บทวิเคราะห์ iPhone 6 - กลืนน้ำลาย ทำลายข้อจำกัด

by mk
10 September 2014 - 07:21

ตามธรรมเนียมของ Blognone หลังแอปเปิลเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ ก็ได้เวลาของบทวิเคราะห์ที่มาที่ไปและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมครับ (ฉบับปีก่อน บทวิเคราะห์ iPhone 5 - จังหวะการเดินที่ช้าลงของแอปเปิล)

ต้องออกตัวอีกเช่นเคยว่าบทวิเคราะห์นี้เขียนขึ้นบนฐานจากข้อมูลในงานเปิดตัวของแอปเปิลเมื่อคืนนี้เท่านั้น อาจมีข้อมูลบางส่วนที่ขาดไป (ซึ่งอาจจะมาจากรายละเอียดเพิ่มเติมของแอปเปิลเอง หรือการจับ/ทดสอบเครื่องจริง) และอาจทำให้การวิเคราะห์ไม่แม่นยำได้

ในที่สุด แอปเปิลก็ยอมทำมือถือจอใหญ่

การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนโดดเด้งที่สุดของ iPhone คือเรื่อง "ขนาด" ผลสรุปของมันคือในที่สุดแล้ว แอปเปิลก็ยอมทำมือถือจอใหญ่สักที (เว้ยเฮ้ย)

ประเด็นเรื่องขนาดหน้าจอนี้ ถ้าให้วิเคราะห์ในเชิงทิศทางของอุตสาหกรรม คงพอสรุปได้ว่าในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์จาก "คุย" มาเป็น "ดู/อ่าน" อย่างชัดเจน เมื่อวิธีการใช้โทรศัพท์ต้องพึ่งพาสายตามากขึ้น ผู้ใช้ย่อมต้องการโทรศัพท์หน้าจอใหญ่ขึ้นโดยธรรมชาติ (ต่างไปจากมือถือในอดีตที่แข่งกันเล็ก ถึงขนาดโฆษณาว่าทำตกรูได้)

การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมลักษณะนี้ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง เพราะผู้บริโภคติดกับความคุ้นเคยแบบเดิมและต้องให้เวลาสักระยะหนึ่งในการเรียนรู้ ตัวผมเองตอนเห็น Galaxy Note รุ่นแรกเปิดตัวก็ยังคิดว่า "มือถือใหญ่จังใครจะไปใช้" แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ปรับตัวเข้ากับมันได้ ตอนนี้กลายเป็นว่ากลับไปใช้มือถือจอเล็กกว่า 5 นิ้วไม่ได้แล้ว (ต้องให้เครดิตซัมซุงว่ามองเกมขาดมาก)

เมื่อตลาดโดยรวมไปในทิศทางนี้ แอปเปิลย่อมฝืนกระแสไม่ไหว และยอมปรับตัวตามในที่สุด

เรื่องนี้จะไม่เป็นประเด็นอะไรเลย ถ้าหากแอปเปิลไม่เคย "ออกตัวแรง" ไว้เยอะแยะมากมายในอดีต เช่น สตีฟ จ็อบส์ ถึงขนาดพูดเอาไว้ว่า no one's going to buy that หรือโฆษณาของแอปเปิลที่เคยชูจุดเด่นเรื่องหน้าจอขนาดเล็กพกพาสะดวก นิ้วกวาดทั้งจอได้ง่าย (ขอบคุณคุณ pongmile ช่วยแปะคลิป)

พอมาถึงยุค iPhone 6 ที่แอปเปิลยอมปรับหน้าจอมือถือให้ใหญ่ขึ้น (ขึ้นไปถึง 5.5 นิ้วในรุ่น iPhone 6 Plus) ก็ต้องบอกว่างานนี้ กลืนน้ำลายตัวเอง แบบเต็มๆ ครับ

ผมเคยเขียนถึงประเด็นเรื่องนี้ไว้หลายรอบแล้ว การกลืนน้ำลายตัวเองหรือลอกคู่แข่งนั้นมีผลแค่ "เสียศักดิ์ศรี" (และทำสาวกเงิบ) แต่ "ประโยชน์" ที่ตกถึงแก่ผู้บริโภคทั่วไปจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่แข่งกันไปมา ลอกกันไปมา นั้นเยอะกว่ามากมายมหาศาล ดังนั้นการทำจอใหญ่ของแอปเปิลจึงไม่เสียหายอะไรเลยทั้งในแง่ธุรกิจ (ของขายดีขึ้น) และผู้ใช้งาน

