เมื่อต้นปีในระหว่างงาน CES 2014 หลายคนคงยังจดจำได้กับการกลับมาอีกครั้งของ webOS ที่เกิดใหม่บนแพลตฟอร์มสมาร์ททีวีด้วยฝีมือของ LG ที่ซื้อทีมนี้มาจาก HP อีกที แต่ทว่าผ่านไปเป็นเวลาแปดเดือนนับตั้งแต่นั้น แพลตฟอร์มทีวีที่เรียกได้ว่าน่าจับตามองที่สุด กลับเงียบหายไป และกลายเป็นทีมงานของ webOS ทยอยออกจาก LG ทีละคนๆ (ล่าสุดไป Pebble) เพื่อพิสูจน์ความจริงดังกล่าว เว็บไซต์ gigaOM จึงได้ทำสกู๊ปสำรวจเบื้องหลังการทำงานของทีม webOS ใต้ร่มเงาของ LG ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ LG ซื้อทีม webOS มาจาก HP ทีมนี้ถูกเรียกว่า LG Silicon Valley Lab โดยได้รับมอบหมายให้ทำส่วนติดต่อผู้ใช้สำหรับใช้งานร่วมกับสมาร์ททีวีรุ่นใหม่ที่เตรียมเปิดตัวในงาน CES 2014 เดือนมกราคม ซึ่งผลก็เป็นที่รู้กันว่า webOS TV เปิดตัวได้อย่างสวยงาม แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยความลำบาก และความโชคดีของทีม LG Silicon Valley Lab ไปพร้อมกัน
ของดีที่เกือบไม่ถึงฝั่ง
เพื่อไปให้ถึงจุดหมายของการเป็น webOS TV ทีมของ LG Silicon Valley Lab จำเป็นต้องแข่งกับทีมพัฒนาเดิมซึ่งนำทีมโดยผู้จัดการในเกาหลีใต้ ผู้นิยมส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ยุ่งเหยิง และเต็มไปด้วยแถบเมนูที่ไม่ได้ใช้ คล้ายกับของซัมซุงที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว
ตัวอย่างส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ webOS TV ควรจะเป็น
จากการต่อสู้กันระหว่างสองทีมจากสองทวีปเป็นเวลาหลายเดือน ทีม LG Silicon Valley Lab ที่เน้นความเรียบง่าย กำลังจะพ่ายแพ้ให้กับทีม LG จากเกาหลีใต้ แต่ผลสุดท้ายกลับพลิกล็อกเมื่อทีม LG เกาหลีใต้นั้นไม่สามารถพัฒนาส่วนติดต่อผู้ใช้นั้นให้เสร็จลุล่วงตามเวลา (จะด้วยความซับซ้อนนั่นหรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้) ทำให้ LG ต้องตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้ส่วนติดต่อผู้ใช้ของทีม LG Silicon Valley Lab แทนเพื่อให้สมาร์ททีวีดังกล่าวเสร็จทันงาน
ยิ่งแข่งขัน ยิ่งยุ่งเหยิง
จบเรื่องความโชคดีของทีม LG Silicon Valley Lab ที่สามารถนำพาส่วนติดต่อผู้ใช้แบบเรียบง่ายไปสู่สายตาชาวโลกจนได้รับคำชมอย่างมากไปแล้ว ทีมนี้ยังเล่าถึงความเสียเปรียบในการแข่งขันว่า LG ไม่เคยจ้างวิศวกรมาเพิ่มในทีมนี้เลยแม้แต่คนเดียว หนำซ้ำอีกทีมในเกาหลีใต้ยังรังแต่พัฒนาฟีเจอร์ที่ไม่ต้องการมาเรื่อยๆ ซึ่งฟีเจอร์พวกนี้เป็นผลลัพธ์จากนโยบายของ LG ที่จะให้รางวัลแก่ผู้จัดการทีมที่สามารถพัฒนาฟีเจอร์ที่ไปอยู่ในผลิตภัณฑ์ตัวจริงได้ ทำให้สมาร์ททีวีของ LG มีแต่ฟีเจอร์ไร้ค่า (bloatware) เป็นจำนวนมาก
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ เมื่อย้อนกลับไปดูสมาร์ททีวีรุ่นก่อนหน้าของ LG จะพบว่ามีสโตร์สำหรับโหลดแอพถึงสองตัวด้วยกันคือ Premium App และ Smart World App ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคนใช้จะสับสนกับแอพทั้งสองนี้แค่ไหน
จากปัญหาอันยุ่งเหยิงภายในของ LG ที่ว่ามานี้ ทำให้ทีม LG Silicon Valley Lab เกือบหนึ่งในสามออกจาก LG ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พยายามแค่ไหน สุดท้ายก็ยังไม่เข้าใจ
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงพอเข้าใจว่าปัญหาของการนำ webOS ไปใช้บนสมาร์ททีวีที่เกิดปัญหานี้ก็เนื่องมาจากวัฒธรรมภายในของ LG เองที่มีปัญหา และจากการที่ LG ทำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้านจำนวนมาก ทีวีเองก็เป็นเพียงหนึ่งในผลิตภัณฑ์กลุ่มนั้น ที่แต่เดิมถูกเลือกซื้อเพียงแค่ขนาด และคุณภาพของหน้าจอ แต่ปัจจุบันกลับเปลี่ยนไป ด้วยการมาของบริการสตรีม และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจำนวนมากในปัจจุบัน รวมถึงการเติบโตจากผู้ผลิตจากจีนช่วยเร่งให้การเปลี่ยนแปลงไปไวกว่าที่คิด แน่นอนว่า LG ก็แค่ยังตามไม่ทัน และไม่เข้าใจในกระแสนี้
ไม่ใช่แค่ LG เท่านั้น ผู้ผลิตทีวีรายอื่นอย่าง Samsung และ Sony เองก็เคยผ่านจุดที่เรียกได้ว่าไม่เข้าใจตลาดของทีวีมาก่อน และยังอยู่ในระหว่างการปรับไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับกับความต้องการของผู้ใช้อยู่เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การที่ LG ลงทุนกับ webOS จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จริงๆ และพัฒนา Connect SDK สำหรับเป็นส่วนเสริมการสตรีมทีวีไปยังหน้าจอต่างๆ เป็นผลดีที่คุ้มค่า เพียงแต่ต้องดูต่อไปว่า การที่ webOS ซึ่งถูกโอนการพัฒนาไปยังทีมที่เกาหลีใต้นั้น จะพัฒนาจาก webOS TV ที่เราเห็นเมื่อต้นปี หรือจะเปลี่ยนมันไปมากแค่ไหนครับ
ที่มา - gigaOM