ประสบการณ์จากงาน Startup Asia Tokyo 2014

by KnightBaron
11 September 2014 - 15:29

เมื่อวันที่ 3 - 4 กันยายนที่ผ่านมา ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงาน Startup Asia Tokyo 2014 (ขอขอบคุณพี่ @mk มา ณ ที่นี้ด้วยครับ) ซึ่งจัดโดย Tech In Asia โดยงานนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เหล่าผู้ประกอบการในแถบเอเชียได้พบปะสังสรรค์ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจ รวมถึงพบปะกับภาคนักลงทุน มีการจัดพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอไอเดีย (Pitch) ให้กับนักลงทุนเพื่อขอทุนสนับสนุนได้ทันทีภายในงาน นอกจากนี้ยังมีการเชิญผู้ประกอบการจากสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียและนักลงทุนรายใหญ่ๆ มาบอกเล่าประสบการณ์ รวมถึงแนะแนวทางในการสร้างธุรกิจในพื้นที่แถบเอเชียด้วยครับ

Welcome Dinner

ก่อนจะถึงงานวันแรก เพื่อเป็นการอุ่นเครื่อง ผู้ร่วมงานทุกคนได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารมื้อเย็น ณ โรงแรม The Westin Tokyo Hotel (มื้อนี้ฟรี! PayPal เลี้ยงครับ :D) และพูดคุยทำความรู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการ (ผมก็มารู้ทีหลังว่าหลายๆ ท่านที่ผมมีโอกาสคุยด้วยนี่ก็คนใหญ่คนโตทั้งนั้น 0_o) อาหารก็อร่อยตามมาตรฐานโรงแรมครับ แต่ประเด็นหลักของงาน (สำหรับคนอื่นๆ) นั้นไม่ใช่อาหาร แต่เป็นโอกาสทำความรู้จักกับคนอื่นๆ ในวงการ ดังนั้นเราก็จะเห็นอาหารดีๆ เหลือมากมาย ในขณะที่ผู้ร่วมงานทุกคนจับกลุ่มพูดคุยต่างแลกนามบัตรกันอย่างออกรส (ผมไม่ได้เอานามบัตรมาด้วย น่าเสียดายมาก) เป็นภาพที่ผมไม่เคยเจอมาก่อนในเมืองไทยครับ (ฮา)

ในงานนี้ผมก็มีโอกาสทำความรู้จักกับสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากหลายสังกัด เป็นที่น่าสนใจว่าสตาร์ทอัพที่ญี่ปุ่นนั้น เป็นชาวต่างชาติที่มาลงทุนในญี่ปุ่น หรือทีมผสมระหว่างชาวต่างชาติและชาวญี่ปุ่น อยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณ Kazanari Miyazaki จาก BIGLOBE ถึงสถานการณ์ของวงการสตาร์ทอัพในประเทศญี่ปุ่น โดยแกเล่าว่าวงการสตาร์ทอัพที่นี่นั้น แม้จะยังไม่เติบโตเท่าต่างชาติ แต่ก็อยู่ในช่วงขาขึ้น บริษัทใหญ่ๆ ต่างให้ความสนใจ ปัญหาที่ทำให้วงการ​นี้พัฒนาช้ากว่าประเทศอื่นๆ นั้น แกคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากค่านิยมของชาวญี่ปุ่น ที่นิยมทำงานฝากชีวิตกับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีความมั่นคง อีกทั้งระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นนั้นปลูกฝังให้เด็กกลัวความผิดพลาด (คล้ายกับประเทศไทยมาก) ทำให้น้อยคนเลือกที่จะมาเสี่ยงทำสตาร์ทอัพครับ แกยังเสนอทางแก้โดยแกคิดว่าควรจะดึงผู้มีความสามารถ (Talent) จากต่างชาติมาช่วยพัฒนาวงการสตาร์ทอัพและชักนำชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ให้มาร่วมกันทำสตาร์ทอัพกันมากขึ้นครับ

