นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford เผยแพร่เทคนิคการสร้างแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน ที่จะสามารถแจ้งเตือนผู้ใช้ได้เมื่อมันเกิดลัดวงจรภายในซึ่งหมายถึงมันกำลังจะระเบิดหรือลุกเป็นไฟ
หลักการทำงานของแบตเตอรี่นี้จะมีการปล่อยให้ประจุที่สะสมอยู่ทางด้านขั้วลบของแบตเตอรี่ที่ทำจากคาร์บอน (ขั้ว anode) ให้ไหลผ่านตัวนำไฟฟ้าสู่อุปกรณ์ที่ต้องการไฟไปจนถึงขั้วบวกที่ทำจากลิเทียม (ขั้ว cathode) ส่วนในตอนที่มีการชาร์จไฟใหม่ให้แบตเตอรี่ แรงดันไฟฟ้าจะช่วยให้ประจุที่อยู่ตรงขั้ว cathode ไหลผ่านชั้นวัสดุกั้นกลางภายในแบตเตอรี่ไปสู่ขั้ว anode เตรียมพร้อมสำหรับการคายประจุไปเลี้ยงวงจรไฟฟ้าอีกครั้ง
จากโครงสร้างและหลักการทำงานข้างต้น หากเกิดความผิดปกติภายในแบตเตอรี่จนทำให้ประจุไฟฟ้าซึ่งสะสมอยู่บริเวณขั้ว anode ไหลผ่านชั้นวัสดุกั้นกลางไปสู่ขั้ว cathode โดยตรง จะก่อให้เกิดความร้อนและความดันสูง อันนำไปสู่การลุกไหม้หรือการระเบิดได้
นักวิจัยของ Stanford จึงคิดหาวิธีที่จะตรวจจับการไหลผ่านของประจุไฟฟ้าอันไม่พึงประสงค์ดังกล่าว โดยใช้แผ่นทองแดงแทรกกลางระหว่างขั้วทั้งสองของแบตเตอรี่ เมื่อใดก็ตามที่ประจุไฟฟ้าซึ่งสะสมอยู่ที่ขั้ว anode ไหลผ่านชั้นวัสดุกั้นกลางและพยายามมุ่งหน้าสู่ขั้ว cathode อุปกรณ์ของ Stanford นี้จะสามารถตรวจจับได้ถึงประจุเหล่านั้นเนื่องจากในตอนนั้นศักย์ไฟฟ้าของแผ่นทองแดงจะเท่ากับศักย์ไฟฟ้าของขั้ว anode
ถึงแม้โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนลุกไหม้หรือระเบิดจะมีน้อยและพบได้ไม่บ่อยนัก แต่การคิดค้นระบบของ Stanford ในครั้งนี้ที่จะช่วยแจ้งเตือนได้ก่อนจะมีความเสียหายเกิดขึ้นจริงก็ถือเป็นแนวทางการพัฒนาแบตเตอรี่ที่สำคัญและควรค่าที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้งานจริงในแบตเตอรี่ทุกชิ้นในอนาคต
ที่มา - Gizmodo