ซัมซุงเปิดตัว Galaxy Note 4 เมื่อเดือนที่แล้วและกำลังจะวางขายในประเทศไทยอีกไม่กี่วันข้างหน้า (ประเทศไทยถือเป็น tier 1) ล่าสุดซัมซุงส่งเครื่องมาให้ผมทดสอบ ในฐานะที่ผมใช้ Galaxy Note 3 เป็นเครื่องหลักอยู่ด้วย ก็จะรีวิวโดยเปรียบเทียบ Note ทั้งสองรุ่นควบคู่กันไปนะครับ เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า
หมายเหตุ: เครื่องที่ได้รับมารีวิวเป็นเครื่องรุ่นทดสอบ มีสัญลักษณ์เฉพาะบนตัวเครื่อง ซึ่งจะไม่มีในรุ่นที่วางขายจริง
Note 4 เต็มไปด้วยฟีเจอร์ใหม่มากมาย แต่การเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นที่สุดของ Note 4 คือดีไซน์ภายนอก
ซัมซุงโดนปรามาสไว้เยอะเรื่องวัสดุพลาสติกราคาถูก ดูไม่สมฐานะมือถือตัวท็อปราคาแพง ซึ่งในช่วงหลังบริษัทก็เริ่มปรับแนวทางการดีไซน์ตัวเครื่องภายนอกของตัวเองเสียใหม่ หันมาใช้วัสดุพรีเมียมอย่างโลหะบ้างเป็นบางส่วน การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มใน Galaxy Alpha เป็นรุ่นแรก (กระบวนการตัดโลหะ) ก่อนจะตามมายัง Note 4 หลังจากนั้นไม่นาน และเราก็คาดเดาได้ไม่ยากว่ามือถือรุ่นท็อปของซัมซุงจากนี้ไปจะอยู่บนแนวทางนี้
ถ้าดูแต่ภาพ หน้าตาของ Note 4 ยังเหมือนเดิมแทบทุกประการ มันยังใช้โครงสร้าง "แบบซัมซุง" ปุ่มกดด้านหน้า 3 ปุ่ม ฝาหลังถอดเปลี่ยนได้ ดูเผินๆ แทบไม่มีอะไรต่างจากของเดิม แต่ของแบบนี้มันต้องสัมผัสเองถึงจะรู้ครับ ความรู้สึกในการสัมผัส Note 4 เปลี่ยนไปจาก Note 3 อย่างมาก ชนิดว่าใครเคยบ่นซัมซุงไว้เรื่อง "พลาสติก" ควรไปลองจับด้วยตัวเองกันทุกคนเลยทีเดียว (ต่อจากนี้ไปจะล้อเรื่อง "พลาสติกก๊อบแก๊บ" คงไม่ได้อีกแล้ว)
ขอบของ Note 4 เป็นโลหะชิ้นเดียวกัน และเคลือบด้วยสีอีกชั้นหนึ่ง ผมไม่แน่ใจนักว่าซัมซุงใช้เทคนิคอะไรทำสีขอบเครื่อง แต่สัมผัสแล้วมันจะออกด้านๆ หน่อย ให้ความรู้สึกที่ดีกว่าของเดิมมาก (ขอบออกจะคมๆ เล็กน้อย ไม่บาดมือแต่จะไม่โค้งมนแบบรุ่นก่อนๆ)
เทียบกับ Note 3 ดูเผินๆ ไม่ต่างกันมาก แต่จับแล้วคนละเรื่องเลยทีเดียว
จุดที่ Note 4 แตกต่างจาก Note 3 คงเป็นแค่เรื่องวัสดุเท่านั้น การวางพอร์ตและปุ่มรอบเครื่องเหมือนกันทุกประการ
ปุ่มควบคุมด้านหน้า 3 ปุ่มยังเหมือนเดิม (ปุ่มซ้ายเปลี่ยนจาก Menu เป็น Recent ตามอย่าง Galaxy S5) ช่องเสียบปากกา S Pen อยู่ตำแหน่งเดิม
จุดที่ต่างไปจากเดิมมีเพียงแค่พอร์ต USB 3.0 ที่เป็นแบบสองช่อง ถูกเปลี่ยนกลับมาเป็น USB 2.0 ขนาดมาตรฐาน ตรงนี้ซัมซุงให้เหตุผลกับ Engadget ว่าคนใช้ USB 3.0 ไม่เยอะนัก ซัมซุงจึงต้องการประหยัดเนื้อที่ภายในเครื่องโทรศัพท์ โดยลดกลับมาเป็นพอร์ต USB 2.0 แทน