คุณ Miyazaki คือคนที่ยืนคุยอยู่ตรงกลาง ทางขวามือครับ

Day 1

ตัวงานจริงๆ นั้น จัดอยู่ที่ Shibuya Hikarie ติดกับสถานีรถไฟ Shibuya ใจกลางโตเกียว ที่นี่เป็นอาคารสำนักงานที่อลังการงานสร้างมากครับ ตามกำหนดการแล้ว โต๊ะลงทะเบียนจะเปิดเวลา 8:30 น. แม้ผมจะมาถึงงานค่อนข้างเช้า (เริ่มลงตั้งใจจะมาเก็บภาพบรรยากาศก่อนเริ่มงาน) ก็ยังมีคนต่อคิวลงทะเบียนอยู่บ้างเล็กน้อยครับ แต่พอทางสต๊าฟเห็น Media Pass ของผมปุ๊บ ก็โดนจับลัดคิว ไปรับ Badge และของแจกทันที (บัตรเบ่งจริงๆ)

บัตรเบ่งครับ :D

ของแจกที่ได้รับมาตอนลงทะเบียนเข้างานครับ

เดินเข้ามาในงาน โซนแรกเป็นบูทจาก Sponsor รายใหญ่ ถัดมาเป็นโซนที่เรียกว่า Bootstrap Valley ที่จัดให้สตาร์ทอัพที่มาร่วมงานได้นำผลงานมาแสดง สำหรับรายละเอียดของสตาร์ทอัพรายเด่นๆ ที่มาร่วมงาน สามารถอ่านได้จากบทความก่อนหน้าครับ

สาบานได้ว่านี่คือบริษัทหลักทรัพย์ ขาวมาก! (เสื้อครับ.. เสื้อ)

นอกจากนี้ก็ยังมีโซน Speed Dating ที่จัดนักลงทุนมานั่งรอให้ Startup สามารถมา Pitch ไอเดียขอทุนได้ทันที โซน Meet the Bloggers สำหรับพบปะกับทีมงาน Tech In Asia และโซน Office Hour ที่จะคล้ายๆ กับ Speed Dating แต่เปลี่ยนจากนักลงทุน มาเป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่อาจจะร่วมเป็น Partner กับสตาร์ทอัพได้ครับ

สุดท้ายเป็น Main Event ของงาน คือ Keynote, Startup Showcase และ Discussion จากบุคคลที่น่าสนใจครับ มีทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น (แต่ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาญี่ปุ่น) มีบริการแปลสดผ่านหูฟังให้ โดยคุณภาพการแปลถือว่าค่อนข้างดี (สำเนียงอเมริกัน แอบติดญี่ปุ่นนิดๆ ฟังค่อนข้างง่าย แอบเห็นล่ามสาว 2 คนนั่งอยู่หลัง Hall น่ารักมาก!) สามารถฟังจับใจความได้ทุก Session ครับ

ล่าม 2 คนที่ผลัดกันแปลสดทั้ง 2 ภาษาตลอดงาน เสียงน่ารักด้วยนะ :D

เป็นที่น่าสังเกตว่ามีหลาย Session พูดเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เห็นได้ชัดเจนว่าตอนนี้แถบนี้เป็นทำเลทองของเหล่าสตาร์ทอัพที่จะมาจับตลาด และของนักลงทุนที่จะมาควานหาสตาร์ทอัพที่น่าสนับสนุนครับ หลายๆ Session น่าสนใจมาก แต่หลายๆ Session ก็ต้องขอสารภาพว่าผมก็แอบวูบ สัปหงกไปบ้าง (แอบงีบทั้งๆ ที่นั่งแถวหน้าสุดเลย!) ผมขออนุญาตเลือกกล่าวถึงเพียงบาง Session ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ แยกเป็นหัวข้อ (ซึ่งอาจจะไม่ค่อยปะติดปะต่อ) ตามที่ผมโน้ตมานะครับ