ทำไมต้องแบ่งออกเป็น 2 รุ่นย่อย

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือรอบนี้แอปเปิลเปิดตัว iPhone ทีเดียว 2 รุ่นย่อย เรื่องนี้ต่างไปจาก iPhone 5s/5c เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสินค้าคนละตัวกัน แต่รอบนี้ iPhone 6 กับ iPhone 6 Plus เป็นสินค้าตัวเดียวกันที่มีรุ่นย่อย (variation) ต่างไปตรงขนาดหน้าจอกับ OIS เท่านั้นเอง (อ่าน เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง iPhone 6 และ iPhone 6 Plus อะไรบ้างที่ไม่เหมือนกัน)

ผมคิดว่า iPhone 6/6 Plus เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบของแอปเปิลต่อทิศทางของตลาดมือถือ ที่เริ่มหมุนไปในทาง phablet มากขึ้น (ข่าวเก่า DisplaySearch ระบุแท็บเล็ตจอเล็กถูก phablet กดดัน ยอดตกเป็นครั้งแรก) บวกกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเองที่มีขอบเขตของ "จอใหญ่" ที่อาจแตกต่างกันไป (เช่น บางคนบอก 5 นิ้วใหญ่ บางคนบอกไม่ใหญ่)

ในเรื่องนี้ ผู้ผลิตมือถือรายอื่นใช้ยุทธศาสตร์ออกมือถือจอขนาดปกติและจอใหญ่ควบคู่กันไป (เช่น Galaxy S/Note, Xperia Z/Z Ultra, HTC One/One Max, Lumia 920/1520) เพื่อให้ตลาดเป็นคนเลือกว่าชอบมือถือขนาดไหน จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่แอปเปิลต้องเดินรอยตามบ้าง

อย่างไรก็ตาม ความเป็นแอปเปิลและนโยบายเรื่อง fragmentation ทำให้แอปเปิลเลือกไม่ออกผลิตภัณฑ์ 2 ตัวที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ใช้วิธีออกสินค้าที่ไส้ในเหมือนกันแทบทุกประการ ต่างกันที่ขนาดหน้าจอเพียงอย่างเดียวแทน (ผมเชื่อว่าถ้าทำได้ในเชิงเทคนิค แอปเปิลจะยัด OIS เข้ามาใน iPhone 6 รุ่นปกติด้วย)

นโยบายนี้น่าจะช่วยลดความสับสนของลูกค้าแอปเปิลในแง่การเปรียบเทียบสเปกระหว่าง iPhone 6/6 Plus ด้วย เรียกว่าบีบให้เหลือปัจจัยในการเลือกรุ่นแค่เรื่องขนาดหน้าจอเพียงอย่างเดียว

NFC และ Apple Pay

เรื่อง NFC เป็นอีกประเด็นที่แอปเปิลต้องกลืนน้ำลายตัวเอง หลังจากโดนอุตสาหกรรมกดดันให้ใส่ชิป NFC เข้ามาอยู่หลายปี

ผมเชื่อว่าแอปเปิลพยายามมองหาเทคโนโลยีอื่นๆ (เช่น Bluetooth) สำหรับโซลูชันการจ่ายเงินด้วยมือถืออยู่พักใหญ่ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องกลับมายอมทำ NFC เหตุผลส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเทคโนโลยี mobile payment ไม่ได้ขึ้นกับตัวอุปกรณ์พกพาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอิงกับ ecosystem ของเครื่องจ่ายเงินตามร้านค้าต่างๆ ด้วย เมื่อองค์กรด้านการเงินทั่วโลกมีความเห็นร่วมกันว่าจะใช้ NFC (แม้ในรายละเอียดปลีกย่อยอาจเห็นไม่ตรงกัน) แอปเปิลจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมใช้ NFC ตามชาวบ้านเขา

เราคงไม่ต้องกล่าวถึงประเด็นเรื่องลอก/ทำตามหลังชาวบ้านกันอีกนะครับ โดยสรุปแล้ว การที่แอปเปิลยอมใส่ NFC เข้ามาใน iPhone 6 ถือเป็นผลดีต่อวงการ mobile payment ในภาพรวม เพราะจะได้ข้อสรุปเรื่องฮาร์ดแวร์กันสักที แถมชื่อเสียงและแบรนด์ของแอปเปิลย่อมเป็นผลดีต่อการผลักดันร้านค้าปลีกทั่วโลกให้หันมาสนใจใช้ระบบ mobile payment เร็วขึ้นด้วย

สิ่งที่น่าสนใจใน Apple Pay มีอยู่สองประการ (อ่านรายละเอียดเรื่อง Apple Pay)

