ประวัติการก่อตั้ง Oculus VR และเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นบริษัทไอทีสุดร้อนแรงแห่งยุค

by mk
13 August 2014 - 05:56

Oculus VR เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่น่าจับตามากที่สุดบริษัทหนึ่งในปี 2014 ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ที่แหวกแนว ทีมงานที่ระดมมาจากคนดังของวงการเกมมากมาย และที่สำคัญคือการสร้างประวัติศาสตร์ ขายกิจการให้ Facebook ด้วยมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ โดยยังไม่มีแม้แต่สินค้าจริงวางขายสักชิ้นเดียว

Blognone ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Oculus อยู่เรื่อยๆ แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยทราบกันนักว่า Oculus VR กำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมถึงมาได้ไกลขนาดนี้

นิตยสาร Wired UK ฉบับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีสกู๊ปเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ Oculus ที่อาจพออธิบายได้ว่าทำไม Oculus จึงเป็นหนึ่งในบริษัทที่โดดเด่นที่สุดในช่วงนี้

เหล่าผู้คลั่งไคล้ในแว่น 3 มิติ

เทคโนโลยีสร้างภาพ 3 มิติเสมือนจริงหรือ virtual reality (จากนี้ไปจะเรียก VR) ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เราเห็นความพยายามในการสร้างแว่น 3 มิติสวมหัวที่มีจอภาพในตัว (head-mounted display) กันมาหลายสิบปีแล้ว (ตัวอย่างที่ดังหน่อยก็อย่างเช่น Nintendo Virtual Boy ที่ทำมาตั้งแต่ปี 1995 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว)

แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคหลายๆ อย่างทำให้แว่น VR ในอดีตไม่เคยประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์เลย ทั้งในเรื่องคุณภาพของภาพ ความลื่นไหลในการใช้งาน หรือแม้กระทั่งราคาที่สูงมากจนคนทั่วไปเมินหน้าหนี

ความล้มเหลวในการผลักดันเทคโนโลยี VR หลายต่อหลายครั้ง ทำให้ช่วงหลายปีให้หลังมานี้ มันกลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกลืม และรอวันที่ "พร้อม" เพื่อถูกนำมาพัฒนาใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม โลกเราก็ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่คลั่งไคล้ในเทคโนโลยี VR รวมตัวกันอยู่เงียบๆ และการพบปะกันของคนเหล่านี้คือต้นกำเนิดของ Oculus VR

Palmer Luckey ไอ้หนุ่มมหัศจรรย์คนใหม่ของโลกไอที


Palmer Luckey ภาพจาก Oculus Developer

โลกไอทีผ่านประสบการณ์ "ไอ้หนุ่มมหัศจรรย์" สร้างอะไรบางอย่างจากโรงรถ และพลิกโลกไอทีมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง "ไอ้หนุ่ม" คนล่าสุดที่สามารถเปลี่ยนโลกได้สำเร็จคือ Mark Zuckerberg กับ Facebook แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา เรากลับไม่ค่อยเห็นเรื่องราวลักษณะนี้มากนัก

Palmer Luckey ผู้ก่อตั้ง Oculus อาจเป็น "ไอ้หนุ่มมหัศจรรย์" คนถัดไป และตอนนี้เขายังอายุแค่ 21 ปีเท่านั้นเอง (เกิดปี 1992)

Luckey เป็นเด็กหนุ่มในแคลิฟอร์เนียที่เรียนหนังสือเองที่บ้าน (home-school) เขาใช้เวลาว่างสนุกไปกับงานอิเล็กทรอนิกส์ ดัดแปลงเครื่องเกมคอนโซล ซ่อมไอโฟนหาเงินใช้ และนำเงินที่ได้มาซื้อของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ (เช่น เลเซอร์ หรือพีซีที่ต่อ 6 จอพร้อมกัน)

เขาเริ่มสนใจเทคโนโลยีด้าน VR และไล่ซื้อแว่น VR ที่มีในท้องตลาดขณะนั้น (เช่น Vuzix iWear VR920 หรือ eMagin Z800 3DVisor) รวมแล้วกว่า 50 รุ่น ทำให้เขากลายเป็นคนที่มีแว่น VR มากที่สุดคนหนึ่งของโลก เขายังเข้าร่วมพูดคุยกับชุมชนผู้สนใจแว่น VR ผ่านเว็บบอร์ด Meant to Be Seen (MTBS3D)

