บทความนี้เป็นภาคต่อของ ย้อนตำนาน Nokia เดินหมากพลาดตาเดียว พ่ายแพ้ทั้งกระดาน เราเห็นโนเกียทำระบบปฏิบัติการแล้วแก้ แก้แล้วทิ้ง อยู่หลายรอบ จนต้องยอมเสียเอกราชไปใช้ Windows Phone ของไมโครซอฟท์ แต่มาถึงวันนี้สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น
ผู้ใช้ Windows Phone เองก็คงทราบปัญหาดีว่าไมโครซอฟท์ใช้เวลาพัฒนานานมาก นานจนเสียโอกาสหลายๆ อย่างไปเยอะ แต่การจะบอกว่า "ไมโครซอฟท์ขี้เกียจ" อย่างเดียวก็อาจมองโลกแคบไปสักนิด เพราะแท้จริงแล้ว พัฒนาการของ Windows Phone รวมถึง Windows 8.x เองถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่ One Windows ของไมโครซอฟท์ด้วย
บทความนี้จะพาย้อนรอยไปดูพัฒนาการของ Windows และมองอนาคตไปกับแผน One Windows ว่าจะมีเส้นทางอย่างไรต่อไปครับ
One Windows เป็นชื่อสโลแกนที่ไมโครซอฟท์เพิ่งประกาศเมื่อต้นปีนี้ ความหมายของมันคือไมโครซอฟท์ต้องการรวมระบบปฏิบัติการของตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์มเดียวกัน (ไม่ได้แปลว่าจะมี Windows เหลือเพียงรุ่นเดียว) โดยระบบปฏิบัติการในสังกัดคือ Windows เดสก์ท็อป, Windows Phone และระบบปฏิบัติการของ Xbox One
ตามวิสัยทัศน์นี้ ระบบปฏิบัติการทุกตัวของไมโครซอฟท์จะใช้แกนเดียวกัน ใช้แพลตฟอร์มการพัฒนาแอพเหมือนกัน แต่จะมีส่วนติดต่อผู้ใช้ที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติของแต่ละอุปกรณ์ การสร้างแอพภายใต้วิสัยทัศน์ One Windows จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถพอร์ตแอพข้ามไปข้ามมาบนระบบปฏิบัติการในเครือได้ง่าย
ปัจจัยเร่งให้ไมโครซอฟท์ต้องหลอมรวมระบบปฏิบัติการของตัวเองเข้าด้วยกัน เกิดจากพัฒนาการของวงการไอทีเองที่เกิดสภาวะ convergence ระหว่างอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ทั้งพีซี สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์ชนิดอื่นๆ แต่ว่าก่อนที่ไมโครซอฟท์จะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ก็เป็นเวลาที่ยาวนานทีเดียว
เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของ One Windows คงต้องย้อนประวัติพัฒนาการของ Windows กันสักหน่อยนะครับ เอาแบบพอสังเขปไม่ต้องลงลึกมาก ในแผนภาพข้างล่างก็แสดงให้เห็นสายการพัฒนาแบบสรุปพอให้เห็นภาพ ไม่ลงรายละเอียดทั้งหมด
ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อ Windows ทำตลาดอยู่หลายตัว และบางตัวก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันในแง่เทคนิคเลยยกเว้นชื่อ (เช่น Windows กับ Windows Mobile ในอดีต) ทำให้บางคนอาจสับสนในแง่สายสัมพันธ์ระหว่าง Windows แต่ละรุ่นได้
แรกสุดเลย ไมโครซอฟท์สร้าง Windows ขึ้นมาเป็น GUI ของระบบปฏิบัติการ DOS (นั่นคือ Windows 1.x-3.x) มันไม่สามารถทำงานได้ถ้าไม่มี DOS ซึ่งภายหลัง ไมโครซอฟท์ก็พัฒนามันให้เป็น "ระบบปฏิบัติการเต็มรูปแบบ" นับตั้งแต่ Windows 95 เป็นต้นมา โดยเคอร์เนลของระบบปฏิบัติการใช้ DOS เวอร์ชันดัดแปลงที่เรียกกันภายในว่า Cougar และใช้เคอร์เนลนี้สืบเนื่องมาตลอดในสายของ Windows 9x (สิ้นสุดที่ Windows ME)
