คดีจับกุม Ross William Ulbricht แม้คำฟ้องจะมีการแสดงพยานแวดล้อมให้เห็นว่าตัว Ulbricht คือผู้ใช้บัญชี Dread Pirate Roberts (DPRfi) ที่เป็นผู้ดูแลเว็บ Silk Road ได้อย่างไร แต่สิ่งที่หายไปจากคำฟ้องคือกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ FBI สามารถค้นหาเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ซ่อนไว้ภายใต้เครือข่าย Tor ตอนนี้ฝั่งจำเลยก็เริ่มตั้งคำถามถึงกระบวนการของ FBI
Christopher Tarbell เจ้าหน้าที่ FBI ระบุว่าทางเจ้าหน้าที่รู้หมายเลขไอพีของ Silk Road ได้เพราะเว็บคอนฟิกผิด ทำให้ภาพ captcha ของเว็บถูกโหลดจากแอดเดรสภายนอกที่ไม่ใช่ Tor ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ได้ว่าหมายเลขไอพีที่แท้จริงของ Silk Road เป็นอะไร
เซิร์ฟเวอร์ของ Silk Road นั้นตั้งอยู่ในศูนย์ข้อมูลเมือง Reykjavík เมืองหลวงของประเทศไอซ์แลนด์ โดยตำรวจไอซ์แลนด์เข้าตรวจสอบและสำเนาข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ส่งให้กับทางสหรัฐฯ เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ไม่ได้ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ทำให้การบุกค้นเพื่อดำเนินคดีไม่ได้ถูกคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ โดยตรง และเซิร์ฟเวอร์ที่ Silk Road ใช้ก็มีข้อตกลงการใช้งานว่าระบบอาจจะถูกมอนิเตอร์เพื่อเหตุผลทางกฎหมายได้
แต่คำอธิบายของเจ้าหน้าที่ดูจะไม่สมเหตุสมผลนัก เว็บ Silk Road นั้นมีคนมอนิเตอร์อยู่จำนวนมาก (แม้จะไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่ที่ไหน) การที่ captcha สามารถรั่วไอพีจริงได้ผู้ใช้คนอื่นๆ น่าจะสังเกตเห็นอย่างรวดเร็ว นอกจาก FBI แล้วแฮกเกอร์จำนวนมากที่อยากรู้ว่า Silk Road อยู่ที่ไหนก็พยายามหาหมายเลขไอพีจริงอยู่ตลอดเวลา
ปีที่แล้วมีรายงานว่า Silk Road เผลอเปิดข้อมูลดีบั๊กเอาไว้ ทำให้เมื่อพิมพ์ข้อมูลบางอย่างลงในช่องล็อกอินอย่างจงใจแล้วจะได้ผลดีบั๊กออกมาจากเว็บ ข้อมูลดีบั๊กที่เปิดเผยออกมาจะทำให้รู้ไอพีจริงของเซิร์ฟเวอร์
หาก FBI ใช้ช่องโหว่นี้จริง การเข้าถึงหมายเลขไอพีจริงของเจ้าหน้าที่อาจจะถือว่าเป็นการแฮกข้อมูลที่มีการป้องกันไว้โดยไม่ได้ขอหมายศาลล่วงหน้า ซึ่งอาจจะทำให้หลักฐานต้องตกไปและ Ulbricht หลุดจากคดีนี้ไปที่สุด ทาง FBI เองแม้จะไม่ได้ลงรายละเอียดว่าได้หมายเลขไอพีมาอย่างไร แต่อีกทางหนึ่งก็ยืนยันว่าเซิร์ฟเวอร์เป็นทรัพย์สินของบริษัทให้เช่า เป็นนัยว่าแม้จะมีการบุกรุก แต่ก็ไม่ได้บุกรุกเซิร์ฟเวอร์ของ Ulbricht ที่เป็นผู้ต้องหา
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ตามการแก้ไขครั้งที่สี่ (The Fourth Amendment) คุ้มครองผู้ต้องหาว่าหากเจ้าหน้าที่จะเข้าค้น จะต้องมีเหตุอันควร คำพิพากษาที่ผ่านๆ มักกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องขอหมายศาลในการเข้าค้นพื้นที่ส่วนบุคคล ยกเว้นกรณีเช่น ได้รับความยินยอมจากเจ้าของบ้าน, เห็นหลักฐานอย่างชัดเจน, กรณีฉุกเฉิน, และการตรวจค้นตอนผ่านแดนเป็นต้น หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำตามกระบวนการ หลักฐานชิ้นนั้นจะไม่ถูกพิจารณาในคดี ในกรณีของคดีนี้อาจจะทำให้ Ulbricht หลุดคดีไปได้หากศาลถือว่า FBI แฮกเครื่องที่เช่าในต่างประเทศเป็นการบุกค้นอย่างผิดกฎหมาย
ที่มา - Wired