อ่านพาดหัวข่าวแล้วอาจสับสนเล็กน้อย หากอธิบายให้ชัดเจนขึ้น ต้องบอกว่า Google ทำการปรับปรุงหน้าแสดงผลการค้นหาของตัวเอง ให้มีกล่องค้นหาขนาดย่อย แทรกอยู่ในผลนั้น
ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ใช้ค้นหาคำว่า "youtube" ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะมีลิงก์เข้าสู่เว็บไซต์ YouTube ปรากฎขึ้นมาเป็นบรรทัดแรกในหน้าแสดงผลการค้นหานั้น ทว่าภายใต้ลิงก์ที่จะนำไปสู่เว็บไซต์ดังกล่าว ยังมีช่องค้นหาขนาดเล็กอยู่อีกหนึ่งช่อง ซึ่งเมื่อผู้ใช้พิมพ์คำค้นหาในช่องดังกล่าว ก็เท่ากับเป็นการค้นหาเฉพาะสิ่งที่อยู่ในเว็บของ YouTube นั่นเอง (เทียบเท่าการใช้คำสั่ง site: query บนเว็บ Google โดยตรง)
Google ได้ใส่ระบบเติมคำอัตโนมัติให้แก่ช่องค้นหาขนาดเล็กที่ว่านี้ด้วย เพื่อช่วยเดาคำค้นหาให้ผู้ใช้ หากผู้ดูแลเว็บไซต์กำหนด markup ไว้ถูกต้องตาม schema.org เมื่อผู้ใช้พิมพ์คำค้นหาในช่องค้นหาขนาดเล็กนี้แล้วกดยืนยันก็จะเข้าสู่หน้าแสดงผลการค้นหาของเว็บไซต์นั้นทันที แต่หากไม่ได้กำหนด markup ไว้ ผลการค้นหาก็จะแสดงบนเว็บของ Google ตามปกติ
สำหรับรายละเอียดการกำหนด markup ตลอดจนการตั้งค่าอื่นๆ สามารถดูรายเพิ่มเติมได้จากที่นี่
ที่มา - Google Webmaster Central Blog