รีวิว Sony Xperia Z3

by pittaya
5 October 2014 - 17:21

Sony Xperia Z3 เป็นมือถือรุ่นเรือธงของ Sony ในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 เป็นตัวต่อจาก Xperia Z2 ที่ออกมาเมื่อต้นปี ตามรอบการออกมือถือของ Sony ที่ออกปีละ 2 ครั้ง ต่างจากยี่ห้ออื่นที่ออกกันปีละครั้ง

ในบ้านเรา ทาง Sony ประเทศไทยได้จัดงานเปิดตัวและเริ่มขายไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี่เอง

สเป็คคร่าวๆ ของ Xperia Z3 ตัวนี้คือ

  • ซีพียู Snapdragon 801 ความเร็ว 2.5 GHz (ปรับความเร็วขึ้นมาจาก 2.3 GHz ของ Xperia Z2)
  • หน้าจอ IPS ขนาด 5.2" ความละเอียด FullHD 1920x1080
  • หน่วยความจำ 3 GB พื้นที่ความจุภายใน 16 GB ใส่ SD Card เพิ่มได้
  • กล้องหลังใช้เซ็นเซอร์ Exmor RS ความละเอียด 20.7 MP กล่องหน้าใช้เซ็นเซอร์ Exmor R ความละเอียด 2.2 MP
  • ความจุแบตเตอรี่ 3100 mAh ถอดเปลี่ยนไม่ได้
  • ใช้ Android เวอร์ชัน 4.4.4 KitKat รุ่นที่ปรับแต่งโดย Sony
  • กันน้ำกันฝุ่นที่มาตรฐาน IP68

นอกจากตัว Xperia Z3 แล้วทาง Sony ยังออกรุ่น Xperia Z3 Compact ที่เป็นรุ่นเล็กออกมาด้วย แต่สเป็คใกล้เคียงกันมาก ต่างกันแค่ลดหน่วยความจำเหลือ 2 GB, ขนาดหน้าจอเหลือ 4.6" ความละเอียด 720p และขอบรอบเครื่องเปลี่ยนจากโลหะเป็นอะครีลิค

แกะกล่อง Xperia Z3

กล่องมาแนวเรียบๆ ไม่หวือหวา ชูจุดขายที่กล้อง 20.7 MP

ด้านหลังโชว์คุณสมบัติอื่น

ด้านในนอกจากโทรศัพท์แล้วก็มีคู่มือ, อะแดปเตอร์สำหรับชาร์จ, สาย micro USB, หูฟัง และสาย USB OTG สำหรับต่อกับแฟลชไดร์ฟได้ (ในรูปผมแกะกล่องออกไปแล้วรอบนึง พยายามยัดใส่กลับเข้าไปใหม่ แต่ดูไม่สวยเหมือนตอนเปิดกล่องครั้งแรก)

สาย USB OTG และหูฟังแถม

รูปลักษณ์ภายนอก

ตัวเครื่องของ Xperia Z3 ยังคงยึดแนวทางการออกแบบแบบ Omni Balance ของ Sony อยู่ แต่มีการปรับปรุงขึ้นมาจาก Z2 อยู่หลายจุด ที่ชัดเจนคือจากขอบโลหะเหลี่ยมใน Xperia Z2 ถูกลบให้เป็นขอบมน ทำให้การหยิบจับให้ความรู้สึกที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก

ตัวเครื่องมีให้เลือก 4 สีคือ ขาว, ดำ, Copper (สีออกทองแดง/น้ำตาล), และสี Silver Green ที่ซื้อมา

ด้านบนมีช่องเสียบหูฟัง

ด้านล่างเกลี้ยงเกลา ไม่มีอะไร

ด้านซ้ายมีช่องเสียบ micro USB, ขั้วสำหรับวางบนแท่นชาร์จแม่เหล็ก และรูสำหรับคล้องสายตามลำดับ

ด้านขวามีปุ่มถ่ายรูป, ที่ปรับเสียง, ปุ่ม power, ช่องใส่ซิมและ micro SD เรียงจากด้านล่างของตัวเครื่องตามลำดับ

แกะฝาออกมามีช่องเสียบซิม (ใน Z3 เปลี่ยนจาก micro sim มาใช้ nano sim แทน) กับ micro SD