Building a global business from Japan

Speaker: Tomoko Namba, founder and board member, DeNA

  • Session นี้คุณ Namba มาเล่าถึงประสบการณ์การสร้างบริษัท DeNA (อ่านว่า ดี-เอ็น-เอ) บริษัทนี้เริ่มมาจากการทำระบบประมูลออนไลน์บนมือถือ จากนั้นก็เบนเข็มมาทำเกมบนสมาร์ทโฟนซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ล่าสุดบริษัทกำลังจะเริ่มหันมาจับธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพครับ
  • ปัญหาของสตาร์ทอัพญี่ปุ่นคือ จ้างคนมาทำงานด้วยยาก เพราะที่นี่มีค่านิยมทำงานให้กับบริษัทใหญ่ๆ เอาแค่กว่าจะโน้มน้าวพนักงานแต่ละคนให้มาร่วมหัวจมท้ายด้วยหลายครั้งก็ใช้เวลาเป็นปี
  • การจะ "ล่าหัว" พนักงานแต่ละคนมานั้น เราจำเป็นต้องมีความจริงใจ ตรงไปตรงมากับอีกฝ่าย เพราะนี่จะเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่จะเปลี่ยนชีวิตคนๆ หนึ่งเลยทีเดียว
  • หลักจากผ่านด่านตัวพนักงานแล้ว ด่านต่อไปคือต้องโน้มน้าวครอบครัวต่อ หลายครั้งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองของพนักงาน ก็ไม่ค่อยชอบใจที่จะส่งลูกหลานมาทำงานกับบริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก
  • คำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพ: ระมัดระวังเรื่องการเซ็นสัญญา อย่าให้มีอะไรมาผูกมัดอนาคต
  • เลือกรับเงินจากนักลงทุนที่มีประสบการณ์การลงทุนกับสตาร์ทอัพ
  • ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นยังมีปัญหา (ที่คล้ายกับของไทยมากๆ) คือการสอนเด็กให้กลัวความผิดพลาด กระบวนการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ระดับชั้นประถม และจำเป็นจะต้องถูกแก้ไข
  • เป้าหมายของ DeNA คืออยากจะเป็นบริษัทที่มีอิทธิพลชี้นำโลก ดังเช่น Apple หรือ Google โลกเรายังขาดบริษัทระดับนี้จากฝั่งเอเชียอยู่
  • หลังจากฟัง Session นี้จบ คุณ Namba นี่กลายเป็นไอดอลของผมไปเลยทีเดียว

Is it time for Japanese corporations to get involved in the startup scene?

Speakers:

  • Kensuke Okabe, chief planning director at Nissha Printing Co., Ltd.
  • Yoichiro “Pina” Hirano, founder and CEO at Infoteria Corporation
  • Yoshihiko Kawamura, senior vice president at Mitsubishi Corporation
  • Yoichiro Hamazaki, GM, corporate planning and strategy Office, Infocom Corporation
  • Yoshiaki Ishii, Director for New Business Policy Office at Ministry Of Economy, Trade and Industry (METI)

Moderator: Ken Koyanagi, publisher of the Nikkei Asian Review

  • บริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของสตาร์ทอัพ แต่ด้วยความที่เป็นบริษัทใหญ่ กระบวนการทำงานจึงค่อนข้างช้าและซับซ้อนยุ่งยาก ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่บริษัทใหญ่ๆ กำลังปรับตัว
  • หากต้องการความสนับสนุนจากบริษัทใหญ่ๆ จะต้องเข้าให้ถึง Key Person (ในงานใช้คำว่าซามูไร) ของแต่ละบริษัท ที่มีความสามารถในการผลักดันโครงการให้เดินหน้าไปได้
  • เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ๆ ภาครัฐของญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องปรับตัวเช่นกัน แต่ก็ประสบปัญหาเดียวกันคือเป็นองค์กรใหญ่ ขยับตัวได้ช้า
  • บริษัทใหญ่ๆ ทางฝั่งอเมริกาเข้าซื้อสตาร์ทอัพ (ที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว) เพื่อครอบครองผลิตภัณฑ์ หรือดึงทีมที่มีความสามารถมาร่วมงาน แต่ทางฝั่งญี่ปุ่น การเข้าซื้อในลักษณะนี้ไม่เป็นที่แพร่หลายนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี

