ไม่ใช่แค่รู้จำใบหน้า แต่งานวิจัยของ Google จะทำให้คอมพิวเตอร์รู้จักทุกวัตถุที่มันมองเห็น

by ตะโร่งโต้ง
8 September 2014 - 19:38

เทคโนโลยีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาจดจำภาพใบหน้าของมนุษย์เพื่อแยกแยะจำแนกบุคคลนั้นว่าน่าทึ่งแล้ว แต่เทคโนโลยีในห้องวิจัยนั้นยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อยจนถึงขนาดที่ว่าระบบคอมพิวเตอร์สามารถระบุได้ว่าวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏในภาพถ่ายที่มันมองเห็นนั้นคืออะไร

Google ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการประกวด ILSVRC ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันนำเอาระบบซอฟต์แวร์จำแนกและระบุตำแหน่งวัตถุสิ่งของในภาพมาทำการแข่งขันเปรียบเทียบประสิทธิภาพกันใน 3 หมวด อันได้แก่ "การแยกแยะ", "การแยกแยะและระบุตำแหน่ง" และ "การตรวจจับ" ซึ่งในปีนี้ทีมวิจัยของ Google ที่มีชื่อว่า GoogLeNet ได้รับรางวัลชนะเลิศจากงานนี้ในหมวดแรกและหมวดสุดท้าย

ทีม GoogLeNet อาศัยการพัฒนา "โครงข่ายประสาทเทียม" อันหมายถึงแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เรียนรู้และจดจำรูปแบบของข้อมูล (ซึ่งต้นแบบในการพัฒนาวิทยาการด้านนี้มาจากการถอดแบบการทำงานของระบบประสาทในสิ่งมีชีวิต) จนทำให้มันสามารถแยกแยะขอบเขตของวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏในภาพได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังประมวลผลมหาศาลจากคอมพิวเตอร์อื่นใดภายนอก

อัลกอริทึมที่ถูกพัฒนาโดยทีมวิจัยของ Google นี้สามารถแยกแยะวัตถุสิ่งของทั่วไปในชีวิตประจำวันได้ ในบางกรณีมันยังสามารถระบุข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุในภาพได้ด้วย ทั้งยังสามารถจำแนกได้แม้กระทั่งสัตว์และมนุษย์ในอิริยาบถต่างๆ หรือในขณะที่สวมใส่เครื่องแต่งกายที่ต่างออกไปก็ด้วย

หากในวันหนึ่ง งานวิจัยนี้ถูกนำมาใช้งานจริงโดย Google มันจะสามารถขยายความสามารถของระบบค้นหาข้อมูล โดยเฉพาะการค้นหาภาพได้เป็นอย่างดี

ที่มา - Google Research Blog via Engadget

Blognone Jobs Premium