ด้านหลังมีกล้อง 20.7 MP และ NFC

ด้านหน้าออกแบบเรียบๆ มีกล้องหน้าอยู่ข้างโลโก้ Sony มีลำโพงคู่บนล่าง ขนาดตัวเครื่องเกือบๆ จะเท่ากับ Z2 เป๊ะๆ แต่สำหรับ Xperia Z3 นี่จับถนัดและสบายมือมากกว่า

จอ IPS ความละเอียด FullHD แสดงสีสันได้สวยงามระดับเรือธง ออกแดดได้ไม่มีปัญหา

เทียบขนาดกับ iPhone 5 จะเห็นว่าจอ 5.2" ของ Xperia Z3 ใหญ่กว่า เต็มตากว่าจอ 4" ของ iPhone 5 เยอะ ส่วนถ้าเป็น Xperia Z3 Compact ถึงจะมีพื้นที่แสดงผล 4.6" แต่ขนาดตัวเครื่องจะใหญ่กว่า iPhone 5 แค่นิดเดียว เพราะว่ามีขอบจอที่แคบกว่า

เทียบความหนา Z3 จะบางกว่า iPhone 5 เล็กน้อย

แท่นชาร์จ Magnetic Dock

ร้านที่ไปซื้อมามีโปรโมชั่นแถมแท่นชาร์จแบบแม่เหล็กมาให้ด้วย

หน้ากล่องบอกว่าใช้ได้กับ Xperia Z3 และ Xperia Z3 Compact ข้างในนอกจากแท่นชาร์จแล้วจะมีที่วางโทรศัพท์มาให้ 4 ขนาด สำหรับโทรศัพท์ทั้งสองรุ่นแบบใส่เคสกับไม่ใส่เคส

ด้านล่างเป็นยางฝืดๆ ด้านหลังเป็นช่องเสียบ micro USB

สามารถเอามาตั้งเพื่อดูวิดีโอก็กำลังเหมาะ

ซอฟต์แวร์ของ Xperia Z3

ระบบปฏิบัติการที่ให้มาเป็น Android 4.4.4 รุ่นปรับแต่งโดย Sony เพิ่มช่องทางเข้าถึงเนื้อหาที่ขายโดย Sony ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงไม่ค่อยได้ใช้สักเท่าไหร่

รุ่นของซอฟต์แวร์ตามนี้

มีร้าน Sony Select มาให้ สามารถเข้าไปโหลดเกม, app หรือ theme ได้

มี app What's new สำหรับแนะนำเนื้อหาจากร้านของ sony ให้

มีโหมด STAMINA มาให้สำหรับใช้ตอนที่ต้องการประหยัดแบต หรือโหมด Ultra STAMINA ที่ประหยัดมากกว่าโดยเหลือไว้แค่ฟังก์ชันสำหรับใช้โทรศัพท์

ในหน้าจอ multitask จะมีทางลัดสำหรับใช้ mini app คือจะเป็น app ที่มีฟังก์ชันพื้นฐาน แสดงผลลอยอยู่บน app อื่นอีกทีนึง ในรูปจะมีเว็บเบราว์เซอร์, นาฬิกาจับเวลา, เครื่องคิดเลข, ตัวจับหน้าจอเฉพาะส่วน

ตอนที่ทำงานก็จะลอยอยู่แบบในรูป

มีซอฟต์แวร์ Smart Connect มาให้สำหรับตั้งการทำงานตามเหตุการณ์หรือเวลาที่เรากำหนดได้ เช่น ให้เปิดโปรแกรมฟังเพลงเมื่อเสียบหูฟัง, ให้เข้าโหมดสั่นเมื่ออยู่ในวัน-เวลาทำงาน

นอกจากการปลดล็อกหน้าจอแบบปกติของ Android ทั่วไปแล้วยังตั้งให้ปลดล็อกด้วยอุปกรณ์ bluetooth ได้ด้วย เข้าใจว่าใช้ได้กับอุปกรณ์ในตระกูล SmartWear ของ Sony เท่านั้น (เพิ่มเติม - ผมลองกับ Fitbit Force พบว่าสามารถใช้ได้ด้วย)

มีฟีเจอร์ Smart call handling สำหรับช่วยรับสายให้เลยเมื่อยกมือถือขึ้นมาแนบหูเวลามีสายเข้า หรือปิดเสียงเรียกเข้าโดยพลิกเครื่องคว่ำไว้ก็ได้ สามารถเปิดปิดได้จากใน settings