End of Copy to China

Speaker: Akio Tanaka, co-founder and managing partner, Infinity Venture Partners

  • ธุรกิจ IT ในจีนนั้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอเมริกา
  • เรามักจะคุ้ยเคยกับภาพลักษณ์ของจีนในฐานะ "จอมลอก" บริการใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จจากอเมริกาอย่างเช่น Twitter และ Facebook จะถูกลอกมาเป็นเวอร์ชันจีน (ในที่นี้คือ Sina Weibo และ Ren Ren ตามลำดับ) เสมอๆ
  • แต่ความจริงแล้ว หลายๆ บริการที่จีนลอกไป ก็มีการพัฒนาปรับปรุง ต่อยอด มีนวัตกรรมที่น่าสนใจที่ไม่เคยมีที่อเมริกา หรือญี่ปุ่นอยู่เหมือนกัน
  • ยกตัวอย่างเช่นแอพ CTrip ที่มีการผนวกข้อมูลการเดินทางจากหลายๆ แหล่งข้อมูล และขายทริปราคาแพงให้ซื้อได้จากสมาร์ทโฟนโดยตรงเลย (ตรงนี้อธิบายเป็นตัวอักษรยาก และผมก็ลืมถ่ายรูปสไลด์มา ขออภัยด้วยครับ) หรือบริการที่คล้ายๆ Uber ของจีน (ผมลืมชื่อ ขออภัยครับ) แต่สามารถป้อนรหัสเที่ยวบิน แล้วระบบจะค้นหาสนามบิน และ Terminal ให้ทันที
  • ตอนนี้น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่เราควรจะหันมา "ลอก" พี่จีนกลับบ้าง :D

The startup investment climate in Southeast Asia

Speakers:

  • Amit Anand, Founder and managing partner, Jungle Ventures
  • Dmitry Levit, General partner at Digital Media Partners
  • Kuo-Yi Lim, Partner at Monk’s Hill Ventures
  • Saemin Ahn, Managing partner, Rakuten Ventures

Moderator: Vinnie Lauria, Founding partner, Golden Gate Ventures

  • เป็นที่น่าแปลกใจว่าธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีความคล้ายคลึงกับธุรกิจที่บราซิลและตุรกี
  • ต้องคิดต่าง ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นแรงงานราคาถูก แต่เทคโนโลยีราคาแพง ซึ่งตรงกันข้ามกับญี่ปุ่นและอเมริกา เพราะเหตุนี้โมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก่อนจากที่อื่น อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับที่นี่
  • บางครั้ง การใช้วิธีบ้านๆ ไม่ซับซ้อน เน้นเอาแรงงานคนเข้าสู้ ก็เป็นกลยุทธ์ที่แหมาะสม

นอกจากนี้ ในงานยังมี Side Track ที่จัดโดย Sponsors ซึ่งเวลาจะคาบเกี่ยวกับ Main Track เป็นบางช่วง สุดท้ายผมจึงได้แค่เดินผ่านไปดูระหว่างพักเบรค แต่ไม่ได้เข้าฟังเต็มๆ ครับ

เป็นอันว่าจบงานวันแรก กลับที่พัก และไปเที่ยวเมดคาเฟ่กับเพื่อนตอนเย็นต่อไป (แฮร่~)

Day 2

โซนอื่นๆ ไม่ต่างจากงานวันแรก ผมขออนุญาตตัดมาที่สรุปเนื้อหาคร่าวๆ จาก Session ที่ผมเข้าฟังเลยแล้วกันนะครับ

How can Japan and US top accelerators embrace Asia

Speakers:

  • Dave McClure, founding partner at 500 Startups
  • Kevin Hale, Partner at Y Combinator
  • Taizo Son, CEO at MOVIDA JAPAN