ไมโครซอฟท์ทราบดีว่าเคอร์เนลของ Windows 9x มีข้อจำกัดในแง่เทคนิคหลายประการ จึงแบ่งทรัพยากรไปทำ Windows NT ที่มีเคอร์เนลทันสมัยกว่า เสถียรกว่า และเน้นจับตลาด workstation/server ที่ต่างไปจากตลาดคอนซูเมอร์ของ Windows 9x
ตามแผนของไมโครซอฟท์คือจะแทนที่เคอร์เนลของ Windows 9x ด้วยเคอร์เนลของ NT ซึ่งแผนการนี้มาสำเร็จในยุคของ Windows XP ที่ใช้เคอร์เนลจาก Windows 2000 (เป็นเหตุผลที่ทำให้ XP เสถียรกว่า 9x มาก)
หลังจากนั้น ไมโครซอฟท์ประสบปัญหาในการพัฒนา Windows รุ่นต่อจาก XP จนต้องรื้อทำใหม่หลายครั้ง สุดท้ายหันมาใช้แกนของ Windows 2003 ที่เสถียรกว่า จนกลายมาเป็น Vista และสืบทอดมาเป็น Windows 8.1 ในปัจจุบัน (ในสายของ Windows Server เองก็ไล่มาจนถึง Windows 2012 R2 เช่นกัน)
สรุปว่าระบบปฏิบัติการสำหรับพีซีของไมโครซอฟท์ถูกเปลี่ยนมาเป็นแกนของ Windows NT เดิมมานานแล้ว (ตั้งแต่ปี 2001) และไมโครซอฟท์ก็ปรับปรุงให้ระบบปฏิบัติการ "โมเดิร์น" ขึ้นเต็มที่ในปี 2012 คือรองรับอินเทอร์เฟซจอสัมผัส Metro และใช้การพัฒนาโปรแกรมแนว WinRT เป็นต้นมา (รายละเอียดอ่านในบทความ รู้จักกับ Metro Style App และ WinRT คู่หูของการพัฒนาโปรแกรมบน Windows 8)
ย้ำอีกรอบว่า Windows ยุคใหม่ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 ข้อคือ ใช้แกน Windows NT, รองรับการพัฒนาโปรแกรมแบบ WinRT และส่วนติดต่อผู้ใช้จอสัมผัส Metro/Modern
สำหรับตลาดอุปกรณ์พกพา ไมโครซอฟท์แยกไปทำ Windows CE มานานแล้ว และออกระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์พกพา (พีดีเอ-สมาร์ทโฟน) ในชื่อ PocketPC ก่อนจะกลายมาเป็น Windows Mobile และ Windows Phone ในปัจจุบัน
ระบบปฏิบัติการตระกูล Windows CE มีความเกี่ยวข้องกับ Windows บนพีซีแค่ชื่อเท่านั้น สถาปัตยกรรมทางเทคนิคทุกอย่างแตกต่างกันทั้งหมด
ถ้าลองพิจารณา Pocket PC หรือ Windows Mobile จะเห็นว่ามันใช้แกน Windows CE, มีอินเทอร์เฟซของตัวเอง, ใช้เครื่องมือพัฒนาโปรแกรมเฉพาะของตัวเอง (เช่น C++ หรือ .NET Compact Framework) และแน่นอนว่าใช้ทีมงานพัฒนาแยกขาดจาก Windows ฝั่งพีซี
แต่ในเมื่ออนาคตของอุปกรณ์พกพาคือ "พีซีย่อส่วน" ซึ่งเราเห็นแนวโน้มนี้ชัดเจนจาก iOS ที่พัฒนาต่อมาจาก OS X หรือ Android ที่พัฒนาจาก Linux ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน โดยเริ่มจาก Windows Phone 7 ที่เปิดตัวในปี 2010
อย่างไรก็ตาม กระบวนการ "เปลี่ยนผ่าน" ของ Windows Mobile/Phone ไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็วนัก เพราะมีกระบวนการลองผิดลองถูกระหว่างทางอยู่มาก และต้องใช้เวลาหลายรุ่นกว่าจะเปลี่ยนผ่านสำเร็จ ดังแผนภาพด้านล่าง
ตอนไมโครซอฟท์เปลี่ยนจาก Windows Mobile 6.x มาเป็น Windows Phone 7 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ
ตรงนี้ต้องอธิบายนิดนึงว่า Windows Phone 7 เป็นระบบปฏิบัติการตัวแรกสุดของไมโครซอฟท์ที่ปรับมาเป็น Metro ทำให้ไมโครซอฟท์เองก็ยังงงๆ ว่าจะสร้างแพลตฟอร์มการพัฒนาอย่างไรดี (ไมโครซอฟท์มีเครื่องมือการพัฒนาหลายสาย เช่น C++ ปกติ, .NET, Silverlight ซึ่งเป็น .NET ลดรูป)
