ดัดแปลงกล้องฟิล์ม Konica เป็นดิจิทัล ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ

by unclepiak
16 September 2014 - 12:15

นักศึกษาหนุ่มวัย 18 ปี ทำโครงงานส่วนตัวด้วยการผ่ากล้องฟิล์มยุคปี 1970 มาประกอบร่างกับเซ็นเซอร์รับภาพดิจิทัลจากกล้อง Sony NEX5 โดยใช้การพิมพ์สามมิติ (3d printing) สร้างกรอบฝาหลังใหม่ ผลงานทดลองครั้งแรกเผยแพร่ผ่านบล็อกเร็ว ๆ นี้

เรื่องราวจากบล็อกชื่อ FrankenCamera ของ Ollie Baker กำลังเป็นสิ่งฮือฮาในแวดวงคนรักการถ่ายภาพ ด้วยว่านายเบเกอร์ นักศึกษาวัย 18 ปี สร้างโครงการในฝันของนักถ่ายภาพทั่วโลกด้วยการนำกล้อง Konica Auto S3 ซึ่งเป็นกล้องฟิล์มชนิดเร็นจ์ไฟน์เดอร์ (rangefinder) ติดเลนส์คุณภาพสูง (38mm, F1.8) ในอดีต มาประกอบร่างกับเซ็นเซอร์รับภาพของ Sony NEX5 โดยสร้างชิ้นส่วนฝาหลังขึ้นใหม่ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ

ผลที่ได้คือ กล้องเรนจ์ไฟน์เดอร์ที่ปรับโฟกัสด้วยมือ และถ่ายภาพด้วยระบบ Shutter Priority เซลวัดแสงแบบดั้งเดิม แต่บันทึกภาพเป็นดิจิทัลโดยตรง ไม่ต้องล้างฟิล์มและสแกนภาพอีกต่อไป มันคือกล้องที่ทำงานแบบเดียวกับกล้อง Leica M ยุคดิจิทัลราคาหลายแสนบาท

นับเป็นตัวอย่างการประยุกต์งานพิมพ์สามมิติเพื่อความเป็นไปได้ของจินตนาการที่ดีมากชิ้นหนึ่ง จึงคิดว่าแฟนข่าวบล็อกนันน่าจะได้อ่านเรื่องราวนี้ด้วยกัน รายละเอียดที่เหลือ เชิญตามไปอ่านจากที่มาครับ

ที่มา : FrankenCamera

Blognone Jobs Premium