อย่างแรกคือระบบความปลอดภัยที่แอปเปิลเตรียมพร้อมมาค่อนข้างดี ในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประเด็นเรื่องความปลอดภัยมีผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภคมาก ซึ่งตรงนี้แอปเปิลต่อยอดระบบความปลอดภัยจากแพลตฟอร์มยืนยันตัวตนด้วยข้อมูลชีวภาพ (Touch ID) ของตัวเอง ร่วมกับการเก็บข้อมูลเข้ารหัสลงชิปแยกเฉพาะ (ที่เราเรียกว่า secure element) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลการเงินที่อ่อนไหว ผมคิดว่าเรื่องมาตรการความปลอดภัยหลายชั้นแบบนี้ แอปเปิลค่อนข้างล้ำหน้าคู่แข่งไปมาก (ในการใช้งานจริงจะปลอดภัยแค่ไหนต้องดูกันยาวๆ) และน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้มือถือค่ายอื่นต้องหันมาทำตามกันถ้วนหน้า

อย่างที่สองคืออิทธิพลของแอปเปิลในอเมริกา ซึ่งแอปเปิลมีส่วนแบ่งตลาดมือถือสูงมาก ทั้งในแง่ยอดขายจริง (สถิติของ comScore เดือนกรกฎาคม 2014 คือ 42.4%) และอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คน (mindset) ดังนั้นการที่แอปเปิลลงมาผลักดัน Apple Pay เต็มตัว ย่อมกระตุ้นให้ธุรกิจร้านค้าทั่วอเมริกาจับตามอง และสนใจปรับตัวให้พร้อมรับเทคโนโลยีของแอปเปิลมากขึ้น (ลองนึกว่าถ้าเป็นไมโครซอฟท์ออกมาเปิดตัวระบบจ่ายเงินแบบเดียวกันเป๊ะสิครับ อิทธิพลมันย่อมต่างกัน)

ผลคือธนาคารและร้านค้ารายใหญ่จำนวนไม่น้อย ยินดีเข้าร่วมกับแอปเปิลตั้งแต่เปิดตัว

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของแอปเปิลเรื่องอิทธิพลในอเมริกาก็มีด้านกลับว่า อิทธิพลนี้ใช้งานแทบไม่ได้เลยนอกอเมริกา แอปเปิลจะสามารถผลักดัน Apple Pay ได้มากน้อยแค่ไหนในยุโรป (ที่แอนดรอยด์มีส่วนแบ่งตลาดสูงมากในหลายประเทศ) และเอเชีย (ที่ยังอาจยึดติดกับเงินสดแบบเดิมๆ อยู่) เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

สมรรถนะของฮาร์ดแวร์ เดินหน้าต่อไปในทิศทางเดิม

นโยบายของแอปเปิลในงานเปิดตัว iPhone ทุกครั้งคือชูจุดขายเรื่องประสิทธิภาพเหนือสเปกเป็นตัวเลข ซึ่งรอบนี้ก็ยังเดินหน้าต่อไปในทิศทางเดิม

ช่วงหลังแอปเปิลหันมาใช้หน่วยประมวลผลของตัวเอง ทำให้เปรียบเทียบสเปกตรงๆ กับคู่แข่งได้ยาก (และแอปเปิลก็ไม่ค่อยอยากทำ ดังจะเห็นได้จากการพยายามปิดบังสเปกเชิงตัวเลขเสมอมา) สิ่งที่แอปเปิลทำคือโฆษณาเรื่องประสิทธิภาพผลลัพธ์จากการใช้งานจริง ซึ่งรอบนี้ก็บอกว่าซีพียูของ iPhone 6 ดีขึ้นกว่า iPhone รุ่นแรกถึง 50 เท่า

ส่วนจีพียูก็ดีขึ้นกว่ารุ่นแรก 84 เท่า

เรื่องของกล้องถ่ายภาพก็ไม่ต่างกัน นับตั้งแต่ iPhone 4 เป็นต้นมา แอปเปิลชูจุดขายเรื่องกล้องมาโดยตลอด (ซึ่งผลลัพธ์ก็ถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ในวงการเช่นกัน) และรอบนี้แอปเปิลก็พยายามผลักดันเทคโนโลยีกล้องไปสุดตัว ทั้งในแง่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

พัฒนาการทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นผลดีกับผู้บริโภคอย่างแน่นอนครับ แต่ถ้าถามว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการเพิ่มสมรรถนะทางฮาร์ดแวร์ (marginal gain) นั้น "เยอะ" ในเชิงสัมพัทธ์เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ หรือไม่ ก็คงต้องบอกว่ามันลดลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว (ตามหลัก law of diminishing returns) ซึ่งตรงนี้เกิดขึ้นกับมือถือทุกราย ไม่ใช่แค่แอปเปิลรายเดียว