แต่ Luckey กลับไม่พอใจในเทคโนโลยีแว่น VR ที่วางขาย โดยรู้สึกว่ามันยังไม่ "เสมือนจริง" มากพอ ทั้งในแง่คุณภาพของจอภาพที่มีความคอนทราสต์ต่ำ หรือระบบการดักจับการหมุนศีรษะมีความหน่วง (latency) แสดงภาพตามไม่ทัน รวมถึงมุมมองสายตา (field of vision) ค่อนข้างแคบไม่เหมือนภาพที่สายตามองเห็นจริง

Luckey จึงลองแก้ปัญหาข้างต้นด้วยตัวเอง และสร้างแว่นต้นแบบที่เขาดัดแปลงขึ้นในโรงรถของพ่อแม่ในปี 2010 (ตอนนั้นอายุ 18) และโพสต์อัพเดตความคืบหน้าผ่านเว็บบอร์ด MTBS3D อยู่เรื่อยๆ จนสุดท้ายเขาสามารถสร้างแว่นที่มีมุมมองกว้าง 270 องศา และมีน้ำหนักเบาพอที่จะสวมหัวได้สำเร็จในปี 2012

เขาเรียกแว่นรุ่นที่หกนี้ว่า "Rift" โดยให้เหตุผลว่าแว่นนี้จะเป็น "แพ" เชื่อมระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน

Luckey หวังจะขายแว่นของเขาด้วยการระดมทุนผ่าน Kickstarter ให้กลุ่มผู้สนใจสร้างแว่นแบบ DIY ประมาณ 100 คนเท่านั้น แต่จะด้วยโชคชะตาฟ้าลิขิตอย่างไรก็ไม่ทราบ สมาชิกคนหนึ่งของบอร์ด MTBS3D ดันมี John Carmack ผู้สร้างเกม Doom และ Quake อยู่ด้วย

ตำนานบทใหม่ของ John Carmack


John Carmack ภาพจาก Oculus

สมาชิก Blognone ที่เป็นเกมเมอร์รุ่นเดอะหน่อยคงไม่มีใครไม่รู้จัก John Carmack เขาคือผู้ก่อตั้งค่ายเกม id Software และเป็นมันสมองคนสำคัญผู้สร้างเกมตระกูล FPS ให้โลกรู้จักมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Wolfenstien, Doom, Quake และเกมตระกูลล่าสุดคือ Rage

ความมหัศจรรย์ของ Carmack อยู่ที่ความรู้ทางเทคนิคของเขาในการสร้างเอนจิน 3D ที่ล้ำยุคอยู่เสมอ เริ่มจากการสร้างเกม Wolfenstien 3D ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเกมแนว FPS ก่อนจะมาโด่งดังระดับโลกกับ Doom และตามด้วยการสร้าง "เอนจิน 3D แท้" ใน Quake (ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทุกภาค)

Carmack ยังเป็น geek พันธุ์แท้ที่มีความสนใจหลากหลาย นอกจากเรื่องเกมแล้ว เขายังสนใจวงการโอเพนซอร์ส (เปิดซอร์สเกม Quake และเล่น Slashdot/Reddit) รถยนต์ และสนใจเรื่องจรวดจนถึงขนาดเปิดบริษัทสร้างจรวด Armadillo Aerospace เข้าแข่งขันในโครงการของ NASA

แว่น VR เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ Carmack สนใจ เขามีความเห็นตรงกับ Palmer ว่าวงการแว่น VR ยังไปไม่สุดทาง และซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเงียบๆ ในบริษัท id Software พร้อมกับติดตามข่าวสารในบอร์ด MTBS3D อยู่เรื่อยๆ

เมื่อ Carmack เห็นโพสต์ของ Luckey ในปี 2012 ว่าประดิษฐ์แว่น VR รุ่นที่หกสำเร็จ เขาจึงส่งข้อความหลังไมค์ไปหา Palmer เพื่อขอยืมแว่นมาทดสอบสักหน่อย

แน่นอนว่า Luckey รู้จักว่า Carmack คือใคร เขาส่งแว่นหนึ่งตัว (จากที่มีทั้งหมดสองตัว) ให้กับ Carmack ทันที โดยยินดีให้ Carmack นำไปใช้ทดสอบได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเซ็นสัญญาใดๆ