ในฐานะที่ผมใช้ Note 3 ซึ่งมาพร้อมกับ USB 3.0 ก็ไม่ค่อยเห็นประโยชน์จากมันมากนัก (แถมเสียบสายชาร์จยากเพราะต้องเล็ง) การเปลี่ยนกลับมาใช้ USB 2.0 จึงแทบไม่มีผลอะไร (เผลอๆ ดีขึ้นด้วยเพราะเสียบสายง่ายกว่าเดิม)
ฝาหลังของ Note 4 ยังเป็นพลาสติกลายขรุขระเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนลายไปพอสมควร ลายเยอะขึ้น ร่องลึกขึ้น และไม่มี "ตะเข็บ" เลียนแบบการเย็บหนังเหมือน Note 3 อีกแล้ว วัสดุโดยรวมมีความด้านมากขึ้น (แต่ไม่ให้ความรู้สึก "หนึบ" แบบ S5) ลื่นน้อยลงจาก Note 3
ลองแกะฝาหลังออกมา แกะได้ไม่ยาก (มีร่องให้แกะที่มุมซ้ายบนเช่นเดิม) การวางช่องเสียบซิมและ SD card ต่างไปจากเดิมโดยย้ายมาอยู่ด้านซ้าย (ของเดิมอยู่ขวา) แบตเตอรี่ผอมลงแต่ยาวขึ้น
จุดที่เปลี่ยนแล้วไม่ดีเท่าไรนักคือลำโพง ถูกย้ายจากขอบด้านล่างของเครื่องกลับมาอยู่ที่ด้านหลังแทน (ในรูปตกขอบลงไป) ทำให้กลับมาเจอปัญหาวางเครื่องราบกับพื้นโต๊ะแล้วเสียงเบาอย่างที่แล้วๆ มา (ลำโพงค่อนข้างดัง แต่พอวางปิดช่องแล้วก็เบาอยู่ดี)
ตำแหน่งการวางกล้องคล้ายๆ ของเดิม แต่ Note 4 เพิ่มเซ็นเซอร์วัดการเต้นของหัวใจมาแบบเดียวกับ S5 โดยเซ็นเซอร์นี้สามารถวัดรังสี UV ได้ด้วยนะครับ (ต้องวัดผ่านแอพ S Health) ตรงนี้นอกจากเอาไว้วัดโชว์เท่ๆ แล้วคิดว่ายังไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก
เทียบขนาดในบรรดาพี่น้อง Galaxy Note จะเห็นว่าขนาดของ Note 4 ใกล้เคียงกับ Note 3 โดยสูงขึ้นเล็กน้อย
วิวัฒนาการของฝาหลัง จากฝามันแผลบ มาเป็นฝาหลังลายขรุขระแบบใน Note 4 (สังเกตตำแหน่งของลำโพงจะกลับไปเหมือน Note 2)
วิวัฒนาการของขอบเครื่อง จาก Note 2 ล่างสุด มาเป็น Note 4 ที่อยู่บนสุด
หน้าจอของ Note 4 ใช้จอ Super AMOLED ตัวเดียวกับใน Galaxy Tab S ให้สีสันสดใส และคงข้อดีของจอ AMOLED มาอย่างครบถ้วน
สิ่งที่พัฒนาขึ้นจาก Note 3 คือความละเอียดของหน้าจอที่ขยับจาก 1920x1080 มาเป็น 2560x1440 (QHD) ละเอียดขึ้นจากเดิมมาก ในการใช้งานทั่วๆ ไปแทบไม่รู้สึก (เพราะพิกเซลมันเล็กมากเป็นทุนอยู่แล้ว) แต่ไหนๆ มีของให้ลองเปรียบเทียบเลยถ่ายภาพมาให้ดูกันครับ
จากภาพจะเห็นว่าฟอนต์ของ Note 4 เรียบและคมกว่า Note 3 ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก ต้องย้ำอีกรอบว่ามันจะมองเห็นก็คือต้องถ่ายภาพแล้วมาซูมเปรียบเทียบกันแบบนี้เท่ากัน ในการใช้งานจริงแทบไม่เห็นความแตกต่างใดๆ