โดยสรุปคือพัฒนาการทางสมรรถนะฮาร์ดแวร์ของ iPhone 6 นั้นเดินหน้าด้วยอัตราปกติ เฉกเช่นเดียวกับปีที่แล้ว แต่ด้วยสภาพการณ์ในตลาด ทำให้เราอาจรู้สึกว่ามันเปลี่ยนจากเดิมไม่เยอะนัก

iOS 8 แอปเปิลยุคใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น

งานเมื่อคืนนี้ไม่มีพูดถึง iOS 8 มากนัก เพราะรายละเอียดถูกพูดถึงในงาน WWDC 2014 ไปหมดแล้ว แต่จะวิเคราะห์ iPhone 6 โดยไม่พูดถึง iOS 8 เลยก็เห็นจะไม่ได้

ถ้าเปรียบเทียบน้ำหนักกันแล้ว iOS 8 อาจถือเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดของแอปเปิลในปีนี้เลยก็ว่าได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างใน iOS 8 สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของ "แอปเปิลยุคใหม่" ภายใต้การนำของ Tim Cook ที่ดูเปิดกว้างและยินดีร่วมมือกับคนอื่นมากขึ้น เช่น เปิดให้มีคีย์บอร์ดภายนอก, เปิด Touch ID ให้คนอื่นใช้งาน, เปิดให้แอพสามารถคุยกันเองได้ ฯลฯ (รายละเอียดของ iOS 8 อ่านในข่าวเก่า แอปเปิลเปิดตัว iOS 8 ไม่มุ่งเน้นทำสิ่งใหม่ แต่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น)

ผมคิดว่าในภาพรวมแล้ว iOS 8 สะท้อนทิศทางของแอปเปิลเองว่าเริ่มเปลี่ยนจากการมองสินค้าตระกูล iDevice ในฐานะ "อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์" มามองให้มันเป็น "แพลตฟอร์ม" เชิงนามธรรมมากขึ้น แอปเปิลเริ่มขยับโมเดลธุรกิจของตัวเองจากการขายสินค้าเชิงกายภาพ (หาเงินจากการขายของตรงๆ) มาเป็น "พ่อค้าคนกลาง" ที่เปิดแพลตฟอร์มของตัวเองให้คนอื่นเข้ามาทำมาหากิน (แล้วเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียม) มากขึ้น

iPhone 6 คือการทำลายข้อจำกัดเดิมๆ ของ iPhone

ในแง่ผลิตภัณฑ์แล้ว iPhone 6 ทำลายข้อจำกัดเดิมๆ ของ "สินค้าตระกูล iPhone" ไปเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาดหน้าจอหรือ NFC และเมื่อบวกกับแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์และบริการที่เข้มแข็งของแอปเปิล (ที่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) มันจึงถือเป็นสินค้าที่ยอดเยี่ยมมากของตลาดมือถือในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับราคาของ iPhone 6 เปรียบเทียบกับสภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมมือถือในปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามว่าเรายังจำเป็นต้องใช้มือถือราคาเกิน 2 หมื่นบาทอีกหรือไม่

ผมเคยตั้งคำถามเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง (เช่น ในบทวิเคราะห์ Galaxy S5 หรือ iPhone 5c) และสภาพตลาดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาก็เป็นหลักฐานชั้นดีที่ชี้ให้เราเห็นว่า "มือถือราคาถูกที่คุณภาพดีพอ" กำลังกินตลาดมือถือรุ่นท็อปมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น Zenfone ที่เน้นเจาะตลาดมือถือหลักพันโดยตรง หรือมือถือฝั่งจีนหลายค่าย (Xiaomi, Meizu, Oppo, OnePlus) ที่ออกมือถือสเปกสุดแรงในราคาถูกเหลือเชื่อ

ในแง่ความแตกต่างของสินค้า แอปเปิลยังสามารถสร้างจุดเด่นของตัวเองผ่านซอฟต์แวร์และบริการ (รวมถึงแบรนด์) ให้แตกต่างจากมือถือคู่แข่งได้ และน่าจะยังคงรักษาตลาดมือถือระดับบน-แฟนพันธุ์แท้ได้ต่อไป (อธิบายง่ายๆ คือคนที่เหนียวแน่นกับ iPhone อยู่แล้ว ยังไงก็ซื้อต่อไป)

แต่ในกลุ่มลูกค้าที่ไม่ภักดีกับแบรนด์มากนัก และมีความอ่อนไหวเรื่องราคาอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามต่อไปว่า แอปเปิลจะยังรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

Blognone Jobs Premium