เมื่อ Carmack ได้แว่นมาทดสอบ เขาก็พบว่า Luckey ก้าวหน้ากว่าตัวเองในเรื่องการใช้เลนส์ราคาถูกมาประกอบกับจอแสดงผลจนได้มุมมองที่กว้างพอ อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือเลนส์ตัวนี้ดัดภาพต้นฉบับให้บิดโค้งไปด้วย เขาจึงแก้ปัญหาโดยนำซอร์สโค้ดของ Doom 3 (ที่ Carmack สร้างเอง) มาดัดแปลงให้เป็นเวอร์ชันภาพบิดโค้ง เมื่อแสดงผลผ่านแว่น Rift มันจะถูกเลนส์ดัดกลับมาให้ตรงเหมือนเดิม

การร่วมมือของ Luckey และ Carmack จึงสร้างประสบการณ์เล่นเกมเสมือนจริงที่น่าตื่นตาตื่นใจในระดับเดียวกับแว่นราคาแพงหลักหมื่นดอลลาร์

หลังจากนั้น Carmack บอก Luckey ว่าจะนำแว่นตัวนี้ไปโชว์ให้คนรู้จักดูที่งาน E3 2012 ซึ่ง Luckey ก็ยินดี แต่สิ่งที่ Carmack ทำกลับเป็นการแถลงข่าวความเจ๋งของ Rift ให้โลกรู้ และเล่าผลงานที่เขาทำร่วมกับ Luckey (ดูคลิปวิดีโอประกอบ)

Luckey โด่งดังระดับโลกในชั่วข้ามคืน และได้เวลาจริงจังกับมัน เขาเปิดบริษัท Oculus VR Inc. และเริ่มระดมทุน Oculus ผ่าน Kickstarter

John Carmack มานั่งเป็นซีทีโอของ Oculus ในปี 2013 โดยทำงานสองบริษัทพร้อมกัน แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ลาออกจาก id Software มาทำงานเต็มเวลาที่ Oculus

เหล่าผู้กล้ารวมตัว ก่อตั้งกิจการ Oculus VR

แคมเปญระดมทุน Oculus Rift บน Kickstarter ตั้งราคาแว่นต้นแบบ (Early Rift Developer Kit) ไว้ที่ 300 ดอลลาร์ต่อชิ้น (แถมเกม Doom 3 BFG เวอร์ชันดัดแปลง) ด้วยอิทธิพลของ Carmack ทำให้คนดังในโลกเกม FPS มาร่วม "ออกตัวสนับสนุน" มากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัว Carmack เอง, Gabe Newell จาก Valve และผู้บริหารจากค่าย Epic Games กับ Unity (เกือบหมดโลก FPS พอดี)

Oculus ตั้งเป้าการระดมทุนไว้ที่ 250,000 ดอลลาร์ เมื่อเปิดให้ระดมทุน ยอดเงินทะลุเป้าภายในไม่กี่ชั่วโมง และยอดเงินสุดท้ายจบลงที่ 2,437,429 ดอลลาร์ (มากกว่าเป้าเกือบ 10 เท่า) กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาของ Kickstarter ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

หลังจากนั้น เส้นทางของ Oculus ในฐานะบริษัทก็เริ่มต้นขึ้น

นอกจาก Luckey และ Carmack แล้ว ผู้ร่วมก่อตั้ง Oculus VR ยังมี Michael Antonov ซึ่งเคยเป็น CTO ของบริษัท Scaleform ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ UI ด้วย Flash (Autodesk ซื้อกิจการเมื่อปี 2011)

Oculus ยังได้รับการสนับสนุนจาก Michael Abrash เจ้าพ่อกราฟิก 3 มิติที่ทำงานอยู่กับค่าย Valve และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยี VR ที่ Valve และเป็นเพื่อนกับ Carmack มานาน (ภายหลัง Abrash ย้ายมาอยู่กับ Oculus ในปี 2014)

คอนเนคชั่นของ Antonov กับ Abrash ช่วยดึงให้ Brendan Iribe อดีตผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Scaleform เข้ามานั่งเป็นซีอีโอของ Oculus


Brendan Iribe ภาพจาก Oculus

หลังจาก Iribe ขายกิจการ Scaleform เมื่อปี 2011 เขาก็ย้ายไปอยู่กับบริษัทเกมแบบสตรีมมิ่ง Gaikai และขายให้โซนี่ในปี 2012

ในปี 2013 เขาได้รับโทรศัพท์จาก Abrash ให้บินมาทดสอบ Oculus Rift ที่สำนักงานของ Valve ตอนแรกเขาไม่เชื่อมั่นว่าแว่น VR จะให้ประสบการณ์ที่สมจริงได้ แต่เมื่อได้ทดสอบเดโมที่ Abrash ลองให้เล่น เขาก็เปลี่ยนใจทันที เขาให้สัมภาษณ์ว่า "มันยิ่งใหญ่กว่าที่เขาคาดไว้มาก"