Note 4 รุ่นที่ได้มาทดสอบนี้เป็นรุ่น SM-N910C รุ่นขายทั่วโลก ซึ่งเลือกใช้ซีพียู Exynos Octa 5433 แปดคอร์ (1.9GHz+1.3GHz) มาพร้อมกับจีพียู Mali-T760 และแรม 3GB
สมรรถนะขนาดนี้เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป การตอบสนองทุกอย่างรวดเร็ว ฉับไว ส่วนผลการรันเบนช์มาร์คได้ 48354 คะแนน ดังภาพ (น่าจะเป็นมือถือสาย Android ที่แรงเป็นอันดับต้นๆ ในช่วงนี้)
ฟีเจอร์อื่นๆ ของฝั่งฮาร์ดแวร์คือปุ่มโฮมยังมีระบบตรวจสอบลายนิ้วมือแบบเดียวกับ S5 อย่างไรก็ตาม Note 4 กลับไม่กันน้ำแบบ S5 ด้วยเหตุผลที่ผมก็ยังหาไม่เจอว่าเพราะอะไร (ซัมซุงไม่ได้อธิบายไว้) ถือว่าน่าเสียดายครับ
แบตเตอรี่ของ Note 4 ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยเป็น 3220 mAh โดยซัมซุงบอกว่าระดับการใช้งานแบตเตอรี่ดีกว่าเดิมเล็กน้อย แม้ว่าจอภาพละเอียดขึ้นเยอะ ซึ่งจากการใช้งานแล้วพบว่าแบตอึดในระดับเดียวกับ Note 3 (มีโหมด Ultra Power Saving แบบเดียวกับ S5 ด้วยแต่ไม่ได้ลองนะครับ)
ฟีเจอร์ที่ไม่ได้ทดสอบคือ Fast Charging ชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม 50% ภายในครึ่งชั่วโมง (เหมาะสำหรับเวลาแบตหมดแล้วต้องชาร์จแบบด่วนๆ เพราะต้องไปทำอย่างอื่น) เนื่องจากซัมซุงไม่ได้ให้สายชาร์จของ Note 4 ติดมาด้วยครับ
ซอฟต์แวร์ของ Note 4 แทบจะยกดีไซน์ของ Galaxy S5 มาเกือบหมด จุดที่ต่างไปมีแค่สีพื้นหลังของ widget ของซัมซุงเอง เปลี่ยนมาใช้พื้นหลังใสแทนทั้งหมด (ซัมซุงเรียกมันว่า Clear & Vibrant UX เพิ่มขึ้นจาก Vibrant UX เดิม) วัตถุประสงค์คงเพื่อการโชว์ภาพพื้นหลังของจอ Super AMOLED สีสดๆ ให้เห็นเด่นชัดขึ้นนั่นเอง
หน้าโฮมมาตรฐานของ Note 4 เตรียมมาให้ 3 หน้า โดยหน้าแรกเน้นวางไอคอนของกูเกิล (เหตุผลคงเป็นไปตามข่าวนี้) หน้าสองวาง widget ของ S Health และ S Note ส่วนหน้าที่สามเป็น widget สำหรับนำเสนอบริการออนไลน์ของซัมซุง (ที่ลดเหลือแค่ Galaxy Essentials และ Galaxy Gifts)
ถ้าเลื่อนไปทางซ้ายมือของหน้าโฮม เราจะพบกับแอพ Flipboard ที่ฝังมาให้เสร็จสรรพ คราวนี้ซัมซุงเลือกใช้แบรนด์ Flipboard ตรงๆ ไม่เรียกเป็นชื่ออื่นอ้อมค้อมอีกแล้ว ส่วนการใช้งานไม่ต่างอะไรจาก Flipboard เวอร์ชันปกติมากนัก
แอพที่พรีโหลดมาพร้อมกับเครื่องมีเพียงแค่ 2 หน้าเท่านั้น แอพของซัมซุงหลายๆ ตัวถูกตัดออกไป (อยากได้ต้องโหลดผ่าน Galaxy Essentials แทน) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก
แอพแถมมากับเครื่องมีแค่ Flipboard, Dropbox, Evernote ที่อยู่คู่กับซัมซุงมานาน และมีแอพตัวใหม่คือ PEN.UP สำหรับแชร์ภาพวาดที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว
จุดที่ผมว่าน่าสนใจคือ Note 4 มาพร้อมกับแอพของ Facebook สี่ตัว (Facebook, Messenger, Instagram, Pages Manager) ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นเฉพาะเวอร์ชันของซัมซุงไทยหรือไม่ ส่วน LINE ที่พรีโหลดมาด้วยก็น่าจะเอาใจผู้ใช้ในไทยเป็นหลัก
ในภาพรวมแล้ว ผมคิดว่า "ดีไซน์" ของ Note 4 ดีขึ้นกว่าของเดิมมากๆ ทั้งในแง่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
ฟีเจอร์ที่ซัมซุงโฆษณาเยอะมากใน Note 4 คือ Multi Window หรือการแบ่งครึ่งจอเพื่อรันแอพสองตัวพร้อมกัน (เริ่มมาตั้งแต่ Note 2) ฟีเจอร์นี้ถูกพัฒนาขึ้นอีกขั้นใน Note 4
ปัญหาเดิมของ Multi Window คือมันไม่ใช่ฟีเจอร์มาตรฐานของ Android คนทั่วไปไม่รู้จักว่าใช้อย่างไร สมัยแรกๆ ซัมซุงใช้วิธีเพิ่ม floating toolbar ไว้ที่ด้านข้างของหน้าจอ (ซ่อนเอาไว้มีปุ่มโผล่มานิดนึง) เพื่อเรียกแอพอีกตัวมารันซ้อนกัน ซึ่งดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติมากนัก (ใน Note 3 ผมปิดฟีเจอร์นี้ทิ้งไปตั้งแต่วันแรกๆ)
พอมาถึงยุคของ Note 4 ซัมซุงถือโอกาสที่ปรับปุ่ม Menu มาเป็นปุ่ม Recent Apps ให้สลับแอพได้ง่ายๆ เลยเพิ่ม "ปุ่มแบ่งหน้าต่าง" เข้ามาในหน้ารายการแอพด้วย ตรงนี้ช่วยให้การรัน Multi Window ง่ายขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม ฝั่งของแอพเองต้องรองรับการรัน 2 หน้าต่างด้วยจึงจะใช้งานได้ (จากภาพจะเห็นว่าแอพบางตัว เช่น Settings ไม่รองรับฟีเจอร์นี้) เมื่อเรียกแอพ 2 ตัวขึ้นมาทำงานพร้อมกันแล้ว เราสามารถเลื่อนปรับขนาดหรือสลับตำแหน่งของหน้าจอได้เหมือนในเวอร์ชันก่อนๆ
แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ Note 4 ยังเพิ่มฟีเจอร์รันแอพแบบไม่เต็มจอด้วย (ย่อขนาดหน้าต่างลงมา โดยจะลอยทับแอพที่อยู่ด้านหลัง) วิธีการใช้งานคือลากนิ้วจากมุมขวาบนลงมาที่ตรงกลางของจอ แอพจะย่อขนาดลงมาเองตามนิ้วมือของเรา (จากภาพเป็นการรันแอพ S Note ทับบน YouTube) เนื้อหาภายในแอพจะถูกย่อขนาดลงโดยอัตโนมัติ
นึกภาพตามไม่ออก? ลองดูคลิปโฆษณาของซัมซุงน่าจะเข้าใจง่ายกว่า
ฟีเจอร์ Multi Window ยังรองรับการลากเนื้อหาข้ามหน้าจอเหมือนเดิม จากภาพตัวอย่างด้านขวามือ ผมลากภาพ thumbnail ของวิดีโอในแอพ YouTube (ที่ย่อเป็นขนาดเล็ก) ลงมาใส่ในแอพ S Note ได้อย่างไม่มีปัญหา (แต่ไม่ใช่ว่าเนื้อหาทุกอย่างบนจอจะสามารถลากได้ อันนี้เป็นข้อจำกัดที่น่ารำคาญพอสมควร)