สุดท้ายไมโครซอฟท์เลือก Silverlight ที่ออกแบบมาสำหรับการพัฒนา Rich Internet Application (RIA) โดยแยกพัฒนาเป็น Silverlight เวอร์ชันพิเศษสำหรับ Windows Phone (อิงจาก Silverlight 4)
อย่างไรก็ตาม แกนหลักของตัวระบบปฏิบัติการ Windows Phone 7 ยังเป็น Windows CE ซึ่งยังไม่ "ทันสมัย" อย่างที่ไมโครซอฟท์ต้องการ
ปี 2012 ไมโครซอฟท์ออก Windows Phone 8 ที่ "ยกเครื่อง" ภายในอีกรอบ แม้ส่วนติดต่อผู้ใช้จะเป็น Metro เหมือนเดิม แต่ภายในเปลี่ยนใหม่หมด แกนหลักของระบบปฏิบัติการเปลี่ยนมาใช้ Windows NT และเทคโนโลยีการพัฒนาแอพเปลี่ยนมาใช้ Windows Phone Runtime (เรียกกันย่อๆ ในวงการว่า WPRT)
ภาพจาก Microsoft
WPRT เป็นเวอร์ชันลดรูปของ WinRT ที่ใช้กับ Windows 8 ที่ออกในปีเดียวกัน (2012) เหตุผลที่ไมโครซอฟท์ใช้ WPRT กับ WP8 น่าจะเกิดจาก "ทำไม่ทัน" เป็นหลัก (ตรงนี้ไม่มีข้อมูลยืนยันนะครับ) ผลกระทบของการที่ WPRT มีข้อจำกัดหลายอย่างทำให้การพัฒนาแอพบน WP8 ไม่ง่ายนัก เพราะติดโน่นติดนี่เต็มไปหมด
เส้นทางของ Windows Phone มาวนรอบครบสมบูรณ์ใน Windows Phone 8.1 (2014) ที่สามารถยัด WinRT ลงมาใส่ในอุปกรณ์พกพาได้สำเร็จ นักพัฒนาสามารถเขียนแอพที่รันบน Windows 8.x และ Windows Phone 8.1 ได้พร้อมกันแล้ว (ข่าวเก่า: ไมโครซอฟท์เปิดตัว Universal Windows Apps พัฒนาครั้งเดียว รันได้ทั้ง Windows 8.1, Windows Phone 8.1, Xbox One)
ภาพจาก Microsoft
มาถึงวันนี้ (สิงหาคม 2014) คงต้องบอกว่าไมโครซอฟท์เพิ่งปรับพื้นฐานสำหรับวิสัยทัศน์ One Windows สำเร็จ แต่ผลลัพธ์ของมันจะออกดอกออกผลเป็นอย่างไร คงต้องรอดู Windows รุ่นหน้ารหัส Threshold (ที่เราคาดว่ามันคงใช้ชื่อ Windows 9 แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอนหรอกนะครับ) ว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของไมโครซอฟท์คงไม่ใช่เรื่องวิสัยทัศน์ว่าถูกต้องแค่ไหน เพราะถ้ามองย้อนกลับไป การรวม One Windows ยังไงก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรทำ ทั้งในมิติของผู้ใช้ นักพัฒนา และไมโครซอฟท์เอง เพราะมันเป็นการรวมทรัพยากรเข้าด้วยกันไม่ให้ซ้ำซ้อน ไม่ต้องเหนื่อยหลายรอบ และผู้ใช้เองก็ได้ประโยชน์
แต่ปัญหาของไมโครซอฟท์กลับเป็นเรื่องจังหวะและเวลา เพราะกว่าไมโครซอฟท์จะได้ฤกษ์ "ปรับปรุง" Windows ให้ทันสมัยโดยนับจาก Windows Phone 7 ก็ต้องรอถึงปี 2010 (iPhone ออกมาสามปี และ Android ออกมาสองปี) และกว่าไมโครซอฟท์จะรวมแพลตฟอร์มได้สมบูรณ์ ก็อาจต้องรอถึงปี 2015 กับ Threshold ซึ่งป่านนั้น คู่แข่งและตลาดก็เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว
คำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้ก็คือ One Windows ยังเกาะขบวนรถไฟทันหรือไม่ ไมโครซอฟท์ยังสามารถใช้ฐานผู้ใช้เดิมเป็นต้นทุน ผนวกกับวิสัยทัศน์ใหม่ โครงสร้างองค์กรใหม่ ซีอีโอใหม่ แล้วสร้างนวัตกรรมสุดเจ๋งที่แซงหน้าคู่แข่ง พลิกเกมได้สำเร็จ หรือจะกลายเป็นจุดสิ้นสุดของ Windows สายคอนซูเมอร์ และไมโครซอฟท์ต้องถอนตัวไปรักษาฐานที่มั่นในตลาดไอทีองค์กรแทน
อีก 1-2 ปีเราน่าจะรู้กัน
อ้างอิง