Moderator: Hiro Maeda, Managing partner at BEENOS

  • ต้องเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้าถึงเงินทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) กำลังค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นในญี่ปุ่น
  • สตาร์ทอัพญี่ปุ่นนิยมเปิดตัวผลิตภัณฑ์เมื่อมันพร้อมและยอดเยี่ยมแล้ว ในขณะที่สตาร์ทอัพที่ Silicon Valley เน้นเปิดตัวผลิตภัณฑ์ให้เร็ว ในระหว่างที่ค่อยๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ แต่ทั้ง 2 แนวทางก็มีเป้าหมายเดียวกันคือให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง
  • เกมออนไลน์และโซเชี่ยลมีเดียได้รับความนิยมอย่างสูงในญี่ปุ่น เนื่องจากชาวญี่ปุ่นจำนวนมากสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
  • สิ่งที่ญี่ปุ่นยังขาดคือ "ความขี้เกียจ" ชาวญี่ปุ่นมีความอดทนกับปัญหาสูงเกินไป เลยไม่คิดที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรกับมัน
  • เทรนด์ของสตาร์ทอัพญี่ปุ่นส่วนใหญ่คือพยายามตีตลาดในญี่ปุ่นก่อน แล้วค่อยๆ ขยับขยายออกไปทางแถบเอเชีย ตามด้วยอเมริกา
  • แต่ด้วย AppStore เราสามารถที่จะตีหลายๆ ตลาดได้พร้อมกัน ผลิตภัณฑ์ของเราอาจจะไปได้ดีในตลาดที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้
  • สำหรับสตาร์ทอัพ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีทีมที่ดี มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังนั้นให้โฟกัสไปที่การเพิ่มบุคลากรลักษณะนี้ สิ่งอื่นๆ จะตามมาเอง
  • มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องให้ความรู้ ปรับทรรศนะของนักลงทุนในญี่ปุ่น เนื่องจากนักลงทุนส่วนมากมีพื้นเพมาจากกลุ่มธุรกิจการเงิน และขนาดประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องสตาร์ทอัพ
  • สิ่งสำคัญอีกอย่างสำหรับสตาร์ทอัพคือการเอาตัวรอดในช่วงปีแรกให้ได้
  • บริษัทญี่ปุ่นนิยมทำทุกๆ อย่างด้วยตัวเอง แทนที่จะสนับสนุนระบบนิเวศและสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา

The future of tech entrepreneurship in Japan

Speakers:

  • Daniel Saito, VP – Sales & International Growth at FlyData*
  • William Saito, Special Advisor – Cabinet Office, Government of Japan*

  • จุดประสงค์ในการทำสตาร์ทอัพของชาวญี่ปุ่นหลายรายคืออยากเป็นประธานบริษัท ไม่ใช่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลก
  • วงการวิจัยในประเทศญี่ปุ่นนั้นก้าวหน้ามาก แต่ยังขาดความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีสู่ตลาด
  • 4 เทคโนโลยีที่เป็นเสาหลักของวงการ IT คือ ทรานซิสเตอร์ เซ็นเซอร์ การสื่อสาร และการเก็บข้อมูลนั้นมีแนวโน้มที่จะราคาถูกลงเรื่อยๆ ดังนั้นแทนที่จะลงทุนในบริษัทที่ทำเทคโนโลยีเหล่านี้ ให้เลือกลงทุนในบริษัทที่ใช้ประโยชน์จากแนวโน้มนี้จะดีกว่า
  • ปัญหาประชากรสูงอายุมีจำนวนมาก เป็นโอกาสทองของสตาร์ทอัพ
  • ตัวอย่างที่น่าสนใจคือญี่ปุ่นมีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านหัวใจเป็นจำนวนมาก แต่เครื่องควบคุมจังหวะการเต้นหัวใจ (Pacemaker) นั้นกลับผลิตที่ต่างประเทศทั้งหมด ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นก็น่าจะมีเทคโนโลยีเพียงพอ