โดยสรุปแล้ว Multi Window ของ Note 4 ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น เอื้อประโยชน์สำหรับคนที่ต้องทำงานบางอย่างพร้อมกันอยู่บ่อยๆ (กรณีที่ผมใช้คือนั่งดูคลิปเปิดตัว Note 4 อีกรอบแล้วจดประเด็นเพื่อมาเขียนรีวิวลงใน S Note) แต่ Multi Window ยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ เช่น
ผมคิดว่าการปรับปรุงข้างต้นดีขึ้นและเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ แม้โดยปกติแล้วเราแทบไม่ได้รันแอพ 2 ตัวพร้อมกันมากนัก แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้งาน มันก็ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นกว่าเดิม
จุดขายที่สำคัญที่สุดของ Galaxy Note ย่อมหนีไม่พ้นปากกา S Pen ซึ่งพอมาถึงยุคของ Note 4 ซัมซุงย่อมต้องเพิ่มความสามารถใหม่ๆ เข้ามาอย่างเต็มที่
ปากกา S Pen ของ Note 4 (สีขาวในภาพ) มีขนาดใกล้เคียงกับปากกาของ Note 3 (สีดำ) มาก โดยปากกา Note 4 จะสั้นกว่าเล็กน้อย ความหนาของปากกา Note 4 ก็หนากว่า Note 3 เล็กน้อย ในระดับที่จับแล้วไม่รู้สึก แต่เมื่อลองนำปากกา Note 4 ไปยัดในช่องของ Note 3 กลับไม่สามารถทำได้เพราะขนาดไม่พอดีกัน (แต่ในทางทำกลับกัน สามารถยัดได้)
ซัมซุงโฆษณาว่าปากกา S Pen รุ่นใหม่รองรับแรงกดมากถึง 2048 ระดับ (ของเดิมใน Note 3 คือ 1024 ระดับ) จากการทดสอบลองเขียนปากกาทั้งสองรุ่น (และสลับเขียนข้ามจอกัน) พบว่าเห็นความแตกต่างบ้างแต่ไม่มาก (ไม่ได้ลองวาดภาพนะครับ ถ้าเป็นคนวาดการ์ตูนน่าจะเห็นความแตกต่างได้ชัดกว่านี้)
จุดที่เห็นชัดกว่าคือความลื่นในการเขียน ปากกาของ Note 4 ดีกว่าอย่างชัดเจน (อันหลังนี่ไม่รู้จะถ่ายภาพมายังไง)
ฟีเจอร์ใหม่ของ S Note รุ่นนี้คือ "Smart Select" ซึ่งอธิบายง่ายๆ มันคือ clipboard ที่เก็บข้อมูลได้หลายชิ้นพร้อมกัน
วิธีใช้งานคือเปิดโหมด Smart Select ขึ้นมา (เลือกจากเมนูวงกลมขณะเรียกใช้ปากกา หรือกดปุ่มบนปากกาค้างไว้) แล้วลากพื้นที่ใดๆ บนหน้าจอที่ต้องการคัดลอกข้อมูลเอาไว้ เมื่อลากเสร็จแล้วจะมีปุ่มสีฟ้าเพิ่มเข้ามาที่มุมล่างขวาของจอ ให้เราเซฟเนื้อหาเก็บเอาไว้
เมื่อเราบันทึกเนื้อหาชิ้นแรก เนื้อหานั้นจะกลายเป็น thumbnail ลอยทับแอพบนหน้าจอ ถ้าเราต้องการเก็บเนื้อหาเพิ่มก็กดปุ่มบวก (+) สีฟ้าเพื่อคัดลอกเนื้อหาชิ้นต่อๆ ไป
เราสามารถกดที่ thumbnail อันนี้เพื่อดูเนื้อหาทั้งหมดที่เก็บไว้ได้ (ภาพซ้าย) หรือจะดูภาพขนาดใหญ่ก็ได้ (ภาพกลาง) การนำเนื้อหาไปใช้ก็เพียงแค่ลากมันลงไปยังแอพที่ต้องการ (ตัวอย่างตามภาพขวาสุดคือลากไปใส่ S Note)