สามารถปรับแต่งเสียงโดยใช้โหมด ClearAudio+ ได้ ใช้แล้วเสียงจะใสขึ้นมาชัดเจนเลย หรือถ้าใช้หูฟังของ Sony ก็จะสามารถปรับเสียงให้เหมาะสมกับหูฟังรุ่นที่รองรับได้ด้วย

มีบริการ my Xperia มาให้ เอาไว้ติดตามในกรณีเครื่องหาย แต่จะโหลด Android Device Manager ของกูเกิลมาใช้แทนก็ได้ แล้วแต่ความถนัด

มี Walkman app มาให้เป็น default สำหรับฟังเพลง หรือจะโหลดตัวอื่นมาใช้แทนก็ได้

การใช้งาน Xperia Z3 ในชีวิตประจำวัน

ด้วยความที่เป็นมือถือระดับเรือธง การใช้งานทั่วไปก็ลื่นไหลรวดเร็วอย่างที่คิด ไม่มีอาการกระตุกหรือหน่วงให้เห็น จอภาพแสดงผลได้สวยงามแม้กระทั่งใช้งานกลางแจ้ง ในฐานะคนที่ย้ายจากมือถือจอขนาด 4" มาใช้จอ 5.2" พบว่าเต็มตากว่ากันมาก ตัวหนังสือขนาดอ่านง่าย สบายตา

แต่จอที่ใหญ่ก็ต้องแลกมาด้วยการหยิบจับที่ลำบากขึ้นด้วย การออกแบบแบบ Omnibalance ของ Sony ดูสวยงามหรูหรา แต่การใช้งานมือเดียวยังค่อนข้างลำบากอยู่ แนะนำว่าถ้าใครจะซื้อควรไปลองหยิบจับดูว่าพอดีกับมือตัวเองหรือไม่

คีย์บอร์ดที่ Xperia Z3 ให้มาก็สามารถใช้พิมพ์ได้สะดวกดี ใช้จิ้มเอาทีละตัวหรือลากเป็นคำก็ได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ อย่างไรก็ตามการพิมพ์โดยใช้มือเดียวถือเป็นเรื่องลำบากมาก

มีระบบเดาคำมาให้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ใช้งานได้ดีทีเดียว

สามารถเทรนให้คีย์บอร์ดฉลาดขึ้นโดยให้เรียนรู้จาก Gmail, Facebook, Twitter หรือ SMS ของเราก็ได้ รวมทั้งกำหนดคลังคำของเราเองได้ด้วย

สำหรับคนที่มี PlayStation 4 สามารถสตรีมเกมจาก PS4 ที่อยู่ใน network เดียวกันมาลงบนโทรศัพท์ได้ด้วย (ไม่ได้ทดสอบฟีเจอร์นี้ เพราะไม่มี PS4)

ส่วนของแบตเตอรี่ผมทดลองใช้ในหนึ่งวัน (ออกจากบ้านตอนเช้า กลับเข้าบ้านตอนค่ำ) มีรับสายโทรศัพท์นิดหน่อย เล่น social network, เปิด maps, ถ่ายรูปไปราวๆ 30 รูป และฟังเพลงอีกประมาณ 1 ชม. แบตเหลืออยู่ที่ 52% ถือว่าใกล้เคียงกับที่ Sony โฆษณาไว้ว่าชาร์จครั้งเดียวอยู่ได้สองวัน (ถ้าเปิดโหมด STAMINA ก็จะอยู่ได้นานกว่านี้อีก)

ทดสอบกล้อง

ตามสเป็คของ Xperia Z3 แล้วสามารถถ่ายภาพได้สูงสุด 20.7 MP แต่ในโหมดปกติจะถ่ายที่ 8 MP ถ้าอยากถ่ายที่ความละเอียดสูงสุดต้องใช้โหมด Manual แล้วปรับความละเอียดเอาเอง

การถ่ายรูป default จะอยู่ที่โหมด Superior auto ซึ่งก็เหมือนโหมด Auto ทั่วไป กล้องจะคิดให้เองว่าเราอยู่ในสภาพแสงแบบไหน กำลังถ่ายวิวหรือถ่ายมาโคร แล้วปรับค่าที่เหมาะสมให้เอง ถ้าอยากปรับเองมากกว่านี้ต้องใช้โหมด Manual

