเดิลมาพร้อมกับโปรแกรมฟรีต่างๆ ซึ่งไม่แปลกนักที่ผู้ใช้จะไม่รู้ว่าเคยติดตั้งไป เนื่องมาจาก วิธีการบันเดิลมาของ Baidu นั้นมักจะหลบสายตาของผู้ใช้ และแอบแฝงมากับตัวเลือกที่ต้องอ่านอย่างละเอียด (ตัวอย่างจากพันทิป) ซึ่งสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้จำนวนมาก
สำหรับประเด็นนี้ ทาง Baidu ชี้แจงไว้คล้ายกับที่ส่งไปให้กับบรรดาเว็บไซต์ต่างชาติ ว่าไม่ใช่การทำตลาดโดยสำนักงานใหญ่ แต่เป็นการผ่านตัวแทนโฆษณาที่ไปจัดการทำกันเองสี่ราย และผ่านผู้ให้บริการแจกจ่ายซอฟต์แวร์อีกหนึ่งราย ซึ่งทาง Baidu ระบุว่าได้เริ่มแก้ปัญหานี้แล้ว และทำการปรับเงินเอเยนซี่โฆษณาทั้งหมดที่อยู่ในข่ายดังกล่าว
นอกจากปรับเงินแล้ว Baidu สัญญาว่าจะทำการตลาดให้โปร่งใสยิ่งขึ้น ด้วยการใส่ป้ายแบนเนอร์ขนาดใหญ่ให้ผู้ใช้รู้ว่ากำลังจะลงโปรแกรมในเครือ Baidu และเลิกแอบแฝงข้อตกลงในการติดตั้งตามที่เคยทำมาโดยตลอดอีกด้วย (น่าเสียดายที่ไม่มีรูปมาให้ดูกัน)
ทั้งหมดนี้เป็นการชี้แจงจากทาง Baidu ประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยได้เริ่มทยอยแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว และเพิ่มตัวเลือกให้ผู้ใช้สามารถปรับเลือกฟีเจอร์ได้เองในเวอร์ชันถัดไปอย่าง 5.0 ซึ่งยังไม่ประกาศว่าจะเปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อไรครับ
ท้ายข่าวมีวิดีโอช่วงตอบคำถามของทีม Baidu ประเทศไทยแนบมาด้วยครับ