ในกรณีที่เราตัดภาพของข้อความมา มันจะถูกแปลงเป็นข้อความให้ด้วยเวลา paste ลงไปยังแอพอื่น ทำให้การตัดเก็บข้อความจากแอพต่างๆ ง่ายขึ้นมาก
ฟีเจอร์ Smart Select นี้อธิบายเป็นข้อความได้ยาก ดูคลิปง่ายกว่าครับ
ฟีเจอร์ต่อมาในชุดของ S Note (ที่ไม่เกี่ยวกับ S Pen แล้ว) คือ Photo Note ถ่ายภาพกระดานหรือกระดาษโน้ต แล้วแปลงเป็นโน้ตบน S Note ให้ทันที
ความเจ๋งของฟีเจอร์นี้คือมันจะแยกแยะวัตถุต่างๆ ในภาพแล้วแปลงเป็นวัตถุที่เคลื่อนย้ายได้ด้วย จากภาพตัวอย่างข้างล่าง ผมลองถ่ายเอกสารของ IKEA (ภาพซ้าย) เมื่อแปลงเป็นโน้ตในภาพขวา ข้อความแต่ละย่อหน้าสามารถย้ายตำแหน่งได้อย่างอิสระต่อกัน สามารถลบออกได้ทั้งก้อน หรือจะแปลงมันเป็น "เส้น" แล้วลบออกด้วยยางลบของ S Note ก็ได้ (แต่ยังไม่ถึงขั้นแปลงภาพเป็น text ได้แบบ Office Lens ของไมโครซอฟท์)
ฟีเจอร์อย่างสุดท้ายในกลุ่มจดบันทึกคือการอัดเสียงด้วยแอพ Voice Recorder ที่ปรับปรุงขึ้นจากเดิมมากๆ
เนื่องจาก Note 4 ให้ไมโครโฟนมาถึง 3 ตัว ความสามารถด้านการอัดเสียงของมันจึงเพิ่มขึ้น ฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มมาคือโหมด Interview สำหรับใช้สัมภาษณ์คนในพื้นที่มีเสียงรบกวน (ช่วยแยกแยะเสียงได้ดีขึ้น) แต่ที่เจ๋งกว่าคือโหมด Meeting ใช้อัดเสียงในห้องประชุมที่มีคนพูดหลายคน โดย Note 4 สามารถแยกแยะคนพูดแต่ละคนได้ว่ามาจากทางไหน คนพูดคือใคร
ผมลองทดสอบแล้วพบว่าแยกแยะทิศทางของเสียงได้จริง แต่การแยกแยะเสียงคนพูดยังเพี้ยนๆ อยู่บ้าง การทดสอบตามภาพด้านล่างพูดในห้องที่มี 2 คน แต่แอพแยกได้ว่ามีคนพูด 5 คน
โดยรวมแล้วถือว่า Note 4 ปรับปรุงเพิ่มขึ้นอย่างมากในแง่ของการจดบันทึก ปากกา S Pen เจ๋งกว่าเดิม และแอพ S Note ก็มีความสามารถเพิ่มขึ้นหลายอย่าง บางอย่างอาจไม่ใช่ฟีเจอร์ระดับที่ไม่มีไม่ได้ แต่พอมีเพิ่มเข้ามาแล้วก็ช่วยให้การใช้งานสมบูรณ์มากขึ้น
นอกจากนี้ผมพบว่าระบบแยกแยะลายมือพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะการเขียนภาษาไทย ที่เดิมทียังแยกแยะลายมือได้ไม่ค่อยดีนัก (ในกรณีของ Note 3 ผมเลยจดทุกอย่างเป็นภาพแทนเพื่อตัดปัญหา) เมื่อลองเขียนแบบเดิมกับ Note 4 รู้สึกว่าผิดน้อยลงจากเดิมมาก จนน่าจะอยู่ในระดับที่ใช้งานจริงได้แล้ว
กล้องของ Note 4 พัฒนาขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขอแยกเขียนถึงทีละส่วน เริ่มจากกล้องหลังก่อนครับ