นอกจากนี้ยังมีโหมดอื่นๆ ให้เลือกอีก เช่น ถ่ายวิดีโอที่ความละเอียด 4K, โหมด Timeshift สำหรับถ่ายภาพสโลว์โมชั่นที่ 120 fps, โหมดเบลอหลัง, โหมดพาโนรามา ฯลฯ สามารถสลับตำแหน่งเอาโหมดที่ใช้บ่อยมาไว้ตำแหน่งที่ถนัดมือได้

ความสะดวกอีกอย่างหนึ่งคือ สามารถกดปุ่มกล้องค้างไว้ขณะที่เครื่องปิดหน้าจอหรือล็อกอยู่ เพื่อเรียกให้กล้องขึ้นมาทำงานได้ทันที หรือจะสร้าง widget ของโหมดที่ต้องการไว้บนหน้า homescreen เป็นทางลัดไว้เรียกใช้งานก็ได้

UI กล้อง สามารถซูมเข้าออกโดยใช้ปุ่มปรับ volume up-down ได้ด้วย

ตัวอย่างภาพจากโหมด auto

ISO160, f/2, 1/32s

ISO1250, f/2, 1/16s

ISO50, f/2, 1/1000s

ISO160, f/2, 1/32s

ISO64, f/2, 1/32s

ทดสอบโหมดหน้าชัดหลังเบลอ ถ่ายได้ง่ายๆ ด้วยการแตะเลือกวัตถุที่จะโฟกัส (ต้องอยู่ไม่ไกลเกินไป) แล้วกดชัตเตอร์ กล้องจะถ่ายภาพออกมาแล้วให้เราปรับระดับความเบลอได้เอง

โหมดหน้าชัดหลังเบลอ (background defocus)

ถ้าถ่ายโหมด 20.7 MP จะได้ออกมาสัดส่วน 4:3

ถ่ายในสภาพแสงน้อย

รวมๆ แล้วกล้องมีลูกเล่นเยอะ แต่คุณภาพเท่าที่เห็นยังไม่มีอะไรโดดเด่นนัก

รูปเต็มๆ ดูได้จากอัลบั้มใน Google+ ครับ

สรุป

Xperia Z3 จัดเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของ Sony ที่สู้กับยี่ห้ออื่นได้ไม่น้อยหน้า สเป็คแรงในระดับท็อป จอสวย ตัวเครื่องสวยงามดูดี กล้องใช้งานได้หลากหลายแต่ยังไม่โดดเด่น ใช้ Android ที่ปรับแต่งมาดี มีฟีเจอร์ที่มีประโยชน์เพิ่มเติมจาก Android มาตรฐาน เชื่อมต่อกับบริการอื่นๆ ของ Sony ได้ แต่ก็ต้องเจอกับคำถามที่มือถือ Android ระดับท็อปทุกตัวต้องเจอ คือที่ระดับราคา 23,990 บาทในตอนเปิดตัว เรายังจำเป็นต้องซื้อมือถือในราคาระดับนี้อยู่อีกหรือไม่ ในเมื่อมือถือที่ราคาถูกกว่านี้ ก็มีความสามารถเพียงพอกับการใช้งานปกติทั่วไปแล้ว ถ้าไม่ติดที่ขนาดหน้าจอที่เล็กลง Xperia Z3 Compact ที่เปิดตัวมาที่ราคา 19,990 บาท ดูจะเป็นทางเลือกคุ้มราคาและน่าสนใจกว่ามาก

ข้อดี

  • สเป็คแรงเหลือเฟือ จอสวย ละเอียด
  • ตัวเครื่องออกแบบสวยงาม ใช้วัสดุเกรดดี
  • แบตอึด อยู่ได้ข้ามวัน
  • กันน้ำ กันฝุ่น
  • ถ้ามีผลิตภัณฑ์อื่นของ Sony (เช่น SmartWear, PS4, หูฟัง) อยู่แล้วจะใช้ได้คุ้มขึ้น

ข้อเสีย

  • กล้องยังไม่โดดเด่นสมกับที่เป็นรุ่นเรือธง
  • ให้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ค่อยได้ใช้มาเยอะเกิน
  • ใช้มือเดียวลำบาก
Blognone Jobs Premium