The founding story of Zendesk: From zero to IPO

Speaker: Mikkel Svane, CEO and founder at Zendesk

Interviewer: Anh-Minh Do, Managing Editor, Vietnam

  • การตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพ จงสื่อสารออกมาให้ได้มากที่สุด (Create as much noise as possible) และบรรจงประดิษฐ์สารที่ต้องการสื่อออกมาให้ดี
  • ช่วงต้นๆ เราไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายสตาร์ทอัพจะออกมาในรูปแบบไหน
  • ระหว่างที่ทำสตาร์ทอัพมักจะมีโอกาสต่างๆ เข้ามาหามากมาย เป็นเรื่องยากที่จะโฟกัสกับการทำสตาร์ทอัพ
  • ใจกว้างต่อคนในทีม เชื่อใจ และเชื่อในความฝันเดียวกัน เป็นเรื่องปกติที่บางเวลา สมาชิกบางคนอาจจะทำงานหนักกว่าสมาชิกคนอื่นๆ เช่นในช่วงพัฒนา ทีมพัฒนาก็จะทำงานหนักกว่า แต่หลังจากที่เวอร์ชันแรกพัฒนาเสร็จแล้ว งานก็จะตกอยู่กับทีมการตลาดต่อไป
  • การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องใหญ่ ใช้เวลาเตรียมตัวแรมปี
  • สตาร์ทอัพยุคนี้พึ่งพาการเล่าสู่กันแบบปากต่อปาก (words of mouth) ค่อนข้างมาก ดังนั้นการดูแลลูกค้าให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี จึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
  • ภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีความแตกต่างกันภายในภูมิภาคมาก
  • ผมชอบประโยคหนึ่งที่คุณ Svane กล่าวไว้คือ "เราเข้ามาตีตลาด และตอนนี้หลายๆ บริษัทพยายามที่จะเข้ามาตีเรา และมันน่าสนใจมาก!" ("We disrupted the market and now there are a lot of companies trying to disrupt us now and that's is very interesting!")

Is a startup bubble brewing in Japan?

Speakers:

  • Daisuke Sasaki, CEO and co-founder at freee
  • Kensuke Furukawa, CEO and founder at nanapi
  • Masashi Kobayashi, Co-founder and managing partner, Infinity Venture Partners
  • Shinichi Takamiya, Chief Strategy Officer at Globis Capital

Moderator: Masahiko Honma, co-founder and General Partner, Incubate Fund

  • ภาครัฐควรปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนวงการสตาร์ทอัพมากกว่านี้
  • การระดมทุน ควรตั้งเป้าให้สูง และขอทุนให้มากไว้ก่อน เพราะหลังจากการเจรจา ตัวเลขนี้มีแต่จะลดลง
  • ถ้าเป็นไปได้ ให้หา Private Funding จะมีข้อผูกมัดน้อยกว่า
  • ภาคการลงทุนจากอเมริกาและจีนนั้นทุนหนามาก
  • การเริ่มต้นจากตลาดญี่ปุ่นก่อน แล้วค่อยขยายไปสู่ต่างประเทศนั้นอาจจะดูเป็นธรรมชาติกว่า แต่บางครั้งผลิตภัณฑ์ที่ไปได้ไม่ดีในญี่ปุ่น อาจจะประสบความสำเร็จได้ในตลาดอื่นก็เป็นได้
  • รูปแบบของธุรกิจระดับโลก 3 แบบ: 1. แก้ปัญหาที่เหมือนกันของคนทั้งโลก (เข่น Facebook) 2. บริการที่เน้นเจาะตลาดจำเพาะมากๆ (เช่น Pixiv) 3. บริการที่มีการปรับรูปแบบให้เหมาะสม (Localize) กับลักษณะตลาดแต่ละภูมิภาค (ไม่ได้กล่าวถึงตัวอย่างไหนครับ)
  • สตาร์ทอัพควรจะเปลี่ยนแนวคิด จากที่มองการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์หรือขายกิจการเป็นเป้าหมาย ให้ตั้งเป้าที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี เพื่อเปลี่ยนโลก

Tech in Thailand: it's worth your time

Speaker: Paul Srivorakul, co-founder and executive chairman, Ardent Capital

  • ไทยเป็นตลาดใหญ่ โดยเฉพาะตลาด Mobile
  • ถึงแม้จะมีปัญหาการเมืองไม่คงที่ แต่ GDP ของเราเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • ไทยมีความได้เปรียบในเรื่องตำแหน่งทางกายภาพ
  • การสร้างฐานลูกค้าในไทยตอนนี้ยังมีราคาถูก
  • สำหรับนักลงทุน: ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเข้าไปหาสตาร์ทอัพ สำหรับผู้ประกอบการ: โอกาสมากมายรอคุณอยู่!