กล้องหลังของ Note 4 ยังใช้ความละเอียด 16MP เหมือนเดิม แต่เพิ่มระบบกันสั่น OIS เข้ามา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มือถือรุ่นท็อปของซัมซุงมีฮาร์ดแวร์ OIS
ผลของการมี OIS ทำให้ Note 4 ถ่ายภาพตอนกลางคืนได้ค่อนข้างดีมาก ดีกว่าที่คิดเอาไว้เยอะ (คลิกดูภาพขนาดใหญ่กันเอง)
ผมลองถ่ายช็อตต่อช็อตเทียบกับ Lumia 1020 เจ้าแห่งการถ่ายภาพยามค่ำคืน พบว่า Note 4 ยังเป็นรองอยู่เล็กน้อย แต่ก็ถือว่าให้ผลที่ดีมากแล้ว (ซ้าย Note 4, ขวา Lumia 1020) ภาพตัวอย่างนี้ซูมและตัดเฉพาะส่วนมาแสดง
ส่วนภาพถ่ายตอนกลางวันก็ออกมาดีเยี่ยม สีสันสวยงาม การโฟกัสทำได้รวดเร็วมาก
ฟีเจอร์เด่นอีกประการของ Note 4 คือโหมด Rich HDR ที่พรีวิวภาพจากการถ่าย HDR ให้ตั้งแต่ก่อนถ่ายเลย แถมการประมวลผล HDR ก็รวดเร็วมาก ไม่ต้องรอแถบสถานะการประมวลผลเหมือนแบบเดิมอีกต่อไป
ภาพตัวอย่างด้านซ้าย ปิดโหมด HDR และถ่ายด้วยโหมดออโต้, ภาพด้านขวาเปิด HDR
ส่วนของกล้องหน้าก็ปรับปรุงขึ้นอีกหลายจุด เอาใจคนชอบถ่าย selfie ของใหม่ประกอบด้วย
สรุปคือกล้องของ Note 4 ดีขึ้นจากเดิมมาก (น่าจะเป็นกล้องที่ดีติดอันดับต้นๆ ของ Android ในท้องตลาด) แต่เนื่องจากเราไม่ได้ถ่ายเทียบกับมือถือที่ออกมาในช่วงเดียวกันอย่าง iPhone 6 Plus เลยยังไม่สามารถบอกได้ว่าถ้ามาเทียบกับตรงๆ แล้วตัวไหนดีกว่าครับ
Galaxy Note 4 พัฒนาขึ้นจากเดิมในทุกๆ ด้าน ฟีเจอร์หลายจุดพัฒนาให้ใช้งานสะดวกกว่าเดิม เช่น S Pen, S Note และกล้องถ่ายภาพ แต่จุดที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น "ดีไซน์" ที่ให้ความรู้สึกดีขึ้นจากเดิมมาก (ควรจะทำแบบนี้ตั้งนานแล้วนะซัมซุง!) ในภาพรวมแล้วจุดอ่อนหลายประการของมือถือสายซัมซุงถูกแก้ไขไปเกือบหมดในเวอร์ชันนี้
Note 4 ย่อมมีสถานะเป็นหนึ่งในแชมป์ Android รุ่นท็อปในครึ่งหลังของปี 2014 อย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม ด้วยค่าตัวที่แพงถึง 25,900 บาท ในยุคที่มือถือราคาเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ ทำให้เกิดคำถามว่าเรายังจำเป็นต้องซื้อมือถือรุ่นท็อปในราคาแพงขนาดนี้หรือไม่ (ถามมาหลายครั้งแล้ว ทั้งกับ Galaxy S5 หรือ iPhone 6) ซึ่งถ้าวัดจากฟีเจอร์เทียบกับราคาแล้ว มือถือสุดคุ้มในตอนนี้อาจเป็น Note 3 ที่ราคาลดลงไปพอสมควรแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้ากำลังมองหา Android รุ่นท็อปใช้งานโดยไม่เกี่ยงราคา Galaxy Note 4 ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ด้านปากกาและจดโน้ต คงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้
ข้อดี
ข้อเสีย