บุคคลสำคัญคนอื่นๆ ในทีมคือ Nate Mitchell (VP of Products) ที่มาจากคอนเนคชั่น Scaleform และ Nirav Patel อดีตวิศวกรจากแอปเปิลที่สนใจเทคโนโลยี VR แถมในระยะหลังๆ มานี้เรายังเห็นคนดังจากโลกเกมเข้าร่วมทำงานกับ Oculus อยู่เรื่อยๆ เช่น Jason Rubin ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอเกม Naughty Dog และ Jason Holtman ผู้ปลุกปั้น Steam

ทีมงานคนสำคัญของ Oculus จากซ้าย John Carmack (CTO), Nate Mitchell (VP of Product), Palmer Luckey (Founder), Micahel Antonov (Chief Software Architect), Brendan Iribe (CEO) - ภาพจาก Oculus

เส้นทางเบื้องหน้าของ Oculus VR

หลังจากนั้น Oculus ก็ร้อนแรงจนหยุดไม่อยู่

Oculus ได้รับเงินลงทุน 75 ล้านดอลลาร์จากบริษัทลงทุนชื่อดัง Andreessen Horowitz (a16z) ในเดือนตุลาคม 2013 โดยเรื่องเริ่มมาจาก Oculus เคยไปคุยกับ a16z มาก่อนแต่ถูกปฏิเสธ หลังจากนั้นเมื่อซีอีโอ Iribe มั่นใจในผลิตภัณฑ์และประกาศว่า Rift ไม่มีปัญหาเรื่อง motion-sickness ทำให้ a16z สนใจและขอทดสอบอีกครั้ง

Chris Dixon หุ้นส่วนคนสำคัญของ a16z บอกว่าเขาผ่านประสบการณ์รับชมเดโมเทคโนโลยีมาเยอะ และมีแค่ไม่กี่ครั้งที่เขาดูเดโมแล้วรู้สึกว่ามันเปลี่ยนโลกได้แน่ๆ เช่น Apple II, Netscape, Google, iPhone และหลังจากทดลอง Oculus Rift แล้ว เขาก็พบว่ามันเป็นหนึ่งในเดโมเหล่านั้น

หลังจาก Oculus ระดมทุนครั้งใหญ่ได้ราวครึ่งปี เราก็เห็นข่าวดังระดับโลกเมื่อ Facebook ประกาศซื้อกิจการ Oculus VR มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม 2014 โดย Mark Zuckerberg ใช้เวลาตัดสินใจเพียง 5 วันเท่านั้น

Oculus เริ่มส่งฮาร์ดแวร์รุ่นทดสอบ Development Kit (DK1) ในเดือนพฤษภาคม 2013 และหลังจากนั้นหนึ่งปีก็ออกฮาร์ดแวร์รุ่นที่สอง DK2 ตามมา ส่วน Oculus Rift รุ่นวางขายจริงจะเปิดตัวช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

ตอนนี้นักพัฒนาที่ได้ฮาร์ดแวร์ DK1/DK2 ไปทดสอบก็ได้สร้างเดโมมากมาย รวมถึงเกม 3 มิติดังๆ หลายเกมก็รองรับ Oculus แล้วทั้งแบบผู้พัฒนาเกมทำให้เอง (เช่น EVE, Half-Life 2 หรือ Team Fortress 2) หรือผ่าน mod จากนักพัฒนาภายนอก

แว่น Oculus Rift รุ่นแรก DK1 (ภาพจาก Oculus)

คลิปโปรโมทแว่นรุ่นที่สอง DK2

ผมคิดว่าความสำเร็จของ Oculus เกิดจาก "ความฝัน" ของคนดังในวงการเกมทั้งหลายที่อยากผลักดันเทคโนโลยี VR มานานหลายสิบปี และเมื่อ Palmer Luckey สามารถ "จุดประกาย" ความฝันนั้นให้คืนชีพอีกครั้ง คนดังเหล่านี้จึงอาศัยความฝันเดิมๆ (บวกกับคอนเนคชั่นในวงการ) เข้ามารวมตัวกันที่ Oculus เพื่อผลักดันความฝันนั้นให้เป็นจริงให้จงได้

ตอนหน้าเราจะมารีวิวแว่น Oculus Rift รุ่น DK1 ว่ามันเป็นอย่างไร เจ๋งสมราคาคุยหรือไม่ครับ

ข้อมูลบางส่วนจาก Wired UK

Blognone Jobs Premium