How to build an amazing startup

Speaker: Kevin Hale, partner at Y Combinator

  • มีสไลด์ให้ดาวน์โหลดด้วยครับ (แนะนำมากๆ แต่ถ้าไม่ได้เข้าฟัง อาจจะเข้าใจยากหน่อย)
  • ในความเห็นของผม เป็นอีกหนึ่ง Session ที่ดีที่สุดในงานนี้เลยครับ
  • ถ้าดูจากสถิติแล้ว สอบเข้า Harvard ยังง่ายกว่าติด Y Combinator ซะอีก
  • โดยเฉลี่ยแล้ว สตาร์ทอัพจะใช้เงินลงทุนสุทธิประมาณ 25.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำกำไรเมื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์หรือขายกิจการได้ 676%
  • แต่ Wufuu ของคุณ Hale สร้างขึ้นใช้เงินลงทุน 118,000 ดอลลาร์สหรัฐ และหลังจากขายกิจการให้ SurveyMonkey ไป รวมแล้วทำกำไรไปได้ 29,561%
  • หัวใจของการทำสตาร์ทอัพ 3 ประการ: ไอเดียที่ชัดเจน โฟกัสที่ตัวเลข และวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่
  • การ Pitch ที่ดี ให้เริ่มจากการตอบคำถาม (ผลิตภัณฑ์คือ) "อะไร" ไม่ใช่ (ทำไป) "ทำไม"
  • ข้อแตกต่างระหว่างสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดเล็กทั่วไป คืออัตราการเจริญเติบโต
  • นักลงทุนอยากเห็นความเร็วในการเจริญเติบโต ไม่ใช่ตัวเลขในปัจจุบัน
  • Y Combinator คัดเลือกผู้สมัครจากคุณภาพของทีม ไม่ใช่ไอเดีย

ก่อนจบงาน ไฮไลท์สุดท้ายคือการประกวด Startup Arena รอบสุดท้าย โดยในรอบนี้แต่ละทีมจะต้อง Pitch ผลงานต่อหน้าคณะกรรมการและผู้ร่วมงาน รวมทั้งตอบคำถามสดจากคณะกรรมการ สำหรับรายละเอียดงานของแต่ละทีมนั้นสามารถอ่านได้จากบทความที่แล้วเช่นกัน โดบทีมที่ชนะการแข่งขันคือ AppOta ที่ทำ Mobile Gaming Social Network จากเวียดนามครับ

นอกจากรางวัลชนะเลิศแล้ว ก็ยังมีรางวัลยิบย่อยสำหรับเกือบทุกทีมที่เข้ารอบสุดท้าย แต่ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจที่สุดคือรางวัลจาก Sakura Internet คือสิทธิการใช้ Sakura Cloud เป็นเวลาครึ่งปี และเช็คของขวัญสำหรับรับประทานเนื้อย่างบุฟเฟต์มูลค่า 50,000 เยน (ประมาณ 15,000 บาท) ครับ

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณพี่ @mk อีกครั้งสำหรับโอกาสดีๆ ครั้งนี้ครับ ท้ายงานมีการประกาศ Startup Asia Tokyo 2015 ซึ่งถ้ามีโอกาส ผมก็อยากจะไปร่วมงานและเก็บบรรยากาศมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง สำหรับภาพทั้งหมด (ทั้งจากกล้องของผม และคุณ PanJ) นั้นสามารถเข้าไปดูได้ที่ Gallery ที่ Flickr ครับ

ถ้าอย่างนั้นก็เจอกันใหม่ Event หน้า สวัสดีครับ (^_^)/

Blognone Jobs Premium